แลกเปลี่ยนมุมมอง : การพัฒนาที่ใช้ชุมชน/วัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง


เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะปรับเปลี่ยนได้ และจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมของบ้านเราอีกต่างหาก โดยไม่ต้องกังวลว่าจะล้าสมัย...ไม่เป็นสากล

        เช้านี้ได้ยินเสียงผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายมาอย่างชัดเจนว่า  ช่วงสายๆ หลังจากทานข้าวเช้าแล้ว  ขอให้พ่อแม่พี่น้องไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวกันที่วัด  ซึ่งประกาศในลักษณะนี้จะมีอยู่ทุกครั้งเมื่อมีกิจกรรมของชุมชน

        พอได้ยินเสียงประกาศ  ใจก็นึกถึงภาพของชาวบ้านที่ไปร่วมกันตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง  ผมก็อยากที่จะไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนเหมือนกัน....แต่วันนี้เป็นวันทำงาน  และประมาณ 7 โมงเช้าผมก็ต้องขับรถออกไปส่งลูกชายไปโรงเรียน  แม้ว่าจากบ้านสวนถึงในเมืองใช้เวลาไม่เกิน  15 นาที  แต่หากจะย้อนกลับมาร่วมตักบาตรฯ ผมก็ต้องเบียดบังเวลาทำงาน  ซึ่งก็ไม่สมควรอีกนั่นแหละ  เลยคิดว่าใจอยากร่วมก็พอแล้วล่ะ   เพราะเวลาทำงานกับกิจกรรมของชุมชน / วัฒนธรรมของชุมชนนั้น ไม่ไปด้วยกันเอาเสียเลย

        ทำให้นึกถึง บันทึกของลุงเปลี่ยน  ที่อยู่ฝั่งลาว  ได้บันทึกวิถีชีวิตต่างๆ ของคนในฝั่งโน้นมาแบ่งปันเสมอ  จำได้ว่ามีอยู่บันทึกหนึ่งที่อ่านเจอ   ลุงเปลี่ยนเล่าว่าวันพระทางฝั่งลาวเขาจะเริ่มทำงานตอน 10 โมงเช้า  เพื่อให้เวลากับคนทำงาน/เด็กนักเรียนได้ไปทำบุญ/ร่วมกิจกรรมทางศาสนากันที่วัดก่อน

        วันนี้ก็เลยคิดต่อและพลอยนึกถึงคำของนักพัฒนาที่ว่า "การพัฒนาต้องใช้วัฒนธรรม/ชุมชนเป็นตัวตั้ง" ที่บ้านเรานั้นได้ยินบ่อยๆ แต่มักไม่ค่อยเห็นการปฏิบัติที่เป็นชิ้นเป็นอัน  หรือว่าเป็นแต่เพียงหลักการเฉยๆ  เพราะจากประสบการณ์ได้พบเจอหลายๆ ครั้งที่อยากให้วันที่ชุมชนมีกิจกรรมแล้วเป็นวันหยุดเพื่อที่เด็กๆ จะได้ไม่ต้องไปเรียนหนังสือ  และจะได้ใช้โอกาสดีๆ เหล่านี้ปลูกฝังและถ่ายทอดวัฒนธรรมของชุมชนให้ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง  ไม่ใช่การท่องหรืออ่านกันแต่ในตำราเรียน   แต่บางกิจกรรมก็ทำไม่ได้เพราะไม่ใช่วันหยุดของทางราชการ

         หลายท่านอาจจะถามว่า แล้ววันหยุดที่ทางราชการหยุดให้ไม่พอหรืออย่างไร  ประเด็นนั้นอาจจะต้องคิดกันยาวๆ  และอาจจะต้องคิดใหม่  เพราะวันหยุดของทางราชการนั้นเป็นวันหยุดสากล เสาร์-อาทิตย์  ที่ตรงกับธรรมเนียมของฝรั่งที่เข้าโบสถ์วันอาทิตย์  แต่ของเราส่วนใหญ่นับถือต่างกันหากลองหยุดวันโกน-วันพระบ้างก็น่าจะดี  และวันหยุดเทศกาลตามประเพณีของแต่ละจังหวัด/ท้องถิ่น (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะปรับเปลี่ยนได้  และจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมของบ้านเราอีกต่างหาก  โดยไม่ต้องกังวลว่าจะล้าสมัย...ไม่เป็นสากล

        เราจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้งในการพัฒนา  ไม่ได้ใช้ความร่ำรวยหรือเงินตราเป็นตัวกำหนดแนวทางพัฒนา  หรือพัฒนาตนเองโดยใช้วัฒนธรรมของคนอื่นมาปนเป(บางครั้งไม่เหมาะสม)เหมือนเช่นทุกวันนี้  หลักการและนโยบายนั้นมีอยู่ไม่ขอแย้ง  แต่สิ่งที่ปฏิบัตินั้นมันคนละทางกับสิ่งที่อยากจะให้เป็นกัน  มันเป็นคนละเรื่อง   พูดอย่าง-ทำอย่าง   ตัวอย่างก็มีให้เห็น ดังกรณีหวยบนดินก็เห็นๆ กันอยู่ว่าผิดทาง ไม่ใช่แนวทางแห่งวัฒนธรรม-ศีลธรรม  และคงจะมีอีกหลายๆ ตัวอย่างที่กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ไม่สมควร   แต่สิ่งดีๆ มองข้ามกันไปเสียหมด

          หากเราไม่หันกลับ-กลับตัว ปรับแนวทางและลงมือปฏิบัติ-พัฒนากันอย่างจริงจัง  รอบด้านและเชื่อมโยงกันให้มากกว่านี้  ทำนายได้เลยว่าสังคมบ้านเราจะแย่ลง  มีปัญหาสารพัด สารพัน  สลับซับซ้อน  ที่รอให้พวกเราได้พบเจอ  ให้ได้ปวดหัวกันมากว่านี้  อีกไม่นานในอนาคตอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ

สิงห์ป่าสัก  5  ตุลาคม  2552

หมายเลขบันทึก: 303381เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2009 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

     - สังคมที่ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้งในการพัฒนา  ไม่ได้ใช้ความร่ำรวยหรือเงินตราเป็นตัวกำหนดแนวทางพัฒนา 

   -  สิ่งที่ปฏิบัตินั้นมันคนละทางกับสิ่งที่อยากจะให้เป็นกัน  มันเป็นคนละเรื่อง  

     - พูดอย่าง-ทำอย่าง   

           เห็นด้วยครับ  และ สภาพการพัฒนาจริงๆ ก็เป็นแบบใช้เงินเป็นตัวตั้งครับ   ที่เรียกว่าพัฒนาแบบ "ทุนนิยม" 

เห็นด้วยกับท่านสิงห์สุดเท่ห์ค่ะ

นั่นรวมไปถึง การเคารพในความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น  หลักสูตรการศึกษาบางอย่างก็ควรปรับเปลี่ยนเพิ่มในบริบทค่ะ

การพัฒนาจะยั่งยืนหากยึดชุมชนเป็นหลัก (จริงๆ)  และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิในเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน สังคมตน โดยไม่ไปเปรียบเทียบกับภายนอก (นามธรรมไปไหมคะ ) แล้วปัญหาวัฒนธรรมเลียนแบบจะค่อยๆ ลดลง ขอบคุณค่ะ   

 

  • สวัสดีค่ะ...ถ้าเป็น"การพัฒนาที่ใช้ชุมชนและวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง" ได้จริง ๆ ก็ดีสิคะ  ทุกวันนี้มันจารึกไว้ในตำรา
  • อย่างคนป่วยถ้าไม่ฉุกเฉินจริงๆ  จะไปหาหมอที่ รพ.นอกเวลาราชการต้องเสียค่านอกเวลาตามระเบียบ...555  อันนี้ใช้เวลาเป็นตัวตั้งใช่รึเปล่า 

คุณครูสิงห์ป่าสัก

  • พ่อบ้านของคุณป้า..เคยเป็นนักเรียนที่วัด และเจ้าตัวมีความภูมิใจมาก

ที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือกับหลวงพ่อ/เจ้าอาวาส

  • ปัจจุบัน เป็นสามีที่ดี(แม้จะนอกกรอบบ้าง) มีงานทำที่ดี เป็นพ่อของลูกที่ดี  
  • ทั้งนี้..เนื่องจากการบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก ๆ วัฒนธรรม/ชุมชน
  • ท่าน small man
  • ทุนนิยม จนทำลายวิถีและทุนทางสังคมของเราจนเกือบหมดแล้ว
  • อีกหน่อยเมื่อคนเราขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรม/สังคม
  • คงวุ่นวายกันน่าดู เพราะสังคมจะเปราะบางและไม่มีภูมิคุ้มกันเหลืออยู่
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมา ลปรร.
  • คุณ poo
  • แม่นแล้วครับ
  • เราต้องเคารพในความหลากหลายและความต่างกันทางวัฒนธรรม
  • เพราะนั่นคือความงดงามของโลก
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาต่อยอด
  • สวัสดีครับคุณ nana งาน พสว.ศอ.8
  • คนส่วนใหญ่ยังนับถือเงินเป็นใหญ่
  • คนเลยถูกตีค่าด้วยเงิน/รายได้
  • นับถือคนมีเงิน/คนทำเงิน
  • แท้จริงคนเรานั้นเท่ากัน...
  • ศ.ระพีเคยบอกว่า "ไม่มีเงินก็อยู่ได้"
  • บทเรียนจาก ศ.ระพี สาคริก
  • อยู่ได้ด้วยความดี....อย่างมีศักดิ์ศรี
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมา ลปรร.

เห็นด้วยกับวันหยุดราชการให้ตรงกับวันโกน วันพระค่ะ

เคยไปสัมนาเกี่ยวกับกระบวนการคิด วิทยากรท่านว่า คนเราจะคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันหนึ่งแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น คือช่วงเช้าเวลาประมาณ 9 .00 - 10 .30 น. เพราะก่อนหน้านั้นมักใช้เวลากับการสะสางงานเก่าของวันที่ผ่านมา หลังจากนั้น ก็มักคิดถึงอาหารกลางวัน

ตอนบ่าย ยิ่งน้อยไปใหญ่ค่ะ แค่ประมาณ 14.00 - 15.00 น. เท่านั้นเอง เพราะก่อนหน้านั้นยังอิ่มอยู่ หลังจากนั้น ก็คิดถึงเวลาหลังเลิกงาน การกลับบ้านแล้ว

ท่านบอกว่า เวลาทองของการคิด คือช่วง 9 - 10 น.ค่ะ เพราะสมองยังแจ่มใสอยู่

  • สวัสดีครับป้า คนเมืองน้ำดำ
  • ชีวิตนั้นควรต้องได้เรียนรู้จากรากเหง้า/วัฒนธรรม
  • จึงจะบ่มเพาะและสืบทอดวิถีได้อย่างภาคภูมิ
  • ต่างกับปัจจุบัน
  • แม้แต่อาชีพการเกษตรที่เราส่งเสริม
  • คนรุ่นใหม่เขาก็ดูถูกและหมางเมิน
  • หารู้ไม่ว่า คนที่รวยๆ (ต่างประเทศ)
  • เขากำลังจ้องตาเป็นมัน...
  • ขอบคุณที่แวะมาครับ
  • สวัสดีครับ อ.อ้อยเล็ก
  • สาธุๆๆ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • สวัสดีครับ อ.ณัฐรดา
  • ผมว่าน่าจะลองดูนะครับ
  • สอดคล้องกับบ้านเราดีกว่า
  • ศาสนาอื่นๆ ก็ปรับไปตามที่เหมาะที่ควร..
  • ไม่มีรูปแบบเดียวตายตัว
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมา ลปรร.
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

วันนี้เป็นวันเปิดเรียนเห็นชัดที่สุด บางโรงเรียนไม่สนใจแม้แต่น้อย นี่คือความอ่อนแอ ตอนเป็นเด็กวันตักบาตรเทโวฯ ถือว่างานใหญ่

ถ้าจำไม่ผิดงานเดือนสิบปักษ์ใต้ ชาวไทยพุทธไปวัดกันหมด โรงเรียนทำไง คนไปทำบุญกันหมด ก็ต้องปิดเรียน

ขออภัยนะ การศึกษาไร้สาระ ไม่รู้แม้แต่ตัวเองมีอะไรดี ควรทำอะไร ควรสร้างเสริมอย่างไร น่าเส่ยดาย

  • นมัสการพระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ขอบพระคุณมากครับที่เข้ามาต่อยอด
  • ของดีเรามีเยอะนะครับกระผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท