ผ้ายกนครศรีธรรมราช


ผ้ายกนครศรีธรรมราช

การทอผ้ายกที่เมืองนครศรีธรรมราช และบ้านพุมเรียงเมืองไชยา ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการทอผ้ายกของชาวมลายูเป็นอย่างมาก และมีเหตุผลหลายประการที่ชวนให้คิดว่าการทอผ้ายกนครและการทอผ้ายกพุมเรียง น่าจะได้รับแบบอย่างมาจากการทอผ้ายกของชาวมลายู

                    บุคลากรผู้ประกอบการทอผ้ายกทั้งในอดีตและปัจจุบันในเมืองนครศรีธรรมราชและพุมเรียง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวมลายู เมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรมลายูทางตอนเหนือ ซึ่งถูกกวาดต้อนมาเนื่องจากราชการสงครามกับราชอาณาจักรไทย ต่อมาเมื่อช่างทอผ้าชาวมลายู ซึ่งมีฝีมือในการทอผ้ายกได้เข้ามาอาศัย ณ เมืองนครศรีธรรมราช และพุมเรียง ส่วนใหญ่เป็นสตรีก็ได้รับมอบหมายให้ทอผ้ายกให้แก่ทางราชการ ตามความถนัดอันติดตัวมาแต่เดิมภายใต้การควบคุมของไทย ผ้ายกนครและผ้ายกพุมเรียงจึงมีการพัฒนาการสืบต่อมาจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่นับศตวรรษ และชาวไทยที่มีความรู้พื้นฐานด้านการทอผ้ามาแต่โบราณกาล เนื่องจากผลิตขึ้นมาใช้ในครัวเรือนก็สนใจศึกษาเทคนิคการทอผ้ายกของชาวมลายูเหล่านั้น

                    จะเห็นได้ว่ากระบวนการผลิตมีลักษณะใกล้เคียงกันหลายประการที่แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กัน คือ 1) ลักษณะการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษ ซึ่งมีทั้งแบบ “ยกเขา” และแบบ “ยกจก”  2) โครงสร้างและองค์ประกอบของหูกทอผ้ามีลักษณะใกล้เคียงกันและแตกต่างไปจากโครงสร้างของหูกทอผ้าที่ใช้ในภูมิภาคอื่นของไทย 3) กระบวนการผลิตมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการใกล้เคียงกันและมีลักษณะที่ค่อนข้างพิเศษแตกต่างไปจากภูมิภาคอื่น คือ ขั้นตอนการเก็บดอกเพื่อให้เกิดผ้ายกที่มีลวดลายตามต้องการ ทั้งมลายูและนครศรีธรรมราชและพุมเรียงใช้วิธีการเดียวกันคือ ใช้การเก็บตะกอ เป็นตะกออีกชุดหนึ่งเรียกว่า “ตะกอลาย” แต่อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด เพราะมีพัฒนาการแยกจากกันซึ่งต่างกับวิธีการสร้างลวดลายของการทอผ้าขิดและผ้าจก ซึ่งใช้ไม้คัดคิดและใช้ขนเม่นตามลำดับ และ 4) การออกแบบลายผ้า ซึ่งเรียกว่าครูผ้า โดยการทดลองปักผ้าเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อดูทรวดทรงและนับจำนวนเส้นไหมก่อนการทอจริง ๆ

                    จากเหตุผลดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่า การทอผ้ายกนครและผ้ายกพุมเรียง ได้รับแบบแผนมาจากมลายูทางตอนเหนือบางส่วนมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย

หมายเลขบันทึก: 310526เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท