ใครเป็นใคร..บนถนนพลังเยาวชน พลังสังคม เพื่อการให้(๙)


“การบันทึกภาษาท้องถิ่นด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยนั้นยังไม่เพียงพอ หากต้องสร้างความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนหันมานิยมพูดภาษาถิ่นของตนกันมากขึ้น เป็นหนทางที่ช่วยสืบสานภาษาถิ่นของอีสานได้ดีที่สุด”

 

 

 

 

 

 

 

โครงการ “อีสานภาษาสัมพันธ์”

 

   นอกจากส้มตำและหมอลำซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวอีสานแล้ว ชาวอีสานยังมีเอกลักษณ์ที่สำคัญมาก คือ.. ภาษา ..

 

   ที่จริงแล้วภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของประเทศ มีภาษาพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์และเป็นรากฐานของวัฒนธรรมมากกว่าสิบภาษา ตั้งแต่ภาษาเยอ ภาษาเนี๊ยะกุล หรือภาษาชาวบน ภาษาส่วย ภาษาโคราช ภาษาภูไท ภาษาไทเลย ภาษาย้อ ภาษาโย้ย ภาษากะเลิง ภาษากะโซ่ ภาษาไทดำ และอีกมากมาย

 

              

 

   ภาษาถิ่นเหล่านี้กำลังเลือนหายไปจากชีวิตประจำวันของชาวอีสาน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เยาวชนคนอีสาน ขาดการปลูกฝัง ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการใช้ภาษาถิ่นอีสานจากผู้ปกครอง ขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของภาษาถิ่น

 

  เยาวชนยุคใหม่จึงไม่รู้จักการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมซึ่งมีการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยความพอเพียงอย่างแยบยล อีกทั้งยังละเลยขนบธรรมเนียม ประเพณี และภาษาถิ่น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นคงสูญหายไปในช่วงอายุของเราอย่างแน่นอน

 

      

 

“กลุ่มรักษ์อีสาน” ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนเยาวชนจาก ๑๙ จังหวัดทั่วภาคอีสาน จึงรวมตัวกันขึ้น โดยมุ่งมั่นที่จะช่วยสืบค้น ศึกษาและรวบรวมภาษาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานไว้ เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆและสร้างสรรค์ขึ้นกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกระตุ้นให้เยาวชนได้ตระหนักถึงและรู้สึกรักในที่มาของตนเอง

 

  โดยกลุ่มฯ ได้วางแผนจัดทำ “โครงการอีสานภาษาสัมพันธ์” ขึ้น และได้รับการคัดเลือกจนได้เป็น ๑ ใน ๘ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก “โครงการตลาดประกอบฝัน ๔” ซึ่งดำเนินงานโดกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม จากการสนับสนุนของ บริษัทบ้านปู จำกัด(มหาชน) 

 

     

 

“โครงการอีสานภาษาสัมพันธ์” เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งมีความหลากหลายและสะท้อนถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิม ภาษาเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ค่านิยมการใช้ภาษาที่เปลี่ยนไปโดยวัยรุ่นหันไปใช้ภาษานิยมใหม่ๆ และละเลยการพูดภาษาถิ่น

 

สิ่งที่น้องๆกลุ่มรักษ์อีสานได้ร่วมกันทำในโครงการ ได้แก่การสืบค้นและศึกษาเรียนรู้ภาษาถิ่นต่างๆของภาคอีสาน เพื่อนำมาจัดทำสื่อต่างๆ ทั้งในลักษณะ รูปเล่ม ตำรา วีซีดี เว็บไซต์ และอื่นๆ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่สร้างสรรค์ โดยการสร้างสรรค์สิ่งเก่า ประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดการเห็นคุณค่าของภาษาถิ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของภาษา และการกลับมาใช้ภาษาถิ่นในหมู่เยาวชน เพื่อให้ภาษาถิ่นยังคงอยู่กับคนอีสานต่อไป

 

    

 

นางสาวอาภาภรณ์ บุญสูง หรือ นก ได้เล่าถึงสิ่งที่กลุ่มรักษ์อีสานทำว่า

 

  “สิ่งที่เราทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของโครงการมีหลายกิจกรรม เช่น

-- กิจกรรม “จุดประกายการเรียนรู้”

--กิจกรรม “เด็กเรียนรู้ ผู้ใหญ่ถ่ายทอด”

 เป็นกิจกรรมที่เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อเก็บข้อมูลด้านภาษาต่างๆในแต่ละพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะได้ภาษาแล้วยังได้ความเชื่อและวัฒนธรรมอันดีงามจากผู้ใหญ่

--“กิจกรรม แบ่งปัน เรียนรู้ เล่าสู่กันฟัง”

เป็นการจัดค่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของผู้ที่เข้าร่วมโครงการหลังจากการลงศึกษาข้อมูลภาคสนาม เป็นกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย

-- การจัดนิทรรศการ

-- การแสดงเพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมา

-- การพูดคุยกันถึงรูปแบบ วิธีการ ของแต่ละจังหวัดในการที่จะเผยแพร่และอนุรักษ์ให้ภาษาถิ่นอีสานในจังหวัดของตนเองยังคงอยู่ และเกิดการนำไปใช้ในท้องถิ่น

 

  

 

 ส่วนกิจกรรมที่เป็นผลงานสำคัญของโครงการ คือ

-- กิจกรรม “สื่อ ภาษาถิ่นอีสาน” ซึ่งเป็นการรวบรวม เรียบเรียงข้อมูลภาษาถิ่นอีสานทั้งหมด ที่ได้ศึกษาจากภาคสนาม มาจัดทำให้อยู่ในรูปแบบของสื่อ หนังสือ ตำรา วีซีดีโปรแกรม เว็บไซต์ ต่างๆ เพื่อนำออกเผยแพร่ให้กับ สถานศึกษาหลัก ๑๙ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน กลุ่มรักษ์อีสาน..

-- สามารถเก็บข้อมูลภาษาถิ่นได้ทั้งหมด ๑๔ ภาษา

-- จัดทำกิจกรรมอนุรักษ์ภาษาถิ่นทั้งหมด ๓๕ กิจกรรม

 โดยมีทีมงาน เยาวชนในท้องถิ่น อาสาสมัคร และผู้ถ่ายทอดภาษาที่เกี่ยวข้องมากกว่า ๒๗๐ คน และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายถึง ๑๓ เครือข่าย พบว่า..

-- มีเยาวชนให้ความสนใจพูดภาษาถิ่นมากขึ้น

--เกิดการสอบถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างภาษา มีการจัดทำสื่อภาษาถิ่นอีสานขึ้น

--มีแผนที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์

--การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับชุมชนและสถานศึกษาต่อไป

 

 

       

 

สิ่งที่กลุ่มรักษ์อีสานยังคงดำเนินงานต่อไป คือ การสร้างแผนงานเพื่อต่อยอดโครงการซึ่งประกอบด้วย..

--  การจัดทำงานวิจัยภาษาถิ่น

-- การกระตุ้นจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ภาษาถิ่นผ่านละคร นำเสนอต่อหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์และแผนงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนงานนี้

 

 เป้าหมายต่อจากนั้นคือ..

-- การผลักดันความหลากหลายของภาษาถิ่นเข้าไปในระบบของการศึกษา ซึ่งอาจจะรณรงค์ให้มีการบรรจุเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของวิชาพื้นฐาน

-- จัดแหล่งเรียนรู้ภาษาถิ่นอีสานให้กับกลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจ

-- ผลักดันให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนกิจกรรม และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภาษาถิ่นที่เยาวชนทำ

-- ขยายกิจกรรมที่อนุรักษ์ในชุมชนของตนเองออกสู่ชุมชนใกล้เคียง โดยนำสื่อซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ

 

        

 

โครงการอีสานภาษาสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของการฝึกให้เยาวชนมาหัดพูดภาษาถิ่นกันตั้งแต่เริ่มต้น ภาษาถิ่นเหล่านี้อยู่กับเยาวชนมาตั้งแต่เกิด เพียงแต่ถูกกลืนหายไปท่ามกลางกระแสสังคมและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้เยาวชนขาดความภาคภูมิใจและไม่นิยมพูดภาษาถิ่นของตน หากเกิดการกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญแล้ว การกลับมาใช้ภาษาถิ่นอีกครั้งด้วยความภาคภูมิใจก็จะนับเป็นเรื่องง่ายสำหรับเยาวชนเหล่านี้

        

“การบันทึกภาษาท้องถิ่นด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยนั้นยังไม่เพียงพอ หากต้องสร้างความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนหันมานิยมพูดภาษาถิ่นของตนกันมากขึ้น เป็นหนทางที่ช่วยสืบสานภาษาถิ่นของอีสานได้ดีที่สุด”

 

กลุ่มรักษ์อีสาน

อาภาภรณ์ บุญสูง “น้องนก” แกนนำกลุ่มและผู้รับผิดชอบโครงการอีสานภาษาสัมพันธ์

E-mail : [email protected]

ที่มา: "หนังสือร้อยพลังเยาวชน..พลังสังคม..ร่วมสร้างประเทศไทยด้วยการให้" ของโครงการมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ร่วมสร้างประเทศไทยด้วยการให้" ตุลาคม ๒๕๕๒

 

 

หมายเลขบันทึก: 309188เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะพี่นงนาท มาร่วมอนุรักษ์และสืบทอดขนบธรรมเนียม ประเพณี และภาษาถิ่นค่ะ...บ้านหนูแหลง "ใต้" กันทั้งบ้านนิ...แหลงกลางทีไรทองแดงกันทั้งบ้านเหมือนกันนิ...ภูมิใจนิบ้าน ๆ ดีช้อบบบ...พาพี่ "เท้ง" มาเรียนรู้ให้กำลังใจเด็กไทยจ้าาา...

 

 

 

สวัสดีค่ะพี่นงนาถ 

แวะมาเยี่มชมกิจกรรมดีดีค่ะ

หนูเองก็เป็นลูกหลานเมืองย่าโมเหมือนกัน

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

ขอบคุณค่ะ น้องVij ..รู้ไหมคะว่า..พี่ใหญ่มีเชื้อสายชาวใต้เหมือนกันจากนครศรีธรรมราช บ้านเกิดคุณพ่อที่มีมารดาจากสกุล ณ นคร..พี่กลับไปเยือนทุกปีแต่พูดใต้ไม่เก่งเท่าน้อง Vij ค่ะ..ภาพหญิงงามอรองค์ชุดไทยนี้สวยมาก..อ่านลายเซ็นเป็นของคุณจักรพันธุ์ฯใช่ไหมคะ..ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณberger 0123 ที่แวะมาเยี่ยมกลุ่มน้องๆโครงการอีสานภาษาสัมพันธ์ค่ะ..รูปนี้ดูแล้วได้กลิ่นลมทะเลใต้สวนสนแห่งอันดามันนะคะ..

Trang9 

ยินดีค่ะ คุณอาร์ม ลูกย่าโมที่มาเยี่ยมกลุ่มเยาวชนอิสานรักษ์ภาษานะคะ..ชอบบทความ Creative Common เป็นประโยชน์มาก..ขอบคุณค่ะ..

สวัสดีค่ะคุณป้าใหญ่

ที่โรงรียนของหนูมีกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อชุมชนของเรา  มีกลุ่มนักเรียนไปเรียนภาษาถิ่นพื้นบ้านด้วยค่ะ  คล้าย ๆภาษาอิสานค่ะ

คุณป้ารักษาสุขภาพด้วยนะคะ

ขอบใจจ้ะน้องนัท..เราใจตรงกันเลย..ป้าใหญ่เพิ่งพาพี่ๆโครงการนี้ไปให้กำลังใจน้องนัทเล่าเรื่องครอบครัวอย่างเปิดใจ..และหยิบภาพน้องนัทกับคุณแม่มาไว้ที่นี่ด้วยจ้ะ..น้องนัทมีรอยยิ้มที่จริงใจสดใสเหมือนคุณแม่มาก...

  • สวัสดีค่ะ คุณนงนาท
  • มาเรียนรู้ภาษาถิ่นค่ะ
  • "ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่มีพลังบ่งบอกถึง
    รากเหง้าและสายใยชีวิตที่ผ่านวันเวลา...ก่อเกิดมรดกทางปัญญา
    และมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า"
  • ขอบพระคุณที่นำเสนอเรื่องราวดี ๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณธรรมทิพย์ ที่เห็นคุณค่าและพลังของภาษาถิ่นนะคะ...

สวัสดีค่ะพี่ เพิ่งกลับมาจากอีสานได้สองวันเองค่ะ ประทับใจหลายๆ อย่างที่นั่น หากมีโอกาสจะกลับไปเยือนอีกค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ ขอบคุณนะคะที่มีโครงการดีๆ เด็กอีสานทุกวันนี้ชอบภาษากลางค่ะ เลียนแบบทีวีบ้าง เห็นหลานตัวเล็กๆ 2ขวบ อยู่บ้านนอก...ก็พูดกลาง...

ภาษาอีสานมีเสน่ห์ จริงใจ ซื่อๆ อยากให้อนุรักษ์ไว้ค่ะ ที่รพ.ก็มีการประกาศเป็นภาษาถิ่น

เช่น คำว่า หล่า...ก็น้อง...หล่านี้ก็ฟังดูเพราะ...

Chada_mini1อบคุณค่ะ คุณชาดา~natadee ที่มาเยี่ยมเยาวชนรักษ์อีสานค่ะ

  

P ขอบคุณค่ะ คุณแดง ที่มาสนับสนุนว่า ...

"ภาษาอีสานมีเสน่ห์ จริงใจ ซื่อๆ อยากให้อนุรักษ์ไว้ค่ะ ที่รพ.ก็มีการประกาศเป็นภาษาถิ่น เช่น คำว่า หล่า...ก็น้อง...หล่านี้ก็ฟังดูเพราะ..."

 

 

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่

เอาดอกไม้มาฝากค่ะ...

ขอบคุณแทนคนอิสาน...

 

ขอบคุณค่ะ คุณแดง ที่มาเยี่ยมอีกครั้งหนึ่งพร้อมดอกไม้ช่องาม ขอให้มีความสุขนะคะ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท