จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

จุดเริ่มของความรู้และศรัทธา


เช้านี้เสร็จจากการอ่านอัลกุรอาน ก็หยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับอนุเคราะห์มาจากท่านอาจารย์ ibm ครูปอเนาะ เป็นหนังสือภาษาอาหรับ ซึ่งปกติหากไม่ได้รับคำแนะนำให้อ่านก็มักจะไม่ค่อยหยิบมาอ่านอยู่แล้วครับ เนื่องจากพอเป็นภาษาต่างประเทศทีไรแล้ว ข้อจำกัดทางภาษามันก็เยอะขึ้นทันที

เิปิดอ่านหนังสือนี้ แค่หน้าคำนำก็ชอบเสียแล้วครับ (ยังไม่ได้อ่านหน้าในครับ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะอ่านในหน้าเนื้อหาเข้าใจหรือเปล่า ฮิฮิ) ผู้เขียนขอบคุณและสรรญเสริญอัลลอฮ์ ซึ่งพระองค์บอกไว้ในอัลกุรอานว่า พระองค์เป็นผู้ทรงสร้างมนุษย์และสอนมนุษย์ด้วยกับปากกา ประโยคต่อมาคือที่พระองค์สอนนั้นคืออะไรละ คำตอบคือ สอนในสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้

การนำเสนอน่าสนใจตรงที่ผู้เขียนยกอีกโองการของอัลกุรอาน เหมือนเป็นนัยยะบงบอกประเด็นที่สำคัญที่มนุษย์ไม่รู้ อัลลอฮ์ทรงบอกว่า พระองค์เป็นผู้ทรงสร้างมนุษย์ และทรงสอนนั้นด้วยความชัดเจน (อัลบายาน:ขออภัยที่ยังไม่ได้ติดตั้งคีย์บอร์ดภาษาอาหรับ)

ผมว่าคำถามที่ก่อให้เกิดสำนักคิดมากมาย คือ มนุษย์เกิดมาอย่างไร โลกและจักรวาลนี้เกิดมาได้อย่างไร หลายคนคิด หลายคนได้คำถาม แต่ก็นั่นแหละครับ มันไม่ได้มีคำตอบเดียว เพราะมีหลายคนคิด ต่างคนก็ต่างมั่นใจในคำตอบของตัวเองเสียด้วยสิครับ ปัญหาตามมาที่สำคัญคือ การพิสูจน์จนนำไปสู่การสิ้นสุดข้อขัดแย้ง ข้อสงสัยในเรื่องเหล่านี้ "ยังทำไม่ได้" (ขอเน้นคำว่า "ยัง" ครับ เพราะผมเชื่อว่า ความจริงที่ชัดเจนปรากฏชัดอยู่เสมอ)

เคยได้ยินคำพูดของคนๆ หนึ่งบอกว่า ความเชื่อ ศาสนา เป็นตัวทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม (เขาพยายามจะบอกอย่างอ้อมๆ ว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้แหละที่คิดต่างจากส่วนใหญ่ของประเทศ เลยก่อให้เกิดความขัดแย้ง) เขาแนะนำว่า ถ้าไม่มีก้อดีหรอก ซึ่งผมมั่นใจว่า เขาเข้าใจผิดเรื่อง เพราะความจริงคือ เรื่องของการกำเนิดมนุษย์ การกำเนิดจักรวาล ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ก่อให้เกิดปรัชญา ศาสนานั้น เป็นคำถามสำคัญมากๆ ที่มนุษย์จะไม่คิดไม่ได้ครับ จุดสำคัญน่าจะอยู่ที่เราอยู่ร่วมในความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อได้อย่างไรมากกว่าครับ

(กลับมาเข้าเรื่องต่อนะครับ) เมื่อมีมนุษย์ขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการเรียนการสอนครับ ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในบรรดาคำสั่งทั้งหมดในศาสนาอิสลามนั้น คำสั่งแห่งการเริ่มต้นศาสนาอิสลามคือ "จงอ่าน" เป็นคำสั่งที่มาก่อนคำสั่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการศรัทธา การละหมาด การถือศิลอด หรืออื่นใด

มันคืออะไร? ผู้เขียนอธิบายไว้ว่า ทั้งนี้เพราะ การอ่าน การเขียน การเรียนการสอน และความรู้ คือทั้งหมดของคำสั่งทั้งมวล มันคือกุญแจที่จะนำไปสู่ศาสนา ดังนั้นความรู้และการเรียนรู้คือศาสนา และศาสนาคือความรู้ คือความย่ำเกรง และการห่างไกลความเลวร้าย ความชั่วร้ายทั้งปวง

ผู้เขียนกล่าวไว้น่าสนใจว่า ความรู้เรียกร้องไปยังศรัทธา และศรัทธาก็เรียกร้องเราไปสู่การเรียนรู้

ศาสนาไม่ใช่ความงมงาย ศาสนาไม่ใช่อุปสรรค์ของการพัฒนาครับ แต่ศาสนาเป็นความรู้เพื่อสร้างความสูงส่ง ยกระดับความเป็นมนุษย์ และสร้างให้สังคมสันติสุข แต่หากศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้ที่ศรัทธางมงาย หลับหูหลับตาเชื่อ อันนั้นแหละประเด็นปัญหาของสังคม

และเมื่อศาสนาคือความรู้ เครื่องมือสำคัญที่จะให้ได้มาคือ "การอ่าน"

คำสำคัญ (Tags): #การอ่าน#อิสลาม
หมายเลขบันทึก: 309596เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2009 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาอ่านและเติมคุณค่าให้ตัวเองครับ แหม ชักอยากอ่านตอนต่อไปแล้วซิครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ อ.อาลัม

ช่วงนี้ภาระการเป็นนักศึกษามันรัดตัวมากครับ แต่จะพยายามเขียนต่อครับ 

  • เห็นหัวข้อนี้ของอาจารย์แล้วสนใจครับ

ขอบคุณครับ สำหรับ การอ่าน ในมุมมองทางศาสนา

มันคือ จุดเริ่มต้น ของ วัฒนะ..ธรรม ด้วยนะครับ

 

  • เห็นอาจารย์บ่นว่า ปวดต้นคอร้าวไปแขน ในอนุทิน

สงสัยอาจารย์คงต้องดูท่านั่งทำงานของตนเองแล้วละครับ อาจต้องปรับเปลี่ยนถ้ามันไม่พอดี

บางครั้งกระดูกต้นคอเราก็อาจจะมีปัญหา ทดสอบง่าย ลองก้มคางลงให้ชิดหน้าอกช้าๆ ย้ำช้าๆนะครับ ถ้ามันรู้สึกเสียบแปลบจากต้นคอไปหัวไหล่เหมือนไฟช๊อต อาจารย์ควรแวะไปหาหมอกระดูกหน่อยนะครับ

ขอบคุณครับคุณหมอนาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี 

ผมกำลังคิดว่ามาจากปัญหาท่านั่งในการทำงานเหมือนกันครับ เพราะว่า เก้าอี้ที่นั่งทำงานอยู่มันชำรุดครับ

ลองทำอย่างคุณหมอว่า ยังไม่เสียวแปลบครับ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท