การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 5/2549 (1.1)


เครือข่ายฯก็จะย่ำอยู่กับที่ (หรืออาจถอยหลังในบางช่วง) เพราะ ปัญหาเก่ายังไม่ได้แก้ไข ในขณะเดียวกัน (ภายนอก) ก็นำปัญหาใหม่เข้ามาให้กับเครือข่ายฯ ในที่สุดกรรมก็ตกอยู่ที่เครือข่ายฯไม่ใช่ภายนอก

            หลังจากที่เมื่อวานนี้ผู้วิจัยได้ (เริ่ม) เล่าบรรยากาศการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 5/2549 ไปแล้ว  วันนี้ผู้วิจัยจะขอเล่าบรรยากาศและเนื้อหาสาระต่อ  โดยในการประชุมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา  คือ  มีการประชุมเป็นวาระต่างๆ  ประกอบด้วย 6 วาระ  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ค่ะ

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

                     ในวาระที่ 1 นี้ ประธานกล่าวว่ามีเรื่องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ 2-3 เรื่อง ประกอบด้วย

                      เรื่องที่ 1 การขยายผลสมาชิกใหม่ ขณะนี้ทางสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดลำปางได้ลงมาช่วยในเรื่องของการขับเคลื่อนงาน การขยายผล การจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรที่ทำงานเรื่อง “สวัสดิการวันละ 1 บาท” ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรใหม่ที่

                     1.บ้านหมุ้น ตำบลวังใต้ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง คาดว่าจะมีสมาชิกเกือบทั้งหมู่บ้านที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก

                     2.บ้านป่าแดด ตำบลแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

                     3.ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

                     4.บ้านผึ้ง บ้านสัก บ้านแม่ต๋ำ ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

                     5.ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

                    ต่อไปมีแผนที่จะลงไปขยายผลจัดตั้งกลุ่ม “สวัสดิการวันละ 1 บาท” ที่

                    1.ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2549

                    2.ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ในวันที่ 15 มิถุนายน 2549 ซึ่งจะเกิด “กลุ่มสวัสดิการวันละ 1 บาท” อีก 3-4 บ้าน คือ บ้านน้ำโท้ง บ้านหนองหอย บ้านหลุก (หมู่6)

                    สำหรับในส่วนของการขยายสมาชิก ประธานได้เดินทางมาประชุมร่วมกับ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ของตำบลบ้านเป้าเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี คิดว่าในเดือนมิถุนายน 2549 คงจะมีกลุ่ม/องค์กรเกิดขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 10 ตำบล ต่อไปจะมีสมาชิกใหม่มาร่วมประชุมกับพวกเรา เพราะฉะนั้นตอนนี้พวกเราต้องจัดการตัวเองให้เรียบร้อย เพราะ ถ้าไม่เรียบร้อยต่อไปพอมีกลุ่มใหม่เข้ามาก็จะพันพัวกัน วุ่นวาย

                  ในส่วนของการขยายผลสมาชิกใหม่ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ค่ะ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงประเด็นต่อไป ผู้วิจัยขอตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้สักนิดหน่อยนะคะ (เนื่องจากเกี่ยวข้องกับงานวิจัยโดยตรงค่ะ) ผู้วิจัยเห็นด้วยกับการขยายสมาชิก แต่หากใช้วิธีการนี้เครือข่ายฯจะไร้สิ้นซึ่ง “การเรียนรู้” กล่าวอย่างง่ายๆ คือ เครือข่ายฯต้องรอรับอย่างเดียวโดยไม่สามารถที่จะโต้แย้งได้ ความจริงในเรื่องการขยายกลุ่มใหม่นั้น ผู้วิจัยไม่ติดใจว่าใครจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการขยาย จะเป็นเครือข่ายฯ หรือ เป็นหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ เช่น สภาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดลำปาง อบต. เป็นต้น ก็ได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ แต่ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน การตัดสินใจต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกเครือข่ายฯ ไม่ใช่การตัดสินใจไปอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ในกรณีของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเครือข่ายฯขณะนี้ผู้วิจัยรู้สึกเป็นห่วงมาก เนื่องจาก

                   1.การครอบงำ ในกรณีนี้เห็นอย่างชัดเจนว่าสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดลำปางเข้ามามี บทบาทในการ “ยัดเยียด” สมาชิกใหม่ให้กับเครือข่ายฯ ในความเห็นของผู้วิจัยเห็นว่าสภาเครือข่าย องค์กรชุมชนจังหวัดลำปางควร (ต้อง) แสดงบทบาทในการเป็นหน่วยงานสนับสนุนมากกว่า จริงอยู่ที่ประธานเครือข่ายฯกับประธานสภาฯเป็นคนเดียวกัน คณะทำงานของสภาฯบางคนก็มาจากเครือข่ายฯ แต่อย่าลืมว่า “สภาไม่ใช่เครือข่ายฯ” และ “เครือข่ายฯก็ไม่ใช่สภา” ดังนั้น ในเรื่องการขยายผล ซึ่งเป็นเรื่องของเครือข่ายฯก็ควรที่จะให้เครือข่ายฯเป็นผู้จัดการ สภาฯควรอยู่ในฐานะพี่เลี้ยงมากกว่าที่จะมาทำให้เครือข่ายฯทั้งหมด งานของสภาฯมีมากมาย มีหลายประเด็น สภาฯควรที่จะเอาเวลาไปจัดการประเด็นอื่นด้วย ไม่ใช่มุ่งมาจัดการให้เครือข่ายฯเพียงอย่างเดียว (มิฉะนั้นจะถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง) นอกจากนี้แล้วในฐานะที่ผู้วิจัยติดตามงานของเครือข่ายฯและสภาฯมาตลอด เห็นว่า งานนี้สภาฯแสดงบทบาทของตัวเองผิดอย่างชัดเจน สภาฯควรจะทำหน้าที่ “คุณ(เอื้อ)อำนวย” มากกว่าที่จะมาทำหน้าที่ “คุณกิจ” ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป “การพึ่งตนเอง” และ “ความยั่งยืน” ที่เครือข่ายฯได้ตั้งเป้าหมายไว้ไม่มีวันเกิดขึ้นกับเครือข่ายฯแน่นอน

                    2.ความไม่พร้อม โดยเฉพาะของเครือข่ายฯ ภายในเครือข่ายฯยังมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการอยู่พอสมควร การที่เครือข่ายฯยังไม่พร้อม ยังจัดการกับตัวเองให้เรียบร้อยไม่ได้ แล้วไปหาสมาชิกใหม่เข้ามานั้นมีแต่จะก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งในที่สุดเครือข่ายฯก็จะไม่สามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อย่างในกรณีนี้เมื่อเครือข่ายฯไม่พร้อมแล้วไปรับสมาชิกใหม่เข้ามา ถ้าจะเอาบทเรียนในอดีตขึ้นมาพยากรณ์ ผู้วิจัยขอพยากรณ์ว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ คือ

  •  

  • กลุ่มใหม่ เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายฯได้ระยะหนึ่งแล้วก็ต้องถอยออกไป หมายความว่า ยังเป็นสมาชิกอยู่ แต่ก็ทำหน้าที่เท่าที่ตัวเองทำได้ พอใจก็ทำ ไม่พอใจก็ไม่ทำ มีการปรับเปลี่ยนกรรมการไปเรื่อยๆ หาเจ้าภาพไม่ได้ (ตอนนี้ก็มีปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในเครือข่ายฯแล้ว เกิดขึ้นในกรณีกลุ่มเล็กๆ)
  •  

     

  • กลุ่มใหม่ เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายฯได้ระยะหนึ่งแล้วก็ต้องยุบกลุ่มไปเลย เพราะ ไม่สามารถรับหรือดำเนินการตามเงื่อนไขที่เครือข่ายฯตั้งไว้ได้ (ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นมาในหลายกลุ่มแล้ว)
  •  

     

  • กลุ่มใหม่ที่มีความเข้มแข็งก็จะปฏิวัติตัวเอง คือ ยังเป็นสมาชิกของเครือข่ายฯอยู่ แต่ขอแยกการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารจัดการในเรื่องการเงิน (ปรากฎการณ์นี้ก็เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน)

                      สรุป คือ เครือข่ายฯก็จะย่ำอยู่กับที่ (หรืออาจถอยหลังในบางช่วง) เพราะ ปัญหาเก่ายังไม่ได้แก้ไข   ในขณะเดียวกัน (ภายนอก) ก็นำปัญหาใหม่เข้ามาให้กับเครือข่ายฯ ในที่สุดกรรมก็ตกอยู่ที่เครือข่ายฯไม่ใช่ภายนอก

           

           
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30445เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะทำให้เกิดการเรียนรู้ภายในเครือข่ายได้อย่างไร หรือจะเป็นไปตามวลี ปลาอยู่ในน้ำไม่เห็นน้ำ นักวิจัยจะช่วยให้เครือข่าย(กรรมการ)เรียนรู้ได้อย่างไร?

อ.อ้อมครับ ผมอ่านเจอชาวกศน.ที่เกาะคาเขียนลงในBLog

http://gotoknow.org/naravan

น่าจะเป็นภาคีทำงานในพื้นที่ร่วมกันได้ อ.อ้อมน่าจะเปิดชุมชนจัดการความรู้จังหวัดลำปาง เพื่อเชื่อมโยงนักกิจกรรมจัดการความรู้ในลำปางเข้าด้วยกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท