ชีวิตที่พอเพียง : ๘๕๘. เที่ยววัดย่านสะพานพระราม ๔



          วันศุกร์ที่แล้วไปเที่ยวสะพานปทุมธานี    ศุกร์นี้ (๒๕ ก.ย. ๕๒) ผมชวนสาวน้อยไปเที่ยววัด   ที่ผมเข้าอินเทอร์เน็ตตรวจสอบแล้วว่าวัดแถวนี้เป็นวัดมอญ และเป็นวัดโบราณทั้งนั้น 


          เรารอให้เป็นช่วงการจราจรเบาบางลงแล้ว จึงออกจากบ้านเวลา ๙.๐๐ น.   ขับรถไปข้ามสะพานพระราม ๔   แล้วไปเลี้ยวกลับตรงใต้สะพานแรก   แล้วเลี้ยวซ้ายตรงบริเวณเชิงสะพานพระราม ๔   มีป้ายบอกชื่อวัดหลายวัด   เราก็เข้าไปแบบเดาสุ่ม 


          วัดแรกที่พบคือวัดเตย   ที่มีท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งตลาดปากเกร็ด และไปเกาะเกร็ดด้วย   พอขับเลยไปเราก็ไปชมวัดอินทาราม    เมื่อขับกลับออกมาและไปลอดใต้สะพานพระราม ๔   เราก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปวัดบางจาก    รวมในเวลาชั่วโมงเดียวเราเที่ยว ๓ วัด   ทั้ง ๓ วัดอยู่ใน อำเภอปากเกร็ด   โดยสาวน้อยเบื่อเต็มที่   เพราะไม่ใช่วัดที่สวยงามอย่างที่อัมพวา


          ข้อประทับใจคือ ทั้ง ๓ วัดมีที่กว้างขวางเหมือนกันหมด    และเห็นได้ชัดว่า ดึงคนเข้าวัดด้วยเครื่องรางของขลัง จึงจะได้ผล   สภาพของกิจกรรมของวัด บอกสภาพจิตใจของผู้คนในสังคม    ผมไปเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจเลย    ที่เห็นวัดในพระพุทธศาสนา เน้นมอมเมาชาวบ้านด้วยของขลัง ซึ่งเน้นความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู    แทนที่จะเป็นที่พึ่งด้วยธรรมะในพุทธศาสนา ที่เน้นลดละตัวกูของกู    


         แทนที่จะได้เอาใจเมีย กลับสร้างความเบื่อหน่ายให้เมียไปเสียนี่   เขาไม่ได้ชอบสอดรู้สอดเห็นแบบผม   ที่อยากรู้ไปเสียทุกอย่าง   แม้วัดไม่สวย แต่ก็มีเรื่องราวให้เราสังเกต    เพื่อเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน    ที่จริงเราไปพูดคุยไต่ถามคนแถวนั้น ก็จะได้ความรู้มาปะติดปะต่อได้   แต่เวลาไม่ค่อยอำนวย


          การปะติดปะต่อเรื่องราว สมัยนี้ทำง่าย และสนุก   คือปรึกษาอาจารย์กุ๊ก (Google)

 

วัดเตย
        อยู่ในตำบลบางตะไนย์   ผมค้น อินเทอร์เน็ต พบบทความ นั่งเรือเที่ยวชมวัดมอญที่เกาะเกร็ดและใกล้เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เขียนโดย หวน พินธุพันธ์   ท่านเขียนส่วนที่เป็นบทนำไว้ดังนี้

          ที่เกาะเกร็ดและใกล้เกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีวัดมอญหลายวัดที่สร้างขึ้นในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากในสมัยธนบุรีตรงกับ พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงเมืองนนท์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด และอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากมอญแพ้สงครามกับพม่า เมื่อมอญสู้พม่าไม่ได้จึงรับครอบครัวมอญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ต่อมาในปี พ.ศ. 2358 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ไปรับครอบครัวมอญซึ่งหนีภัยสงครามมาจากพม่า มาอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี และโปรดเกล้าฯให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก ไปรับครอบครัวมอญเหล่านั้นมาอยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง เมืองเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) บ้าง  ดังนั้นจึงมีครอบครัวมอญอาศัยอยู่ที่เกาะเกร็ด และในท้องที่หลายตำบลของอำเภอปากเกร็ดรวม 2 ครั้ง ด้วยกันคือ ในปี พ.ศ. 2317 และ พ.ศ. 2358
          เมื่อคนมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะเกร็ดและในท้องที่อำเภอปากเกร็ดแล้ว จึงได้ช่วยกันสร้างวัดมอญขึ้น ซึ่งเป็นวัดที่น่าศึกษาน่าชมรวมแล้วถึง 17 วัดด้วยกันคือ วัดปรมัยยิกาวาส, วัดเสาธงทอง, วัดไผ่ล้อม, วัดฉิมพลี, วัดตาล, วัดเตย, วัดตำหนักเหนือ, วัดบางจาก, วัดท้องคุ้ง, วัดโปรดเกษ, วัดบ่อ, วัดบางพูดใน, วัดบางพูดนอก, วัดสนามเหนือ, วัดเกาะพญาเจ่ง, วัดกู้, และวัดศรีรัตนารามหรือวัดบางพัง

          ส่วนที่เขียนถึงวัดเตย ว่าดังนี้

          ใต้วัดตำหนักเหนือเป็น วัดเตย ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบางตะไนย์ วัดนี้อยู่ตรงข้ามตลาดปากเกร็ด จึงมีเรือข้ามฟากจากตลาดปากเกร็ดไปยังวัดเตยได้ด้วย วัดเตยเป็นวัดมอญอีกวัดหนึ่ง กล่าวกันว่าเดิมบริเวณวัดนี้เป็นดงเตยขึ้นหนาแน่น ชาวบ้านช่วยกันถางดงเตยแล้วสร้างวัดขึ้น จึงตั้งชื่อว่า "วัดเตย" และได้นิมนต์พระจากเมืองมอญมาเป็นเจ้าอาวาส โบราณสถานของวัดคือ พระอุโบสถซึ่งอยู่ต่ำกว่าบริเวณวัด (เข้าใจว่าทางวัดถมดินบริเวณวัดเพื่อป้องกันน้ำท่วม) หน้าบันพระอุโบสถประดับกระจกสีสวยงามมาก มีมุขหน้าหลังและเสาด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถด้านละ 2 ต้น และมีบัวหัวเสาด้วย นอกนั้นมีหอระฆัง ศาลาริมน้ำ 3 หลัง หลังหนึ่งเป็นท่าเรือเพื่อข้ามฟากไปยังตลาดปากเกร็ด ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ด้วย

 

วัดอินทาราม
          อยู่ในตำบลคลองพระอุดม   ไม่ทราบว่าเป็นวัดมอญหรือไม่   ผมค้นประวัติจาก อินเทอร์เน็ตไม่ได้   มีแต่เรื่องพระเครื่อง และเรื่องโรงเรียนวัดอินทาราม
          เข้าไปในวัดพบช่างกำลังเทปูนพื้นที่บริเวณวัด   มีโบสถ์เก่าที่ตามสายตา (ที่จำกัด) ของผม ไม่เห็นสถาปัตยกรรมมอญ   แต่หลังคาเมรุเผาศพที่สร้างใหม่เป็นเจดีย์ทรงมอญ
          ถามจากผู้รับเหมาเทปูน ว่าวัดนี้เก่ามาก   ดูจากต้นไม้ใหญ่ก็คิดว่าอายุคงเป็นร้อยปี   แต่เดาว่าต้นไม้ใหญ่คงถูกโค่นไปมาก เพื่อเทปูนทั่วทั้งบริเวณวัดซึ่งกว้างขวางมาก   ผมรู้สึกเสียดายความร่มรื่นเป็นธรรมชาติของพื้นดิน และต้นไม้   กลับถูกแทนที่ด้วยพื้นซีเมนต์
          ผมไม่สบายใจจากประกาศจำหน่ายเครื่องรางของขลังอีกตามเคย   เป็นคนขวางโลกนี้ลำบากหน่อย

 

วัดบางจาก
          คุณหวน พินธุพันธ์ เขียนในบทความที่อ้างถึง เกี่ยวกับวัดบางจากดังนี้

          จากวัดเตยนั่งเรือล่องไปถึงวัดบางจาก เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านบางจาก ตำบลคลองพระอุดม และอยู่ตรงข้ามเกาะเกร็ดด้วย วัดบางจากเดิมสร้างอยู่ที่ปากคลองบางภูมิ ตำบลบางพลับ ได้ย้ายมาสร้างขึ้นที่บ้านบางจากในภายหลัง จึงได้นามว่า "วัดบางจาก" เป็นวัดที่ชาวมอญช่วยกันสร้างขึ้นเช่นกัน จึงเป็นวัดมอญอีกวัดหนึ่ง โบราณสถานที่น่าสนใจคือเจดีย์แบบมอญองค์หนึ่ง นับเป็นเจดีย์เก่าแก่ของวัดนี้ ส่วนพระอุโบสถได้รับการบูรณะใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2513 หน้าบัน ซุ้มประตูหน้าและหลังของพระอุโบสถปั้นลายแล้วลงรักปิดทองได้งดงามมาก ส่วนซุ้มหน้าต่างปั้นลายทาสี ภายในพระอุโบสถมีพระประธานหน้าตักกว้าง 50 นิ้ว

          ท่านที่ต้องการอ่านบทความทั้งหมดของคุณหวน อ่านได้ที่นี่

          ที่วัดบางจากมีท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งเกาะเกร็ดที่อยู่ตรงกันข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา   มีพระพุทธรูปองค์โตมากอยู่ริมแม่น้ำ    ที่เด่นคือเจดีย์ทรงมอญอยู่ตรงกับประตูทางเข้า    ใกล้กับโบสถ์ซึ่งสร้างใหม่   มีลักษณะสถาปัตยกรรมบ่งบอกความเป็นวัดมอญ   
          ตอนไปถ่ายรูปเจดีย์ ผมได้กลิ่นขี้ควายฉุนกึก   วัดนี้เชิญชวนทำบุญไถ่ชีวิตควาย
          ถนนทางเข้าหมู่บ้านและเข้าวัดเพิ่งลาดปูนซีเมนต์เสร็จใหม่ๆ    ผมเห็นร่องรอยของความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตจราจรทางเรือ มาเป็นทางรถชัดเจนมาก   เห็นรอยต่อที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ๆ สดๆ    โดยที่มีคลองเล็กๆ กั้นระหว่างวัดกับบ้านคน    เห็นได้ชัดว่าเดิมบ้านเหล่านี้เข้าบ้านทางคลอง    กำลังเปลี่ยนเป็นเข้าบ้านทางถนน 
          เป็นเวลาเที่ยว ๑ ชั่วโมงที่ผมสนุก แต่สาวน้อยเบื่อ    เราจึงต้องปรับแผนเที่ยวใหม่ในโอกาสหน้า
          โชคดีที่ตอนค่ำวันเดียวกัน ผมโทรศัพท์มารายงานตัวกับสาวน้อยจากเชียงใหม่    สาวน้อยบอกว่า ได้ค้น อินเทอร์เน็ต พบวัดที่น่าเที่ยวในจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีมากมาย   ผมค้นไม่เป็น พาเขาไปชมวัดพื้นๆ ไม่น่าสนใจ   ทำให้ผมดีใจ ว่าแผนเที่ยววัด เพื่อให้ผมได้รับใช้ใกล้ชิดเขาบ้างในวัยชรา ไม่เป็นหมัน   เคล็ดลับคือ เปลี่ยนมัคคุเทศก์จากผมไปเป็นสาวน้อย   และผมทำหน้าที่สารถีและตากล้องรับใช้   แค่นี้ก็สิ้นเรื่อง    ผมอยากเขกศีรษะตัวเองจริงๆ   เพื่อลงโทษที่โง่นัก

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.ย. ๕๒

วัดเตย  บริเวณวัดปูอิฐซีเมต์ ปลูกต้นไม้ร่มรื่น

โบสถ์เก่าของวัดเตย  อยู่ต่ำกว่าพื้นปัจจุบันประมาณ ๒ เมตร 

เพราะมีการถมที่ภายหลัง

บานประตูโบสถ์เก่าอันงดงาม

โบสถ์เก่า ถ่ายจากด้านหน้า

หลังคาโบสถ์เก่ากับโบสถ์ใหม่

วัดอินทาราม  บริเวณวัดลาดซีเมนต์ เห็นหลังคาเมรุเป็นเจดีย์ทรงมอญ

โบสถ์เก่า วัดอินทาราม

ด้านหน้าโบสถ์

ประตูโบสถ์

หน้าบัน

วัดบางจาก

เจดีย์มอญ วัดบางจาก

โบสถ์วัดบางจากกับศิลปกรรมมอญ

บรรยากาศภายในวัดบางจาก

แม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดบางจาก ถ่ายไปทางทิศใต้

 
หมายเลขบันทึก: 305879เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่นำภาพวัดมาให้ชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท