เรื่องเล่าชาวอิสานฟันดี 2 : เปิดโลกสดใส


คลิก....นิดเดียวจริง ๆ โลกมันสว่างสดใส เปิดโลกมุมใหม่ แสวงหาสิ่งดี ๆ ให้ชีวิต

ตอนที่  2  เปิดโลกสดใส

            กลับจากขอนแก่น  อินค่ะอิน  วันจันทร์พบหน้า ผอ. ปุ๊บ  ความสุขยังอบอวล  รื่นรมย์  ชื่นมื่น  ยิ้มแล้วบอกว่า  “พี่จะตอบคุณหมอละนะที่ถามไว้ว่า  พี่ไปขอนแก่น  2  วัน  โรงพยาบาลเราจะได้อะไร  ต่อไปนี้....พี่จะเลิกมองคุณหมอในแง่ไม่ดี  พี่จะเห็นแต่สิ่งดี ๆ ในตัวคุณหมอ”  เงียบไปสักครู่  ผอ.ทำหน้างงงง  มองหน้าเรา  ได้ยินเสียงพูดว่า  “ใช่ล่ะครับ  คนเราคบกัน  ถ้าเอาแต่เรื่องไม่ดีมาคิดจะเครียดเปล่า ๆ”  นี่เป็นสิ่งเกินคาดที่มา ลปรร.ที่ขอนแก่น  เพราะเคยตอบ ผอ.ก่อนไปแค่ว่า  จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดพัฒนางานทันตฯ

 

            เฮ้อ !!!  พอคลิก....นิดเดียวจริง ๆ โลกมันสว่างสดใส  เปิดโลกมุมใหม่  แสวงหาสิ่งดี ๆ ให้ชีวิตอีกดีกว่า  ก็ไปเที่ยวจังหวัดแพร่กับน่านไง    ไปด้วยกันนะ  แต่....กติกาก่อนขึ้นรถวันที่  29  ตุลาคม - 1  พฤศจิกายน 2552   ต้องส่ง One page learning  ให้พี่ล่า  ส่ง  1   หน้าเสร็จแล้วคิดถึงเพื่อน ๆ  แต่แหม ๆ เขียนมาขยายไปกลายเป็น  2  Page learning ไปด้ายยยยยยยยย

 

Two Page Learning

1. ชื่อเจ้าของเรื่อง  ทพญ.ธิรัมภา  ลุพรหมมา                                   

ที่ทำงาน  โรงพยาบาลสระใคร  จ.หนองคาย

โทรศัพท์  0 4241 9191   ต่อ  113                                                

E-mail Address : [email protected] 

 

2.  เนื้อเรื่อง (ผลงานเด่น / ความสำเร็จ / ความประทับใจในงานส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านมา)

ไหนจะต้องก่อร่างสร้างโรงพยาบาล (พ.ศ. 2547)  อาจหาญไปร่วมงานวิจัยทำ  1   ชุมชน  (โครงการการส่งเสริมสุขภาพช่องปากกลุ่มเด็กเล็ก  ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน)  แม้ยังไม่สำเร็จ  แต่ก็ตั้งใจแสวงปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินงานในความรับผิดชอบ  ไม่ง่ายที่จะก่อร่างสร้างทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก  กว่าจะเข้าใจกัน  รวมใจเป็นหนึ่ง  คิดใหญ่  เริ่มเล็กจากสิ่งที่ชอบ  จากจุดที่พร้อม  ขุดค้นหาขุมพลังในชุมชน  เชื่อมต่อจากสิ่งที่ชุมชนและหน่วยราชการมี  สร้างโอกาสให้ทีมชุมชนได้แสดงศักยภาพดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก ๆ ด้วยทีมชุมชนเอง  อาจไม่เข้มแข็งทั้ง  23  หมู่บ้านที่ดำเนินการมา  2  ปี (2551 - 2552)  แต่พอเห็นแววว่ามาถูกทาง  มีทีมชุมชนเข้มแข็งดูแลช่องปากเด็กเล็กได้ต่อเนื่อง  ชุมชนเห็นผลงานเชิงประจักษ์ของชุมชนเอง  เด็กเล็กรุ่นใหม่ฟันสะอาด  ขาว  ใส  สวยปิ๊ง ๆ  ตามภาพอนาคตที่ชุมชนอยากให้เป็น  ชุมชนระดับหมู่บ้านมี “นโยบายสาธารณะ”  เด็กรุ่นใหม่ฟันดี

 

ในปีงบประมาณ 2552  เปลี่ยนชื่อโครงการให้สั้นลง  โครงการเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  อำเภอสระใคร  ดำเนินการติดตามใน  9  หมู่บ้านเดิมในปี 2551  และเริ่มใหม่  14  หมู่บ้าน โดยทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก  ทั้ง  3  PCU  ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ  ร่วมกับทีมชุมชน  จัดเวทีประชาคม  ให้แกนนำชุมชนและกลุ่มผู้เลี้ยงดูเด็ก  ระดมสมองช่วยกันคิดถึงสภาพช่องปากเด็กเล็กลูกหลานในปัจจุบัน  สภาพช่องปากเด็กอีก  3  ปี ข้างหน้าที่อยากเห็น  และช่วยกันคิดหาแนวทางให้ลูกหลานบรรลุถึงภาพอนาคตนั้นที่ต้องการ 

 

จนสามารถปลดปล่อยศักยภาพ  เพิ่มพลังของชุมชนในการดำเนินกิจกรรมของชุมชน  มีผู้รับผิดชอบชัดเจน  อย่างที่สรุปได้จากการเสวนาบนเวที “การทำให้ลูกหลานฟันดีตลอดไป”  ในกิจกรรมตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ชุมชนลูกหลานฟันดี”  ปีที่  2  วันที่  28  สิงหาคม  2552    ณ หอประชุมเอนกประสงค์  โรงเรียนสระใครไชยานุเคราะห์  ตำบลสระใคร  เช่น  อสม.ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้กันทุกเดือน  อสม.ประจำคุ้มออกติดตามเยี่ยมบ้านที่มีเด็ก  อย่างน้อยเดือนละ  1  ครั้ง  กระตุ้นผู้ปกครองให้เอาใจใส่ดูแลช่องปากลูกหลาน  แปรงฟันให้ลูกหลาน  โดยเฉพาะก่อนนอนเพิ่มขึ้น  ผู้ใหญ่บ้านใช้หอกระจายข่าวพูดคุย  สื่อสารกระตุ้นการทำความสะอาดช่องปากให้ลูกหลานอย่างต่อเนื่อง 

 

ในตลาดนัดจัดแข่งขันผู้เลี้ยงดูแปรงฟันให้เด็กรุ่นอายุ  1 – 3  ปี และ 3 – 5  ปี  ตัวแทนจาก  23  หมู่บ้าน  ทุกคนเข้าแข่งมีรางวัลให้  ผู้ชนะมีรางวัลพิเศษเพิ่มเติม  รางวัลมาจากทุก อบต.  ที่ว่าการอำเภอ  และบุคคลสำคัญต่าง ๆ   พอสรุปโครงการเสร็จ  ส่งคืนข้อมูลให้ทั้ง  41  หมู่บ้านในอำเภอสระใคร  รวมทั้งหมดไง...ทั้งว่าที่หมู่บ้านที่จะร่วมปีต่อไป

 

ยังมีอีก....ทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากทั้ง  3  PCU  ได้บูรณาการงาน  ANC  พูดคุยกับว่าที่แม่...ตรวจช่องปาก  กระตุ้นให้กำลังใจแม่ที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ตั้งใจเลี้ยงลูกให้ฟันดี  หรือถ้าฝากยายเลี้ยงก็หาวิธีถ่ายเทความรู้ให้ถึงยาย  งาน WBC  พูดคุยกับผู้เลี้ยงดูเด็กเล็ก  เสวนาหาวิธีเลี้ยงลูกหลานให้ฟันดี  ตรวจฟันเด็กน้อย  แถมด้วยสาธิตการแปรงฟัน  และสุดท้ายทาฟลูออไรด์วานิชให้เด็ก ๆ 

 

ส่วนที่ ศพด. ออกเยี่ยมให้กำลังใจครูพี่เลี้ยงที่จัดกิจกรรมเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ   จัดสภาพแวดล้อมให้เป็น ศพด.น่าอยู่  (มีผลการจัดกระบวนการ ลปรร. ในกลุ่มครูพี่เลี้ยงด้วยนะ...โปรดติดตาม)  ผลการตรวจช่องปากเด็กอายุ  3  ปี  ใน ศพด.  17  แห่ง  อำเภอสระใคร  ปี 2552  สามารถยับยั้งอัตราโรคฟันผุคงเหลือร้อยละ  45 (ปีที่แล้ว ร้อยละ 68)

 

3.  เครื่องมือ / วิธีการ / กระบวนการที่ใช้  ในเนื้อเรื่องข้างต้น

3.1    วิเคราะห์สถานการณ์/ทรัพยากร  บริหาร 2 โครงการซึ่งผสาน 5  กิจกรรมตาม Ottawa Charter  

3.2    ความเป็นทีม  3  ส่วน  บริหารงานของทีม  (แบ่งงานตามความถนัด  ลงมือทำ  ติดตาม  กระตุ้น ประเมินผล)  ความสัมพันธ์ภายในทีม  (จัดการความขัดแย้ง  กาวใจ  ไว้วางใจ  สามัคคี)  วิชาการ/เทคนิค (แลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาทักษะภารกิจของทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก  พาทำสอดแทรกงานประจำ)   

3.3    สร้างความสัมพันธ์และศึกษาชุมชน  เคารพรากฐานวัฒนธรรม  เชื่อมั่นพลังชุมชน ฝึกกระบวนท่านักวิจัยเชิงคุณภาพ  ฝึกฝนเป็นวิทยากรกระบวนการ  จัดเวทีประชาคมประยุกต์หลัก A-I-C  (Appreciated  Influence  Control) ทำซ้ำ ๆ ฝังในใจ  คุยกันทุกครั้งหลังออกจากชุมชน/PCU  ถอดบทเรียนวันละน้อย  เราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร  ใช้หลักวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  (Participatory Action Research : PAR) 

 

4.  แผนงานในอนาคต  

สร้างโอกาสพลังชุมชนกระตุ้นชุมชน  เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  อำเภอสระใคร  เชื่อมโยงเครือข่ายคนอิสานฟันดี

 

5. วัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพทันตบุคลากร

5.1    นำประสบการณ์และวิธีแก้ปัญหางานส่งเสริมสุขภาพช่องปากมาแลกเปลี่ยน (Sharing)

5.2    รับรู้และเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

5.3    อยากเพิ่มทักษะในการดำเนินงานเครือข่ายวิถีไทย ๆ (ที่ระบบอุปถัมถ์ / ทุนนิยมโยงใยซับซ้อนซ่อนเงื่อน)  หวนคืนสู่รากเหง้าชุมชน  รวมหมู่เข้มแข็ง เพียงพออย่างพอเพียง

 

เสาร์หน้ายังไม่เจอกันนะคะ.....ยังอยู่ที่น่าน  กลับมาน่าจะมีเรื่องดีดีจากแพร่และน่านมาเล่าแน่ ๆ เลย   ดูจากโบรชัวร์  อ่านหนังสือ (ไม่เห่อเท่าไหร่  ซื้อหนังสือท่องเที่ยวมา  2  เล่ม) และ Web ต่าง ๆ แล้ว   สวยงาม  เป็นธรรมชาติ  สงบ…...อยากไป ๆ ๆ ๆ ๆ ให้ถึงวันเร็ว ๆ

 

        แค่นี้ก่อนนะคะ.....ลาไปอ่านหนังสือเตรียมตัวเที่ยว 

                                         อ้อ 

หมายเลขบันทึก: 308501เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2009 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • โครงการดีดี อย่างนี้
  • ชูสองนิ้วให้เลย นะคร้า ....

ขอบคุณนะคะ....สำหรับกำลังใจ

จากคุณหมอเพื่อนร่วมทาง

ยินดีที่ได้พบค่ะ

มีสิ่งใดแลกเปลี่ยน...แนะนำ  เชิญนะคะ

     อ้อ

สปสช.เขตอุดร เขาจะจัดให้มีการส่งผลงานเด่น /นวตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน พี่ว่างานที่ชุมชนสระใคร ก็น่าจะเข้าเกณฑ์ส่งไปโชว์ผลงานในเวทีนี้ คงไม่หวังรางวัลหรอก แต่อยากให้สิ่งดีดี ได้ช่วยจุดประกายความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการพัฒนาสุขภาพได้เห็น และให้ความสำคัญของภูมปัญญาท้องถิ่น ทุนทางสังคมที่สามรถเอื้อต่อการสุขภาวะอย่างยั่งยืนได้ เขาให้ส่งบทคัดย่อ 1 หน้า A 4 ภายใน 16 พ.ย. นี้ ส่วนฉบับเต็ม 7-10 หน้าส่งหลังจากกรรมการพิจารณาหลังจากวันที่ 20 พ.ย. นี้ครับ...........พี่ล่า

Oral presentation  วันที่  23  ธันวาคม  2552  บ่ายโมง  โรงแรมเจริญศรีแกรนด์  อุดรธานี

ประเภทการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย

ชื่อเรื่อง  ชุมชนต้นแบบลูกหลานฟันดี : บ้านไชยา  อำเภอสระใคร  จังหวัดหนองคาย

บอกให้ส่งแล้วก็.....อย่าลืมมาเชียร์นะคะ

        อ้อ

ได้อ่านสิ่งที่คุณหมอทำแล้ว ดีจังเลยครับ รู้สึกทึ่งและอยากรู้จักครับ ขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปด้วยความสดใสครับ -อุทัยวรรณ

งานชุมชนเป็นงานที่ต้องการผู้นำที่มีความเมตตา กรุณา มีความจริงใจ และมีปัญญา ซึ่งมีอยู่ในตัวคุณหมอ

แต่คุณหมอคงต้องเหนื่อยต่อ เพราะคงต้องสร้างตัวแทนให้ช่วยสานฝันให้คงอยู่ค่ะ

สวัสดีค่ะ  คุณอุทัยวรรณ

  • ขอบคุณค่ะ...สำหรับกำลังใจและความสดใสในชีวิต
  • ถ้าเป็นอาจารย์อุทัยวรรณ  อภิมหาอมตะอาจารย์ปู่  หนูก็รู้จักอาจารย์ฝ่ายเดียวแล้วล่ะค่ะ
  • แต่ถ้าไม่ใช่  ด้วยเหตุปัจจัยพอเหมาะ  สิ่งดีงามใด ๆ คงทำให้เราได้พบและแลกเปลี่ยนกันนะคะ

รอเสมอ

ธิรัมภา

สวัสดีค่ะ  คุณ bubpa

  • ขอบคุณนะคะที่แวะมาเติมใจ
  • บางทีก็เหนื่อยกายนิดหน่อยค่ะ  เช่น เพิ่งขับรถกลับมาจากโคราช  ร่วมกับพี่สุรัตน์ (สำนักทันตฯ)  พี่ฝน (หนองบัวลำภู)  พี่จิน (ท่าพระ  สุรินทร์)  จัดกระบวนการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพให้ทันตแพทย์  ทันตาภิบาล  ผอ.รพ.สต.  พยาบาล  นักวิชาการ  บุคลากรใน รพ.สต.  9  อำเภอ  หนึ่งโซนของ สสจ.นครราชสีมา (พี่ตา)   แต่ได้นอนพักเต็มที่  คืนเดียวก็หายเหนื่อยแล้วค่ะ
  • ความอิ่มเอม....หัวใจพองโตไปกับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ร่วมกระบวนการเรียนรู้  ฝากไว้ก่อนจากลา  เป็นพลังให้มีความสุขในการสร้างคนรุ่นใหม่มาพัฒนาต่อยอด....ก้าวกระโดด  ให้สุขภาพคนไทยดียิ่ง ๆ ขึ้น 

อันนี้สุขได้อีกนาน

ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

ธิรัมภา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท