Nonkhoon
ทิพย์ประมวล เหมียว จันใด

นี่หรือ? คือตัวบุญ


คุณรู้ไหม? ตัวบุญเป็นอย่างไร?

นี่หรือ  คือ   “ ตัวบุญ ”

 

      “ หนูสิไปโรงเรียนได้จั่งได๋   ถ้าหนูไปโรงเรียน  ไผ๋สิเป็นคนพาแม่ไปขอข้าวขอน้ำให้หนูกิน แม่หนูตากะบอด  ”   เสียงบอกเล่าด้วยภาษาท้องถิ่นของเด็กหญิงวัย  11  ขวบ  รูปร่างอวบ   ผมเผ้ารุงรัง  บางจุดจับกันเป็นกระจุกมีฝุ่นเกาะตามเส้นผมราวกับไม่ได้หวีหรือสระผมมาแรมเดือน     เนื้อตัวมอมแมม  ตามแขนและขามีรอยแผลเป็นจากแผลพุพองตั้งแต่เล็ก    น้องอร    คือชื่อของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยสิ่งกระตุ้นเตือนความรู้สึกของฉัน ให้นึกถึงภาพเหตุการณ์วันนั้น

          ฉันรับผิดชอบงานผู้พิการและผู้สูงอายุ   ประจำกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนของโรงพยาบาลโนนคูณ    ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการทั้งด้าน     การป้องกัน    การรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ  และรวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพทั้งเชิงรับและเชิงรุก  และในทุก ๆ วันจะมีผู้รับบริการแวะเวียนมาใช้บริการตามคลินิกของแต่ละวัน  ทั้งที่นัดไว้และไม่ได้นัด  หลังจากว่างเว้นจากการให้บริการแล้วพวกเราก็จะออกเยี่ยมบ้าน    เป็นการติดตามดูแลผู้รับบริการในชุมชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งที่เราให้ความสำคัญและถือปฏิบัติเสมอมา   ในเวลาบ่ายของวันศุกร์ซึ่งฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นวันที่เท่าไหร่  ฉันยืนมองท้องฟ้าที่กำลังมืดครึม  เมฆสีเทาเกาะตัวอยู่เต็มทั่วท้องฟ้าคล้ายฝนจะตก   แอบคิดในใจว่าขนาดฝนยังตกไม่ทั่วฟ้าเลย   ช่างแตกต่างกลับช่วงที่ฉันไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเมื่อเช้าซะเหลือเกิน   ฉันบีบนวดต้นคอตัวเองด้วยความเมื่อยล้าจากการเดินทางที่ต้องฝ่าสายฝนและดินโคลนสีแดง   ประกอบกับบรรยากาศที่มีสายฝนโปรยปรายตลอดระยะเวลาที่เดินทาง    หลังจากยืนแอบคิดอะไรเพลิน ๆฉันก็เดินไปที่โซฟาในห้องพักเจ้าหน้าที่เอนตัวลงนั่ง  เพื่อให้เวลากับตัวเองได้พักบ้าง 

“ กริ๊ง ๆ.!!!!!!!   กริ๊ง ๆ.!!!!!!!   กริ๊ง ๆ.!!!!!!!....”

“ พี่สายโทรศัพท์ค่ะ ”  เสียงของน้องในฝ่ายปลุกฉันให้ลุกจากโลกแห่งการพักผ่อนฉันค่อย ๆ ลุกจากที่ที่จะใช้เป็นที่พักเพื่อเพิ่มพลังให้กับตัวเองด้วยความสะลึมสะลือ  บิดขี้เกียจไป-มาก่อนเดินไปรับโทรศัพท์

 “ น้องสายเชิญที่ห้องบัตรด้วยค่ะ ”     เสียงที่ฉันได้ยินช่างแผ่วเบา  จนนึกไม่ออกว่าเป็นสียงของใครในความรู้สึกตอนนั้นของฉัน

 “ ค่ะพี่   สายค่ะ ”  ฉันพูดออกไปทั้งที่ตาทั้งสองข้างยังเปิดไม่เต็มที่เลยด้วยซ้ำ

  น้องสาย  มาช่วยกันเอาบุญค่ะคุณน้อง       ฉันนึกออกแล้วว่านี่คือเสียงของพี่พยาบาลประจำแผนกผู้ป่วยนอกที่มักจะพูดหยอกล้อกับฉันบ่อย ๆ    เมื่อได้รับคำตอบ  ยิ่งทำให้ฉันงงหนักเข้าไปอีก 

 “ บุญอะไรค่ะพี่ ”

 “ น้องสายมาที่ห้องบัตรสิ  แล้วจะได้รู้ว่ามันคือบุญอะไร? ”  ฉันสะบัดหัว  1  ครั้ง  ตั้งสติและรวบรวมสมาธิที่ล่องลอยอยู่เมื่อสักครู่นี้ให้กลับคืนมาโดยเร็ว   ( ถึงจะไม่หมดก็เถอะ )   แล้วรีบเดินไปหาพี่ที่ห้องบัตรเพื่อหาคำตอบ  พลางก็คิดว่าทำบุญอะไร  ไม่รู้หรือว่าถ้าพี่เขาจะไม่โทรมาเมื่อสักครู่นี้.... พี่เขาก็จะได้บุญไปมากโขที่เดียวละ...   

       เมื่อเข้าไปถึงห้องบัตร   สิ่งที่ฉันเห็นก็คือภาพของเจ้าหน้าที่ที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการทำบัตรตรวจให้คนไข้ที่รอตรวจ      สายตาของฉันได้ไปสะดุดอยู่ที่คุณยายรูปร่างเล็ก   ผอม     ท่าทางอิดโรยดูซีดเซียว   ผมเป็นสีดำดอก   ใส่เสื้อคอกระเช้าที่ซีดจนแทบจะไม่รู้เลยว่าสีเดิมเป็นสีอะไร   แล้วยังมีรูขาดพรุนเล็ก ๆ  กระจายอยู่ตามตัวเสื้อ   ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร   รวมทั้งรอยขาดวิ่นตามชายตะเข็บเสื้อนั้นด้วยผ้าถุงเก่า ๆ สีดำ..เออ....ใช่น่าจะเป็นสีดำ  เพราะมองแทบจะไม่เห็นลวดลายอะไรเลย  ปกคลุมยาวลงมาถึงเข่า    เผยให้เห็นช่วงขาที่ลีบเล็กแทบจะมีเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น  รองเท้าไม่สวม   สั้นเท้าแตกด้านแสดงถึงการเดินด้วยเท้าเปล่าเป็นเวลานาน    เล็บที่ยาวและดำ  เนื้อตัวมอมแมม   บ่งบอกว่าไม่ได้รับการตัดและการใส่ใจเรื่องความสะอาดมากนัก    และเมื่อฉันเงยหน้าขึ้นมองสบตากับคุณยายคนนั้น  หลังจากที่ไล้สายตาสำรวจไปทั่วร่างแล้ว   คุณยายไม่ยอมสบตา  ด้วยความสงสัยฉันจึงยืนจ้องตาคุณยายต่ออีกประมาณ 2-3  นาที  แปลกที่คุณยายไม่มีแม้แต่การกระพริบตา  ฉันแอบคิดในใจ......หรือว่า!!!!!   คุณยายตาบอด......  เขาตาบอด?....จากความรู้สึกสะลึมสะลือ  งุนงง  ขี้เกียจ   หรืออะไรก็แล้วแต่ในตอนแรก   บัดนี้มันได้แปลเปลี่ยนกลายเป็นความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาในทันที  และฉันยังเริ่มสังเกตเห็นอีกว่าข้าง ๆ กายของคุณยายมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง  รูปร่างท้วม   ใบหน้าอวบกลม   ดวงตาสีดำขลับจ้องมองข้าพเจ้าอยู่ก่อนแล้ว   ด้วยสายตาที่น่าจะสงสัย   เสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ไม่ได้แตกต่างจากคุณยาย  มันทั้งเก่าและซีด  เนื้อตัวมอมแมม  ผมเผ้ารุงรังเหมือนกับมันไม่ได้พบหวีมาอย่างช้านาน  ไม่ได้ใส่รองเท้า    แต่ที่สะดุดจมูกฉันที่สุดก็คือกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากร่างกายของเธอราวกับกองขยะ  ดูท่าทางคงไม่ได้ผ่านการอาบน้ำมานานเป็นแรมปี    มันยิ่งเพิ่มให้ความอยากรู้อยากเห็นของฉันเพิ่มมากขึ้น   จนไม่อาจจะทนเงียบอีกต่อไปได้ 

“ มีอะไรหรือเปล่าคะพี่ ”     

“ มีจ้า ก็นี่แหละเรื่องเอาบุญ    สอบถามกันเอาเองนะ  Case  นี้พี่ยกให้ ”  พี่พยาบาลคนเดิมกล่าว     พร้อมกับยื่นใบสั่งยาให้กับข้าพเจ้าแล้วก็เดินจากไป......อะไรวะ.....งง.....ข้าพเจ้ารีบอ่านใบสั่งยานั้นในทันที     มันเป็นข้อความที่แพทย์ผู้ซึ่งได้ชื่อว่ามีหัวใจของความเป็นมนุษย์    เขียนในใบสั่งยาว่า   ส่งฝ่ายเวช ฯ   เพื่อขอรับความช่วยเหลือด่วน!!!!!    ฉันยิ่งงงเข้าไปอีก    เมื่อเจอกับคำสั่งในใบสั่งยา    มีด้วยเหรอ ???  คำสั่งแบบนี้     แล้วใครละจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้     นอกเสียจาก...........

        ฉันเงยหน้าขึ้นมองคุณยายอีกครั้ง    ยิ้มพร้อมกับกล่าวทักทายคุณยายด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล    ( คิดว่าอย่างนั้น )    และแนะนำตนเองเพื่อให้คุณยายรู้ว่าเราเป็นใคร มีหน้าที่อะไร   และพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณยายในเรื่องที่พอจะช่วยได้    เท่านั้นละ ( ตอนนั้นคิดได้แค่นั้นจริง ๆ )  แต่คุณยายก็ยังไม่ยอมกระพริบตาอีกเช่นเคย  ด้วยความสงสัยฉันเลยเอื้อมมือไปจับแขนคุณยายเบา ๆ แล้วถามว่า 

“ เป็นอะไรมายาย ”   ใบหน้าของคุณยายก็เต็มไปด้วยร้อยยิ้ม  พร้อมกับยกมือที่มีแต่หนังหุ้มกระดูกขึ้นพนมเพื่อไหว้ฉันทันที    จนฉันรับไหว้แทบไม่ทันเลยละ 

“ คุณหมอ  ส่อยอิฉันแหน่  อิฉันจังแม่นทุกข์  แม่นยาก ”     

“ ทุกข์ยากอะไร  ไหนลองเล่าให้หมอฟังสิค่ะ ”  ประวัติอย่างคร่าว ๆ ของครอบครัวคุณยายถูกถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดโดยผ่านการบอกเล่าด้วยปากของคุณยาย  ขณะที่คุณยายเล่าเรื่องราวของตัวเองอยู่นั้น  หลายครั้งที่ฉันแอบชำเลืองมองสบตาของคุณยายด้วยความสงสัย  จนอดไม่ได้ที่จะยกมือขวาของฉันขึ้นมาถึงระดับสายตาของคุณยายแล้วส่ายไป-มา  

“ หมอเฮ็ดอี่หยั๋ง  แม่บ่เห็นดอก  แม่หนูเผิ่นตาบอด ” 

ตาบอด!!!!  เหมือนดังกับฟ้าฝ่าลงมาที่ตัวฉันทันทีที่สิ้นเสียงของเด็กผู้หญิงคนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ คุณยาย   ความสงสัยทั้งหมดที่ฉันเคยตั้งคำถามกับตัวเองและแอบตอบมันอยู่ในใจ  บัดนี้มันได้รับการเฉลยคำตอบเรียบร้อยแล้ว  ฉันวางมือจากการทดสอบสายตาของคุณยายลงช้า ๆ แล้วมองคุณยายสลับกับเด็กผู้หญิงคนนี้ไป-มา   สงสาร......คงไม่มีคำใดที่เอ่ยหรือบอกแก่สิ่งที่ฉันรับรู้ได้มากท่ากับคำคำนี้

      น้องอร   คือชื่อของเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นลูกสาวของคุณยาย  เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฉันฟังด้วยสีหน้าที่เศร้าหมองว่า  ไม่มีบ้าน  ไม่มีเงิน   ไม่มีที่นาทำกิน   ต้องอาศัยอยู่เพิงหมาแหงนที่ชายทุ่ง  พอถึงช่วงฤดูการทำนาก็จะไปรับจ้างทำนา  แต่หมดช่วงทำนาก็ต้องไปขอทาน  ขอข้าวเขากินไปวัน ๆ   วันไหนไม่มีข้าวกิน   ก็ไปขอข้างบ้านถ้าเขามีเขาก็แบ่งให้แต่ถ้าไม่มี  นั่นหมายความว่าทั้งเธอ  แม่  และผู้เป็นพ่อก็จะไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย    ต้องกินน้ำทั้งวันเพื่อประทังความหิว   แม่ชอบบ่นปวดท้องบ่อยๆ    พ่อกับหนูก็เคยปวดท้องด้วยแต่ไม่ค่อยกล้าไปหาหมอ   เพราะพวกเราไม่มีเงิน    ถ้าไม่ปวดมากจนทนไม่ไหวจริง ๆ ถึงจะไป พ่อขาลีบ   ทำงานหนักไม่ค่อยได้     แม่ตาบอดมองไม่เห็น   ทำงานไม่ได้    หนูไม่ได้ไปโรงเรียน    

“ ทำไมหนุไม่ไปโรงเรียนละ ” 

หนูสิไปโรงเรียนได้จั่งได๋   ถ้าหนูไปโรงเรียน  ไผ๋สิเป็นคนพาแม่ไปขอข้าวขอน้ำให้หนูกิน แม่หนูตากะบอด  ”   นั่นซินะ    ฉันนี้โง่จริง ๆ ขนาดเด็กยังรู้เลย  แต่คำตอบของ   หลังจากที่ได้พูดคุยและรับฟังคำบอกเล่าต่าง ๆ แล้ว  ฉันยังได้ทราบอีกว่าคุณยายคนนี้ไม่มีแม้กระทั่งเลขบัตรประจำตัวประชาชน    ฉันฟังแล้วยังไม่อยากจะเชื่อหูของตัวเอง    สมัยนี้มีคนไม่มีบัตรประชาชนด้วยหรือ......   แล้วผู้ใหญ่บ้าน   กำนัน   อบต.  เขารู้ไหมว่าคุณยายคนนี้ไม่มีบัตรประชาชน    แล้วเรื่องบัตรประกันสุขภาพล่ะมีหรือยัง   ไม่น่าล่ะน้องอรถึงบอกว่าไม่กล้าไปหาหมอเพราะไม่มีเงิน   แล้วมีคนให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำกับคุณยายหรือยัง?    คำถามต่าง ๆ  มากมายเกิดขึ้นในใจของฉัน  เมื่อซักประวัติกันเสร็จเรียบร้อย  ฉันจึงนัดหมายเพื่อลงไปเยี่ยมบ้านในวันถัดไป   และส่งผู้ป่วยรับยากลับบ้านพร้อมรถของคนใจดีที่เขาบังเอิญมาหาหมอที่โรงพยาบาลและให้ยายติดรถมาด้วย     หลังจากส่งผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว    สิ่งแรกที่ฉันรีบทำทันทีคือ      โทรศัพท์ไปถามเจ้าหน้าที่ในเขตรับผิดชอบ    ว่ารู้จักคุณยายคนนี้หรือไม่

“อ๋อ    คุณยายดอนเหรอ?    รู้จักสิ    รู้จักดีด้วย   แกเคยมาขอทานที่อนามัยพี่ด้วยพี่ยังเคยให้เงินแกเลย    สงสารแก ”     นี่เป็นคำตอบของเจ้าหน้าที่อนามัยที่ฉันได้รับ    และหลังจากนั้นฉันได้ทำบันทึกข้อความเพื่อขอรับการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบก   แต่คำตอบที่ฉันได้รับคือ   ยังไม่สามารถให้การช่วยเหลืออะไรได้ทั้งสิ้น  เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องไม่มีเลขบัตรประจำตัว

      เมื่อฉันและเพื่อนร่วมงาน 1   คน   ได้ลงไปเยี่ยมคุณยายดอน  ตามเส้นทางถนนลาดยางที่ถูกผู้รับเหมาเอาเปรียบ  มีแต่หลุมเต็มไปหมด  บางหลุมใหญ่จนนึกว่ามีใครมาขุดบ่อเลี้ยงปลาไว้กลางถนนหรือเปล่า  พอเข้าไปถึงหมู่บ้าน  ฉันต้องเดินเลียบตามทางเดินแคบ ๆ ของบ้านหลังหนึ่งเพื่อที่จะไปเยี่ยมคุณยายดอน 

                                     

                                    

        กระต๊อบเก่า ๆ ริมทุ่งนาหลังคามุงด้วยหญ้าคาที่เก่าและแห้งกรอบ  บางจุดก็ขาดแหว่งทำเห็นแสงแดดอยู่รำไร  ฝาบ้านสร้างมาจากเศษไม้และเศษสังกะสีเก่าจนขึ้นสนิม  บ้านไม้ที่ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร   รอบ ๆ บ้านเป็นทุ่งนา  ห่างไปประมาณ  500  เมตรมีก่อไผ่อยู่   1  กอ  หน้ากระต๊อบหลังนั้นมีสระน้ำที่เต็มไปด้วยผักบุ้ง   นี่คือบ้านในนิยามของคุณยายดอนและน้องอร  บ้านที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า    น้ำประปา   ไม่มีสิ่งสาธารณูปโภคเหมือนบ้านทั่วๆ ไป    มีเพียงคน  3  ชีวิตและสุนัขอีก  3  ตัว  พอพวกฉันก้าวเข้าไปในเขตพื้นที่ที่เขาเรียกกันว่าบ้าน  สุนัขทั้งสามตัวก็วิ่งออกมา   พร้อมส่งเสียงเห่าหอนต้อนรับแขกที่ไม่ได้รับเชิญ 

  “ ยายดอน   อร   คุณหมอมาหา ”   ไกด์ของฉันส่งเสียงเรียก ให้เจ้าของได้รับทราบถึงการมา  คุณยายดอนและน้องอร   ลุกขึ้นนั่งจากการนอนบนแคร่ไม้เก่า ๆ  ที่เหมือนจะไม่ได้รับการเช็ดถูเป็นเวลานานแล้ว    คุณยายดอนยิ้มทักทายด้วยความดีใจ     

  “ สวัสดีค่ะคุณหมอ  ดีใจจังเลยที่คุณหมอมา  ”     พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้   ฉันแน่ใจว่าคุณยายมองไม่เห็นหรอก    แต่ที่ยกมือขึ้นไหว้ถูกเพราะคงจะได้ยินเสียงเรียกนั้นแหละ     

  “  ก็มาตามสัญญาไงคะ  ”      ฉันกล่าวทักทายคุณยาย     ซึ่งขณะนั้นได้มีเพื่อนบ้านใกล้เคียง  ที่ประกอบด้วย    อสม.และ  อบต.  ประจำหมู่บ้านมาสมทบ    เมื่อได้พูดคุยและซักประวัติกันเพิ่มเติมแล้วทำให้ฉันได้ทราบอีกว่า   สามีของคุณยายดอนคือ    คุณตาสำรอง   ได้ประสบอุบัติเหตุตกจากต้นไม้ ระหว่างการไปทำงานรับจ้างตัดกิ่งไม้ตามหมู่บ้าน    เมื่อประมาณ   2  ปีก่อน  ทำให้ขา  2  ข้างลีบเล็กไม่เท่ากัน   ทรงตัวลำบากและมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้       แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตของคุณตาสำรองเลยแม้แต่น้อย   คุณตาสำรองยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว    รับหน้าที่งานบ้านทุกอย่าง   ทำกับข้าว   กวาดบ้าน   ถูบ้าน   ตักน้ำ     รับจ้างทำงานทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัวอีกแรง   แม้ว่าสภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก    คุณตาบอกกับฉันว่า  

 ถ้าผมบ่เป็นจังซี่    ครอบครัวผมกะสิบ่ลำบากปานนี่ดอกคุณหมอ   ผมคือสิพอเฮ็ดได้หลายกว่านี้อยู่    คือสิพอมีเงินซื่อเข่า  ซื่อน้ำกินอยู่ดอก   บ่ได่ขอไทบ้านเพิ่นกินคือจังทุกมื้อนี่ ”     นี่คือคำบอกเล่าของคุณตาสำรองผู้ที่ขาดความสมบูรณ์พร้อมทางร่างกาย   แต่ทว่าหัวใจกับเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและรับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างแท้จริง  

     จากการสอบถามเพื่อนบ้านเล่าว่าคุณยายดอนเป็นคนอำเภอโนนคูณโดยกำเนิด    มีพี่น้องหลายคนแต่คุณยายดอนไม่ได้รับการแจ้งเกิด    จนกระทั่งโตมาได้พบรักกับ  คุณตาสำรอง   สารภาพ    ซึ่งอยู่ต่างตำบลและมีบุตรด้วยกัน  3  คน  ซึ่งคุณตาสำรองก็ไม่มีที่นาทำกินเพราะถูกโกงจากพี่และน้อง  และปัจจุบันก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ของคุณครูใจดี    เขาแบ่งให้อยู่อาศัยด้วยความสงสารคุณยายและสามี  ที่สำคัญคือคุณครูสงสารน้องอร     เมื่อถามถึงเรื่องตาที่มองไม่เห็นของยายดอน   เพื่อนบ้านอีกคนก็เล่าว่า   ยายดอนแกเริ่มมีอาการตามัวมองไม่ค่อยชัดมา  2-3   ปี   แต่ก็ไม่ได้ไปรับการตรวจรักษาที่ใดมาก่อน    เพราะปัญหาหลายสาเหตุ    ปัญหาหลัก ๆ ก็คือไม่มีเงินแม้กระทั่งค่ารถที่จะไปหาหมอ   ยายดอนก็ปล่อยให้ตามัวมาเรื่อยๆจนกระทั่งบอดสนิทมา  1  ปี      ครั้นถามถึงลูกชายคนโตของคุณยาย  คำตอบที่ได้รับคือ 

“ โอ๊ยอาศัยไม่ได้หรอก   ขนาดตัวเองยังเอาตัวไม่รอด ”       ฉันถอนหายใจเฮือกใหญ่ ไม่กล้าตั้งคำถามต่อ  มีแต่ความคิดและคำถามมากมายที่ผุดขึ้นมาในสมอง      เราต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างและต้องทำทันที    แต่ในตอนนั้นฉันยังไม่รู้หรอกว่า จะต้องทำอะไรบ้าง?   อะไรก่อน?   อะไรหลัง?   เพราะมันสับสนไปหมด   เมื่อฉันมองไปตามเสียง  วิทยุทรานซิสเตอร์ ขนาดเล็กที่พร้อมจะแยกออกจากกันถ้าไม่ได้เชือกฟางเก่า ๆ มัดเอาไว้   น้องอรเป็นคนเปิดเพลงนี้    “  หนูชอบร้องเพลง ”   น้องอรบอกฉัน    พร้อมกับส่งรอยยิ้มมาให้   ฉันได้เพียงแค่ส่งร้อยยิ้มกลับไปให้หนูน้อยคนนี้และเริ่มสำรวจบ้านต่อ   สายตาของข้ฉันไปหยุดอยู่กับห้องน้ำ   ใช่!!!!

ห้องน้ำ

                                        

 

 

คุณตาสำรองบอกว่ามันเป็นห้องน้ำ   ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับบ้านทุกบ้าน    

“ มันใช่บ่ได้แล้วคุณหมอ  มันเพแล้ว ”     คุณตาบอก  นั่นซินะจะไม่ให้มันชำรุดยังไงได้   ดูสภาพมันแล้ว    มันไม่มีแม้แต่หลังคา  ใช้เพียงสังกะสีที่ค่อนข้างเก่ามากเป็นผนังกั้นแถมยังเป็นรูทั้งขนาดใหญ่และใหญ่มาก ๆ มาปิดกั้นไว้     แล้วจะปิดไว้ทำไม ?   เหมือนไม่ได้ปิดซะยังไงยังงั้น    นี้ถ้าไม่ชำรุดก็ไม่น่าใช้หรอก   ฉันถอนหายใจอีกรอบ...  พลางคิดว่า    

“ เจองานหนักอีกแล้ว..สิส่อยจังได๋ดีหนอ...จังแม่นอยากมีเงินเองเด    สิเนรมิตทุกอย่างให่เหมิ่ง ”     และเมื่อสมควรแก่เวลาฉันได้คุยกับเพื่อนบ้านและผู้นำชุมชน       สิ่งแรกที่รีบดำเนินการ คือประสานให้ผู้ใหญ่บ้านและเครือข่าย   อสม.  พาคุณยายดอนไปยื่นคำร้อง   เพื่อให้ได้เลขบัตรประชาชนที่อำเภอโนนคูณเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก    แต่ที่ลืมไม่ได้คือเรื่องการให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพ ของตนเองและครอบครัว 

       เมื่อคุณยายดอนได้เลขบัตรประจำตัว  13  หลักแล้ว   แพทย์ได้ออกเอกสารรับรองคนพิการให้คุณยายดอน    คุณยายดอนกลายเป็นผู้พิการทางการมองเห็น    พร้อมคุณตาสำรองเป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว  หลังจากนั้นได้ดำเนินการออกเป็นบัตรทองประเภทคนพิการทั้ง 2  คน    และสำหรับคุณยายดอนส่งจดทะเบียนคนพิการที่จังหวัด      คุณยายได้สมุดประจำตัวคนพิการ     และได้ส่งเอกสารประกอบการขอรับเบี้ยยังชีพที่องค์การบริหารส่วนตำบลบกอีกครั้ง    ผลการตอบรับคือคุณยายได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ  500 บาท   และยังส่งคำร้องไปยังศูนย์พัฒนาความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ    เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย    และได้งบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดเพื่อมาซ่อมแซมบ้านอีก  5,000   บาท   หลังจากนั้นมาฉันและเพื่อนร่วมงานก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านคุณยายดอน   อีกหลายครั้งและมีของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปฝาก      คุณยายไม่ได้ออกไปหาขอทานเหมือนแต่ก่อนเนื่องจากสายตาที่มองไม่เห็น    ไม่มีคนพาคุณยายไป    น้องอรก็ไปโรงเรียนและสัญญาว่าจะตั้งใจเรียนและจะเรียนหนังสือให้เก่ง ๆ  จะได้มีงานทำ มีเงินเลี้ยงแม่และพ่อเมื่อหนูโตขึ้น   น้องอรบอกเราว่าอย่างนั้น         

          ปัจจุบันครอบครัวของคุณยายดอนปลูกผักรับประทานเองในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด   และหลายต่อหลายครั้งมีคนใจดีนำข้าวสารมาไว้ให้รับประทานและบางครั้งก็ยังต้องอาศัยข้าวจากวัดในหมู่บ้านเพื่อประทังชีวิต     แต่ที่น่ายินดีไปกว่านั้น    คุณยายบอกกับเราว่า    นอกจากเพื่อนบ้านจะแวะเอาข้าวปลาอาหารมาให้แล้วผู้นำชุมชนต่าง ๆ ยังพยายามติดต่อกับส่วนราชการอื่น ๆ ที่คิดว่าน่าจะสามารถ ให้ความช่วยเหลือครอบครัวนี้ได้    ทำให้ฉันสึกรู้ประทับใจในความมีน้ำใจ   ความรักสามัคคี    ความห่วงใยดูแลกัน   ไม่ทอดทิ้งกันในชุมชน   และรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแล ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งพาตนเองและสามารถดำเนินชิวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข      ถึงแม้สิ่งที่ทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ทำให้กับครอบครัวนี้   ยังเป็นเพียงสิ่งที่น้อยนิด  แต่สำหรับพวกเราแล้วมันเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และเป็นพลังใจในการทำงานของพวกเราต่อไป    เพราะพวกเราทุกคนเชื่อว่า   ยังมีอีกหลาย  ๆ ชีวิตที่ลำบาก  ที่ต้องการความช่วยเหลือจากพวกเรา   ผู้ที่พร้อมจะให้ (บริการ)   เพื่อหวังเพียงแค่ได้เห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของคนที่เราให้เพียงเท่านี้พวกเราก็มีความสุขแล้ว      วันนี้ทำให้ฉันนึกถึงคำที่พี่พยาบาลประจำผู้ป่วยนอกบอกฉันว่า  “ มาเอาบุญ ”

 

 

 

 

 

 

                                                                                                                                                                           สายชล      นิลเนตร    

พยาบาลวิชาชีพ ปฏิบัติการ 

กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน รพ.โนนคูณ                              

 

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 304330เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เเวะมาเอาบุญนำเเหน่ บุญนี้ใครๆก็ปรารถนา บุญมีอย่ในทุกที่ไม่เฉพาะในโรงพยาบาล เราเอาบุญได้ทุกวันค่ะ มาชื่นชมทีมโรงพยาบาลโนนคูณค่ะ ไม่ทราบว่าจำกันได้หรือเปล่า

ขอบคุณมากค่ะพี่กุ้ง หวังว่าคงยังจำหน้าตาน้อง ๆ จากโรงพยาบาลโนนคูณกันได้ทุกคนนะค่ะ

พี่กุ้งสบายดีนะค่ะ แถวขอนแก่นน้ำท่วมไหมนี่?

อนุโมทนาด้วยค่ะ

อ่านไปซาบซึ้งไป

คุณยายได้รับความช่วยเหลือ

น้องก็ได้ไปโรงเรียน

_/|\_

ขอบคุณ คุณณัฐรดาที่มาร่วมอนุโมทนาบุยในครั้งนี้

ดีใจมากค่ะที่พี่นงนาทแวะมาเยี่ยมชมเรื่องราวดี ๆ ของโรงพยาบาลโนนคูณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท