กฎแห่งเกมส์(แบบใหม่)


คุณค่าขององค์กร >>>>> อยูที่ตัว "คน" ที่อยู่ในองค์กร/หน่วยงาน

เรียนเพื่อน ๆชาว Blog ที่เคารพ วัน นี้ขอพูดคุยเรื่อง "กฎแห่งเกมแบบใหม่" 

กฎข้อที่ 1 : การไม่ประหยัดจากขนาดที่ใหญ่ขึ้น

          เดิมที ขนาดที่ใหญ่ขึ้นของบริษัท หรือสถาบัน หมายถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นไปด้วย ในอดีต ผู้เล่นรายเล็กอาจได้เปรียบในแง่ของความยืดหยุ่น แต่ความมั่นคง/ปลอดภัยดูจะอยู่ที่บริษัทใหญ่มากกว่า

          การกระจายอำนาจเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น AT&T เป็นบริษัทใหญ่มีโครงสร้างแข็งแกร่ง และพนักงานหลายพันคน แต่ Skype มีพนักงานและพีซีเพียงไม่กี่เครื่อง การที่ Skype ไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเดือนงบการตลาด หรือสาธารณูปโภคก้อนใหญ่ จึงเจริญรุ่งเรืองได้แม้มีรายได้น้อยกว่า แนวทางการบริหารจัดการแบบคล่องตัวบวกกับเครือข่ายยูสเซอร์แบบกระจายอำนาจ ทำให้มันสามารถก่อความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมโทรศัพท์

          แนวทางนี้อาจฟังดูขัดกับความเป็นจริง แต่การมีขนาดเล็กกว่ามันดีจริง ๆ เป็นเพราะไม่มีบริษัท (กายภาพ) ให้ต้องดูแล EMule จึงไม่เดือดร้อนที่ยูสเซอร์หลายล้านคนโหลดเพลงฟรี หรือการที่ Craig Newmark สามารถปฏิบัติการจากออฟฟิศเล็ก ๆ ในซานฟรานซิสโกได้อย่างสบาย เว็บไซต์ craigslist จึงสามารถรวบรวมรายชื่อสินค้าหลายล้านรายการโดยไม่เสียเงิน เมื่อเอาขนาดที่เล็กมาผนวกกับเครือข่ายยูสเซอร์ขนาดใหญ่ บริษัทเหล่านี้จึงมีทั้งความยืดหยุ่นและอำนาจในตัว

          เราได้ก้าวสู่โลกใหม่ที่ที่ขนาดเล็ก “เล็ก” คือ ความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อหลักการ diseconomies of scale1 หรือการไม่ประหยัดจากขนาด เริ่มแพร่หลาย ต้นทุนของการเข้าสู่ตลาดใหม่จึงลดลงอย่างมาก ถ้าจะเริ่มต้นเว็บไซต์คลาสซิฟายด์แอดทางออนไลน์ล่ะยากแค่ไหน? ก็ไม่มากนักเพราะขนาดเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องเป็นขนาดที่เล็กนะ

กฎข้อที่ 2 : ผลกระทบของเครือข่าย

          ผลกระทบของบเครือข่าย (Network effect) หมายถึงการเพิ่มขึ้นของคุณค่าหลักของเครือข่ายทุกครั้งที่มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นหนึ่งคน2 ดังนั้น การมีเครื่องโทรสาร หรือโทรศัพท์เพิ่มขึ้น จึงทำให้เครื่องโทรสาร หรือโทรศัพท์เครื่องอื่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

          ที่ผ่านมา การสร้างผลกระทบของเครือข่ายเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว เช่น เครือข่ายเครื่องโทรสารต้องสร้างเครื่องโทรสารที่มีราคาแพงทีละเครื่องแต่องค์กรปลาดาวอยู่ในบานะที่ค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องของผลกระทบของเครือข่าย สำหรับองค์กรปลาดาวที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอย่าง Skype และ craiglist การที่มีลูกค้าเพิ่มเข้ามาหนึ่งรายบริษัทไม่ต้องเสียอไรเลยก่อนนี้การจะสร้างผลกระทบของเครือข่ายขึ้นมาสักครั้งหนึ่งต้องใช้เงินเป็นล้านๆ หรือพันล้านเลยทีเดียว แต่สำหรับองค์กรปลาดาวบางแห่งต้นทุนตรงนี้เหลือเพียงศูนย์เท่านั้น

          องค์กรปลาดาวสามารถสร้างชุมชนที่การมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นหนึ่งคนเท่ากับเพิ่มคุณค่าหลักแก่เครือข่ายโดยที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เช่นทุกครั้งที่มียูสเซอร์ใหม่เข้ามาใช้บริการ EMule ก็หมายความว่า มีเพลงให้แลกเปลี่ยนกันเพิ่มขึ้น หรือทุกครั้งที่มีเว็บไซต์ใหม่เกิดขึ้นใน World Wide Web เท่ากับทำให้เครือข่ายทั้งหมดมีข้อมูลมากขึ้น

          บริษัทอย่าง e-Bay ไม่ได้ใช้ผลกระทบของเครือข่ายเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้วย กล่าวคือ การที่ผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็มีความภักดีต่อเว็บไซต์แห่งนี้ เพราะเครือข่ายแห่งนี้มันมีคุณค่านั่นเอง

กฎข้อที่ 3 : ข้อดีของความยุ่งเหยิงวุ่นวาย

          ขณะที่คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ พ่อแม่ทั่วโลกกำลังบ่นว่า ให้ลูกๆของตนช่วยจัดห้องให้สะอาดเอี่ยม “ห้องรกเลอะเทอะยังงี้อยู่เข้าไปได้ยังไง?” พวกเขาตั้งคำถาม ฉันใดก็ฉันนั้น แนวคิดเดิมๆ คือ ในการบริหารองค์กรหนึ่งนั้น คุณควรจัดระบบและวางโครงสร้างให้ชัดเจนดีกว่า

          แต่ในโลกของการกระจายอำนาจ เด็กๆ ค่อนข้างยินดีปรีดากับความยุ่งเหยิงวุ่นวายทีเดียว ยุ่งไว้แหละดี เพราะภายใต้ความยุ่งเหยิงนี้ ใครๆ (ยูสเซอร์) สามารถทำอะไรได้โดยเสรี อยากโหลดเพลงรึ? ทำไมจะไม่ได้ล่ะอยากสร้างซอฟต์แวร์ใหม่เหรอ? เอาเลย  อยากเขียนบทความลงใน Wikipedia งั้นหรือ? เชิญเลย  อยากสร้างเว็บไซต์เกี่ยวกับแมวของคุณ? ตามสบาย อยากขับรถยนต์ตกแต่งหน้าตาเป็นยีราฟสูง 20  ฟุต? เยี่ยมเลย!

          ระบบปลาดาวเป็นแหล่งเพาะพันธ์ความสร้างสรรค์ การทำลายสร้างนวัตกรรม หรือไอเดียบ้าบอที่ดีเยี่ยม ใครๆ ก็เข้าหา เพราะไอเดียดีๆ ช่วยดึงดูดคนมากกว่า ถ้าเป็นเครือข่ายหนึ่งไอเดียเหล่านี้แหละที่ช่วยทำให้แผนที่วางไว้เป็นจริงขึ้นมา แต่ถ้าวางระบบและโครงสร้างที่ตายตัวขึ้น ตอนแรกคูรอาจทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมีมาตรฐานแบบเดียวกัน แต่มันก็ทำลายความสร้างสรรค์ได้ในคราวเดียวกัน ถ้าคิดว่า ความสร้างสรรค์เป็นสิ่งดีมีค่า จงเรียนรู้ที่จะยอมรับว่า ความยุ่งเหยิงวุ่นวายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี

กฎข้อที่ 4 : ความรู้ของผู้ที่อยู่สุดขอบของเครือข่าย

          ในองค์กรปลาดาว ความรู้จะกระจายตัวอยู่ทั่วองค์กร ยังจำ Ed Sherman และพายุเฮอริเคนวันแรงงาน ปี 1935 ได้ไหม? การที่เขาอยู่ในเหตุการณ์ จึงมีความรู้ความเข้าใจดีกว่าผู้บังคับบัญชาที่สำนักงานใหญ่จะเห็นได้ว่า ความรู้ที่ดีที่สุดมักจะอยู่ตรงปลายขอบขององค์กรเสมอ

          Toyota เองก็ดูเหมือนเข้าใจบทเรียนนี้และกระตุ้นให้คนงานประจำสายพานการผลิตคิดเรื่องนวัตกรรมและรู้จักให้คำแนะนำอยู่เสมอ เพราะพวกเขารู้เรื่องสายการผลิตดีกว่าคนอื่น เช่นเดียวกับ Sun และ IBM mนำบทเรียนนี้ไปใช้เช่นกัน กล่าวคือ บริษัทยอมเปิดให้คนใช้ซอฟต์แวร์ของตนละอนุญาตให้วิศวกรทั่วโลกช่วยปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น Jimmy Wales ก็เช่นกัน เขารู้ดีว่า ณ มุมหนึ่งของโลกที่ห่างไกลออกไป มีคนที่มีความรู้เกี่ยวกับสุนัขพันธุ์เกรย์ฮาวด์เป็นพิเศษ ยังมีใครบางคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติสาสตร์อเมริกาใต้ หรือการทำขนมเค้กสอดไส้อย่างลึกซึ่ง Wikipedia เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

กฎข้อที่ 5 : ใคร ๆ ก็อยากมีส่วนช่วยเหลือ

   คนที่อยู่ในองค์กรปลาดาวไม่เพียงแต่มีความรู้ดีเท่านั้น แต่ยังปรารถนาที่จะแบ่งปันและทำประโยชน์ต่อชุมชนด้วย     การที่คนมาร่วมงานเทศกาล Burning Man ก็เพราะมันตั้งอยู่บนหลักเศรษฐกิจของการให้ พวกเขาช่วยกันสร้างรถยนต์ที่ใช้พลังงานมนุษย์รถโรงเรียนที่ถูกแปลงโฉมเป็นเรือโจรสลัด งานศิลปะและการตกแต่งต่างๆเพียงปีละครั้ง เพื่อให้ชุมชนได้ชื่นชมและมีความสุขร่วมกัน หรือการที่ยูสเซอร์ยอมเสียเวลาเป็นชั่วโมงเพื่อแก้ไขบทความใน Wikipedia เพราะอยากปรับปรุงให้เว็บไซต์ดีขึ้น เหมือนที่นักบัญชีต้องการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญของตนในเว็บไซต์ Tax-Almanaac.org ของ Intuit เช่นเดียวกับยูสเซอร์ที่ใช้ชื่อว่า “jpgm” ที่ช่วยรีวิวหนังสือบนเว็บไซต์ Amazon และวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ยอมอดหลับอดนอนช่วยกันปรับปรุงโปรแกรม Apache code ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสปิริตของการแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

กฎข้อที่ 6 : พึงระวังการตอบโต้ของ Hydra

          ถูกแล้ว องค์กรกระจายอำนาจเป็นที่ที่เหมาะสำหรับคนที่อยากช่วยเหลือดังนั้น จึงก่อให้เกิดความรู้สึกสนิทชิดเชื้อและเปิดเผย แต่พอลองทำตัวเป็นองค์กรปลาดาวเข้าจริงๆ อาจมีอะไรให้คุณประหลาดใจได้เหมือนกัน

          ลองจู่โจมองค์กรกระจายอำนาจดูสิ แล้วคุณจะนึกถึงไฮดรา สัตว์ร้ายในเทพปกรณัมกรีกมีหลายหัว ถ้าคุณตัดหัวมันสักหัว หรือสองหัว ไม่ช้ามันก็จะงอกขึ้นใหม่ กว่าที่กองทัพสเปนจะเข้าใจบทเรียนนี้ตอนที่โจมตีพวก Apache ก็ต้องสูญเสียอย่างหนัก เมื่อบริษัทแผ่นเสียงบดขยี้ Napster ได้สำเร็จ ก็มี Kazaa และ EMule เข้ามาแทน หรือแม้แต่การไล่ล่าผู้นำกลุ่ม al Queda ล่าเท่าไรองค์กรนี้ก็มีแต่จะกระจายแผ่วงกว้างไปเรื่อยๆ การตัดแขนขาปลาดาวก็เหมือนกัน ตัดได้มันก็งอกใหม่ขึ้นเป็นตัวใหม่ได้ ที่จริงยังพอมีวิธีต่อสู้กับองค์กรกระจายอำนาจอยู่เหมือนกัน แต่ขอร้องล่ะ อย่าคิดตัดหัวมันเลย

กฎข้อที่ 7 : พวก Catalyst เล่นบทนำ

          ไม่ใช้เรื่องแปลกที่ Cortes อยากเจรจากับ Montezuma ผู้นำของเผ่า Aztec เพราะใครๆ ก็อยากรู้ว่า ใครเป็นผู้บังคับบัญชา ใครคือ คนที่ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น

          แต่เมื่อกองทัพสเปนเผชิญหน้ากับเผ่า Apache กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เพราะที่นี่ไม่มี Montezuma มีแต่ Nant’ans ที่เล่นบทบาทตัวเร่งปฏิกิริยา หรือ catalyst พวกนี้จะคอยแนะนำว่า ควรดำเนินการอย่างไรหลังจากนั้นจึงปล่อยให้สมาชิกจัดการกันต่อไป แม้จะไม่ใช่ซีอีโอ แต่พวก catalyst ก็มีความสำคัญต่อองค์กรกระจายอำนาจอย่างมาก ทว่าไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนอำนวยการแสดง แต่เป็นเพราะพวกเขาสามารถจุดประกายคนให้ลงมือทำสิ่งต่างๆ เช่น คนอย่าง Josh Sage เป็นต้น พวกเขาเป็นคนวาดแผนที่เครือข่าย เช่น Auren Hoffman และรู้ว่าควรวางมือเมื่อไร เช่น David Martin (หรือ Mary Poppins หลังจากที่ปล่อยให้ครอบครัวดูแลกันเองเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว) พวก catalyst กำลังจู่โจมโลกใบนี้อย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่ระวังด้วยนะ ถ้าคุณเปลี่ยน catalyst ให้เป็นซีอีโอเมื่อไรละก็เครือข่ายทั้งหมดเดือดร้อนแน่ ไม่เชื่อไปถามเผ่า Apache ดูก็ได้

 กฎข้อที่ 8 : คุณค่าหลักอยู่ที่ตัวองค์กร

          อุดมการณ์ คือ เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนองค์กรกระจายอำนาจ กลุ่มคนบางกลุ่ม เช่น Animal Liberation Front หรือ ALF ไม่ได้จ่ายเงินจ้างสตาฟฟ์ หรือมีโครงสร้างเป็นเรื่องเป็นราว แต่สิ่งที่เป็นแก่นของ ALF คืออุดมการณ์ ถ้าคุณดึงอุดมการณ์ออกไป รับรององค์กรปลาดาวล้มครืนแน่

          องค์กรปลาดาวที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยสิ่งที่ตอนแรก (ตอนเริ่มต้น) เป็นอุดมการณ์หัวรุนแรง เช่น Granville Sharp มีความเชื่อว่า ทาสเป็นสิ่งที่ควรยกเลิกได้แล้ว หรือ Pierre Omidyar เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนสามารถไว้ใจได้ Bill W. เชื่อว่า ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฟื้นฟูแต่ช่วยเหลือกันเองได้

          ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนองค์กรกระจายอำนาจจริงๆ กลยุทธ์ที่ดีที่สุด คือ ให้เปลี่ยนอุดมการณ์ของสมาชิก นี่คือวิธีที่ Jamli Bora ใช้ต่อสู้ลัทธิก่อการร้ายในสลัมของแอฟริกา และ Future Generation สร้างชุมชนขึ้นในอัฟกานิสถาน

กฎข้อที่ 9 : วัดประเมิน ติดตาม และจัดการ

          การที่องค์กรปลาดาวมักมีโครงสร้างที่ไม่ชัดเจนและยุ่งเหยิง ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สามารถวัดประเมินมัน แต่ในการวัดประเมินผลเครือข่ายกระจายอำนาจไม่จำเป็นต้องวัดได้ถูกต้องเป๊ะเสมอไป ถึงจะทำได้ มันก็คงไม่สำคัญหรอกว่า เราสามารถนับจำนวนสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายทั้งหมดหรือไม่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การพิจารณาว่า เครือข่ายนั้นๆ มีความกระตือรือร้นแค่ไหน? การกระจายตัวของเครือข่ายเป็นอย่างไร? เครือข่ายที่ว่านี้เป็นอิสระไหม? แล้วความสัมพันธ์ข้างในเป็นอย่างไร?

          เวลาติดตามดูองค์กรปลาดาวก็เหมือนกัน เราควรตั้งคำถามว่า สุขภาพหรือความสมบูรณ์ของเครือข่ายนี้เป็นอย่างไร? สมาชิกยังคงมีส่วนร่วมดีไหม? เครือข่ายนี้เติบโตขึ้นไหม? มีการกระจายตัวไหม? มีการเปลี่ยนสภาพไหม? มันกระจายอำนาจมากขึ้นหรือน้อยลง?

          พวก Catalyst ส่วนใหญ่มีความเข้าใจคำถามเหล่านี้ดีอยู่แล้ว แม้พวกเขาจะให้ความสำคัญต่อสมาชิก แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่า ต้องมีการรายงานหรือการควบคุมอะไรกัน การจัดการเครือข่ายกระจายอำนาจต้องอาศัยคนที่สามารถเป็นตัวกลางประสานระหว่างสถาปนิก เชียร์ลีดเดอร์ และนักสังเกตการณ์ที่น่าเกรงขามได้เป็นอย่างดี เพราะในองค์กรปลาดาวนั้น คนจะทำสิ่งที่พวกเขาอยากทำ โดยมี catalyst เป็นคนคอยเชื่อมโยงคนเข้าหากัน และใช้อุดมการณ์เป็นแรงกระตุ้นพวกเขาอย่างสม่ำเสมอและสุดความสามารถ

กฎข้อที่ 10 : ใช้โครงสร้างแบบแบนราบ

          ที่จริง มันก็พอมีวิธีจัดการเก็บองค์กรกระจายอำนาจอยู่เหมือนกันนะวิธีการ คือ ทำการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของสมาชิก หรือทำให้องค์กรมีลักษณะรวบอำนาจมากขึ้น แต่ถ้าหวังความอยู่รอด โดยเฉพาะทำอย่างไรก็ไม่สามารถตีแตกเสียที ก็ให้เป็นพวกเดียวกับพวกเขาเสียเลย

          อย่างไรก็ดี เพื่อความอยู่รอดนั้น บริษัทและสถาบันต่างต้องใช้แนวทางแบบลูกผสม เช่น การที่ GM มอบอำนาจแก่คนงานประจำสายพานการผลิต Jack Welch ให้อิสระในการดำเนินงานแก่ส่วนธุรกิจของ GE หรือการที่ Sun ยอมรับความจริงว่า บริษัทต้องยอมเปิดให้คนใช้ชอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของตนโดยเสรี (เพื่อแลกกับรายรายได้จากบริการเสริมส่วนอื่นแทน)

          ในโลกดิจิตอล การกระจายอำนาจจะยังคงเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมและสังคมอย่างไม่หยุดยั้ง การต้านทานพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จึงไร้ประโยชน์ แต่พลังเดียวกันนี้แหล่ะที่สามารถเข้าไปควบคุมเพื่อผันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่กว่า ไม่เชื่อก็ลองถามนักสว็อปเพลง ผู้ใช้บริการ Skype พ่อค้าบนเว็บไซต์ EBay และผู้เข้าร่วมแก้ไขบทความของ Wikipedia สมาชิกชุมชน craigslist พวกขี้เหล้าที่กำลังอยู่ระหว่างการบำบัด หรือใครก็ได้ที่เคยใช้อินเทอร์เน็ต

          จริงอยู่ องค์กรกระจายอำนาจอาจดูวุ่นวายไร้ระเบียบในแวบแรก แต่หลังจากได้เห็นศักยภาพของมันแล้ว สิ่งที่ดูสับสนวุ่นวายกลับกลายเป็นสิ่งที่มีผลานุภาพที่สุดเท่าที่เคยประสบมาในโลกนี้

ด้วยความเคารพยิ่ง

สมศรี นวรัตน์

รพ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

หมายเลขบันทึก: 309758เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2009 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท