ล้างจานล้างใจ


         ได้พบเห็นสิ่งดีๆ จะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ  ที่โรงเรียนผู้นำ ของมูลนิธิพลตรีจำลอง  ศรีเมือง  มีกิจกรรม "ล้างจานล้างใจ" เพื่อแก้ปัญหาจานชามที่กองอยู่หลังจากคนหมู่มากรับประทานอาหารเสร็จ อาหารเหลือ  ถ้วย จาน ชาม และแก้วน้ำดื่ม ตลอดจนภาชนะชั่วคราวอื่นๆ เช่น ใบตอง ไม้จิ้ม เป็นต้น  ล้วนเป็นภาระให้คนที่ดูแลมากมายมหาศาล  การล้างทำความสะอาดก็ยาก เพราะเมื่อวางจานชามที่ใช้แล้วไว้นานๆ อาหารจะแห้งเกรอะล้างยาก  ไม่นับรวมที่สุนัขอาจมาเลียจานชามอีกต่างหากม  กลอุบายในการจัดการเรื่องการล้างจานทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้เฉพาะบุคคลของที่นี่จึงมุ่งให้แต่ละคนต้องรับผิดชอบต่อตนเอง  ด้วยทัศนะที่ว่าเมื่อทุกคนรับผิดชอบต่อตนเองได้ ก็จะไม่เป็นภาระต่อสังคม ท้ายที่สุดสังคมก็จะสงบสุขสันติโดยอัตโนมัติ


          แนวความคิดในการจัดการจานชามที่โรงเรียนผู้นำจึงให้ทุกคนต้องล้างจานของตนเองเมื่อรับประทานเสร็จ โดยจะมีผู้ดูแลโรงอาหารคอยให้คำแนะนำผ่านโทรโข่งตั้งแต่มื้อแรกที่เริ่มรับประทานอาหารกับโรงเรียน ว่า เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วขอให้ทุกท่านล้างจานด้วยตนเอง และอธิบายวิธีการล้างจานอย่างละเอียด  และเพื่อประหยัดทรัพยากรน้ำ  การล้างจานจะมีขั้นตอนไปตามลำดับ   ไม่ว่าใครมีตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหน เมื่อมาโรงเรียนผู้นำแล้วทุกคนต้องล้างแก้วล้างจานด้วยตนเองทั้งสิ้น พร้อมกับแนะนำให้ดูภาพถ่ายบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศ  รัฐมนตรี องคมนตรี เมื่อมาที่นี่ต้องล้างจานเองทั้งสิ้น และวิทยากรจะคอยสอดส่องขอร้องไม่ให้ผู้มีน้ำใจช่วยเหลือล้างจานให้ผู้มีบารมีทั้งหลาย หรือแม้แต่การล้างให้ผู้ที่อ่อนแอกว่า เช่น เด็กและคนพิการ

เคล็ดลับในการปฏิบัติ

  • ตักอาหารให้พอรับประทานหมดอย่าให้เหลือ

  • ใช้จาน ชามและแก้วกี่ใบก็ได้ แต่ต้องระลึกเสมอว่าต้องล้างเองทั้งหมด

  • การล้าง ถ้วย จาน ชาม แยกจากแก้วน้ำ  เพราะแก้วน้ำเปื้อนไขมันน้อยกว่า  จึงมีการเตรียมที่วางแก้วน้ำก่อนลงมือล้างจาน เมื่อล้างจานเสร็จต้องไม่ลืมมาล้างแก้วด้วย

ขั้นตอนการล้างจาน

          กวาดเศษอาหารและไขมันออกจากจาน ชาม ให้หมดก่อน  เพื่อประหยัดน้ำยาล้างจานและน้ำ  เพราะหากมีเศษอาหารเหลืออยู่มาก ต้องใช้นำยาล้างจานและน้ำในการล้างมาก  ขั้นตอนแรกแยกวัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้ลงถังขยะ จานชามจะเหลือแต่เศษอาหารและวัสดุที่มาจากพืชเท่านั้น ขั้นตอนที่สองใช้ฟองน้ำกวาดเศษอาหารและไขมันออกจากจาน โดยให้ลงภาชนะที่ทำขึ้นพิเศษให้มีถังรองรับเศษอาหารเหลวอยู่ข้างใต้  ด้านบนเป็นกะละมังเจาะรูให้ของเหลวและน้ำไหลผ่านไปได้  เศษอาหารหยาบจะถูกแยกออกจากกัน  เศษอาหารสามารถนำไปเลี้ยงสัตว์  น้ำจากเศษอาหารนำไปทำปุ๋ยชีวภาพ  เมื่อฟองน้ำเปื้อนเศษอาหาร ให้ใช้น้ำเพียง 1 ขัน ล้างฟองน้ำให้เศษอาหารออกโดยให้น้ำล้างฟองน้ำไหลลงไปในถังกรองเศษอาหาร  ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการเช็ดจานชามจะสะอาดพอประมาณด้วยฟองน้ำ  จานชามที่ถูกเช็ดด้วยฟองน้ำแล้วจะถูกวางรวมไว้รอลงกะละมังล้างด้วยน้ำยา หากคิวก่อนหน้ายังไม่เดินไปก็รอนิดหน่อย  เมื่อคิวก่อนหน้าเสร็จจึงนำจานชามลงใส่ในกะละมังน้ำยาล้างจาน   เริ่มล้างจานด้วยฟองน้ำและน้ำยาล้างจาน  ฟองน้ำสำหรับล้างจานจะไม่นำฟองน้ำเช็ดจานมาใช้ร่วมกันเด็ดขาด   เมื่อล้างจานด้วยน้ำยาล้างจานเสร็จก็จะนำจานชามไปใส่ในกะละมังล้างน้ำสะอาดน้ำแรก ซึ่งอยู่ในกะละมังถัดไป แล้วเอาจานขึ้นจากกะละมังล้างน้ำแรก  นำลงกะละมังเพื่อล้างน้ำสะอาดที่สองที่อยู่ถัดไป   นำขึ้นและลงล้างในน้ำสะอาดที่สอง  ที่สามและที่สี่ ตามลำดับ  แล้วแยกจาน ชาม ถ้วย ช้อน ส้อม แต่ละประเภทออกจากกันไปวางด้วยกัน  โดยคว่ำให้สะเด็ดน้ำ  ใช้วิธีการผึ่งแดดฆ่าเชื้อ  จะไม่ใช้ผ้าเช็ดน้ำทำความสะอาดเด็ดขาด เพราะผ้าที่เช็ดจะทำให้จานชามสกปรกอีกครั้ง

อธิบายภาพ : คุณแม่กำลังล้างจานของตนเอง เด็กคนนี้อายุไม่เกิน 6-7 ขวบ ก็กำลังล้างจานของตนเองเช่นกัน  กำลังใช้ฟองน้ำกวาดเศษอาหารลงบนภาชนะพิเศษที่แยกกากอาหารให้ค้างอยู่ที่กะละมังสีดำ และของเหลวจะไหลผ่านลงไปที่ถังสีฟ้าข้างล่าง  น้ำในกะละมังสีฟ้าที่วางอยู่ด้านข้างคือน้ำสะอาดสำหรับล้างฟองน้ำเช็ดจานซึ่งใช้เพียงหนึ่งขันฟองน้ำก็สะอาด  คุณผู้หญิงที่กำลังอยู่ที่กะละมังสีเขียวใบแรกกำลังล้างจานของตนเองด้วยน้ำยาล้างจาน และกะละมังถัดไปอีก 4 ใบ เป็นน้ำสะอาดสำหรับล้างจานทั้งหมด  เมื่อนำจานล้างน้ำไปตามลำดับ จนถึงกะละมังใบสุดท้ายจานชามก็จะสะอาดหมดจด


           เมื่อน้ำล้างน้ำแรกสกปรกมากขึ้น ก็ยกเฉพาะกะละมังน้ำสะอาดน้ำแรกออกไปเก็บไว้ในถังเก็บเพื่อนำไปรดน้ำต้นไม้  ขยับกะละมังที่สองและสามเข้ามาแทน แล้วเติมน้ำใส่กะละมังใหม่แทนกะละมังที่สี่ซึ่งเป็นน้ำล้างที่สะอาดที่สุดและอยู่ในตำแหน่งสุดท้าย เมื่อล้างจานผ่นกระบวนการนี้มือรอยน้ำยาล้างจานก็จะสะอาดด้วยเช่นกัน
           วิธีล้างแก้วน้ำก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน  แต่แก้วน้ำไม่มีเศษอาหารให้กวาด  จึงนำแก้วลงล้างน้ำยาและล้างนำ 1 - 2 - 3 - 4  และนำไปวางคว่ำได้เลย  เมื่อเสร็จการล้างจานและแก้วแล้วทุกคนจะใช้ผ้าเช็ดมือให้แห้งเป็นอันเสร็จการล้างจานล้างใจ

            วิธีการเช่นนี้น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ระดับเล็กๆ เช่นภายในครอบครัว  จนถึงกิจกรรมที่ต้องเลี้ยงอาหารให้กับคนมากๆ เช่น งานบุญในวัด  การประชุมสัมมนาในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา เป็นต้น  หากสามารถทำได้ในการประชุมระดับบริหารได้ด้วยก็จะเยี่ยมที่สุด  เพื่อล้างใจให้คนเหล่านี้เสียบ้าง  ทำไมถึงต้องล้างใจ  เพราะคนส่วนใหญ่มักทำใจไม่ได้กับการการล้างจาน แม้แต่จานที่ตนใช้เองก็ตาม  ดังนั้นการฝืนใจตนเองเพื่อล้างจานของตนเองให้ได้จึงเป็นการ

"ล้างจานล้างใจ"
           

หมายเลขบันทึก: 310847เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท