แนวทางการพัฒนากลยุทธ์การตลาดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวากาฬสินธ


พัฒนากลยุทธ์การตลาด หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

ชื่อเรื่อง แนวทางการพัฒนากลยุทธ์การตลาดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในจังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้วิจัย นางสาวทัศนาวลัย พรหมแสน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่พิมพ์ 2547


บทคัดย่อ
โครงการหนึ่งตำบลหนึงผลิตภัณฑ์เป็นโครงการหนึ่งที่สร้างความเจริญและ ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น เพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นศิลปโบราณของชาวผู้ไทยใน จังหวัดกาฬสินธุ์ที่มีมานานแล้ว และเป็นสินค้า 1 ใน 10 ของกลุ่มสินค้าที่มีอนาคต เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อมูลประกอบการวางแนวนโยบายเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง การดำเนินงานทางด้านการผลิตและการตลาด ของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นไปในแนวทางที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะ ยาว การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนากลยุทธ์การตลาด หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิต 14 ราย ลูกค้า 420 ราย ผู้จำหน่าย 12 ราย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ 1 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์และแบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้สถิติ t-test และ F-test
ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
1. ผู้ผลิตส่วนใหญ่ ไม่มีการวางแผนการผลิตระยะยาวที่ชัดเจน การผลิตขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าที่สั่งซื้อและปริมาณเงินทุนของ กลุ่ม วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตซื้อจากพ่อค้าคนกลางที่นำมาจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผู้ผลิตทำการผลิตมีชนิด รูปแบบ และขนาดของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การพัฒนาชนิด และรูปแบบของผลิตภัณฑ์เป็นไปอย่างช้าๆ กำหนดราคาโดยประเมินจากต้นทุนของผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ วิธีการส่งเสริมการตลาดที่ใช้ ได้แก่ การให้ส่วนลด และของแถม ปัญหาด้านการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาวัตถุดิบราคาแพง และความไม่เพียงพอของเงินทุน ส่วนปัญหาด้านการตลาดได้แก่ ปัญหาการขาดทักษะในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาต่ำ และการขาดตลาดรองรับที่แน่นอน
2. ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาประเภทไม่สำเร็จรูป ได้แก่ ผ้าผืน ซื้อเพราะความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผลิตภัณฑ์ โดยตัดสินใจซื้อเอง เพื่อนำไปเป็นของฝาก ส่วนวิธีการซื้อผลิตภัณฑ์ จะซื้อโดยตรงด้วยตนเองที่แหล่งผลิต
3. ลูกค้ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาโดยรวมปละรายด้าน 2 ด้านอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์และด้านการส่งเสริมการตลาด ส่วนด้านราคาและด้านการจัดจำหน่ายมีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วยปานกลาง
4. ลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพร วาด้านราคาและด้านการจัดจำหน่ายแตกต่างกัน ลูกค้าที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพร วาด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านราคา และด้านการจัดจำหน่ายแตกต่างกัน ลูกค้าที่มีอายุและรายได้ต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพร วาด้านการจัดจำหน่ายแตกต่างกัน และลูกค้าที่มีอาชีพต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาด้าน ราคาแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
5. หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานที่สามารถส่ง ออกได้ นอกจากนั้นยังส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่โครงการ และประสานงานกับทุกฝ่ายในการจัดกิจกรรมหรืองานเทศกาลประเพณี ส่วนปัญหาและอุปสรรคของกลุ่มผู้ผลิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐนั้น คือ ปัญหาพ่อค้าคนกลาง และการขาดทักษะในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แนวทางแก้ไข คือ กลุ่มผู้ผลิตควรให้ความร่วมมือในการต่อสู้กับพ่อค้าคนกลาง และรัฐควรส่งเสริมด้านเทคโนโลยีการผลิต
6. แนวทางการพัฒนากลยุทธ์การตลาดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในด้านผลิตภัณฑ์จะต้องสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้ ซื้อด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นที่กลุ่มผลิตเองมาเป็นจุดขาย ด้านราคาจะต้องมีการเปรียบเทียบราคาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวากับสินค้าทดแทนผ้า ไหมชนิดต่างๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อกำหนดราคาให้เหมาะสมและยุติธรรม ในด้านการจัดจำหน่ายจะต้องปรับปรุงศูนย์จำหน่ายเพื่อสร้างความประทับใจให้ ลูกค้าและเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อมากขึ้น และต้องสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ด้านการส่งเสริมการตลาดจะต้องออกร้านร่วมในงานต่างๆที่จัดขึ้นในจังหวัด อื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่แนะนำสินค้า มีการจัดกิจกรรมการประกวดผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรมสมาชิก และสร้างแรงจูงใจให้แก่สมาชิกในกลุ่ม
โดยสรุปผลการวิจัย ทำให้ได้ข้อสนเทศเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากลยุทธ์การตลาด หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในจังหวัดกาฬสินธุ์ การดำเนินงาน จะประสบความสำเร็จได้นั้นหน่วยงานภาครัฐจะต้องเป็นแกนนำในการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาขึ้น และที่สำคัญอย่างยิ่งกลุ่มผู้ผลิตจะต้องให้ความร่วมมือในการพัฒนานี้ด้วย


บทนำ
ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2540 เป็นต้นมา ต้องประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการชะลอตัวทั้งภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกลดลง ภาคอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากปิดตัวเองลง เกิดระบบเศรษฐกิจฝืดเคืองทั้งประเทศ ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทยมาก ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้รุนแรงขึ้น กล่าวคือ ภาวะความยากจนที่มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดในช่วงก่อนวิกฤติ กลับเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 11.4 ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนคนยากจน 6.8 ล้านคน ในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.9 หรือคิดเป็นจำนวนคนยากจน 9.9 ล้านคน ในปี 2542 และในช่วงเวลาเดียวกันการกระจายรายได้ก็แย่ลง โดยกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก มีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ 4.2 เหลือร้อยละ 3.8 ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56.5 เป็นร้อยละ 58.4 อีกทั้งจำนวนคนว่างงานก็มีเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติเกือบ 1 ล้านคน นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหารุนแรงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น
โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product : OTOP) จึงถูกกำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนของประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการปรับโครงสร้างภาคการผลิต หันมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้ อาศัยศักยภาพในชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน โดยอยู่บนฐานคิด "การมีส่วนร่วมของชุมชนประชาชนคิดเองทำเอง" รัฐทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนเท่านั้น เป็นแนวคิดในการพัฒนาเพื่อวางรากฐานความยั่งยืนจากข้างล่างไปสู่ระดับประเทศ
โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่ต่อไป สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนรุ่นต่อๆไป แนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกันกับธรรมชาติจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น อยู่กับธรรมชาติอย่างชาญฉลาด และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานที่จะให้การสนับสนุน แนวทางการพัฒนานี้จึงเป็นแนวทางการส่งเสริม และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยมีกิจกรรมทางการตลาด การผลิต การบริหารการจัดการ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชนบท เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และนำไปสู่เป้าหมายของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรและวางรากฐานที่สำคัญ ของประเทศและสังคมไทย
หลักในการให้การสนับสนุนของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์นี้ ไม่เน้นการให้เงินสนับสนุน แก่ท้องถิ่น เพราะมักจะไปทำลายความสามารถในการพึ่งตนเอง รัฐบาลเพียงให้การสนับสนุนแก่ชุมชนต่างๆ ด้านเทคนิค เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนช่วยเหลือในด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ เห็นชอบให้กำหนดตราสัญลักษณ์โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้น เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ เป็นรูปปลาตะเพียน มีลายจักสานที่สะท้อนความเป็นภูมิปัญญาไทย
นอกจากนั้น เพื่อให้ผลการดำเนินงานของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งเกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างแพร่หลาย การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย (OTOP Product Champion) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนในระดับรากฐาน ได้มีโอกาสในการพัฒนามาตรฐานเพื่อสามารถส่งออกได้ โดยจะคัดสรรจากสินค้าสุดยอดของจังหวัด ภาค และประเทศ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงมาตรฐานสินค้าจากระดับภูมิภาคสู่สากล (Local Link Global Reach)
การดำเนินงานหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมา ปรากฎว่าชุมชนสามารถจำหน่ายสินค้าจำนวน 9,755.04 ล้านบาท ในเบื้องต้นทุกจังหวัด ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์เด่นของตำบลต่างๆทั่วประเทศ จาก 7,255 ตำบล จำนวน 7,753 ผลิตภัณฑ์ และจังหวัดได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับจังหวัดไว้จำนวน 629 ผลิตภัณฑ์ สามารถจัดแบ่งหมวดหมู่ได้เป็น 10 หมวด ได้แก่ (1) อาหารสด (2) อาหารแปรรูปและเครื่องปรุง (3) เสื้อผ้าและสิ่งทอ (4) หัตถกรรมและของตกแต่งบ้าน (5) เฟอร์นิเจอร์ (6) อัญมณีและเครื่องประดับ (7) ผลิตภัณฑ์ชำระล้างทำความสะอาด (8) เครื่องจักสาน (9) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (10) ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้หมวดสินค้าเหล่านี้มีสินค้าที่จัดได้ว่า เป็นสินค้าที่มีอนาคตจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ (1) ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ (2) ผ้าฝ้ายและผลิตภัณฑ์ (3) เครื่องจักสาน (4) กล้วยแปรรูป (5) ผลไม้แปรรูปต่างๆ (6) ดอกไม้ประดิษฐ์ (7) ไม้กวาด (8) น้ำพริกต่างๆ (9) แชมพูและครีมนวดผมสมุนไพร (10) ขนมข้าวเกรียบผัก-ผลไม้ และนอกจากนี้กรมส่งเสริมการส่งออกได้รวบรวมปัญหาอัปสรรคในการดำเนินงานไว้ ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้ผลิตขาดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีคุณภาคต่ำหรือคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ เกิดจากผู้ผลิตขาดความรู้ความเข้าใจรวมทั้งขาดข้อมูลด้านขบวนการผลิต
2. แรงงานมีการเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถฝึกฝนแรงงานให้มีทักษะและความชำนาญได้
3. รูปแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตในรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้มีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยและน่าสนใจ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ไม่มีความหลากหลาย
4. ระยะเวลาส่งมอบไม่แน่นอน เนื่องจากผู้ผลิตขาดความสำนึกในการตรงต่อเวลา และขาดความรู้พื้นฐานในการบริหารจัดการให้มีระบบ
5. การกำหนดราคาสินค้าไม่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากผู้ผลิตไม่มีความรู้ในการตั้งราคาขายที่เหมาะสม และไม่มีการวางแผนระยะยาว รวมทั้งบันทึกข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการกำหนดราคา
6. ขาดความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์
7. ตอบสนองตลาดได้ช้า เนื่องจากผู้ผลิตขาดระบบข้อมูลข่าวสารของตลาดทำให้ไม่รู้การเปลี่ยนแปลงและความต้องการตลาด
8. ขาดบุคลากรด้านการตลาดโดยเฉพาะ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาระดับการศึกษา และข้อจำกัดด้านเงินทุน
9. ขาดการรวมกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจและขาดอำนาจต่อรอง
10. ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามจำนวนที่ต้องการเมื่อมีการสั่งซื้อปริมาณ มาก รวมทั้งยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้มีความสม่ำเสมอ
จากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว สรุปได้ว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ล้วนมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกจำหน่ายทั้งสิ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการ และเอกชนต้องเข้าไปช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้กับกลุ่มผู้ผลิต เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตสามารถดำเนินงานต่อไปได้ รวมทั้งทำให้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติต่อไป
การทอผ้าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยที่มีมาช้านาน การทอผ้ามีอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) แบ่งตามวัตถุดิบที่ใช้ทอ ได้แก่ ทอจากเส้นใยไหม เส้นใยฝ้าย และเส้นใยประดิษฐ์หรือเส้นใยสังเคราะห์ (2) แบ่งตามกรรมวิธีในการทอและการทำลวดลาย ได้แก่ การทอลายขัด ผ้าทอมัดหมี่ ผ้าทอจก ผ้าทอขิด ผ้าทอยกดอก ผ้าแพรวา ผ้าทอยกมุก และผ้าทอแบบเกาะ เป็นต้น ลักษณะการทอผ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ เป็นการทอเพื่อสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เป็นเครื่องแสดงถึงฐานะ และเพื่อแสดงถึงการแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิงและชาย การทอผ้าเหล่านี้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในชนบท
แม้ว่าการทอผ้าจะมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ศิลปะการทอผ้าที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป คือ ผ้าทอของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมขิด และผ้าไหมแพรวา นับว่าเป็นศิลปะชั้นสูง มีกรรมวิธีสลับซับซ้อน เป็นภูมิปัญญาของชาวอีสาน ที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมศิลปะการทอผ้าไหมในภาคอีสาน เท่ากับได้ทรงเชิดชูภูมิปัญญาอันน่าภูมิใจของชาวอีสานให้เป็นที่รู้จักกัน ทั่วไป โดยทรงโปรดเกล้าให้มีการส่งเสริมการทอผ้าไหมขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำให้การทอผ้าไหมในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เจริญพัฒนาจนกลายเป็นอาชีพของราษฎร เป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนให้การส่งเสริมสนับสนุนการทอผ้าไหม จนสามารถผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพมั่นคง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนให้มีการผลิตผ้าไหมมาหขึ้น ตลอดจนแนะนำในด้านคุณภาพของผ้าไหมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพของสมเด็จพระนาง เจ้าพระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้เกษตรกรบางชุมชนได้จัดตั้งองค์กรกลุ่มต่างๆ เพื่อรวบรวมกลุ่มในการทอผ้าไหมซึ่งเป็นสินค้าเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนมีระบบการจัดการนำผลผลิตดังกล่าวจำหน่ายให้กับ สมาชิก
ภายในหมู่บ้านในท้องที่ของตนเอง หรือหากผลผลิตมากเกินความต้องการของคนในพื้นที่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังสามารถนำไปจำหน่ายในท้องที่ต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องที่ และนำชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น
ประเภทผ้าไหมที่ทอในจังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าไหมขิด และผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมที่ทำชื่อเสียงมากในจังหวัดนี้ คือ ผ้าไหมแพรวา เป็นผ้าที่มีสีสรรลวดลายงดงามสะดุดตา เป้นที่ต้องการของผู้พบเห็น แต่กรรมวิธีการผลิตต้องใช้ความประณีต ทั้งฝีมือและความรักในงาน ผ้าไหมแพรวาผืนหนึ่งๆ ต้องใช้เวลาทอนานนับเดือนจึงทำให้ราคาค่อนข้างสูง ผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าทอที่งดงามวิจิตรอันเกิดจากการผสมผสานแห่งลวดลาย และศิลปะของผ้าขิด กับผ้ามัดหมี่ จึงกลายเป็นผ้าตำนานแห่งศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนในสังคม ที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านจิตใจ ความเชื่อในศาสนา เป็นผลผลิตที่สร้างชื่อเสียงและเกียรติยศให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าผ้าไหมแพรวายังมีปัญหาการดำเนินงาน ด้านการผลิต ใช้ต้นทุนในการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าแรงงานในการทอ ทำให้ราคาจำหน่ายไม่สามารถแข่งขันกับผ้าไหมชนิดอื่นๆได้ ด้านการตลาด ตลาดจำหน่ายแคบ ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ที่ผู้มีฐานะปานกลางถึงฐานะดี เนื่องจากราคาจำหน่ายและค่าดูแลรักษาค่อนข้างสูง ปัญหาการขายตัดราคากันเองของผู้ผลิต เนื่องจากการประสานงานและการประสานประโยชน์ยังไม่ทั่วถึง และบางช่วงเช่นหลังฤดูการทำนา มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาจำนวนมาก ทำให้มีการขายตัดราคากันเอง จึงต้องการให้มีหน่วยราชการและเอกชน สนับสนุนในด้านการประชาสัมพันธ์ จัดหาตลาด
การฝึกอบรม เพื่อเพิ่มพูนทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้ง ภายในและนอกประเทศ เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้กับกลุ่มชาวบ้าน และเพื่อให้ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคง รัฐบาลในชุดปัจจุบันจึงได้กำหนดนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจชุมชนเดิมให้ยั่งยืน และสร้างธุรกิจชุมชนขึ้นมาใหม่ กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เข้าร่วมโครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 14 กลุ่ม (ข้อมูลปี 2546 กรมการพัฒนาชุมชน) ทำให้ผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าผ้าไหมแพรวา จะได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐบาลในการฟื้นฟูปรับปรุง ให้ผ้าไหมแพรวามีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด แต่เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันทวีความเข้มข้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีราคาต่ำ แต่คุณภาพดี ดังนั้นการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องทำให้ดีที่สุด ไม่เฉพาะเพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคพอใจเท่านั้น หากแต่จะต้องทำให้ถึงขั้นที่ผู้บริโภคยินดีปรีดานสินค้าหรือบริการนั้นๆ ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจ ก็ย่อมหนีไม่พ้นสภาวะทางการแข่งขัน เหมือนกับแหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาในปัจจุบัน หลังจากที่รัฐให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้แหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาไม่ได้อยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ที่เดียว แต่ปัจจุบันกลุ่มที่ผลิตผ้าไหมแพรวาภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ มีอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุดรธานี ซึ่งได้กลายเป็นคู่แข่งทางตรงของผ้าไหมแพรวาจังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มหัตถกรรมทอผ้าด้วยกันที่ทอได้สวยสดงดงามไม่แพ้ผ้าไหม แพรวาเหมือนกัน นอกจากนั้นราคายังถูกกว่าผ้าไหมแพรวามาก เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าฝ้าย ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าไหมพื้นเรียบ และที่สำคัญผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ยังหาซื้อได้ง่ายกว่าอีกด้วย
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว การศึกษาแนวทางการพัฒนากลยุทธ์การตลาด ของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตต้อง ทราบ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาที่ธุรกิจกำลังประสบ และเพื่อจะนำพาองค์กรธุรกิจชุมชนภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ของตนเองอยู่รอด และดำเนินการต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน กลุ่มอาชีพสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกขายได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเป้า หมาย และสามารถต่อสู้กับคู่แข่งขันได้
ดังนั้น จึงเป็นเหตุจูงใจให้ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาการดำเนินงานทางด้านการ ผลิตและการตลาด ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ในจังหวัดกาฬสินธุ์ พฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาของลูกค้า ความคิดเห็นของลูกค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา และนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนากลยุทธ์การตลาดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาในจังหวัดกาฬสินธุ์
นอกจากนั้นผลการวิจัยยังจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานของรัฐบาลและ หน่วยงานเอกชนในการวางผน กำหนดนโยบาย และแผนการดำเนินงาน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อส่งเสริมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติยิ่งๆขึ้นไป

ความมุ่งหมายของการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายดังต่อไปนี้
1. เพื่อศึกษาการดำเนินงาน และปัญหาในการดำเนินงาน ทางด้านการผลิตและการตลาดของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ในจังหวัดกาฬสินธุ์
2. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาของลูกค้าจากกลุ่มผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ในจังหวัดกาฬสินธุ์
3. เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคิดเห็นของลูกค้าที่มีลักษณะประชากรแต่ละ ประเภทแตกต่างกัน เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ของกลุ่มผู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ในจังหวัดกาฬสินธุ์
4. เพื่อศึกษานโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด การประสานงานระหว่างกลุ่มผู้ผลิตและภาครัฐ และปัญหาอุปสรรคด้านการผลิตและการตลาดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและแนว ทางแก้ไข
5. เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนากลยุทธ์การตลาดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ในจังหวัดกาฬสินธุ์

คำสำคัญ (Tags): #research#kalasin
หมายเลขบันทึก: 30313เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับผมได้ประโยชน์มากเลย คือเจ้าของความคิดช่วย add เมล์ผมหน่อยได้มั๊ย

เวลาไม่เข้าใจเรื่องนี้จะได้ถามได้ป่าง

พอดีมีความคิดจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องการพัฒนากลยุทธ์น่ะครับอยากทราบแนวทางครับ รบกวนได้มั้ยครับ

ฉัฐพัคส์ ตาลพันธื

ดีมากเลยค่ะอ่านแล้วน่าสนใจเด็กบ้านโพน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท