กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ : ม.ทักษิณ จัดประชุมบุคลากรสายวิชาการมุ่งเน้นทำความเข้าใจให้นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร


เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 กองบริหารการศึกษาและพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดประชุม เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ วิทยาเขตสงขลา

มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ  2 ท่าน คืออาจารย์อัจฉรา ธารอุไรกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิจจา สว่างเจริญ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ กับบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรตามแนวทางดังกล่าวได้ ประกอบกับมหาวิทยาลัยเองจะมีการพัฒนาหลักสูตรทุก ๆ 5 ปีอยู่แล้ว จึงจะอาศัยโอกาสนี้ปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิด้วย

จากสถานการณ์ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดการเรียนการสอนรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ระดับคุณภาพมาตรฐานของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เท่ากัน การมีกรอบมาตรฐานให้แต่ละสถาบันได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาหลักสูตรใหม่และปรับปรุงหลักสูตรเดิม ก็จะทำให้หลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดสอนในแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถเทียบเคียงกันได้

ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการ อุดมศึกษา (สกอ.) จึงได้จัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย (Thai Qualifications Framework for Higher Education : TQF) เพื่อนำมาใช้กับสถาบันอุดมศึกษาของไทย กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา คือ การจัดทำมาตรฐานกลางกำหนดกรอบว่าหลักสูตรของแต่ละวิชาจะต้องเรียนรู้วิชาใดบ้าง พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษาให้ชัดเจนถึงทักษะ ความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่นๆ ของบัณฑิตซึ่งเป็นผลผลิตของการจัดการศึกษา และเพื่อให้แต่ละมหาวิทยาลัยนำไปใช้เป็นหลักและแนวทาง ในการจัดทำหลักสูตรของแต่ละสาขาวิชาให้สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิดังกล่าว อันจะส่งผลให้มั่นใจได้ว่าการผลิตบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัยจะอยู่ในมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา

อย่างไรก็ตามการกำหนดแค่มาตรฐานของ สกอ. เป็นเพียงค่ามาตรฐานขั้นต่ำที่แต่ละสาขาวิชาควรจะมีเท่านั้น สิ่งที่จะทำให้การพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิสำเร็จได้นั้น จะต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายเพื่อให้เห็นความสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของสภามหาวิทยาลัยที่มีอำนาจในการตัดสินใจ สังคมไทยวันนี้ไม่ได้ต้องการปริมาณบัณฑิต แต่ต้องการทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขามากกว่า ดังนั้นการมีกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ก็จะทำให้แต่ละสถาบันมีทิศทางในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น

           

คำสำคัญ (Tags): #onblog#online#pr#sar#tsu
หมายเลขบันทึก: 306436เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2009 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ผมอยู่กำลังให้ความสนใจอยู่ครับ

จะยกระดับก็ต้องคำนึงถึงคุณภาพทุกรอบด้านที่จะเกิดขึ้น

ขอบคุณมากครับ ;)

เรียน พี่นง

หนูอาจารย์ปัญญฎาคะ ศึกษาเรื่องนี้อยู่ ถ้าไงอาจขอความรู้จากพี่นะคะ ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท