อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในคำว่า “หัว” และ “ตา” ในภาษาถิ่นอีสาน


หัว และ ตา

อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในคำว่า “หัว” และ “ตา” ในภาษาถิ่นอีสาน

[email protected]

บทคัดย่อ

                  การศึกษาอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในคำว่า “หัว” และ “ตา” ในภาษาถิ่นอีสาน ครั้งนี้ ผู้เขียนมุ่งที่ศึกษาทำความเข้าใจ อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ของคำว่า “หัว” และ “ตา” ในภาษาถิ่นอีสาน เพื่อนำมาจัดแบ่งประเภทความหมายได้เข้าไปเก็บข้อมูลของคำจากการสังเกตจากชุมชนบ้านหนองก้านเหลือง เทศบาลตำบลนาข่า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น โดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์จากผู้บอกภาษา นำเอาคำศัพท์มาศึกษาความหมายเพิ่มเติมกับพจนานุกรม(เว่าอีสาน)ภาษาถิ่นอีสาน ฉบับของบุญเกิด  พิมพ์วรเมธากุลและนภาพร  พิมพ์วรเมธากุล สอบถามจากผู้ใช้ภาษาในเรื่องของความหมายและการใช้ในปัจจุบัน เหตุที่เลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่รวบรวมข้อมูลเนื่องจากเป็นบ้านของผู้เขียนเองและในระหว่างเรียนนี้ผู้เขียนได้พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว ทำให้เกิดความสะดวกในการรวบรวมข้อมูล

                   การศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนได้ตั้งเงื่อนไขจะใช้คำในการศึกษาทั้งหมดจำนวน ๑๐๐ คำ เมื่อเก็บข้อมูลคำได้ทั้งหมด นำมาพิจารณาพบว่าคำว่า “ตา” มีมากกว่า “หัว” ผู้เขียนจึงกำหนดสัดส่วนปรากฏว่าได้ จำนวน ๖๐ : ๔๐ คำ เมื่อได้จำนวนดังกล่าว ผู้เขียนได้นำมาคัดเลือกคำจากที่เก็บได้ทั้งหมดให้เหลือตามจำนวนที่ต้องการ คือ คำว่าตา ๖๐ คำ และคำว่าหัว ๔๐ คำ

                   การศึกษาคำว่า “หัว” เพื่อจัดกลุ่มความหมายในครั้งนี้ผู้เขียนได้จัดกลุ่มความหมายเป็น ๑๒ ความหมาย ประกอบด้วย ๑. สิ่งที่อยู่ส่วนบนสุดของร่างกายมนุษย์และสัตว์  ๒. สิ่งที่อยู่ส่วนลางสุดของสัตว์บางอย่าง พืชบางชนิดและบางชนิดอยู่ใต้ดิน ๓. อารมณ์และความรู้สึกที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ ๔. ลักษณะนิสัย ๕. ความรู้ ความสามารถ และ ความคิด ๖. จุดเริ่มต้น ส่วนต้น ตอนต้น ส่วนที่อยู่ข้างหน้า อันดับต้นๆ และการเริ่มต้นกระทำ ๗. สิ่งที่โดดเด่นหรือมีลักษณะพิเศษ หรือคุณภาพดีกว่า หรือแตกต่างจากจำนวนมากที่เป็นอยู่ ๘. วัตถุ สิ่งของ หรือสถานที่ ๙. ความไม่สมบูรณ์หรือความผิดปรกติ หรือความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ๑๐. ผู้นำหรือผู้มีอำนาจหรือผู้มีบทบาทและอิทธิผลต่อผู้อื่นสิ่งอื่น ๑๑. สิ่งที่มีความสำคัญต่อสิ่งอื่นและผู้อื่น ๑๒. ลักษณะและอาการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหว

                   จากการศึกษาอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในทางความหมายพบว่ามีจำนวน ๑๔ ความหมาย ดังนี้ ๑. อวัยวะในการมองเห็นของมนุษย์และสัตว์และองค์ประกอบเกี่ยวกับลูกตา ๒. คำเรียกขานในระบบเครือญาติ ๓. ลักษณะนิสัยและพฤติกรรม ๔. ความผิดปรกติ หรือ ความไม่สมบูรณ์ ๕. โรค ๖. อารมณ์และความรู้สึก ๗. ส่วนที่ให้กำเนิดกิ่งก้านของพืชหรือหน่อของพืช ๘. ระยะห่างที่สานหรือถักทอ หรือ สิ่งที่มีช่องว่างอันเกิดจากการถักทอและการสาน หรือสิ่งที่เป็นช่องๆ  ๙. วาระ เวลา ครั้ง ที      ๑๐. พื้นที่จุดสำคัญสำคัญ ๑๑. เครื่องหมาย ๑๒. สิ่งที่มีลักษณะงอไว้สำหรับเกาะ เกี่ยว หรือแขวนสิ่งของ ๑๓. ผี ๑๔. การประเมินค่าหรือการตีตรา

 

บทนำ 

                   ภาษาในสังคมไทย นอกจากภาษาไทยมาตรฐานอันเป็นภาษาประจำชาติที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ประชาชนไทยในฐานะประเทศที่มีภาษาเป็นของตนเองแล้ว ภาษาถิ่นในประเทศไทยนับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันมากกว่าภาษาไทยมาตรฐาน

                   ภาษาถิ่นอีสานเป็นภาษาที่มีผู้ใช้อยู่เป็นจำนวนมากในการพูด เทียบกับสัดส่วนของผู้พูดภาษาถิ่นอื่นต่อประชากรทั้งหมดของประเทศ ความแห้งแล้งของภาคอีสาน ทำให้ประชากรอพยพไปทำงานยังภูมิภาคต่างๆ เกิดการนำพาภาษาถิ่นอีสานไปสู่ภาษาถิ่นอื่น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเขตอุตสาหกรรม

                   ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มนุษย์ในสังคมสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันของตน รูปภาษาอย่างหนึ่งที่นิยมนำมาเพิ่มสีสันในภาษาให้มีชีวิตชีวา และอธิบายภาษาเพื่อให้เห็นภาพพจน์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นก็คือ รูปภาษาที่เรียกว่า “อุปลักษณ์” (Metaphor)

                   อุปลักษณ์[๑] หมายถึง รูปภาษาที่เกิดจากการนำความหมายของรูปภาษาหนึ่งไปใช้เปรียบเทียบเป็นอีกความหมายหนึ่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและเป็นการอธิบายความหมายของภาษาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ใช้ภาษาจึงนิยมนำอุปลักษณ์มาใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันตลอดจนการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมประเภทต่างๆ อีกด้วย

                   “อุปลักษณ์” เป็นภาพพจน์ (figures of speech) เปรียบเทียบประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากการนำลักษณะเด่นของสิ่งที่ต้องการเปรียบมากล่าวทันที โดยไม่ต้องมีคำเชื่อมโยง หรือบางครั้งอาจมีคำว่า เป็น เช่น “ไก่ค่อยผันค่อยผาย ระร่ายรายตีนเดิน ดำเนินหงส์ยกย่าง” ในที่นี้เปรียบการเดินของไก่กับหงส์ แต่เปรียบทันทีว่า ดำเนินเหินหงส์ ไม่มีคำเชื่อมโยง อีกตัวอย่างคือ “ชีวิตเป็นกีฬา เกิดมาเพื่อแข่งขัน” เป็นการเปรียบเทียบชีวิตเหมือนเกมกีฬา  แต่ใช้คำว่า เป็น แทนคำเชื่อมโยงจัดเป็นอุปลักษณ์[๒]ในการอธิบายสิ่งที่คนหนึ่งรู้จักอีกคนหนึ่งไม่รู้จัก ถ้าจะทำให้ฝ่ายที่ไม่เข้าใจ ต้องพยายามหาสิ่งที่ฝ่ายนั้นรู้จักมาเทียบเคียงให้เกิดความรู้สึกเลาๆ ขึ้นมา ซึ่งการเปรียบเทียบต้องอาศัยการยืมคำซึ่งมีความหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์ประจักษ์ด้วยประสาทสัมผัส หรือเป็นการกระทำ[๓] การอธิบายอุปลักษณ์ในเชิงภาษาและภาษาศาสตร์ เป็นการอธิบายถึงรูปแบบการนำอุปลักษณ์มาใช้และบทบาทของอุปลักษณ์ในการสร้างสุนทรียภาพทางภาษา “อุปลักษณ์” หรือ “Metaphor” ในภาษาอังกฤษ เมื่อมีการถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทย มีการใช้คำเรียกที่หลากหลาย เช่น “อุปมา” “โวหารอุปลักษณ์” “อุปลักษณ์” เป็นต้น ซึ่งก็หมายถึงเรื่องเดียวกัน คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง พระยาอนุมานราชธน เรียก อุปลักษณ์ (metaphor)ว่า คำอุปมา โดยกล่าวว่า “คำอุปมา” (metaphor) จัดเป็นคำที่มีความหมายย้ายที่อีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากเป็นคำพูดที่ใช้เป็นปรกติแก่สิ่งหนึ่ง แต่นำเอาไปใช้แก่อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยยกตัวอย่างคำว่า “ดำ” ที่ถูกนำไปเทียบกับสิ่งที่ไม่ดี ในกรณีที่อธิบายคำว่า “ใจร้าย” หรือ “คนทุจริต” ซึ่งอธิบายให้เห็นด้วยตาไม่ได้ ก็นำเอาคำว่า “ดำ” และ “คด” มาใช้เปรียบเทียบ เช่น บอกว่า “ใจดำ” “คนคด” ผู้รับสารก็สามารถที่จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คำอุปมายังเป็นคำที่มีการขยายความหมายออกไป โดยนำคำที่มีความหมายที่เป็นรูปธรรมไปใช้เป็นความหมายของสิ่งที่เป็นนามธรรม เราจึงสามารถกล่าวถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นที่เข้าใจได้ และคำอุปมายังเป็นปัจจัยเปลี่ยนความหมายในคำ และเป็นผู้สร้างความหมายในคำขึ้นใหม่ด้วย[๔]ในภาษาไทยมักจะแยกประเภท คำที่มีความหมายเปรียบเทียบ หรือที่เรียกว่าอุปลักษณ์ (metaphor) ออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะการใช้ โดยจัดให้อุปลักษณ์เป็นโวหารภาพพจน์ประเภทหนึ่ง (figures of speech) ดังเช่น คำอธิบายของชำนาญ  รอดเหตุภัย[๕]กล่าวถึง “อุปลักษณ์” โดยจัดให้อุปลักษณ์เป็นโวหารภาพพจน์อีกประเภทหนึ่ง โดยใช้คำเรียกว่า “โวหารอุปลักษณ์” (metaphor) หมายถึง การนำชื่อ กิริยาอาการ หรือลักษณะของสิ่งหนึ่งไปใช้กับอีกสิ่งหนึ่ง เป็นการจูงความคิดไปสู่สิ่งที่คล้ายคลึงกัน โวหารอุปลักษณ์ต่างจากโวหารอุปมา ตรงที่ไม่เป็นการเปรียบเปรยตรงๆ หากแต่ใช้คำที่มีความหมายอย่างอื่นมาใช้แทนที่ ทำให้เกิดความคิดที่ลึกกว่าอุปมา เพราะต้องคิดเอาเองว่า สิ่งที่นำมาแทนนั้นหมายถึงอะไร ตัวอย่างเช่น เราทั้งหลายควรจะลืมตาของเราและพิจารณาก้อนโคลนต่างๆ ซึ่งติดอยู่กับล้อระหว่างความเจริญของเรา”

                   กิ่งแก้ว  แห้วสุโน[๖]กล่าวว่า อุปลักษณ์ (Metaphor) คือ ภาพพจน์ที่นำเอาสิ่งที่แตกต่างกันสองสิ่งหรือมากกว่า แต่มีคุณสมบัติบางประการร่วมกันมาเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งหนึ่งโดยตรง อีกนัยหนึ่งคือการเปรียบเทียบโดยนัยใช้คำว่า เป็น หรือ คือ มาเชื่อม เช่น ลูกเป็นแก้วตาดวงใจของเขา เธอคือแสงสว่างในชีวิตของฉัน บางทีไม่มีอะไรมาเชื่อมก็ได้ เพียงแต่นำมาว่างคู่กันเพื่อเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ลมเวลา ทะเลอารมณ์ อาณาจักรใจ การใช้คำด้วยความหมายโดยในก็เป็น    อุปลักษณ์ เช่น พ่อแม่เปิดไฟเขียวให้เราคบกันแล้ว

                   ในสังคมสิ่งที่มีความสำคัญที่นับถือคือ “หัว” มโนทัศน์ในภาษาเกี่ยวกับคำว่า “หัว” อันเป็นสิ่งที่สูงสุดของมนุษย์นั้นมีการนำเสนอมโนทัศน์ในเรื่องอะไรบ้าง และสิ่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือ “ตา” มีความสำคัญมาก มโนทัศน์ของคำว่า “ตา” จึงเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความสนใจมโนทัศน์ของคำว่า “หัว” และ คำว่า “ตา” ในภาษาถิ่นอีสาน โดยศึกษาว่า มโนทัศน์ของคำว่า “หัว” และ “ตา” มีมโนทัศน์เกี่ยวกับอะไรบ้าง

                   ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนได้เข้าไปเก็บข้อมูลของคำจากการสังเกตจากชุมชนบ้านหนองก้านเหลือง เทศบาลตำบลนาข่า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น โดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์จากผู้บอกภาษา นำเอาคำศัพท์มาศึกษาความหมายเพิ่มเติมกับพจนานุกรม(เว่าอีสาน)ภาษาถิ่นอีสาน ฉบับของบุญเกิด  พิมพ์วรเมธากุลและนภาพร  พิมพ์วรเมธากุล สอบถามจากผู้ใช้ภาษาในเรื่องของความหมายและการใช้ในปัจจุบัน เหตุที่เลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่รวบรวมข้อมูลเนื่องจากเป็นบ้านของผู้เขียนเองและในระหว่างเรียนนี้ผู้เขียนได้พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว ทำให้เกิดความสะดวกในการรวบรวมข้อมูล

                   การศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนได้ตั้งเงื่อนไขจะใช้คำในการศึกษาทั้งหมดจำนวน ๑๐๐ คำ เมื่อเก็บข้อมูลคำได้ทั้งหมด นำมาพิจารณาพบว่าคำว่า “ตา” มีมากกว่า “หัว” ผู้เขียนจึงกำหนดสัดส่วนปรากฏว่าได้ จำนวน ๖๐: ๔๐ คำ เมื่อได้จำนวนดังกล่าว ผู้เขียนได้นำมาคัดเลือกคำจากที่เก็บได้ทั้งหมดให้เหลือตามจำนวนที่ต้องการ คือ คำว่าตา ๖๐ คำ และคำว่าหัว ๔๐ คำ

 

ทบทวนความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

                   ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุปลักษณ์ จะศึกษาในเรื่องของความหมายและตัวอย่างงานวิจัยที่ผ่านมา ซึ่งการศึกษาด้านอุปลักษณ์ มีผู้นิยามความหมายและอธิบายไว้ดังนี้

                   โครงสร้างพื้นฐานของอุปลักษณ์เกิดจากความเหมือนกันทางความหมายขององค์ประกอบ ๒ ส่วน นั่นคือ สิ่งที่นำมาเปรียบ (Vehicle) และสิ่งที่ถูกเปรียบ (tenor) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ องค์ประกอบทั้งสองส่วนมีลักษณะทางความหมายบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น การเปรียบเทียบรสขมของความผิดหวัง ความผิดหวังเป็นสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ รสขมเป็นสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทั้งรสขมและความผิดหวังมีลักษณะเหมือนกัน ในส่วนของการทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน

                   อุงเกเรอร์และชมิด[๗] กล่าวว่า อุปลักษณ์เป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับความคล้ายคลึงกัน (Similarity) และการเปรียบเทียบ (comparison) ระหว่างความหมายประจำรูปและความหมายที่ทำให้เห็นภาพของถ้อยคำ เช่น ดวงตาแห่งสวรรค์ (eye of heaven) หมายถึง ดวงอาทิตย์ เนื่องจากลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกับของดวงตา และดวงอาทิตย์ ทำให้เราสามารถนำวลี “ดวงตาแห่งสวรรค์” มาใช้ในเชิงเปรียบเทียบโดยใช้แทนคำว่า “ดวงอาทิตย์” ในบทประพันธ์

                   อุปลักษณ์เป็นการใช้ภาษาที่สามารถเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อจะต้องมีการนำไปใช้เปรียบเทียบกับรูปภาษาอื่นๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การใช้ภาษาในลักษณะนี้เป็นการแสดงให้ผู้ใช้ภาษาเข้าใจถึงรูปภาษาที่เป็นนามธรรมได้ โดยการนำรูปภาษาที่เป็นนามธรรมไปใช้คู่กับรูปภาษาหรือนำไปเปรียบเทียบกับรูปภาษาที่เป็นรูปธรรม เพื่อที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

                         “The time flew while I was playing football.”[๘]

จะสังเกตได้ว่า คำว่า Flew ซึ่งนำมาใช้คู่กับคำว่า Time กล่าวคือ คำว่า Time ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า Flew เลย เพราะคำว่า Time ไม่มีนก หรือ เครื่องบิน ที่จะบินได้ แต่การที่เรานำเอาคำว่า Time และ คำว่า Flew มาใช้คู่กันนั้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า เวลานั้นผ่านไปอย่างรวดเร็วกว่าเดิมอย่างแน่นอน

                   อุปลักษณ์ไม่เพียงแต่เป็นการนำคำไปใช้ในเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิด กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ อุปลักษณ์สามารใช้เป็นเครื่องมือที่บ่งบอกถึงความคิดหรือมโนทัศน์ของผู้ใช้ภาษาได้ การศึกษาภาษาที่ใช้ในการเปรียบเทียบนั้นสามารถบอกได้ว่าคนในสังคมนั้นมีความคิดหรือมองสิ่งต่างๆ ในโลกอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น TIME IS MONEY. จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเวลาในสังคมของผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่า เนื่องจาก เงิน ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่า ดังจะสะท้อนออกมาจากการใช้คำต่างในปริบทของเวลา ซึ่งคำต่างๆ ถูกนำมาใช้คู่กับเวลา ล้วนแต่เป็นคำที่ถูกใช้คู่กับเงินหรือทองทั้งสิ้น เช่น How do you spend your time these days? ฉะนั้น จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า มีการนำคำกริยาคำว่า Spend ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้ในปริบทคู่กับสิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ เงิน หรือ ทอง เป็นต้น แต่มีการนำคำนี้มาใช้ในปริบทของเวลา (time) สิ่งสำคัญของการใช้อุปลักษณ์คือ ไม่ได้แยกสิ่งสองสิ่งออกจากกันแต่เป็นการเชื่อมต่อหรือการทำให้สิ่งของสิ่งนั้นมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ โครงสร้างของอุปลักษณ์นั้นจะเป็นการขยายวงความหมายจากวงความหมายต้นทาง (Source domain) ไปยังวงความหมายปลายทาง (Target domain)

                   การอธิบายอุปลักษณ์ในเชิงภาษาและภาษาศาสตร์ เป็นการอธิบายถึงรูปแบบการนำอุปลักษณ์มาใช้และบทบาทของอุปลักษณ์ในการสร้างสุนทรียภาพทางภาษา “อุปลักษณ์” หรือ “metaphor” ในภาษาอังกฤษ เมื่อมีการถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยมีการใช้คำเรียกที่หลากหลาย เช่น “อุปมา” “โวหารอุปลักษณ์” “อุปลักษณ์” เป็นต้น ซึ่งก็หมายถึงเรื่องเดียวกันคือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

                   อุปลักษณ์ตามแนวทฤษฎีภาษาศาสตร์ปริชาน เรียกการศึกษาอุปลักษณ์ในลักษณะนี้ว่า “อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์” โดยไม่มุ่งพิจารณาโครงสร้างเป็นหลักแต่สนใจระบบความคิด เหตุผล และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกับแบบเปรียบทางภาษาเป็นสำคัญ ภาษาศาสตร์ปริชานมุ่งเน้นไปที่การถ่ายโยงความหมาย (Mappings) ระหว่างความหมายต้นทาง (Source domain) และวงความหมายปลายทาง (Target domain)

                   I.A. Richards[๙] กล่าวถึงอุปลักษณ์ ว่า อุปลักษณ์ประกอบด้วย ๒ อย่าง คือ สาระ (Tenor) คือ สิ่งที่ตั้งใจจะเปรียบ หรือสิ่งที่กำลังพูดถึงอยู่กับสื่อ (vehicle) คือสิ่งที่นำเข้ามาเปรียบ เพราะมีความคล้ายคลึงในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ความรักเหมือนน้ำผึ้ง จากตัวอย่างนี้ ความรักเป็นสิ่งที่เราต้องการจะสื่อให้ผู้รับสารทราบ ส่วนน้ำผึ้งถือว่าเป็นสิ่งที่เรานำมาเปรียบเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทั้งความรักและน้ำผึ้งต่างก็มีความหมายตรงกันคือ หวานชื่น เป็นต้น และอุปลักษณ์ก็สามารถที่จะแบ่งออกเป็นหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งอุปลักษณ์เหล่านี้ก็เป็นสิ่งสะท้อนโลกทัศน์และวัฒนธรรมของคนในสังคม เนื่องจากการสร้างอุปลักษณ์เกิดการมองโลกและปริบททางวัฒนธรรมของบุคคลใดในสังคมนั้นๆ นั่นเอง

                   จากความรู้เชิงทฤษฏีดังกล่าว ผู้เขียนได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาหาความสัมพันธ์ทางความหมายของคำว่า “หัว” และ “ตา” เพื่อจัดประเภททางความหมาย

 

 

 

ผลการศึกษาอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์จัดประเภทตามความหมายของคำว่า “หัว”

                   ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาได้ใช้คำจำนวน ๔๐ คำ โดยเป็นคำที่ได้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ที่บ้านหนองการเหลือง เทศบาลตำบลนาข่า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม สอบถามจากผู้บอกภาษา นำคำที่ได้จากการเก็บข้อมูลตรวจสอบความหมายกับพจนานุกรม(เว่าอีสาน)[๑๐] เพื่อพิจารณาความหมายและคัดเลือกคำที่ใช้ในการศึกษา จำนวน ๔๐ คำ

                   ผลการศึกษาพบว่า คำว่า “หัว” ในภาษาถิ่นอีสานสามารถจำแนกความหมายได้ทั้งหมด ๑๒ ความหมาย ดังนี้

                   ความหมายที่ ๑ สิ่งที่อยู่ส่วนบนสุดของร่างกายมนุษย์และสัตว์ หมายถึง การกำหนดให้ส่วนที่อยู่บนสุดของคนและสัตว์เรียกว่า “หัว” อันเป็นความหมายพื้นฐานที่สุดที่ทกคนรับทราบ จากตัวอย่างพบจำนวน ๑ คำ คือ คำว่า “หัว” เช่น

                         “ข้อยลอดผักตูหัวตำเสาเฮือน”

                   ความหมายที่ ๒ สิ่งที่อยู่ส่วนลางสุดของพืชบางชนิดและบางชนิดอยู่ใต้ดิน หมายถึง การกำหนดเรียกสิ่งที่อยู่ต่ำสุดของพืชและบางครั้งอยู่ใต้ดินว่า “หัว” เช่น เดียวกับการกำหนดในความหมายที่ ๑ ซึ่งมีลักษณะเป็นความหมายพื้นฐานที่มีความรับรู้ได้ใกล้เคียงกับความหมายที่ ๑ จากตัวอย่างพบจำนวน ๑ คำ คือ คำว่า “หัวมันแจว” (แกว เนื่องจากคนขอนแก่นออกเสียง ก หลังสระ แอ สลับที่กันกับ จ) เช่น

                                     “มากินนึ่งหัวมันแจวนำกันนิมา”

                   ความหมายที่ ๓ ในความหมาย อารมณ์และความรู้สึกที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ จากตัวอย่างข้อมูลพบจำนวน ๘ คำ ประกอบด้วยคำว่า “หัว” “หัวล่อ” “หัวแห๋ะหัวแห่น” “หัวอิ๋กหัวแอก” “หัวขวน” “หัวหยุ้มๆ” “หัวเสีย” “หัวหลิกหัวแหลม” จากตัวอย่างสามารถแยกเป็นความหมายในการบอกอารมณ์ได้ ๒ อย่างคือ อารมณ์ในทางที่มีความสุข และอารมณ์ในทางลบหรือความรู้สึกที่ไม่ดี

                         อารมณ์ในทางที่มีความสุข “หัว” “หัวล่อ” “หัวแห๋ะหัวแห่น” “หัวอิ๋กหัวแอก” “หัวขวน” “หัวหยุ้มๆ” เช่น

                                “ปะสาว่ามื่นล้มซื่อๆ กะหัว

                                “สู๋มาหัวล่อก็เฮ็ดหยัง บัก....”

                                “สู๋หัวขวนกูแมนบ่”

                                “ลูกซายเพิ่นสอบตำรวจได้ละหัวแห๋ะหัวแห่นอยู่เหมิ๋ดมื้อ”

                                “หยอกกันหัวอิ๋กหัวแอกอยู่หั่นละ ยามใด๋สินอนหือ”

                                “คั้นได้กินเหล้าละหัวหยุ้มๆ มักคักแท้น้อ”

                         ในส่วนความหมายอารมณ์ในทางลบหรืออารมณ์ไม่ดี “หัวเสีย” เช่น

                                “ลงผู้ใหญ่บ้านบ่ได้หัวเสียเลยวะ”

                         ในส่วนความรู้สึก โดยมากไม่ได้ใช้ในความหมายที่มีอาการหัวเราะชอบพอ แต่เป็นการเปรียบเทียบความรู้สึกของเด็กเวลาที่วิ่งเล่นแล้วไม่รู้จักเวลาสมควรที่จะกลับบ้าน  “หัวหลิกหัวแหลม” เช่น

                                “คันได้เล่นละหัวหลิกหัวแหลมการบ้านบ่จักเฮ็ด”

                   ความหมายที่ ๔ ในความหมายที่หมายถึงลักษณะนิสัยใจคอ จากตัวอย่างพบจำนวน ๖ คำ ประกอบด้วย คำว่า “หัวแข็ง” “หัวซา” “หัวสูง” “หัวห๋ด” “หัวหมอ” “หัวอ่อน” จากตัวอย่างสามารถย่อยลงเป็นลักษณะนิสัยที่โน้มเอียงไปด้านดี ลักษณะนิสัยที่โน้มเอียงไปด้านไม่ดี และนิสัยที่เป็นคนขี้ขลาด ขี้กลัวไม่เอาไหน

                         ความหมายลักษณะนิสัยที่โน้มเอียงไปด้านดี “หัวซา” และ “หัวอ่อน” เช่น

                               “ให้มันพากันเว้าโลด ข่อยบ่หัวซาดอก”

                                “เบิ่งบัก...แน่ เขามามืออ่อนหัวอ่อนแท้ลูกเบิ่นนั่น”

                         ความหมายลักษณะนิสัยที่โน้มเอียงไปด้านไม่ดี “หัวแข็ง” “หัวสูง” “หัวหมอ” เช่น

                                “ฮู้จักยกมือใส่หัวเป็นแน่ เห็นผู้หลักผู้ใหญ่อย่ายืนหัวแข็งอยู่ซือๆ หลาย”

                                “อย่าไปเล่นนำบัก...มันหัวหมอคือหยังนิ”

                         ความหมายลักษณะนิสัยที่เป็นคนขี้ขลาด ขี้กลัวไม่เอาไหน “หัวห๋ด” เช่น

                                “เห็นเขานักเลงกะไปเล่นนำเขาอยู่ ยามเขาสิตีนั่งหัวห๋ดอยู่คือหยังนิ”

 

                   ความหมายที่ ๕ ความรู้ความสามารถด้านสติปัญญา ด้านความคิด จากตัวอย่างพบจำนวน ๓ คำ ประกอบด้วย คำว่า “หัว” “หัวคึด” “หัวโบฮาน” จากความหมายดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากปริบทของข้อมูลตัวอย่างพบว่า คำเหล่านี้บางคำสามารถให้ความหมายในด้านดีและด้านลบได้ เช่น

                         ให้ความหมายด้านดี

                                “บัก...เรียนเก่งหัวเขาดีหลาย”

                                “เขาบัก...มันมามีหัวคึดปัญญาดีแท้”

                         ให้ความหมายในด้านลบ

                                “บัก...สอบตก ซั่วหลายบ่มีหัว

                                “เจ้าจะแม่นซั่วน้อเถ่า เป็นผู้เมี้ยนแท้จำบ่ได้ ตายซะบ่มีหัวคึดหลายกะดาย”

                                “เจ้าอย่าหัวโบฮานหลายแม่ เขาบ่กินแล้วเข่าเซ่าซู่มื้อนี้”

                   ความหมายที่ ๖ในความหมายหมายถึง จุดเริ่มต้น ส่วนต้น ตอนต้น ส่วนที่อยู่ข้างหน้า อันดับต้นๆ และการเริ่มต้นกระทำ จากตัวอย่างพบจำนวน ๖ คำ ประกอบด้วย “หัวบ้าน” “หัวก่อเฮ็ด” “หัวปี” “หัวข่วน” “หัวค่ำ” “หัวแถว” ซึ่งจะเห็นว่ามีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้

                         ความหมายที่บอกให้ทราบว่าอยู่ตอนต้น ส่วนต้น “หัวบ้าน” “หัวปี” “หัวข่วน” เช่น

                                “หล่า ไปเบิ่งเขาเล่นลิงขายยาอยู่หัวบ้านไป”

                                “หล่า มาต่อยหมากบวบให้แม่แน่ แม่หาหัวข่วนมันบ่พ้อ”

                                “บักหล่านี้ เป็นคนหัวปี

                         ความหมายที่บอกให้ทราบว่า กำลังจะเริ่ม เริ่มไปแล้วแต่ยังไม่นาน “หัวก่อเฮ็ด” และ“หัวค่ำ” เช่น

                                หัวก่อเฮ็ดได้สามสี่ก่อง (เข่า) นี่ละ”

                                “มันพารถล้มหว่างหัวค่ำนั่น”

                         ความหมายที่บอกให้ทราบว่าอยู่ลำดับที่หนึ่ง “หัวแถว” เช่น

                                “ยาย...มายืนเป็นหัวแถวให้คนอื่นมาต่อแน่”

                   ความหมายที่ ๗ ในความหมาย สิ่งที่โดดเด่นหรือมีลักษณะพิเศษ หรือคุณภาพดีกว่า หรือแตกต่างจากจำนวนมากที่เป็นอยู่ ตัวอย่างพบจำนวน ๔ คำ ประกอบด้วยคำว่า “หัวพู” “หัวกะทิ” “หัวงอน” “หัวน่าม” ซึ่งสามารถแยกเป็นลักษณะตามความหมายย่อยได้อีก ดังนี้

                         ความหมายในเรื่องความโดดเด่นและลักษณะพิเศษกว่า “หัวพู” “หัวงอน” เช่น

                               “ข่อยไปถ่าเจ้าอยู่หัวพูเด้อ”

                               “อย่าเอาน้องนองแคงหลาย มันสิหัวงอนเด้”

                         ความหมายในเรื่องความมีคุณภาพดีกว่า “หัวกะทิ” “หัวน่าม” เช่น

                                “คั้นเอาหัวกะทิก่อนเด้อ จั่งคั้นเอาหางมัน”

                                หัวน่ามมิ่มแท้ๆ บ่ได้ต้มน้ำตานใส่”

                   ความหมายที่ ๘ ในความหมาย วัตถุ สิ่งของ หรือสถานที่ จากตัวอย่างพบจำนวน ๑ คำ คือ “หัวทาง” เช่น

                                “น่ามเซาะหัวทางไปนาขาดแล้ว”

                   ความหมายท

หมายเลขบันทึก: 310094เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีจ้า

  • ซ่างหัวมันเถาะ 
  • หัวเต๊อะตัวเติ่น
  • หัวเถิก

ขอมีส่วนร่วมด้วยซ่ำนี่แหละจ้า

ขอบคุณหลายๆจ้า...

 

อยากเห็นฉบับเต็มจัง น่าศึกษา อยากรวบรวมไว้ในสภาวัฒนธรรมหมู่บ้าน ที่ผมรับผิดชอบอยู่

ค่าใช้จ่ายผมยินดี ขอบคุณครับ การวิจัยเชิงลึกอย่างนี้อยากได้เครื่องมือมาก ๆ

ขอบคุณทุกคำแนะนำ

ยินดีที่จะให้ฉบับเต็มครับ แต่งานชิ้นนี้ยังไม่มีคุณภาพพอที่จะใช้ในการเผยแพร่ เนื่องจากเป็นการศึกษาในปริบทที่จำกัดในหลายเรื่องครับ แนะนำให้ท่าน(พรชัย)นำไปศึกษาต่อครับ ยินดีขอให้ติดต่อผ่านเมลล์นะครับ

ขอบ คุณ มาก ครับ

ใช้ ประ โยชน์ ได้ เยอะ ที เดียว

อยากเห็นฉบับเต็มจัง น่าศึกษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท