การเปลี่ยนแปลงสถานะในทะเบียนบ้าน


การเปลี่ยนแปลงสถานะในทะเบียนบ้าน
การเปลี่ยนแปลงสถานะเกี่ยวกับสัญชาติในทะเบียนบ้าน
ตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
 
                หลักทั่วไป
                สัญชาติของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งโดยหลักสากลแล้วการได้สัญชาติโดยการเกิดจะมีได้ใน ๒ ลักษณะคือโดยหลักสายโลหิตจากบิดามารดา และโดยหลักดินแดนซึ่งเป็นถิ่นที่เกิดหรือถิ่นกำเนิดของบุคคลนั้น
                กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ จนถึง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน เป็นไปในลักษณะเปิดกว้างไม่ค่อยมีข้อจำกัด กล่าวคือใครก็ตามที่เกิดในดินแดนของราชอาณาจักรไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดไม่ว่าบิดามารดาจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองก็ตาม จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ เป็นต้นมา  ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ออกมาในสถานการณ์ของประเทศที่มีปัญหาความมั่นคงจากภัยของลัทธิทางการเมืองการปกครองซึ่งเป็นคนละขั้วกับประเทศไทย จึงทำให้มีการถอนสัญชาติไทยของผู้ที่เคยมีสัญชาติไทยโดยการเกิด และทำให้คนที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าเป็นผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเป็นการถาวร (ไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)  ในเวลาต่อมาเมื่อมีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ แต่กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวดังปรากฏตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง จึงทำให้กลุ่มบุคคลที่ถูกผลกระทบจาก ปว.๓๓๗ ที่มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวยังคงไม่ได้สัญชาติไทยต่อไป
                ปัญหาสถานะของบุคคลที่ถูกผลกระทบจาก ปว.๓๓๗ ได้รับการแก้ไขโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกาศให้ สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปแก่บุคคลที่ถูกถอนสัญชาติตาม ปว.๓๓๗ และบุตรหลาน ตามประกาศกระทรวง มหาดไทย ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๗ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย มีหลักฐานการทะเบียนราษฎร เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีความประพฤติดี  ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา ๒๓ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติให้แก่บุคคลที่ถูกผลกระทบจาก ปว.๓๓๗ ทุกกลุ่มทั้งกลุ่มที่ถูกถอนสัญชาติไทย กลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทย และกลุ่มบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เฉพาะผู้ที่เกิดก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑  ทั้งนี้ การให้สัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ เป็นการให้สัญชาติเป็นการทั่วไปแบบมีเงื่อนไข โดยผู้ที่จะได้สัญชาติไทยนอกจากจะต้องเป็นผู้ที่ถูกผลกระทบจาก ปว.๓๓๗ แล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
               กฎหมาย
               พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
                มาตรา ๒๓  บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทยให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
               เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน
                โดยสรุป ผู้มีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านสามารถแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่
                กลุ่มที่ ๑ เป็นกลุ่มบุคคลที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ โดยมีพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวหรือได้รับผ่อนผันให้อยู่ได้เป็นกรณีพิเศษ หรือ เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทย และเป็นผู้ที่เคยมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนมาก่อนแต่ถูกถอนสัญชาติไทย
                กลุ่มที่ ๒ เป็นกลุ่มบุคคลที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ โดยมีพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวหรือได้รับผ่อนผันให้อยู่ได้เป็นกรณีพิเศษ หรือเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทยเช่นเดียวกับกลุ่มที่ ๑ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ไม่เคยมีสัญชาติไทยมาก่อนเลยตั้งแต่เกิด
                กลุ่มที่ ๓ เป็นบุตรของบุคคลกลุ่มที่ ๑ หรือกลุ่มที่ ๒ ที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ บุคคลกลุ่มนี้จะต้องมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยและถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗ จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่เป็นบุตรไม่ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื่องจาก ปว.๓๓๗ ทำให้พ่อหรือแม่เป็นคนต่างด้าว และส่งผลให้ผู้ที่เป็นบุตรมีพ่อและแม่ทั้งสองคนเป็นคนต่างด้าว ซึ่งหากไม่มี ปว.๓๓๗ กลุ่มบุตรเหล่านี้ย่อมเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดไม่ว่าจะเป็นไทยตามหลักสายโลหิต (มาตรา ๗ (๑)) หรือหลักดินแดน (มาตรา ๗ (๒)) อย่างใดอย่างหนึ่ง
               นอกจากนั้น บุคคลดังกล่าวทั้งสามกลุ่มจะต้องมีคุณสมบัติในเรื่องต่อไปนี้ด้วยคือต้องมีเอกสารการทะเบียนราษฎร มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย และมีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศ ซึ่งเป็นคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด
 
                สถานที่ยื่นคำขอ
               สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ตามทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ
 
                ผู้ยื่นคำขอ
            ๑. กรณีผู้ขอลงรายการสัญชาติไทยมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้ยื่นคำขอด้วยตนเอง
            ๒. กรณีผู้ขอลงรายการสัญชาติไทยมีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองยื่นคำขอแทน
                หลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นคำขอ
                (๑) สูติบัตร หรือหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๒๐/๑) หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิดของผู้ขอลงรายการสัญชาติไทย
                (๒) ทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓) หรือทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘ ท.ร.๓๘/๑ ท.ร.๓๘ ก หรือ ท.ร.๓๘ ข)
                (๓) หลักฐานแสดงว่าบิดาหรือมารดาเป็นผู้เกิดในประเทศไทย (กรณีผู้ขอลงรายการสัญชาติไทยเกิดระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)
                (๔) รูปถ่ายขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๑ รูป
                (๕) บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ถ้ามี)
                (๖) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ถ้ามี)
                (๗) เอกสารที่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ออกให้เพื่อรับรองความประพฤติหรือการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม (ถ้ามี)
               (๘) หลักฐานเอกสารที่แสดงว่าผู้ขอมีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม (ถ้ามี) เช่นหนังสือรับรองของส่วนราชการหรือหน่วยงานเอกชนที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น 
                (๙) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถให้การรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้
               นายทะเบียน
              (๑) รับคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านพร้อมด้วยพยานหลักฐานของผู้ขอ
              (๒) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้ขอนำมาแสดง
              (๓) ตรวจฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่าผู้ขอมีชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรหรือไม่เป็นบุคคลที่ถูกจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรหรือไม่
              (๔) สอบสวนผู้ขอและพยานบุคคลให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผู้ขอ  สถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทย และความประพฤติของผู้ขอ รวมถึงผลงานการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมของผู้ขอลงรายการสัญชาติไทย
              (๕) รวบรวมหลักฐานพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตพิจารณา
              (๖) เมื่อนายอำเภออนุญาตตามคำขอ ให้นายทะเบียนสำเนาคำขอลงรายการสัญชาติไทยของผู้ขอเพื่อเก็บรวมเรื่องไว้กับหลักฐานประกอบคำขอดังกล่าว ส่วนคำขอฉบับจริง (ต้นฉบับ) ให้ส่งไปยังสำนักทะเบียนกลางเพื่อตรวจสอบและกำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้เป็นเลข ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๘ และเลขในหลักที่ ๖ และหลักที่ ๗ จะเป็นเลข ๗๓
              (๗) เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งการกำหนดเลข ๑๓ หลักตาม (๖) แล้ว ให้จำหน่ายรายการบุคคลและเลขประจำตัวประชาชนเดิมของผู้ขอ และเพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) โดย       หมายเหตุว่า “บุคคลลำดับที่ .. ได้สัญชาติไทยโดยมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔)  พ.ศ. ๒๕๕๑” แล้วลงลายมือชื่อนายทะเบียนพร้อมวันเดือนปีกำกับไว้
              (๘) มอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านให้แก่ผู้ขอพร้อมแนะนำให้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป

 

กรณีศึกษามาตรา ๒๓
               กรณีที่ ๑. นายวงษา  สวาท  เกิดวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๔ สัญชาติลาว  บิดาชื่อนายฟ้า   มารดาชื่อนางมี  สัญชาติลาว  บุคคลทั้งสามได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มแรงงานต่างด้าวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ ได้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๐๐ มีหลักฐาน ท.ร.๓๘/๑ จัดทำโดยสำนักทะเบียนอำเภอเมืองอุบลราชธานี  นอกจากนี้นายวงษาฯ มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ออกให้โดยโรงพยาบาลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ระบุว่า ด.ช.วงษา  สวาท เกิดวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๔ บิดาชื่อฟ้า  มารดาชื่อมี สัญชาติลาวนายวงษาฯ มีคุณสมบัติยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ หรือไม่ อย่างไร 
               แนววินิจฉัย  ถ้าตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่านายวงษา  สวาท เป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยจริงตามที่ปรากฏรายการในหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  นายวงษาฯ ย่อมตกอยู่ในบังคับข้อ ๒ ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ เนื่องจากนายวงษาฯ เกิดวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ปว.๓๓๗ ใช้บังคับ ทำให้นายวงษาฯ ไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิด  บุคคลดังกล่าวจึงมีคุณสมบัติที่จะยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ ได้ โดยยื่น  คำขอพร้อมหลักฐานทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘/๑ และหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑  ต่อนายทะเบียนอำเภอเมืองอุบลราชธานี  ซึ่งหากนายทะเบียนฯ เชื่อว่าหนังสือรับรองการเกิดที่นายวงษาฯ นำมาแสดง เป็นหลักฐานที่ถูกต้อง ก็จะดำเนินการสอบสวนพยานบุคคลเพื่อรับรองเรื่องการมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ความประพฤติและการทำคุณประโยชน์ แล้วรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเสนอนายอำเภอเมืองอุบลราชธานีเพื่อพิจารณา  แต่หากนายทะเบียนฯ ไม่เชื่อถือหนังสือรับรองการเกิด อาจต้องทำเรื่องขอตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลธาตุพนม หรือให้นายวงษาฯ ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองสถานที่เกิด หรือหนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.๒๐/๑ ก่อน เมื่อได้รับหนังสือรับรองสถานที่เกิดหรือหนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.๒๐/๑ แล้ว จึงยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ ต่อไป
              กรณีที่ ๒. เด็กหญิงอาชี  มาเยอะ สัญชาติอาข่า เกิดวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ มีหลักฐานสูติบัตร ท.ร.๓ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗  บิดาชื่อนายอาตู  มารดาชื่อนางบูเตอ  สัญชาติอาข่า โดยนายอาตู และนางบูเตอ เกิดปี พ.ศ.๒๕๑๓  มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๖ มีชื่อในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงระบุว่าทั้งสองคนเกิดที่ประเทศจีน  เด็กหญิงอาชีฯ จะยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ ได้หรือไม่ อย่างไร 
             แนววินิจฉัย  เนื่องจากเด็กหญิงอาชี  มาเยอะ เกิดปี พ.ศ.๒๕๕๑ การพิจารณาว่าจะเป็นบุคคลที่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ หรือไม่ จึงต้องพิจารณาในกลุ่มบุตรของ ผู้ที่ถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗  ซึ่งตามมาตรา ๒๓ กำหนดไว้เฉพาะบุตรที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ใช้บังคับเท่านั้น กล่าวคือจะต้องเป็นบุตรที่เกิดก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑  เด็กหญิงอาชีฯ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แต่ถ้าเด็กหญิงอาชี  มาเยอะ เกิดวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ตามเงื่อนไขของมาตรา ๒๓  บุคคลดังกล่าวก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ อีกเช่นเดียวกันเนื่องจากบิดามารดาของเด็กหญิงอาชีฯ มิใช่เป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย จึงไม่ใช่บุคคลที่ถูกถอนสัญชาติหรือไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของ ปว.๓๓๗ เว้นแต่นายอาตู (บิดา) หรือนางบูเตอ (มารดา) จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กหญิงอาชี  มาเยอะ ได้สัญชาติไทย
                กรณีที่ ๓. เด็กชายภักดี  จะข่า มีหลักฐานสูติบัตร ท.ร.๓ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗  เกิดวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๓ เป็นบุตรของนายเน๊าะ  สัญชาติอาข่า  เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๘  และนางด๋อแสง  สัญชาติไทย มีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๒  เด็กชายภักดี จะข่า มีคุณสมบัติยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ หรือไม่
                แนววินิจฉัย  เด็กชายภักดี  จะข่า ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ และไม่ต้องยื่นคำขอสัญชาติไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจากนางด๋อแสง ซึ่งเป็นมารดาของเด็กชายภักดีจะข่า เป็นผู้มีสัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๒ ซึ่งมีความหมายว่าบุคคลสัญชาติไทยแจ้งเกิดเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือนางด๋อแสง เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด  ดังนั้น เด็กชายภักดีฯ ย่อมเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ การที่นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้เด็กชายภักดีฯ เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ตามสูติบัตร ท.ร.๓ กำหนดเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗ จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง  วิธีการแก้ไขกรณีนี้นายทะเบียนจะต้องยกเลิกสูติบัตร ท.ร.๓ พร้อมทั้งจำหน่ายรายการบุคคลของเด็กชายภักดีฯ ที่มีเลขประจำตัวประชาชนเป็นเลข ๗  ในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ และดำเนินการรับแจ้งการเกิดให้ใหม่ตามสูติบัตร ท.ร.๑ หรือ ท.ร.๒ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อตอนแจ้งการเกิดครั้งนั้นเป็นการแจ้งภายใน ๑๕ วันหรือเกินกว่า ๑๕ วันนับแต่วันที่เกิดโดยพิจารณาได้จากวันที่นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดกับวันที่เกิด  แล้วเพิ่มชื่อเด็กชายภักดีฯ ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ในสถานะเป็นบุคคลสัญชาติไทย
                กรณีที่ ๔.  เด็กหญิงพิชชา  หน่อมี เกิดวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๓ มีสูติบัตร ท.ร.๓ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗  ระบุไม่ได้สัญชาติไทย บิดาชื่อนายหล่อเดอะ สัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๘  มารดาชื่อนางหมีลู่  สัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๘ เช่นกัน โดยนายหล่อเดอะ และนางหมีลู่ ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ เด็กหญิง พิชชา หน่อมี มีคุณสมบัติยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ หรือไม่ หรือจะมีวิธีการได้สัญชาติไทยอย่างไร
                แนววินิจฉัย  การที่นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้เด็กหญิงพิชชา  หน่อมี เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เนื่องจากในขณะเกิด นายหล่อเดอะ (บิดา) และนางหมีลู่ (มารดา) ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย (บุคคลทั้งสองได้สัญชาติไทยหลังจากเด็กหญิงพิชชาฯ เกิด)  ส่วนการพิจารณาว่าเด็กหญิงพิชชาฯ มีคุณสมบัติยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่านายหล่อเดอะ หรือนางหมีลู่ เป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยและได้รับผลกระทบจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ทำให้ถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่  และเมื่อพิจารณาการได้สัญชาติไทยของนายหล่อเดอะ และนางหมีลู่ ซึ่งเป็นการได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงสรุปได้ว่าบิดาและมารดาของเด็กหญิงพิชชาฯ เป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้สัญชาติไทย ดังนั้น เด็กหญิงพิชชาฯ จึงมีคุณสมบัติที่จะยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ ได้
                กรณีที่ ๕.  นางสาวอาซัง  แซ่ลี้  เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ไม่มีวันและเดือนเกิด) มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยกลุ่มจีนฮ่ออิสระ ลงรายการว่าเกิดในประเทศไทย บิดาชื่อนายเกาชี  เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สถานที่เกิดประเทศจีน มารดาชื่อนางอาลั้ง  เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๐ สถานที่เกิดประเทศจีน บิดามารดาเสียชีวิตแล้ว นางสาวอาซังฯ มีคุณสมบัติยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ หรือไม่ หรือจะมีวิธีการได้สัญชาติไทยอย่างไร
                แนวการวินิจฉัย  บุคคลที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ ประกอบด้วย ๓ กลุ่ม แบ่งตามวันที่เกิดได้แก่ กลุ่มที่ ๑ เกิดก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ (ถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗ ข้อ ๑)  กลุ่มที่ ๒ เกิดระหว่างวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ (ไม่ได้สัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗ ข้อ ๒) และกลุ่มที่ ๓ เป็นบุตรของกลุ่ม ๑ และกลุ่ม ๒ ที่เกิดก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑  ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ากลุ่ม ๑ และกลุ่ม ๒ จะมีบิดามารดาเป็นบุคคล  ที่เกิดต่างประเทศ  ส่วนกลุ่มที่ ๓ จะต้องมีบิดามารดาเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย สำหรับกรณีของนางสาวอาซัง  แซ่ลี้ เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่มีวันและเดือนเกิด จึงเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่านางสาวอาซังฯ เป็นบุคคลในกลุ่ม ๒ หรือกลุ่ม ๓ และหากถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ ๓ บุคคลดังกล่าวย่อมไม่มีคุณสมบัติในการขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ เนื่องจากบิดามารดาเกิดต่างประเทศ  อย่างไร ก็ตามการพิจารณาวันเดือนปีเกิดของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ไม่ระบุวันที่และเดือนที่เกิด สามารถอ้างอิงแนวทางการวินิจฉัยในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลซึ่งจะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖ ที่บัญญัติให้นับอายุตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ดังนั้น จึงต้องถือว่าบุคคลที่เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่ปรากฏวันที่และเดือนที่เกิด เป็นผู้ที่เกิดเมื่อวันที่    ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของการบังคับใช้ ปว. ๓๓๗  ดังนั้น นางสาวอาซัง  แซ่ลี้ จึงมีคุณสมบัติที่จะยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ ได้
หมายเลขบันทึก: 308263เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาอ่านค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูล

ถ้าจะขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมหรือขอคำแนะนำ

ไม่ทราบว่าจะเป็นการรบกวนไหมค่ะ

คือทำ thesis เกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท