เหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ ด้านชายฝั่งอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547


 

เป็นเวลากว่า 5 ปี เหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ ด้านชายฝั่งอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ก่อเกิดความเสียหายใหญ่หลวง ผู้คนมากมายสูญเสียชีวิต และอีกมากไร้ที่อยู่อาศัย ครอบครัวพลัดพราก ชุมชนล่มสลาย มีการประมาณการว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ เด็ก ผลกระทบเฉียบพลันที่เกิดกับเด็ก ได้แก่ การสูญเสียชีวิตหรือการสูญหายของบุคคลอันเป็นที่รักทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ครู เพื่อน และคนที่เด็กคุ้นเคย บ้าน และโรงเรียนเสียหาย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหวาดกลัว เศร้าโศก จะยังมีผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว ปฏิกิริยาของเด็กที่เกิดตามหลังเหตุการณ์นี้ พบว่าเด็กบางส่วนยังมีอาการกลัวทะเล และคลื่นยักษ์ มีอาการตกใจเวลาได้ยินเสียงดัง เด็กส่วนใหญ่ไม่กล้านอนคนเดียวเนื่องจากฝันร้าย และกลัวผี ปฏิกิริยาเศร้าโศกต่อการสูญเสียมีความรุนแรงในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น ชุมชนน้ำเค็ม โรงเรียนชุมชนในแต่ละชั้นเรียนมีเด็กเสียชีวิตหรือสูญหาย และมีเด็กที่สูญเสียบิดา และหรือมารดา เด็กส่วนใหญ่สูญเสียบ้าน

   

 

 สำหรับในครั้งนี้ดิฉันได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการติดตามผลกระทบด้านจิตใจของเด็กจากเหตุการณ์คลื่น สึนามิปี่ที่5โดยพญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ทำโครงการช่วยเหลือเด็กระยะยาวเป็นการลงพื้นที่ครั้งที่15

ที่มีทีมงานที่ทำงานอยู่นั้นได้ลงพื้นที่      การดำเนินงานนั้นไมได้ไปแค่ไปเก็บข้อมูลแล้วก็กลับ แต่ได้มีอะไรหลายๆอย่างที่ลงไปทำในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งการค้นหาเด็กที่ได้รับผลกระทบซึ่งถ้านึกภาพ ณ.เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว จะหาเด็กผู้ประสบเหตุที่ไหน อย่างไร เมื่อพบแล้วก็คงต้องมาประเมินกันว่า มีผลกระทบทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน มีกิจกรรมที่จะช่วยเยียวยาอะไรบ้าง และที่สำคัญก็คือ มีการนำนักจิตวิทยาซึ่งเป็นอาสมัครมาให้อยู่ในพื้นที่เพื่อติดตามเด็กอย่างใกล้ชิด

            ถ้าฟังแค่ผิวเผิน การนำนักจิตวิทยามาอยู่ในพื้นที่ ก็รู้สึกว่าธรรมดา ก็แล้วไงล่ะ แต่ที่สำคัญ นักจิตวิทยา ก็รับภาระอันหนักอึ้งในการที่จะติดตามเด็กในพื้นที่ที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังต้องสร้างสัมพันธภาพกับเด็ก กับครู กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกด้วย ที่จะเห็นความสำคัญร่วมกันหรือไม่ เพราะ ถ้าเป็นบาดแผลทางร่างกายสามารถเห็นได้ง่าย ถ้าใครเห็นก็คงบอกได้ว่าต้องไปหาหมอ ต้องทำแผล  แต่ว่าผลกระทบด้านจิตใจมันมองไม่เห็น มันอยู่ข้างใน หรือแม้แต่ตัวครู ผู้ปกครอง คนในพื้นที่ก็อาจจะดูแลจิตใจตัวเองไม่ได้ดีนัก

            ครั้งนี้เราได้ติดตามเด็กที่ได้รับผลกระทบ จากรร.บ้านน้ำเค็ม รร.วัดคมมนียเขต  รร.เสนาฯ รร.ราชประชา35 จากการสัมภาษณ์ก็พบว่าเด็กบางส่วนสามารถทำใจได้ บางส่วนยังมีอาการหลงเหลืออยู่ ในรายที่ยังเหลืออากาอยู่เราก็ให้จิตบำบัดรายบุคคลด้วย

นอกจากสัมภาษณ์ติดตามอาการเด็กแล้วยังมีการทำกลุ่มจิตบำบัด(CBT) เป็นเวลา 3วันในกลุ่มเด็กนักเรียน รร.ราชประชา35 นำทีมโดยอาจารย์โจ เป็นผู้ฝึกพวกเราให้ทำกลุ่ม แบ่งเด็กเป็น 4กลุ่ม กลุ่มละ 6คน  โดยไฮไลท์ของการทำกิจกรรมกลุ่ม อยู่ที่วันสุดท้าย คือหลังจากที่เราได้ให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับความคิด ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น ก็มาถึงการที่ให้เด็กได้สัมผัส เผชิญกับของจริง โดยได้รับความกรุณาจากท่านผู้อำนวยการที่อนุญาต ให้เราได้พาเด็กๆลงทะเลกันจริง

 แต่เรามีข้อห้ามคือ ห้ามเด็กเล่นน้ำ แต่เราให้อยู่ประมาณชายหาด เด็กดูตื่นเต้นกันมาก  แล้ววันนั้นก็มีฝนตกอีกต่างหาก ทำให้เราสามารถให้เด็กได้ดึงเอาสิ่งที่เราได้ฝึกกันไว้มาใช้จริงๆ เมื่อถึงเวลาที่ให้สัมผัสทะเล บางคนตื่นเต้น แต่บางคนก็ยังกลัวทะเล เกิดอาการมือเย็น ใจสั่น กลัว หน้าซีด บางคนตื่นเต้นตอนแรก แต่พอเห็นคลื่นจริงๆ ก็ กลัวก็มี แต่สุดท้ายทุกคนก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

 

 

จากการทำกิจกรรมกับเด็กพบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดคือ การมีเพื่อนคอยปลอบใจซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความทุกข์ใจของเด็กได้มาก  นอกจากปัญหาสภาพจิตใจแล้ว ยังพบปัญหาหลายเรื่องที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการดูแลแก้ไข มีปัญหาอื่นอีกเช่นปัญหาครอบครัว พ่อแม่แยกทางกัน ปัญหาการโดนล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้ามาก่อนว่าจะเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้นำเอาความรู้ที่ได้มาใช้จริงๆ มาเจอของจริง อีกทั้งก็มีที่ปรึกษาที่ดี ทั้งอาจารย์โจ อาจารย์พนม อาจารย์หนุ่ม อาจารย์เหมียว ช่วยให้คำปรึกษา

         เมื่อมาพิจารณาถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการติดตามเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ การให้การดูและเด็กแบบต่อเนื่องโดยเมื่อทีมมาประเมินหาเคสแล้วก็มีการติดตามต่อโดยนักจิตวิทยาที่ส่งไปอยู่ในพื้นที่ การติดตามจากทีมส่วนกลางที่คอยติดตามต่อเนื่อง การเพิ่มเติมความรู้และทักษะของทีมนักจิตวิทยาที่อยู่ในพื้นที่ให้มีทักษะมากขึ้นรวมถึงการอบรมให้มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเรียนซึ่งสามารถพบร่วมได้ในเด็กวัยเรียน การให้ความรู้แก่ครู และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่เพื่อสร้างความตระหนัก และสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้และเมื่อไม่มีนักจิตวิทยาอยู่ในพื้นที่แล้วทางพื้นที่สามารถจัดการได้เอง และเป็นที่น่ายินดีที่เรามีจิตแพทย์(หมอหญิง)ที่มาอยู่ที่รพ.ตะกั่วป่าด้วย ก็ได้ถือโอกาสนี้ในการส่งต่อเคส ในรายที่ต้องติดตามต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุปการดูแลช่วยเหลือเด็กผู้ประสบภัยในระยะวิกฤติ ช่วงแรกเป็นเรื่องของการดูแลรักษาการบาดเจ็บทางร่างกาย การจัดหาสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น น้ำ อาหาร และที่พักพิง รวมทั้งการเยียวยาจิตใจจากความหวาดกลัว ความเศร้าโศกจากการสูญเสีย ในระยะยาวจะเป็นเรื่องของการเยียวยาทางจิตสังคม การฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก ได้ผ่านภาวะวิกฤติจากการเผชิญภัยพิบัติคลื่นยักษ์ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด  และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดบทเรียนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ ของหน่วยงานหลายหน่วยงานที่จะต้องมีการทำงานร่วมกัน และเป็นการใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการสร้างระบบและเครือข่ายในการดูแลเด็กในภาวะภัยพิบัติต่อไป

                         

หมายเลขบันทึก: 304389เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เจอแย้ว..หมอเปิ้ลหลังจากห่างหายไปนาน

ดูภาพแล้วหายคิดถึงเลยหล่ะ

ภาพที่ถ่ายคู่กับน้องผู้ชาย ดูดี ๆ แล้วเหมือนวัยเดียวกันเลย..ฮิ..ฮิ

  • แหม...ทีมงานท่าสุดยอด..แปลงร่างกันได้ทุกคนเลยนะครับ ^^

นึกว่าจะหายไปเลย

สุขภาพแข็งแรงดีนะครับ

คิดถึงมากๆ...ทางคุณหมอเป็นไงบ้าง

ช่วงนี้งานเยอะครับ งงๆ หงึบๆ หงับๆ หลับบ้าง ทำบ้าง

เป็นวิทยากรบ้าง เขียนหนังสือบ้าง

คิดถึงคุณหมอนะครับ ว่างๆจะแวะไปหา ให้เลี้ยงขนมสักมื้อ

ผมกำลังสงสัยครับ

เด็กสมาธิสั้น เป็นยังไง

เอาอะไรเป็นเกณฑ์ครับ...แล้วรักษาได้ไหม

เคยมีคุณแม่ถาม...ผมเลยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแสนสวยก่อน ( เพราะผมไม่ทราบจริงๆครับ )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท