ละครชีวิต...บัณฑิตบางขวาง


ละครชีวิต...บัณฑิตบางขวาง

  : ละครชีวิต...บัณฑิตบางขวาง

ไม่ง่ายที่ใครบางคนจะพลิกชีวิตจากอดีตผู้ต้องขัง มาเป็นทนายฝีปากกล้าหรือนักธุรกิจ แต่ทุกอย่างเป็นไปได้ หากเชื่อในสังคมแห่งการอภัยและให้โอกาส

บัณฑิตบางขวาง, บัณฑิต, นักโทษ, คุก, นักศึกษาผู้ต้อง



ประตูเรือนจำกลางบางขวางเปิดต้อนรับผู้มาเยือน...ศิษย์เก่าหลายคนหวนกลับมาเหยียบที่นี่อีกครั้ง ไม่ใช่ในสถานภาพนักโทษ แต่เป็นทนายความใส่สูทผูกไทด์มาร่วมยินดีกับเหล่าบัณฑิต “รุ่นน้อง” ในงานฉลองครบรอบ 25 ปีปริญญาหลังกำแพง

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ผู้ต้องขังชายคนหนึ่งที่ชื่อ “บันเทิง” เคยสร้างปรากฎการณ์เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นที่เรือนจำกลางบางขวาง ด้วยการสมัครเรียนทางไปรษณีย์ในระบบการเรียนการสอนทางไกลของ มสธ. หรือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยไม่มีใครรู้เลยว่านักศึกษาคนนี้เป็นผู้ต้องขัง

ภายหลังความทราบถึง ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน แทนที่อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มสธ..จะมองว่าเป็นปัญหา กลับเห็นเป็นโอกาสที่จะเปิดมิติใหม่ขยายโอกาสจัดการศึกษาในเรือนจำ

ใครจะรู้ว่าจากวีรกรรมคิดนอกกำแพง “อยู่ที่ไหนก็เรียนได้” ของผู้ต้องขังชายคนหนึ่ง จะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเรียนปริญญาตรีหลังกำแพงที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก

จุดประกายโอกาสให้กับผู้ต้องขังอีก 12,000 คนได้เรียนหนังสือกับ มสธ. ในจำนวนนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตในเรือนจำแล้วทั้งสิ้น 1,293 ราย

หลายคนตั้งใจเรียนจนคว้าเกียรตินิยม รวมถึง “บันเทิง” ด้วยที่จบเกียรตินิยมอันดับ 2 ปัจจุบันนักศึกษาคนแรกที่สมัครเรียนปีการศึกษา 2527 คนนี้ ไปได้ดีกับอาชีพทนายความ

วันนั้นพี่ใหญ่บันเทิงไม่ได้มาร่วมงาน แต่มีตัวแทนบัณฑิตรุ่นพี่หลายคนที่เจริญรอยตาม กลับมาถิ่นเก่าอีกครั้ง แต่ละคนใส่สูทผูกเนคไท และได้เห็นบรรยากาศซึ้งๆ เมื่อรุ่นพี่คนหนึ่งคว้าไมค์แนะนำตัวเอง

“ผมเคยเป็นศิษย์เก่าที่นี่มาก่อนเหมือนกับพวกคุณ ตอนนี้ผมพอตั้งหลักได้แล้ว มีสำนักงานทนายความ ถ้าใครออกมาแล้วจะมาฝึกงานที่ผมก่อนก็ได้”

บางคนแม้จะไม่ได้แสดงตัวขึ้นพูดบนเวที แต่นั่งร่วมงานอยู่เงียบๆ ตลอดเช้าจรดเย็นในสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยสอนบทเรียนราคาแพงที่สุดในชีวิต ปีแล้วปีเล่าที่เคยใช้วิกฤติในชีวิตจนคุ้มเกินคุ้ม...ไม่มีใครอยากถอยหลังจมปลักในโคลนตมเป็นหนที่สอง

ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น

“สามเดือนแรกที่โดนจำกัดอิสรภาพเป็นอะไรที่หนักที่สุด ลองคิดดูว่าถ้าคุณโดนขังแค่วันเดียวในบ้านก็อึดอัดแล้ว...”

บทสนทนาระหว่างมื้อเที่ยงข้างสนามหญ้า แดน 14 ในรั้วเรือนจำบางขวางกับสองทนายอดีตศิษย์เก่าที่นี่เป็นไปอย่างออกรสชาติ

จากคนที่เคยใช้ชีวิตอย่างอิสระ กระบวนการจำกัดอิสรภาพในช่วงแรกๆ ทำให้ชายหนุ่มวัยเริ่มต้นทำงานเรียนจบ ปวส.แทบคลั่งจนอยากจะฆ่าตัวตาย ผ่านไปสักพักจึงเริ่มปรับตัวยอมรับกับสภาพความเป็นอยู่ คุ้นเคยกับสังคมคนคุกที่โดนจำกัดอิสรภาพ

วิกฤติชีวิตหลังกำแพงถูกใช้ให้มีคุณค่า ด้วยการเรียนต่อระดับปริญญาคณะนิติศาสตร์ของ มสธ.คว้าเกียรตินิยม ก่อนจะออกเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นทนายความอิสระ มีประสบการณ์ว่าความมาแล้วถึง 15 ปี ถึงวันนี้เขายอมรับว่า การศึกษาในเรือนจำมีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จเมื่อกลับออกไปใช้ชีวิตในสังคม

“สมัยอยู่ข้างนอก ไม่มีใครควบคุมดูแล หล่อหลอมพฤติกรรมเราให้เป็นคนไม่ดี มีแต่ปล่อยใจให้ไปลุ่มหลงอบายมุข แต่พอได้เข้ามาอยู่ข้างใน มีการสอนหลักการดำเนินชีวิต ออกไปแล้วก็มีวิชาชีพด้านนิติศาสตร์ติดตัว“

แม้เรื่องบางเรื่องในอดีตต่อให้ชดใช้ด้วยชีวิตก็คงทดแทนกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเวลา 6 ปีที่ถูกจองจำในคดีความผิดต่อชีวิต เพียงพอที่จะทำให้คนๆหนึ่งได้สำนึก ทั้งกลัวและเข็ดหลาบไปชั่วชีวิต

เพราะถึงจะพ้นกำแพงบางขวางมาถึง 17 ปี มีหน้าที่การงานมีครอบครัวที่ดี แต่บางคืนเขายังนอนผวา เพราะฝันร้ายว่าติดอยู่ในคุกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ในฝันเรากลัวมาก เพราะตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะไม่กลับมาอีก เมื่อก่อนเราอาจเคยลุ่มหลง ทำผิดพลาด แต่การอยู่ในเรือนจำทำให้เข็ดหลาบแล้วจริงๆ”

บ่อยครั้ง เขามักจะถูกถามว่า ชีวิตนอกเรือนจำ สังคมให้โอกาสแค่ไหน? ครอบครัว ญาติพี่น้องก็เฝ้ามองว่าจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ได้ไหม

"มันขึ้นอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราเอาจริงเอาจัง มีความมุ่งมั่น ทุกคนจะยอมรับเอง"

ทนายคนเดิมบอกว่า ไม่รู้สึกว่าตราบาปจะติดตัวไปตลอดชีวิต เพราะถ้ามัวคิดตรงนั้น ชีวิตนี้คงไม่ต้องทำอะไรแล้ว และการได้ประกอบอาชีพทนายทำให้สังคมเปลี่ยน ได้เจอคนจำนวนมาก ที่สำคัญได้รู้ว่า มีคนอีกมากที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ

"เราสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาแล้ว ชีวิตเรามีศักดิ์ศรีแล้ว ถ้าเรามัวแต่คิดอย่างนั้น มันไม่เกิดประโยชน์”

ไม่กลัวที่จะเริ่มต้น ดูจะเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งในตัวอดีตผู้ต้องขังที่ก้าวออกไปประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับทนายอีกคนที่เพิ่งมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งในวัย 51 ปี

เขาเคยต้องคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องแลกกับหนึ่งในสามของชีวิต ที่ต้องติดอยู่ในคุกนานถึง 17 ปี เป็นช่วงสำคัญที่สุดของชีวิตคนหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่ทำหล่นหายอย่างน่าเสียดาย

“ผมเข้ามาครั้งแรกปี 2526 ออกไปอีกทีปี 2544 เชื่อไหมว่าข้ามถนนไม่เป็นเลย”

ครั้งแรกที่โดนศาลพิพากษาตัดสินจำคุก 50 ปี เจ้าตัวยอมรับว่าชีวิตตอนนั้นตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย แรกๆ คิดเหมือนกันว่า กว่าจะพ้นโทษออกไปก็คงได้ถือไม้เท้าแล้ว

แต่คนที่นี่จะมีคำพูดประสาคนคุกด้วยกันว่า “ติดคุกต้องมีวันออก” แต่จะออกไปในสภาพไหน บางคนออกไปแบบต้องหาม เขาเลยถามคนในกระจกว่า "แล้วตัวเราจะออกไปในสภาพไหน?"

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตมาถึงหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษครั้งแรก ลดโทษครึ่งหนึ่งมาเหลือ 25 ปี ชีวิตเริ่มมีความหวัง แทนที่จะปล่อยให้ชีวิตหมดไปวันๆ ก็เริ่มมีกำลังใจฮึดสู้เรียนต่อ

จากคนที่เคยเรียนจบแค่ชั้น ป.7 ชีวิตพลิกผันเข้ามาติดคุก ฮึดเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ในเรือนจำ แล้วเรียนต่อทางไกลกับมสธ.จนเดินออกจากคุกด้วยดีกรีปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต

“เราโดนมาอย่างนี้ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความไม่รู้กฎหมาย บางคนเคยคิดว่าทำไมศาลถึงตัดสินลงโทษอย่างนั้นอย่างนี้ เลยทำให้สนใจอยากศึกษาให้รู้กฎหมาย เพราะอยากรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร”

มีผู้ต้องขังไม่น้อยที่มีความคิดว่าตัวเองได้รับโทษเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือติดคุกเพราะโดนยัดข้อหาโดยเฉพาะในคดียาเสพติด กลายเป็นแรงฮึดให้อยากรู้ลึกรู้จริงเรื่องกฎหมาย

“มีเยอะมากที่คิดว่าเขาไม่ผิดแต่ต้องติดคุกในคดียาเสพติดเพราะโดนยัดข้อหา ตรงนี้ทำให้น่าคิดว่า กระบวนการยุติธรรมต้องมีการผ่าตัดหรือไม่ เพราะกรณีคดียาเสพติด โทษค่อนข้างแรงและหากมีเหตุสงสัยจำเลยต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าไม่มีความผิด ซึ่งอาจจะขัดกับหลักการกฎหมายสากลที่ว่า ปล่อยคนผิดร้อยคนดีกว่าจับคนบริสุทธิ์มาติดคุกเพียงคนเดียว

จึงควรมีการพิจารณาคดียาเสพติดเหมือนคดีอื่นๆ ที่โจทย์ต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้แน่ชัดถึงจะลงโทษได้” ศิษย์เก่าที่กลายมาเป็นทนายทั้งคู่ ช่วยกันสะท้อนเสียงแทน “ผู้ต้องขัง”

ร้อยความสามารถไม่เท่าหนึ่งโอกาส

คณะนิติศาสตร์ ถือเป็นคณะยอดนิยมอันดับ 1 ที่มีผู้สมัครเรียนมากที่สุด และจบเป็นบัณฑิตมากที่สุดในมหาวิทยาลัยหลังกำแพง เพราะเป็นองค์ความรู้ที่ใกล้ตัวที่สุด ตรงกับประสบการณ์ชีวิตจริงที่แต่ละคนได้พบเจอ ผู้คนในเรือนจำที่ล้วนมีสารพัดคดีแตกต่างกันไป ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน นั่งถกความคิดเห็นในเรื่องคดีมาตั้งแต่ยังไม่ได้ลงเรียนกฎหมาย

ปลายทางสู่อาชีพทนายความ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพแห่งโอกาสซึ่งวัดกันที่ความรู้ความสามารถในการสอบใบอนุญาตตั๋วทนาย แต่ประเด็นปัญหาเรื่องการตีความคุณสมบัติคำว่า ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่เห็นว่านำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ทำให้เส้นทางการเข้าสู่อาชีพนี้สำหรับบัณฑิตหลังกำแพงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

หนึ่งในนั้นเคยมีกรณีของ สุรเดช จิตเพียรธรรม ทนายความและที่ปรึกษากรรมาธิการชายแดน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคยถูกร้องเรียนจนโดนเพิกถอนใบอนุญาต แต่ต่อสู้ยื่นอุทธรณ์จนได้ตั๋วทนายคืนมาในที่สุด เพราะพ้นโทษออกมาในช่วงที่มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงได้ลบล้างมลทินเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยต้องโทษมาก่อน

ถึงวันนี้เขาไม่อายที่จะเปิดเผยอดีตว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นบัณฑิตจากเรือนจำบางขวาง เพราะอยากยืนหยัดต่อสู้ให้สังคมยอมรับว่า ถึงเป็นอดีตผู้ต้องขังก็สามารถเป็นทนายที่ดี มีคุณธรรม ทำประโยชน์กับสังคมได้

“ผมเข้ามาอยู่ที่นี่ 12 ปี 1 เดือน 15 วัน ตอนพ้นโทษออกไปอายุ 39 ปี พูดให้ชาวบ้านฟังไม่มีใครเชื่อว่าผมเรียนจบนิติศาสตร์มา ช่วงนั้นปี 2539 ออกไปเจอวิกฤติเศรษฐกิจพอดี ก็สาหัสเหมือนกัน จริงๆ แล้วต่อสู้กับคนอื่นไม่ค่อยเท่าไหร่ ต้องต่อสู้กับตัวเองมากกว่า ผมทำทุกอย่างตั้งแต่รับจ้าง เพราะกว่าจะสอบได้ตั๋วทนายต้องใช้เวลาเป็นปี”

สุรเดช เคยเป็นอดีตผู้ต้องขังเรือนจำบางขวางในคดีล้างแค้น เขายอมรับว่าสมัยก่อนเคยเกเรมากถึงขนาดโดนขังเดี่ยวมาแล้ว 2-3 ครั้ง เวลา 12 ปีที่เข้ามาใช้กรรมตามกฎหมายอยู่ในนี้เปลี่ยนเขาให้ใจเย็นลงมาก

“จำไว้เลยว่า สังคมในเรือนจำมีทั้งสิ่งที่เลวที่สุดและสิ่งที่ดีที่สุด เลวที่สุดคือมีตั้งแต่มหาโจร คดีปล้นฆ่า คดียาเสพติด มีทุกอย่าง แล้วมันก็มีสิ่งที่ดีที่สุดที่สอนให้เราเรียนรู้ รู้จักที่จะอดทน อดกลั้น และอดออม”

ถึงจะออกมาเป็นทนายนับสิบปี แต่เขาไม่เคยลืมความยากลำบากสมัยเรียนหนังสือหลังกำแพง

“รุ่นผมถึงเวลา 3 โมงเย็นต้องขึ้นตึกนอน ดึกๆ กินกาแฟใส่น้ำประปา แล้วอ่านหนังสือกันยาวถึง 6 โมงเช้าใต้แสงไฟสลัวๆ จนทุกวันนี้สายตาเสียหมด ทุกๆ วันนอนคุยถึงเรื่องคดีต่างๆ เป็นอย่างนี้เป็นสิบปี...

ผมนับถือเพื่อนคนหนึ่งมาก เขาเข้ามาในเรือนจำไม่รู้หนังสือเลย และไม่ได้เป็นคนเก่ง พื้นฐานไม่มีเลยแต่ตั้งใจเรียนและมีความพยายามมาก วิชาหนึ่งลงเรียน 5 ครั้งก็ยังมี จบปริญญาออกไปเป็นทนายความมืออาชีพ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น

บางคนจบเกียรตินิยม แต่ไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไป วิชาว่าความยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องใช้ประสบการณ์ ผมคิดว่าเมื่อจบออกไป คุณต้องคิดดี ทำดี มีคุณธรรม แล้วสิ่งดีๆจะตามมาหาเราเอง

ผมเริ่มสร้างตัวจากการช่วยเหลือสังคม ทำคดีว่าความฟรีให้กับคนจน ตอนนั้นสตางค์เราก็ไม่ค่อยมี แต่เป็นการฝึกตัวเองด้วย จากนั้นก็ปากต่อปาก เขาเอาไปเล่าให้เถ้าแก่ฟังว่าเราเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ได้งานจากคดีอย่างนี้ต่อมาเรื่อยๆ"

ร้อยความสามารถไม่เท่ากับหนึ่งโอกาส คือสิ่งที่สุรเดช ยังอยากให้สังคมเปิดโอกาสและการยอมรับมากขึ้น เพราะถ้าคนที่จมอยู่แล้วยิ่งเหยียบให้จมลึกลงไปอีก สังคมจะยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น

"คนเราถ้าท้องหิวแล้วใจมันกล้า ถ้าออกไปแล้วประกอบอาชีพไม่ได้ เขาก็ต้องหวนกลับไปเป็นโจรเพราะหาเงินง่ายที่สุด" ฝากไว้จากสุรเดช

ครูผู้ปิดทองหลังพระ
ปริญญาอาจไม่ใช่ทุกคำตอบของการเปลี่ยนคนให้เป็น “คนดี” แต่อย่างน้อยที่สุด ยังไม่เคยมีข่าวร้ายว่ามีบัณฑิตรายใดที่หวนกลับมาทำติดคุกซ้ำสอง

“ถึงต่อไปวันข้างหน้าถ้าจะเห็นใครสักคนกลับมาติดคุก มันไม่ต่างไปจากดวงอาทิตย์ที่ยังต้องมีจุดบอด แม้ทุกกฎทุกทฤษฏียังต้องมีข้อยกเว้น แต่ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำลายหลักการ” รศ.พรสิทธิ์ พัฒธนานุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. ในฐานะประธานคณะทำงานประสานงานการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาผู้ต้องขัง บอกเช่นนั้น

เพราะเชื่อมั่นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง คือ การจัดการศึกษา

ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาเป็นอาจารย์สอนเสริมคณะนิเทศศาสตร์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2530 ได้เห็นถึงความตั้งใจใฝ่เรียนของผู้ต้องขังหลายๆ คน บวกกับการประสานหลายอย่างของระบบปริญญาหลังกำแพงยังมีข้อจำกัด

ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา อาจารย์จึงเป็นบุคคลากรเพียงคนเดียวที่ยังคงเดินเทียวเข้าเทียวออกเรือนจำบางขวาง ค่อยดูแลชวยเหลือนักศึกษาในเรือนจำมาโดยตลอด

หลายคนอาจมีคำถามที่ท้าทายว่า การศึกษาช่วยยกระดับจิตใจปรับเปลี่ยนนิสัยได้จริงหรือ?

“ถ้าจะพูดอย่างนั้น ก็ต้องถามว่า คุณคิดว่าคนที่บวชเรียน มีคนไม่ดี มีโจรไหม คนดีมันไม่ได้อยู่ที่การเรียนอย่างเดียว แต่การเรียนทำให้คนเรายังมีความฉุกคิด มีสำนึกได้บ้าง”

ยิ่งใครที่มองว่า ทำไมคนกระทำความผิดเข้ามาเป็นผู้ต้องขัง ถึงยังได้รับโอกาสที่ดีในชีวิตมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ คำว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจะยังจริงอยู่อีกเหรอ อาจารย์ย้อนถามกลับว่า แล้วคนๆนั้นเขาได้รับโทษตามที่ศาลพิพากษาแล้วหรือยัง การที่เขาโดนจำกัดอิสรภาพถือว่าเขาได้ชดใช้กรรมแล้วหรือไม่

“สมัยก่อนคนติดคุกคือต้องชดใช้กรรม ใช้ระบบล้างแค้น แต่สมัยใหม่ไม่ได้เน้นที่แก้แค้น แต่เน้นที่การแก้ไข ถ้าเขาอยากกลับตัวเป็นคนดี แต่เราไม่ใจกว้าง เมื่อไหร่ถึงจะได้คืนคนดีสู่สังคม เราให้โอกาสเขาแล้วหรือยัง”

อาจารย์ย้อนตั้งคำถามให้สังคมช่วยกันคิด การให้นั้นมีหลายระดับ แต่การให้ที่สำคัญคือโอกาส

ด้วยบุคลิกความเป็นคนจริง ตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัด พูดอะไรเด็ดขาดไม่ต้องมานั่งถอดสมการ แต่แฝงไว้ด้วยจิตเมตตาและความมีน้ำใจ นักศึกษาที่นี่จากรุ่นสู่รุ่นจึงทั้งเคารพรัก และให้ความเกรงใจ

บัณฑิตจากรั้วบางขวางหลายคน เล่าว่า ทุกๆ ปี ลูกศิษย์ที่จบออกไป ทั้งอาชีพทนาย และอาชีพอื่นๆ จะรวมตัวกันจัดงานมุทิตาจิตให้กับอาจารย์พรสิทธิ์ และอดีตหัวหน้าฝ่ายบริหารเรือนจำกลางบางขวาง เทิดเกียรติ บุญฤทธิ์ ซึ่งนับถือเป็นเหมือนอาจารย์แม่คนหนึ่งที่ให้กำลังใจ ให้โอกาส ให้ชีวิตพวกเขาได้สว่างไสวอีกครั้ง

“จัดงานทีเขาก็รวมตัวกัน 30-40 คน ผมมักจะบอกกับพวกเขาเสมอว่า “ได้ดี” กับเป็น “คนดี” นั้นต่างกัน และจะดีใจมากหากเขาเป็นคนดีด้วย เมื่อได้เจริญก้าวหน้าแล้ว อย่าดีแค่ตัวเราและครอบครัว แต่ต้องช่วยเหลือสังคมรอบข้างด้วย”

หมายเลขบันทึก: 305762เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท