ทั้งสองสิ่ง จริงแล้ว ก็ไม่มี


 

ตัวตน ทำไมมี

กิเลส ทำไมจร

ทั้งสองสิ่ง จริงแล้ว ก็ไม่มี

อ้างอิงมาจากบันทึก ค้น..ไม่พบ 

 

  • ฝึกจิต ฝึกใจ ตามรู้กาย ตามรู้ใจ ต่อสู้กับเจ้ากิเลสตัณหา ทำสารพัด สลับกันแพ้ สลับกันชนะ กับเจ้ากิเลสอยู่เนือง ๆ
  • ในบางครั้งที่จิตตั้งมั่น มีสติ สัปปชัญญะ ก็เห็นชั่วครั้งชั่วคราวว่า ทั้งกายและใจไม่ใช่ของเรา
  • แต่บ่อยครั้ง เมื่อเหตุปัจจัยทางโลกที่มากระทบหนัก ๆ บ่อย ๆ เข้า เราก็กลับไปสร้างตัวตนเป็นเจ้าของกาย เจ้าของใจ เหมือน ๆ เดิม ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ตอนนั้นล่ะทุกข์ระทมด้วยพิษของกิเลสตัณหาเหมือน ๆ เดิม
  • จนได้อ่านบันทึก ค้น..ไม่พบ  ถึงได้คิดและคิดได้ว่า เอ้า! ถ้าไม่ยึดเอากาย เอาใจ มาเป็นตัวตน ไม่มีตัวตนแล้วเจ้ากิเลสตัณหามันจะยุ่งกับเราได้อย่างไร
  • เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี โอ้! พระเจ้าจอร์สขอรับ 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 309037เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2009 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ศิลปศาสตร์แห่งการเป็นกระบวนกร

 

ที่เชียงรายนี้มีชุมชนกระบวนกร เหมือนที่อื่นถิ่นอื่นอาจจะมีการผลิตอะไรขายเป็นสินค้าประจำหมู่บ้านหรือตำบล ที่เชียงรายมีชุมชนจิตวิวัฒน์ ที่เรียนรู้เรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อการวิวัฒน์

เราเรียกผู้ฝึกฝนศิลปะแขนงนี้ว่า "กระบวนกร" ภาษาฝรั่งอาจจะตรงกับคำว่า "Facilitator" กระมัง โดยมีลักษณะเด่นๆ สองประการ คือ

หนึ่ง ทฤษฎีการเรียนรู้ที่อยู่เบื้องหลังอันเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา และเป็นความรู้ในด้านการวิจัยสมองล่าสุด ณ พรมแดนความรู้ ที่มีสมมติฐานว่ามนุษย์มีกระบวนการเรียนรู้เป็นเมล็ดพันธุ์ในตนอยู่แล้ว กระบวนการที่เราจัดทำเพียงสะกิดหรือเกาให้ถูกที่คันเพื่อให้การเรียนรู้นั้นๆ ได้ระเบิดตัวออกมาเป็นปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์อันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่

สอง การเรียนรู้นั้นไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้ของปัจเจก เมื่อเรามีกติกาและท่าทีกับการพูดคุยที่เหมาะสม เราจะได้เข้าถึงการเรียนรู้แบบสมุหภาพ หรือ collective หรือการเรียนรู้ระดับกลุ่มชน ที่นำพามนุษย์ไปสู่ภูมิปัญญาอันสูงกว่าในระดับปัจเจก

ทั้งสองประเด็นแห่งการเรียนรู้จึงถูกแปลความออกมาเป็นทั้งเนื้อหาให้ได้เรียนรู้เข้าใจ และเป็นกระบวนการและกิจกรรมที่นำพาผู้คนได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่เนื้อหาเพียงเท่านั้น หากเข้าไปเกี่ยวพันกับสมองทั้งสามชั้น ปัญญาสามฐาน เราไม่ได้ดูแลเฉพาะแต่เรื่องของความคิด แต่เราได้ดูแลพลังชีวิตด้วย เจตจำนงด้วย อารมณ์ความรู้สึกด้วย

และในเรื่องความคิดเราไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระนาบของพุทธิปัญญา แต่เรายังดำเนินไปในดินแดนของการบ่มเพาะญาณทรรศนะ คือเราทำกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องกายผสมผสานไปกับเรื่องของหัวใจและหัวสมองไปในเวลาเดียวกัน

จึงไม่ใช่ความรู้ที่แห้งแล้งปราศจากความรู้สึก หรือขาดพลังแห่งปฏิบัติการ การแบ่งแยกนั้นได้สลายตัวไปในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมที่เข้ากันได้กับธรรมชาติแท้จริงแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์

โหมดปกติ เจ้าตัวเล็ก คลื่นสมองอัลฟา ผสานปัญญาสามฐาน พื้นที่การเรียนรู้ผ่านมิติของจิตไร้สำนึก โยนิโสมนสิการและวิปัสสนาญาณ

เราจะนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาผสมผสานกัน แต่มุ่งชี้ไปยังสภาวะเดียวกัน ในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่คิดค้นกันขึ้นในกระบวนการเรียนรู้แบบสุนทรียสนทนา

เราจะเห็นได้ว่า ในโหมดปกป้องนั้น ชีวิตจะถดถอยจากสภาวะปกติ หรือโหมดปกติ

กล่าวคือชีวิตจะหยุดและปิดการเรียนรู้ไปอย่างอัตโนมัติ ปัญญาสามฐาน หรือสมองสามชั้นจะทำงานอยู่ในฐานของความกลัว ร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่า โดยลำดับ

แต่ในโหมดปกติ ชีวิตจะเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา เราจะกล้า ไม่กลัว เราจะมีอารมณ์ดี ไม่ตกอยู่ในร่องอารมณ์ เราจะรู้สึกปลอดโปร่ง เราจะยืดหยุ่นสร้างสรรค์ในทางความคิด

นี่เองคือการเปิดออกของพื้นที่แห่งการเรียนรู้

เราจะจดจำโหมดของชีวิตว่าปกติหรือไม่ ได้อย่างง่ายๆ โดยจดจำคุณลักษณะของคลื่นสมองสองคลื่น คือคลื่นเบต้า กับคลื่นอัลฟา เวลาเราอยู่ในโหมดปกติ สมองของเราจะเป็นคลื่นอัลฟา แต่ในโหมดปกป้องสมองของเราจะอยู่ในคลื่นเบต้า ที่มีความถี่ 14-21 รอบต่อวินาที ในขณะที่คลื่นอัลฟามีความถี่ 7-14 รอบต่อวินาที

ในคลื่นเบต้า คุณลักษณะของมันคือ เราจะรู้สึกเร่งรีบบีบคั้น ดังนั้น เมื่อเรารู้สึกเร่งรีบบีบคั้นนั้น แสดงว่าเราอยู่ในคลื่นเบต้าแล้ว เราอยู่ในโหมดปกป้องแล้ว ในขณะที่ในคลื่นอัลฟานั้น เราจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ แบบตื่นตัว ไม่ใช่หลับใหล

อีกประการหนึ่งในคลื่นอัลฟานั้น เราเปิดมิติการทำงานร่วมกันระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ในคลื่นเบต้า เนื่องจากเสียงดังของเจ้าตัวช่างพูด หรือ talking self ในศาสตร์แห่งแม่มด จะพร่ำบ่นและตัดสินคน ตัดสินความอยู่ตลอดเวลา มันจึงไม่อาจได้ยินเสียงของจิตไร้สำนึก แต่ในคลื่นอัลฟา ซึ่งเป็นคลื่นของเจ้าตัวเล็ก หรือ younger self ในศาสตร์แห่งแม่มดนั้น มีการพูดคุยกันระหว่างจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกอยู่ตลอดเวลา มีการฝากโจทย์จากจิตสำนึกไปยังจิตไร้สำนึก หรือจากหยดน้ำไปถึงมหาสมุทร

เพราะเมื่อเทียบเคียงกัน หากจิตสำนึกเทียบได้กับหยดน้ำ จิตไร้สำนึกย่อมอาจเทียบได้กับมหาสมุทร จิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นองค์กรจัดการตัวเอง เป็นประดุจคอมพิวเตอร์ที่มีชีวิต ซึ่งจะทำงานตอบคำถามให้แก่เราได้ทุกๆ เรื่อง

พุทธธรรมกับสมองส่วนหน้า

ในเรื่องของสมอง สมองส่วนหน้านั้น เป็นวิวัฒนาการล่าสุดที่จะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุครบบวช ๒๐ ปี โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าผากหรือที่ตั้งของตาที่สาม อันเปรียบได้ว่าเป็นปัญญาที่ข้ามพ้นความเป็นทวิภาค หรือทวิภาวะออกไป

ในคลื่นอัลฟานั้น สมองส่วนหน้าได้ถูกกระตุ้นให้ทำงาน โดยคุณลักษณะหลักในของทำงานในสมองส่วนหน้า คือการใคร่ครวญ ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของอุปจารสมาธิ หรือสมาธิในฌานชั้นต้นสองประการ

ในภาษาบาลีคือ วิตก วิจาร ซึ่งไม่ได้หมายความว่า วิตกกังวล หรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่หมายถึงความคิดแบบใคร่ครวญ การเฝ้ามองอย่างเนิ่นนานโดยพลิกดูมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งไปตรงกับคำทางพุทธว่าโยนิโสมนสิการด้วยเช่นกัน

การทำงานของสมองส่วนหน้าแบบนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ทางสมอง คือ เดวิด เดวิดสัน หนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ไปสนทนากับสมเด็จองค์ทะไลลามะเนืองๆ ได้ศึกษาว่า เมื่อมีการใคร่ครวญเกิดขึ้น มันไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า

และเมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน ร่องอารมณ์ที่มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่อมิกดาลานี้จะทำงานน้อยลงหรือหยุดทำงาน

และในทางกลับกัน เมื่อร่องอารมณ์ในอมิกดาลาทำงาน สมองส่วนหน้าจะทำงานน้อยลงหรือเฉื่อยลง กล่าวคือ เมื่อเกิดร่องอารมณ์ การใคร่ครวญของมนุษย์จะถูกลดทอนลง เหมือนกับคำพูดที่ว่า "เห็นช้างตัวเท่าหมู"

นี่คือการเชื่อมโยงงานวิจัยทางสมองเข้ากับองค์ความรู้ในพุทธธรรม

ถ้าเชื่อมอัลฟากับโหมดปกติเข้ากับพุทธธรรม จะเห็นได้ว่า สภาวะในคลื่นอัลฟาก็คือความผ่อนคลายแบบตื่นตัว ที่เชื่อมโยงกับเจ้าตัวเล็กในศาสตร์แห่งแม่มด เจ้าตัวเล็กจะมองชีวิตอย่างสนุกสนาน ไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่มีระบบโรงเรียน ตรงนี้ ผลพวงที่ได้ทันที คือปีติ สุข อันเป็นองค์คุณอีกสองประการของฌานชั้นต้น

อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อจิตมีปิติ มีความสุข และใคร่ครวญ จิตก็จะเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ หรืออาจกล่าวได้ว่า จิตในโหมดปกติจะเป็นสมาธิของมัน หรือในคลื่นอัลฟา เมื่อเราหยุดและช้าลง ไปสู่คลื่นสมองที่ช้าลง ไปสู่การใคร่ครวญของสมองส่วนหน้า ไปสู่โยนิโสมนสิการ ไปสู่การเฝ้ามองอย่างเนิ่นนาน ไปสู่การฟังอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเรากับสิ่งที่เรารับรู้เป็นสิ่งเดียวกัน ผู้สังเกตกับผู้ถูกสังเกตเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อนั้น เราก็เข้าถึงองค์คุณประการที่ห้าของฌานชั้นต้น นั่นคือ เอกัคตา

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ แม้ว่าพระพุทธองค์จะดำดิ่งไปในฌานชั้นไหนๆ ได้ก็ตาม แต่กลับมาตรัสรู้ที่ฌานชั้นต้นนี้เอง

เรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย

คนที่มีความเครียดและไม่ผ่อนคลาย มักจะไม่รู้ตัวและคิดว่าตัวเองไม่เครียด แต่ความเครียดมันค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนโดยเราไม่รู้ตัว จนกระทั่งกลายมาเป็นวิถีชีวิตของเรา เป็นส่วนหนึ่งของความชินชา จนกระทั่ง เราคิดว่านี่คือความเป็นปกติของเรา

ที่มากับความเครียดก็คือการดำรงชีวิตอยู่ในคลื่นเบต้า ในความเร่งรีบบีบคั้น เราอยู่ในความเร่งรีบบีบคั้นจนจำเจ จนกระทั่งคิดว่าชีวิตและการทำงานแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงมีวิถีชีวิตอยู่กับความกลัว ความวิตกกังวล ร่องอารมณ์และความคิดที่วนเวียนอยู่ในเทปม้วนเก่ากันจนชินชา

เราต้องกลับมาเรียนรู้เรื่องการผ่อนคลาย มาเรียนรู้การกลับมาใช้ชีวิตในความเป็นปกติจริงๆ ในความผ่อนคลาย โปร่งโล่ง สบายใจ สบายกาย

ในสภาวะที่กายก็ผ่อนคลาย จิตใจก็ไม่เร่งรีบ หากรู้สึกว่ามีเวลา สามารถดำเนินชีวิต กระทำการงาน ในจังหวะและลีลาที่เป็นตัวของตัวเอง

การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบ (Total Relaxation)

ดร.จอน คาบัต ซิน เปิดคลีนิคคลายเครียดอยู่ในมหาวิทยาลัยแพทย์แมสสาชูเซต สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บปวดเรื้อรัง ตั้งแต่คนเป็นโรคไมเกรน ไปจนกระทั่งคนไข้วาระสุดท้ายของโรคเอดส์หรือโรคมะเร็ง จอนจะให้คนไข้ได้เรียนรู้เรื่องความผ่อนคลาย โดยเริ่มจากกิจกรรมการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบ

การผ่อนคลายแบบนี้ เริ่มโดยให้คนเข้าร่วมนอนหงายอย่างผ่อนคลาย แขนขากางออกเล็กน้อย ฝ่ามือหงายขึ้น ทางโยคะจะเรียกว่าศพอาสนะ หรือท่านอนตาย คือให้ปล่อยวางทุกอย่างลง คลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ซึ่งอาจจะทำให้ดีขึ้นด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนก่อน พร้อมกับการหายใจเข้า แล้วคลายออกอย่างฉับพลัน พร้อมกับการหายใจออก เราก็จะได้รับรู้ความรู้สึกผ่อนคลายไปทั่วร่างกาย

กิจกรรมนี้อาจจะเปิดเพลงบรรเลงที่มีท่วงทำนองผ่อนคลาย และช่วยให้จิตใจสงบรำงับ กระบวนกรอาจกล่าวคำเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมผ่อนคลายร่างกายทีละส่วน ใช้ท่วงทำนองของซุ่มเสียงที่ผ่อนคลาย ให้จังหวะลีลาเนินนาบ หยุดเป็นพักๆ อันเป็นเสียงในคลื่นอัลฟา ที่จะทำให้คนได้ยินรู้สึกผ่อนคลายอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง เสียงในคลื่นอัลฟานี้จะพูดตรงไปยังจิตไร้สำนึกของผู้เข้าร่วม ทำให้การชักนำให้ผ่อนคลายเป็นไปอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังเช่น

"วันนี้... พวกท่านได้เดินทางมาโดยไม่ได้หลับนอนอย่างเต็มที่... อยากให้ท่านได้ผ่อนคลาย... ได้กลับมามีโอกาส... สำรวจร่างกายของตัวเอง... ลองมาดูไล่เรียงแต่นิ้วเท้าของท่าน... เช็คดูว่ามันสบายดีหรือเปล่า... หัวแม่เท้า... นิ้วเท้าอื่นๆ..."

แล้วไล่เรียงไปเรื่อยๆ ด้วย จังหวะและซุ่มเสียงที่ทำให้รู้สึกสบายๆ ผ่อนคลาย ไปทั่วทั้งร่างกาย บางทีผู้เข้าร่วมบางท่านอาจจะหลับไป ก็ไม่เป็นไร

สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้นอกจากจะได้ความผ่อนคลายแล้ว ยังได้ความสดหรือการมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งจะได้รับการให้ความสำคัญตลอดกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ ดังนั้น ในกิจกรรมต่างๆ จะมีการสอดแทรกการกระตุ้นให้กลับมาดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะเสมอๆ ดังเช่น การเชิญระฆังแห่งสติเป็นระยะๆ

การกลับดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะยังเข้ามาเสริมสร้างให้เกิดประสบการณ์ตรง ที่ไม่ผ่านการตีความที่คุ้นชินอีกด้วย ในกรณีนี้คือการรับรู้ตรงๆ ถึงความเป็นไปในร่างกายของเรา เราเริ่มรับรู้เป็นครั้งแรกซึ่งอาการเคร่งเครียดต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในร่างกาย และเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายการตึงตัวของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ หลายคนเมื่อได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ จะได้เรียนรู้เรื่องการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก หลายคนอาจกล่าวว่าเพิ่งจะรู้สึกว่าผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นอย่างไร แต่ก็อาจมีบางท่านที่ไม่ผ่อนคลายในกิจกรรมนี้เช่นกัน ซึ่งจะต้องหาวิธีแก้ไขกันไปตามปฏิภาณและญาณทรรศนะของกระบวนกรนั้นเอง

สำหรับเรื่องของจังหวะเวลาที่จะนำกิจกรรมนี้เข้ามาใช้ ว่าจะเป็นเวลาไหนดีนั้น ให้ดูเรื่องความเหนื่อยล้าและความเคร่งเครียดเป็นสำคัญ

ในช่วงเริ่มต้น ถ้าผู้เข้าร่วมเหนื่อยล้ามา มีหลายครั้งที่เราใช้การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นกิจกรรมเริ่มต้น แต่ในบางสถานที่ที่ไม่อาจจัดเตรียมผ้าสำหรับรองนอนได้ เราอาจจะทำกิจกรรมนี้ในท่านั่ง แต่นั่นหมายความว่า ผลความผ่อนคลายที่จะคาดหวังได้ ก็คงจะหย่อนยานไปไม่น้อย แต่ก็ดีกว่าจะไม่ทำอะไรเลย

อีกช่วงเวลาหนึ่งที่น่าทำคือช่วงบ่าย ที่ร่างกายอ่อนล้า เมื่อได้ทำ ผู้เข้าร่วมจะสดชื่นขึ้นมามากเลยทีเดียว

บางท่านอาจจะถามว่าเราจะทำได้บ่อยแค่ไหน กรณีนี้ให้กระบวนกรดำเนินกิจกรรมไปได้เลยตามความรู้สึก บางงานเราจะทำกันบ่อยมาก ไม่ต้องกลัวว่าเวลาจะเสียไป เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่ามากกว่าเสมอ

เพราะถ้าไม่ผ่อนคลายแล้ว กิจกรรมทั้งหลายที่จะทำตามมาก็ไม่มีค่าอะไรเลย เพราะมันจะไม่ได้ผล อย่างที่ควรจะเป็น

 

วิศิษฐ์ วังวิญญู

 

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

 

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จิตตปัญญาศึกษากับคลื่นสมอง

น่าจะประมาณเกือบปีแล้วกระมังที่คุณวิจักขณ์ พานิช ได้เขียนบทความในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้อธิบายถึงความหมายของคำว่า "Contemplative Education" ที่ในขณะนั้นยังไม่มีศัพท์ที่เป็นภาษาไทยและวิจักขณ์ก็ได้ลองให้ความหมายของคำคำนี้ว่าเป็น "การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ" และต่อมาท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตท่านได้กรุณาบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า "จิตตปัญญาศึกษา" และวันที่ผมเขียนร่างของบทความชิ้นนี้ขึ้นมาก็พบว่า ดร.จารุพรรณ กุลดิลก ได้เขียนบทความถึงเรื่องนี้ลงในคอลัมน์นี้พอดีโดยไม่ได้นัดหมายกัน

ในบทความชิ้นนี้ผมอยากขอลองทำความเข้าใจในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ผ่านความเข้าใจในเรื่องทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คือเรื่องคลื่นสมองเพราะผมคิดว่า ณ เวลาปัจจุบันนี้เรื่องราว "Contemplative Education" หรือ "การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ" หรือ "จิตตปัญญาศึกษา" นี้มีความสำคัญมากและจะมากยิ่งขึ้นไปทุกวันที่ผ่านไป

ความเข้าใจในความหมายของคำคำนี้ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาเท่านั้น แต่มีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับพวกเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไร

ยกตัวอย่างเช่นปัญหาหลักๆ ทางสาธารณสุขก็เกิดจากความไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของคำคำนี้ เพราะจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขไม่สามารถ "ถ่ายทอด" ความรู้ไปสู่ผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไปได้ เกิดการบล็อคเกิดการติดขัดในการสื่อสารระหว่างผู้คิดว่ารู้-คือแพทย์ กับผู้ถูกคิดว่าไม่รู้-คือคนไข้ ผู้คนทั้งหมดไม่มีทางเข้าใจเข้าไปถึงแก่นของ "สุขภาพองค์รวม" ซึ่งหมายถึงการมีสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืนและมีความสุขได้เลยหากขาดเครื่องมือชิ้นนี้

และทั้งนี้ถ้ามองให้ดีๆ ก็จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้รวมไปถึงปัญหาหลักๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาในเรื่องการทำงานแล้วเครียด ปัญหาในทางทางการเมืองก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจาก "ความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง" ในความหมายของคำคำนี้

ผมพบว่าความแตกต่างที่เห็นได้ "ชัดเจนที่สุด" เรื่องหนึ่งระหว่าง "จิตตปัญญาศึกษา" กับการศึกษาทั่วไปนั้นก็คือ "จิตตปัญญาศึกษา" เป็นการศึกษา "โลกภายในตัวเอง" แต่การศึกษาทั่วไปในสังคมบริโภคนิยมนั้นเป็นการศึกษา "โลกภายนอกของตัวเรา"

ทำไมต้องศึกษา "โลกภายในตัวเอง" ?

คำตอบก็คือ การศึกษาที่มุ่งทำความเข้าใจกับ "โลกภายนอกตัวเรา" โดยที่ไม่ได้เข้าใจตัวเองมาก่อนเลยย่อมทำให้มองเห็น "โลกภายนอก" บิดเบี้ยวและผิดรูปไปจากความเป็นจริงเพราะงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นค้นพบว่า "เราจะมองเห็นโลกภายนอกเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นโลกภายในของตัวเราเป็นอย่างไร"

และเมื่อลองเทียบเคียง "จิตตปัญญาศึกษา" กับความเข้าใจในเรื่องคลื่นสมอง ผมพบว่าสามารถอธิบายเหตุผลถึงความสำคัญของเรื่องนี้ได้ในมุมหนึ่ง คลื่นสมองของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ เรียงลำดับตั้งแต่เร็วไปหาช้าดังนี้

1.เบต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่เร็วที่สุดมีความถี่ได้ตั้งแต่ 14 Hz (รอบต่อวินาที) ไปจนถึง 21 Hz หรือในกรณีที่ต้องเร่งรีบมากๆ หรือวุ่นวายใจมากๆ คลื่นสมองชนิดนี้อาจจะวิ่งเร็วได้มากถึง 40 Hz นักวิทยาศาสตร์พบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่จะมีคลื่นสมองชนิดนี้เป็นหลัก คลื่นสมองชนิดนี้ก็คือความคิดในขณะตื่นของพวกเราทุกคนนั่นเอง (Conscious Mind) ซึ่งก็คือ "เรื่องราว" ที่เรามองเห็นโลกภายนอกนั่นเอง และการศึกษาในกระแสหลักมุ่งเน้นอยู่แต่การเรียนรู้ที่อยู่แต่ในคลื่นชนิดนี้

2.อัลฟ่าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่เริ่มช้าลงมา มีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ 7-13 Hz เป็นคลื่นสมองที่จะปรากฏบ่อยในเด็กที่มีความสุข กำลังฝันกลางวัน (Daydream) ในผู้ใหญ่จะพบคลื่นชนิดนี้ได้ในผู้ที่ฝึกฝนตัวเองให้สงบนิ่งมากขึ้น อัลฟ่าเวฟเป็น "ประตู" ระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก คนส่วนใหญ่จะขาดคลื่นชนิดนี้ ทำให้คลื่นเบต้ามีมากเกินไปและมีลักษณะเป็น "คอขวด" ที่อุดตันไม่สามารถทะลุเข้าไปสู่โลกภายในตัวเองได้ การสร้างคลื่นชนิดนี้จึงมีความสำคัญที่จะทำให้สภาวะอุดตันแบบคอขวดของคลื่นสมองหายไป เกิดความสมดุล ส่วนหนึ่งของ "จิตตปัญญาศึกษา" จะเน้นการสร้างคลื่นอัลฟ่าเพื่อให้เกิด "สะพาน" หรือ "ประตู" ที่เชื่อมต่อลงไปสู่ "จิตใต้สำนึก" หรืออาจจะไปได้ถึง "จิตไร้สำนึก" ที่แสดงให้เห็นโดยลักษณะคลื่นสมองที่ "ช้าลงกว่าเดิม" ไปอีกเป็นคลื่นแบบเธต้าและเดลต้า

3.เธต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่ช้าลงมากว่าอัลฟ่าเวฟ มีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ 2-6 Hz เป็นคลื่นสมองที่พบเป็นปกติในช่วงที่ทุกคนกำลังหลับ "หรือ" อยู่ในการภาวนาสมาธิที่ลึกระดับหนึ่ง เป็นคลื่นสมองที่สะท้อนการทำงานของ "จิตใต้สำนึก" (Subconscious Mind) ซึ่งเป็นการทำงานของเนื้อสมองส่วนใหญ่ของมนุษย์

4.เดลต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด (0.5-2 Hz) เป็นคลื่นสมองที่แสดงถึงการทำงานเชื่อมต่อกับส่วนที่เป็น "จิตไร้สำนึก" (Unconscious Mind) ซึ่งเป็นส่วนที่เป็น "ปัญญาร่วม" ของมนุษย์

ผมพบว่า "ความหมายในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์" ของ "โลกภายในตัวเอง" นั้นน่าจะหมายถึง "จิตใต้สำนึก" และอาจจะสามารถก้าวลงลึกไปถึง "จิตไร้สำนึก" ซึ่งอันหลังนี้จะรวมไปถึง "ปัญญาร่วมของมนุษยชาติ" (Collective Wisdom) และเมื่อเราสามารถเข้าไปสู่ "จิตใต้สำนึก" หรือถึงระดับ "จิตไร้สำนึก" ได้บ่อยๆ โดยที่มี "จิตสำนึก" กำกับอยู่ด้วย ก็จะ "จำได้" และสามารถลงไปสู่ "แหล่งข้อมูลที่มหาศาล" ตรงนั้นได้บ่อยมากขึ้นเร็วมากขึ้น ข้อมูลที่ได้จาก "จิตใต้สำนึก" และ "จิตไร้สำนึก" นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ จะออกมาในลักษณะที่เรียกว่า "ญาณทัศนะ" (Intuition) หรือ "ปิ๊งแว้บ" หรือ "ยูเรก้า" ซึ่งเป็น "ชุดภาษา" อีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่คำพูด แต่มีความพอเหมาะพอดีแบบที่คาดไม่ถึง (Synchronicity) แบบที่เคยมีสำนวนกำลังภายในที่บอกว่า "คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต" อะไรทำนองนั้น

"การช้าลง" ด้วยการ "ใคร่ครวญ" จึงเป็น "สัญลักษณ์" ที่มีนัยสำคัญยิ่งของการศึกษาด้านในแบบนี้ เพราะถ้าไม่ช้าลงหรือไม่ใคร่ครวญ เราก็ย่อมจะไม่มีทางทำให้คลื่นสมองของเรากลายมาเป็นคลื่นอัลฟ่า ถ้าไม่เกิดคลื่นอัลฟ่าแล้วก็ยิ่งไม่มีทางเข้าไปสู่คลื่นเธต้าหรือเดลต้าได้เลย

โลกแห่งบริโภคนิยมนั้นเต็มไปด้วยความ "เร่งด่วน" ไปหมด ทุกอย่างถูกทำให้ "เร็ว" และ "เร่ง" ผู้คนถูกทำให้คิดว่า "ถ้าช้าแล้วจะไม่ทันการณ์" คลื่นสมองของผู้คนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นคลื่นเบต้าที่เร็วและเร่งไปเสียหมด "สูญเสียโอกาส" ที่ได้เข้าไปท่องเที่ยวชม "ความงดงามภายในของตัวเอง" เกิดความเครียด ป่วยเป็นโรคเร่งรีบไม่ต้องนับไปถึงเรื่องการเรียนรู้และประสิทธิภาพในการทำงานที่ด้อยลง ในความหมายนี้ "จิตตปัญญาศึกษา" จึงเป็นการ "ปรับสมดุล" ของคลื่นสมองให้ดีขึ้นมากกว่าเดิม

บางทีระบบการศึกษาของพวกเราทั้งหมดอาจจะต้อง "กลับขั้ว" คืออาจจะต้องหันมาสนใจศึกษา "เรื่องราวภายในตัวเราเอง" เสียก่อน ทั้งนี้เพราะถ้าพวกเราสามารถที่จะ "เข้าใจโลกภายใน" ของตัวเราได้ เราก็จะสามารถ "เข้าใจโลกภายนอก" ได้โดยไม่ยากเย็นอะไร

อย่างไรก็ตาม เราก็คงจะต้อง "ไม่หลงทาง" ไปติด "กับดักผู้รู้กับผู้ไม่รู้" "กับดักหลักสูตรตายตัว" "กับดักเกิดผลแน่นอน" และอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ "จิตตปัญญาศึกษา" ด้วยเช่นกัน

 

นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ 

จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education)

 

ประมาณครึ่งปีก่อน มีบทความจิตวิวัฒน์ที่ชื่อว่า "การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ" เขียนโดยวิจักขณ์ พานิช นักเรียนไทยที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เน้นการเรียนรู้คุณค่าของชีวิต เป็นมหาวิทยาลัยนอกกระแสหลักที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนี้)

โดยวิจักขณ์ แปลมาจากคำว่า Contemplation ซึ่งเป็นชื่อวิชาที่นักการศึกษาระดับแนวหน้าของโลกกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิชาที่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างได้ผล เนื่องจากปัญหาของมนุษย์ที่พบเห็นอยู่เสมอ คือบางครั้งคนเก่งอาจตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยหลงลืมแง่มุมของจริยธรรม หรือคนมีจริยธรรมอาจขาดศิลปะในการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

สิ่งเหล่านี้ได้รับการอธิบายจากผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลก ว่าเป็นผลมาจากการศึกษาอย่างแยกส่วน วิชาความรู้กับความจริงของชีวิตถูกสอนแยกกันโดยสิ้นเชิง เราจึงไม่รู้ว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้คืออะไร คุณภาพด้านนอกและด้านในของมนุษย์จึงไม่สอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกัน

ดังนั้น ภายใต้ความคิดกระแสหลักทั้ง 2 สายในปัจจุบัน คือ ปัจเจกเสรีนิยมและสังคมนิยมที่ต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต่างพัฒนาไปคนละทิศอย่างสุดขั้ว จึงล้วนไม่สามารถทำให้มนุษย์พบกับอิสรภาพอย่างแท้จริงได้ และหากปราศจากการใคร่ครวญอย่างจริงจัง ย่อมจะปักใจเชื่อไปตามกระแสใดกระแสหนึ่งอย่างสุดโต่ง

แต่ถ้าตั้งโจทย์ให้กับสังคมเสียใหม่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งความเก่งที่จะสามารถดำรงตนให้อยู่รอด และมีความดีที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สามารถรังสรรค์ชุมชนของตนให้น่าอยู่ ยังจะเกิดการต่อสู้เพื่อกระแสใดกระแสหนึ่งอีกกระนั้นหรือ

ดังนั้น หนทางที่ตรงและเร็วที่สุดในการทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขคือ การปฏิวัติการเรียนรู้ของมนุษย์ทั้งหมด เพื่อบ่มเพาะให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี

ซึ่งในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ที่ตนศึกษาอย่างถ่องแท้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการพัฒนาคุณภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในระดับจิตวิญญาณหรือจิตสำนึกใหม่ ที่รู้จักรับผิดชอบต่อการดำรงอยู่ของสังคมและมีหัวใจที่จะดูแลโลกให้ร่มเย็นเป็นสุขสืบไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพอย่างที่ฝัน เนื่องจากศาสตร์แนวหน้าต่างๆ ล้วนมีความยากและซับซ้อน เพียงการถ่ายทอดแต่ละวิชาให้นักเรียนเข้าใจก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว

ดังนั้น การจะนำเรื่องแก่นปรัชญาในเชิงคุณธรรมจริยธรรมของแต่ละศาสตร์มาประยุกต์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่า และเป็นที่รู้กันว่าเรื่องใดยาก จะทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เกิดความท้อใจและเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้ในที่สุด

ดังนั้น เมื่อจบออกไป คนเหล่านั้นจะยังคงมีความสับสนในชีวิต วิชาการก็ไม่แม่นยำ แก่นแท้ก็ไปไม่ถึง เป็นอันตรายต่อการสร้างชาติอย่างยิ่ง เพราะถ้าบุคลากรในประเทศไม่สามารถนำวิชาความรู้มาแก้ไขความทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องจริงของชีวิตได้ มิหนำซ้ำยังเอาไปหาประโยชน์ใส่ตัว เบียดเบียนผู้อื่นและเกิดการบริโภคอย่างเกินพอดี ยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม จนกลายเป็นสังคมแห่งความทุกข์

จนเมื่อถึงวันหนึ่งที่ความสุขด้านนอกตัวไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงของคนในสังคมได้แล้วนั่นแหละ จึงค่อยย้อนกลับมาสู่ประตูธรรม หันหน้าเข้าพึ่งพาความรู้ที่ช่วยเยียวยาจิตใจ เช่น หลักศาสนาของตน เป็นต้น

เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากบุคลากรของชาติมัวไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติโดยรวม กว่าจะเข้าใจชีวิตและหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ อาจใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต

ซึ่งเราไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้นแล้ว

เนื่องจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันกำลังรุมเร้าเข้ามา ทั้งภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์เอง เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ทั้งหมดจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด

และหันมาร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

มีความพยายามของกลุ่มคนหลายกลุ่มทั่วโลก ที่ร่วมกันพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ให้สามารถเลือกใช้วิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ มาประสานเชื่อมโยงกันอย่างชาญฉลาด เพื่อแก้ไขในสิ่งที่มนุษย์เคยทำผิดพลาดไว้กับโลกและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์อย่างอ่อนน้อมอ่อนโยน

วิชาเหล่านี้รวมเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษา หรือการศึกษาที่เน้นการพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นคุณภาพด้านในของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ ไม่แบ่งแยกหรือตัดสิน ถูก-ผิด ขาว-ดำ

ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะทำให้เกิดความรักความเมตตา มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และเป็นการร่วมสร้างสังคมพื้นฐานปัญญา (Wisdom-Based Society)

การเรียนรู้หลักๆ ของจิตตปัญญาศึกษาคือ ศาสตร์ต่างๆ บนโลกที่สามารถอธิบายความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสรรพสิ่ง และทำให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ

เช่น ความรู้เรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) หรือจักรวาลวิทยา (Cosmology) เป็นต้น รวมทั้งการฝึกฝนในเรื่องของจิตใจ การฝึกสติ สมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรปฏิบัติควบคู่ไปกับวิชาในห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเปิดรับข้อมูลหรือความรู้อย่างเต็มที่ สุขภาพกายและใจจะดีขึ้น ผลการเรียนย่อมจะดีขึ้นด้วย เรียกว่าเรียนอย่างมีความสุข

ซึ่งมีงานวิจัยมากมายทั่วโลกที่อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเป็นสากล และหนทางในการฝึกฝนจิตใจ ก็มีมากมายหลายวิธีตามความเหมาะสมกับคนแต่ละวัย มีทั้งความสนุกและได้สติ-สมาธิไปพร้อมๆ กัน เช่น การฝึกโยคะ การรำกระบอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมไดอะล็อค (การสนทนาที่เน้นการฟังอย่างไม่ตัดสิน เกิดสติและปัญญาร่วมกันในวงสนทนา) เป็นต้น การรีทรีท (Retreat) หรือการปลีกวิเวก เพื่อไปรู้จักตนเอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เพราะในภาวะที่จิตสงบ ไม่คิดฟุ้งซ่าน อาจพบคำตอบต่อปัญหาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ตัวอย่างเช่น การคิดค้นระบบการร่อนลงจอดของยานอวกาศบนดาวอังคาร ของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านกล่าวว่า ในขณะที่เกิดปิ๊งความคิดขึ้นมานั้น จิตของท่านสงบว่าง ก่อให้เกิดปัญญานั่นเอง

กิจกรรมรีทรีทนี้ กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก และหากเยาวชนของชาติมีโอกาสฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ย่อมจะเป็นเรื่องดีมิใช่น้อย

มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเช่น ฮาร์เวิร์ด โคลัมเบีย แมสซาชูเซตส์ ฯลฯ ได้นำเรื่องของจิตตปัญญาศึกษาบรรจุเข้าไปในหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ แล้ว รวมทั้งสถาบัน The Center for Contemplative Mind in Society ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของศาสตราจารย์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเรื่องเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการเรียนการสอนและการอบรมทางวิชาการอย่างเป็นระบบ

นักศึกษาสามารถฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ การใคร่ครวญ อย่างสม่ำเสมอ จนสุดท้ายจะเข้าใจคุณค่าของวิชาชีพได้ด้วยตนเองจริงๆ เกิดความเข้มแข็งและความมั่นใจในการใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ได้เกิดภาคีการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษาขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน โดยความร่วมมือของหลายองค์กร เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนสัตยาไส สถาบันขวัญเมือง เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โครงการจิตวิวัฒน์ (แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ

เนื่องจากรากฐานทางวัฒนธรรมที่แท้ของสังคมไทยเป็นเรื่องเดียวกันนี้เอง ดังนั้น การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งการวิจัยจึงเป็นเรื่องไม่ยากนัก อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษาหลายคนมีความตระหนักแล้วว่าถึงเวลาที่คนไทยควรจะกลับมาเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เพราะเรามีประเพณีและกิจกรรมมากมายที่งดงามและส่งเสริมต่อการพัฒนาจิตใจ หากสามารถนำมาประยุกต์เชื่อมโยงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน

มีการอธิบายให้ชัดเจนโดยใช้ศาสตร์ใหม่ๆ ชุดคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก จะทำให้คนเป็นอันมากสามารถมองเห็นและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

และย่อมจะเกิดผลต่อการพัฒนาความรู้ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และการทำร้ายทำลายกัน แต่เกิดเป็นทางออกที่แสดงถึงปัญญาร่วมของมนุษย์ในที่สุด

ความก้าวหน้าในเรื่องจิตตปัญญาศึกษาผู้เขียนจะนำมาเสนอรายละเอียดในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เป็นระยะๆ หากท่านผู้ใดสนใจที่จะร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องดังกล่าว สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]

 

จารุพรรณ กุลดิลก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท