ลักษณะของสัญญาจำนอง


     มาตรา 702 บัญญัติว่า อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

     ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อน เจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอน ไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

      ลักษณะของสัญญาจำนอง

      จำนองก็เป็นหลักประกันหนี้อีกประการหนึ่ง จำนอง คือการที่ใครคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาอสังหาริมทรัพย์อันได้แก่ ที่ดิน บ้านเรือน เป็นต้น ไปตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนอง หรือนัยหนึ่ง ผู้จำนองเอาทรัพย์สินไปทำหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน เพื่อเป็นประกัน การชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนองให้เจ้าหนี้ ผู้จำนองอาจเป็นตัวลูกหนี้เองหรือจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ หลักของการจำนองทรัพย์สิน สรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

     1. จำนองเป็นสัญญาระหว่างผู้จำนองกับผู้รับจำนอง สัญญานี้เป็นเพียงสัญญาอุปกรณ์ กล่าวคือ จะต้องมีสัญญาประธานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้แห่งสัญญาประธานหรือหนี้ประธาน เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าหนี้จึงเรียกร้องให้ลูกหนี้เองหรือให้ลูกหนี้หาบุคคลภายนอกให้นำทรัพย์มาจำนองประกันหนี้

     2. ผู้จำนองจะเป็นตัวลูกหนี้เอง หรือบุคคลอื่นก็ได้ ถ้าลูกหนี้เอาทรัพย์สินจำนองก็เป็นการจำนองประกันหนี้ตนเอง เช่น ก. เป็นหนี้ ข.  ก. จดทะเบียนจำนองที่ดินของตนเป็นประหนี้ไว้ แต่ถ้าบุคคลภายนอกเอาทรัพย์สินไปจำนองประกัน เรียกว่าเป็นการจำนองประกันหนี้ที่บุคคลอื่นต้องชำระตามบทบัญญัติ มาตรา 709 ที่บัญญัติรับรองไว้ว่า“บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อ ประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้”

     3. การจำนองทำโดยเพียงแต่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันโดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินตราไว้ สัญญาจำนองเป็นนิติสองฝ่ายที่ทำขึ้นระหว่างผู้จำนองกับเจ้าหนี้แล้ว จะต้องมีการ “เอาทรัพย์สินตราไว้...เป็นประกันการชำระหนี้” หมายถึงนำเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในทรัพย์สินนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นผูกพันเป็นประกันการชำระหนี้ประธาน ซึ่งหมายถึงหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนดให้สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 714) ดังนั้น โดยทั่วไปการที่มอบโฉนดหรือ น.ส. 3 ไว้เป็นประกันจึงไม่ใช่การจำนองตามกฎหมาย เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิอะไร เหนือทรัพย์สินนั้น ๆ เลย

     4. สิทธิของผู้รับจำนอง ย่อมได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นเช่น นาย ก. กู้เงิน นาย ข. 100,000 บาท โดยจำนองที่ดินของตนเองเป็นประกัน นาย ก. เป็นหนี้เจ้าหนี้ อื่น ๆ อีก 3 ราย ๆ ละ 50,000 บาท ต่อมาเมื่อ นาย ก. ไม่ชำระหนี้ นาย ข. ก็บังคับจำนอง โดยเอาที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินมา 100,000 บาท พอดี ดังนี้ นาย ข. ก็ได้รับเงินไป100,000 บาท โดยเจ้าหนี้อื่น ๆ อีก 3 รายไม่ได้อะไรเลย ก็ต้องไปบังคับเรียกร้องเอาจาก นาย ก. ในทรัพย์สินอื่น ๆ ต่อไป ด้วยเหตุที่ว่า นาย ข. ผู้รับจำนองย่อมได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ของนาย ก.

     คำพิพากษาฎีกาที่ 4436/2545   การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนอง ประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้

     การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน เป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล. และดอกเบี้ย ที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกัน แล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องเป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้ายหาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้

      คำพิพากษาฎีกาที่ 817/2521 ผู้รับจำนองต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้อันใดอันหนึ่งตามมาตรา 702 แต่ผู้จำนองอาจไม่ใช่ตัวลูกหนี้ก็ได้ ตาม มาตรา 709 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2   จำนองที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ จำนองจึงบังคับแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยด้วยเช็ค เจ้าหนี้ไม่เอาเช็คไปขึ้นเงินลูกหนี้ยังต้องชำระดอกเบี้ยตามจำนวนในเช็ค

หมายเลขบันทึก: 301161เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 04:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ ดร. เมธา สุพงษ์

เิปิดอ่าน บันทึกของท่าน

มีประโยชน์มากๆค่ะ เป็นวิทยาทานได้ดีจริงๆค่ะ

ให้กำลังใจค่ะ

สวัสดีครับครูจิ๋ว ขอบคุณครับที่เข้ามาอ่าน และขอบคุณสำหรับกำลังใจ

หนังสือจำนองกรมที่ดินผู้รับมอบอำนาจลงลายมือว่านาย์เป็นผู้รับอมอบอำนาจและในหนังสือจำนองใช้อักษรพิมพ์ต่างกันพร้อมกับมีขีดฆ่าโดยไม่มีเจ้าหน้ที่ที่ดินและบุคคลที่เกี่ยวข้องลงลายมืชื่อกำกับถือว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ผิดเพราะอะไร

หนังสือจำนองกรมที่ดินผู้รับมอบอำนาจลงลายมือว่านาย์เป็นผู้รับอมอบอำนาจและในหนังสือจำนองใช้อักษรพิมพ์ต่างกันพร้อมกับมีขีดฆ่าโดยไม่มีเจ้าหน้ที่ที่ดินและบุคคลที่เกี่ยวข้องลงลายมืชื่อกำกับถือว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ผิดเพราะอะไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท