กระดานชนวน


การศึกษา

กลับจากทำงานมาถึงที่พัก เจอเด็ก ๆ ชั้นมัธยมศึกษาเขายืนคุยกันให้ได้ยินเรื่องผลการเรียนว่า “กูสอบตก 9 วิชานะ(พร้อมกับหัวเราะร่าไปด้วย) ดีนะที่เป็นวิชาหลักทั้งนั้น นี่ยังดีนะโว้ย มึงเจอเพื่อนกูหน่อยนะ มันติด 0 ทุกวิชาเลย” เป็นคำของเด็กสาวคุยกับเพื่อน ๆ ให้เข้าหู ในใจอยากเข้าไปแจมด้วยว่า “ ดีจังเลย อย่างนี้น่าจะฉลองนะ เป็นว่าจุดประทัดซักห่อไปไงตื่นเต้นดี” แต่ในใจลึก ๆ แล้วอดสงสารพ่อแม่เด็กไม่ได้เลย เสียดายเวลา เสียเงินเสียทองที่เฝ้าอุตส่าห์ส่งเสียให้ได้เรียน แต่ลูกเจ้ากรรมมันทำไมถึงทำกับพ่อแม่ได้

การศึกษากับนิยามที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ให้ความหมายกันคือ การที่คนเราได้รับการเรียนรู้ทางด้านวิชาการ รู้แล้วเกิดทักษะ เกิดปัญญา มีคำถามในเรื่องที่ตนไม่เข้าใจและมีคำตอบสำหรับเรื่องที่ตนสงสัยตามลำดับ

การศึกษาบ้านเราปัจจุบันแบ่งตามอายุ ตามลำดับชั้น จากอนุบาล ไปสู่ชั้นประถมศึกษา ไประดับมัธยมศึกษา แล้วก็สู่ระดับอุดมศึกษาหรือระดับความรู้ชั้นไปประกอบอาชีพในลำดับถัดไป

การเข้าเรียนนับแต่ชั้นอนุบาลจนจบมีการมีงานทำ แต่ละคนก็ใช้เวลาในการเรียนที่ไม่เท่ากัน  อย่างตัวผู้เขียน ไม่ได้เรียนชั้นอนุบาล ด้วยเพราะสมัยนั้น 2512-2515 หาโรงเรียนอนุบาลค่อนข้างยากมาก โรงเรียนเหล่านี้จะเหมาะกับครอบครัวฐานะค่อนข้างดี  ระยะเวลาเรียนในตอนเยาว์วัยเรียนตามปกติ  เจอเพื่อนที่สอบซ้ำชั้นก็หลายคน แบบว่าเรียนไปทันกัน ใครก็ตามที่มีผลการเรียนสอบแล้วซ้ำชั้นตามเดิมนี่พ่อแม่เสียใจอยู่ไม่น้อย และเจ้าตัวผู้เรียนเองก็รู้สึกอับอายในตอนเปิดเทอมอยู่เหมือนกัน แต่พอเรียน ๆ ไป เขาก็ปรับตัวเรียนกับเพื่อนใหม่ได้เป็นอย่างดี แถมสอนหนังสือให้เพื่อนใหม่บางคนเสียอีก และที่ผู้เขียนได้เจอเหตุการณ์แบบนั้นก็รู้สึกเห็นใจ แต่ไม่มีใครไปกล้าล้อพี่เขา อาจจะเป็นว่าเขาตัวใหญ่ก็ได้ เดี๋ยวเขาจะเอาตายอาจะเป็นได้ และครูที่สอนก็น่ารัก ไม่เคยกระเหนะกระแหนให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกอับอายหรือมีปมด้อยแต่ประการใด

จากชั้นประถมศึกษา สอบเลื่อนชั้นไปชั้นมัธยมศึกษามาถึงตรงนี้จะรู้สึกได้เลยว่าตื่นตาตื่นใจ โห ทำไมโลกมันช่างกว้างเสียเหลือเกิน ตอนเรียนชั้นประถมมีที่แคบ ๆ มีเพื่อนสนุกสนานรักใคร่สามัคคีทำกิจกรรมไรก็ดูจะใกล้ชิด คนก็ไม่เยอะ รู้สึกอบอุ่นดี แต่พอไปเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทำไมโรงเรียนมันใหญ่โต พื้นที่กว้างขวาง เพื่อน ๆ ก็แสนจะเยอะละลานตาไปหมดเลย วกมาดูเรียนการเรียน ตอนเรียนชั้นประถมเจอครูเดิม ๆ แต่ก็น่ารัก ครูให้ความรัก ให้ความเอาใจใส่ ให้ความยุติธรรม อบอุ่นดีมาก แต่พอมาเจอครูระดับมัธยมดูช่างห่างเหินไม่เหมือนที่เคยเจอ แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นต้องปรับตัว ต้องทำใจให้ได้ การบ้านก็เยอะ ข้อบังคับก็แยะ เพื่อนแกล้งก็มีไม่น้อย คนเรียนเก่ง เอาเปรียบเราก็มี เพื่อนที่คุ้นเคยจากชั้นประถมมาเรียนก็ไม่เยอะ ไปหวังหวังพึ่งเขาก็ไม่ได้ เพราะอยู่ต่างห้อง ชั้นเดียวกันก็มีหลายห้องแบ่งตามคะแนนที่สอบเข้ามาได้ คนเก่งที่สอบได้คะแนนสูง ๆ เขาแบ่งมาให้อยู่ห้องเดียวกัน คนเก่งน้อยหน่อยก็จะไปอยู่อีกห้องถัดไป ตามลำดับคะแนนที่สอบเข้ามาได้ ทำให้เกิดการเปรียบต่างและความภาคภูมิใจและความน้อยเนื้อต่ำใจของเด็ก จะเห็นพฤติกรรมของเด็กเรียนกับเด็กเกเรชัดเจนมาก ห้องเด็กเรียนจะเป็นบ้าเป็นหลังกับการแข่งกันเรียน ส่วนห้องเด็กเกเราก็จะแข่งกันมีเรื่องเป็นรายวัน แต่ด้วยสมัยนั้นครูจะเข้มงวดมาก เด็กเกเรเหล่านั้นถูกครูฝ่ายปกครองจัดการเสียอยู่หมัด แสดงฤทธิ์เดชไรได้ไม่ได้มาก ยาเสพติดไรก็ไม่มี อย่างเก่งก็แค่สูบบุหรี่ในห้องน้ำเท่านั้นเอง

ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นวัยนี้ดูจะเป็นระยะฟักตัวของคนที่จะไปเรียนทางด้านไหนในเวลาถัดมา พอจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ต้องบอกตัวเองให้ได้ว่าตนเองนั้นจะไปเรียนสายอาชีพเลย หรือว่าจะเรียนระดับชั้นมัธยมปลายต่อ มีหลายคนที่การเรียนดี แต่ต้องหันเหชีวิตการเรียนไปเรียนติอสายอาชีวะศึกษา เช่น วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรกันเยอะอยู่เหมือนกัน ด้วยเพราะจบแล้วได้มีงานทำเลย ด้วยเพราะฐานะทางบ้านยากจน เหล่านี้เป็นต้น แต่สำหรับผู้เขียนเอง มีความสุขกับการเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย การเรียนระดับนี้ต้องมีความรับผิดชอบที่สูงมาก ๆ เนื้อหาแสนจะเยอะและแถมด้วยยากมาก สภาวะที่ถูกอัดให้เรียนวันต่อวัน การบ้านต้องหมั่นทำ ต้องหมั่นทบทวนด้วยเพราะครูผู้สอนจะพูดกรอกหูทุกเมื่อเชื่อวันว่า สอบเข้าเรียนระดับอุดมศึกษานั้นยากมาก หากว่าไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจทบทวนแล้ว โอกาสสำหรับการเรียนต่อนั้นริบรี่มาก พูดอย่างเดียวไม่พอ ครูเขาเอาข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาให้ทำอีก โห ทำไมมันยากไรประมาณนั้น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสมัยก่อน เขาเรียกกันว่า Entrance สอบพร้อมกันทั่วประเทศ สอบเพียงครั้งเดียวรู้ผล มันเป็นอะไรที่สุดยอด แต่ผู้เรียนก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยกับเขาไม่ได้ สุดท้ายก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบปริญญาตรีในเวลาถัดมา เท่าที่เขียนมาก็พอแสดงการศึกษาในสมัยผู้เขียนได้พอเป็นสังเขปครับ

ตอนหน้าจะเขียนเรื่องกิจกรรมลูกเสือของฉัน..คอยติดตามอ่านนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #การเรียน
หมายเลขบันทึก: 304529เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • อ่านตั้งแต่จน...จบ....คงต้องบอกว่า การเรียนของเราคงอยู่ในยุคไล่เลี่ยกัน..บรรยากาศคล้ายคลึงกัน
  • การเรียนในปัจจุบันทุกระดับชั้น ความพร้อมทางด้านต่างๆจะมีมากกว่าสมัยตนเองและผู้เขียน...แต่ทุกอย่างเป็นดาบสองคมค่ะ...พร้อมมากไป..ผู้รับอ่อนแอ...เลยทำให้ความพร้อมทำลายศักยภาพของผู้เรียน (ดูทางตา..ทำให้ขาดทักษะการฟัง/อยู่กับหน้าจอมากเกินไป...ทำให้สื่อสารกับใครๆไม่รู้เรื่อง/พิมพ์ทุกอย่างทั้งรายงานและการแชท...จนลืมไปว่าคำนั้นเขียนหรือสะกดอย่างไร)
  • รอๆๆๆการปฏิรูปการศึกษารอบสองค่ะ....

สวัสดีค่ะ

  • คุณบอกเล่าเรื่องราวการศึกษาได้อย่างน่าสนใจทีเดียวค่ะ
  • ที่สำคัญล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธ เพราะมันเป็นไปแล้ว
  • แป๋มเองผ่านการเรียนที่เรียกว่า"ก่อนเกณฑ์"มาค่ะ แถมย้ายตามพ่อไปประจำอยู่หลายจังหวัด
  • แต่นั่นกลับเป็นผลดีที่ได้เรียนแบบพาสชั้นค่ะ (ระบบการเรียนที่ผ่านมาของแป๋มอยู่หน้าประวัตินะคะ)
  • แป๋มเป็นครูโรงเรียนมัธยมรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่คุณบอกกล่าวมา การแบ่งแยกห้องเก่งห้องท้าย
  • ความห่างเหินของครูนักเรียน ความสนใจเด็กเก่งมากกว่าเด็กห้องท้าย เด็กมีการบ้านมากมายในแต่ละวัน
  • ต้องรีบเร่งไปเรียนพิเศษ กว่าจะเข้าบ้านก็ปาไปทุ่ม สองทุ่ม วันหยุดก็ไม่ได้หยุดหย่อน แย่งที่นั่งโรงเรียนกวดวิชากันเพียบ
  • ครูและผู้บริหารก็พูดกรอกหูทุกวีวัน ให้ทำคะแนนให้เข้ามหาวิทยาลัยให้มากๆ ไม่รู้เพื่อใครกันแน่..
  • บอกตามตรงค่ะ..แป๋มสงสารเด็ก..และมีแนวคิดที่ต่างออกไปตามอุปนิสัยของแป๋ม..ดังนี้
  • ทำไมเราไม่ร่วมใจกันพัฒนาเด็กห้องรองๆลงไปกันละคะ แม้กระทั่งเด็กห้องท้ายก็ตามเถอะ เพราะเด็กส่วนใหญ่ของโรงเรียนจะเป็นกลุ่มนี้
  • เด็กเก่งมีอย่างมาก 30% แต่70%เป็นเด็กกลุ่มที่เหลือ คุณอยากให้ค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบนักเรียนทั้งโรงเรียนสูงขึ้น
  • ก็น่าจะร่วมแรงร่วมใจพัฒนาเด็กห้องรองๆลงไปจะไม่ดีกว่าหรือ..เด็กเก่งเราก็ไม่ทิ้งอยู่แล้ว ตัวเขาก็ไม่ปล่อยตัวเองตายแน่ๆ
  • ตรงข้ามเด็กกลุ่มท้ายๆบางทีครูเขาไม่สอน เข้าห้องมาก็มาดุมาว่า ทั้งที่บางวันอยากทำดีบ้างก็ทำไม่ได้
  • นี่คือเรื่องจริงที่แป๋มพบด้วยตนเอง และได้ปวารณาตนในการที่จะดูแลเด็กกลุ่มนี้บ้าง..เขามีความเก่งภายในตนมากมายค่ะ
  • ให้เวลาเขาสักนิด ฟังเขาสักหน่อย ไม่ช้าผลที่ปรากฏต่อหน้าเราช่างแสนจะงดงามค่ะ..พิสูจน์ได้ที่นี่นะคะ
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/225703
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/223651
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/227998
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/225274
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/230309
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/274021
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/252146

ขอบคุณค่ะที่ใส่ใจระบบการศึกษาไทย ขอบคุณที่บอกเล่าเรื่องราวภาพอดีตที่เคยเรียนมา..ขอบคุณค่ะ ขอบคุณเหลือเกิน..

ครูแป๋มเขียนแล้วน้ำตาแทบไหลนะครับ เข้าใจถึงคำว่าครู ครูคือผู้ให้ ให้ความรู้ ให้โอกาส ให้ความรัก ให้ความใส่ใจ และให้อื่น ๆ โดยเฉพาะให้ใจของครูแป๋มใส่ในตัวเด็ก ดีใจครับที่เจอครูในอุดมคติอย่างงี้เสียทีครับ

อยากเจอลูกศิษย์ครูแป๋มเสียแล้วดิครับ เด็ก ๆ คงน่ารักนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท