พระสุกขวิปัสสกะ และ วิสัชชนาธรรมที่น่าสนใจยิ่ง


ผู้ที่สำเร็จอรหัตโดยมิได้ฌาน

log off ไปแล้วแต่เจอข้อธรรมที่สำคัญจึงรีบนำมาบันทึกไว้ครับ เกี่ยวกับพระสุกขวิปัสสกะ (ผมได้ยินจาก CD ธรรมของครูบาอาจารย์เลยลองหาข้อมูลต่อครับ) และถามตอบทางธรรมจากท่านผู้รู้ น่าสนใจมากครับ

 

คำถาม:  ผู้ที่สำเร็จอรหันต์ทุกองค์ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องได้อภิญญาทุกองค์


ตอบ:  อภิญญา คือความรู้อันยิ่ง มีอยู่หกประการ คือ

 

 ๑. อิทธิวิธิ หรืออิทธิวิธา (ความรู้ที่สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้)
 ๒. ทิพพโสต (ญาณที่มีหูทิพย์)
 ๓. เจโตปริยญาณ (ญาณที่รู้จิตคนอื่นได้)
 ๔. ปุพเพนิสาสานุสสติ (ญาณที่ระลึกชาติได้)
 ๕. ทิพพจักขุ (ญาณที่มีตาทิพย์)
 ๖. อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้น)

 

 ห้าข้อแรกเป็นโลกียอภิญญา เป็นความรู้เกิดจากฌานสมาบัติ ซี่งยังเกี่ยวข้องกับโลก เป็นเรื่องทางโลก

 

 ข้อ ท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา คือความรู้ที่เหนือโลก หรือทำให้พ้นจากโลก ผู้ที่จะบรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ ย่อมต้องสำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ ปัญญาที่ทำอาสวะให้สิ้นไป คือดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

 ผู้ ที่เป็นพระอรหันต์มิได้เป็นผู้ที่เจริญสมถภาวนา จนได้ฌานทุกองค์ไป มีการจำแนกพระอรหันต์ออกเป็น ๒ ประเภทบ้าง ๔ ประเภทบ้าง ๕ ประเภทบ้าง ถ้าพิจารณาเรื่องฌานเป็นหลัก ก็อาจจะสรุปเป็นสองประเภท คือ

 

 ๑. ผู้ที่สำเร็จอรหัตโดยมิได้ฌาน เรียกว่า สุกขวิปัสสกะ (คือผู้ที่เจริญแต่วิปัสสนา) หรือปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา)

 

 ๒. ผู้ที่ได้ฌานสมาบัติด้วย สำเร็จอรหัตด้วย เรียกว่า สมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือเจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติ แล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อ จนได้สำเร็จอรหัต) หรือ อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน)

 

 มี การแบ่งโดยละเอียดแยกย่อยกว่านี้อีกมาก บางแห่งแบ่งพระอุภโตภาควิมุต แยกต่างหากจากผู้ได้อภิญญาหก เพราะพระอุภโตภาควิมุต ที่ไม่ได้โลกียอภิญญาก็มี

 

 อนึ่ง มีพระพุทธดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า พระอรหันต์แบบสุกขวิปัสสกะ มีมากกว่าพระอรหันต์ที่สำเร็จฌานสมาบัติเป็นอันมาก ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าพระอรหันต์ไม่จำเป็นต้องได้อภิญญา ๕ หรือ โลกียอภิญญาทุกองค์

 

 

คำถาม: จะ ทำอย่างไรเมื่อต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น แต่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สับสน แก่งแย่ง เป็นเพราะกรรมเก่าของเราใช่หรือไม่ ทั้งที่ทุกวันนี้รู้สึกเบื่อหน่ายกับความวุ่นวาย สับสน แก่งแย่ง เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วไม่อยากเกิดอีก

 


ตอบ: ท่าน "ต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น" แต่เห็นว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สับสน แก่งแย่งนั้นเป็นอุปสรรคขัดขวาง ในเรื่องนี้จะขอให้ท่านนึกถึงชีวิตของสาวกสองท่าน ในสมัยพุทธกาล คือ พระยสและนางรัชชุมาลา ในช่วงที่ท่านทั้งสองได้ฟังพระธรรม และตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา

 

 ยสกุล บุตรเป็นผู้ที่มีชีวิตสบายอย่างยิ่ง เพราะเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูลที่มั่งคั่ง เมื่อท่านเดินรำพึงว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" นั้น ไม่ได้เกิดจากว่าท่านประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนแต่อย่างใด แต่ว่าการสะสมของท่าน ทำให้ท่านมองเห็นความจริง ว่าการเกิดมามีชีวิตนั้นเป็นทุกข์ เป็นเหตุแห่งความขัดข้องและวุ่นวาย และเมื่อได้ฟังพระธรรม ท่านก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ด้วยปัญญาที่สะสมอบรมมาสมบูรณ์แล้ว โดยทันที

 

 ชีวิต นางรัชชุมาลานั้นตรงกันข้ามอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ นางเป็นทาสี ที่ผู้เป็นนายกระทำทารุณโขกสับด้วยประการต่างๆ จิกผมนางทำร้ายอยู่เป็นนิจ จนนางต้องโกนผมออกจนหมด โดยหวังว่าจะไม่ต้องถูกทำร้ายเช่นนั้นอีก แต่กลับถูกเจ้านายใช้เชือกพันศีรษะไว้ เพื่อจะได้จิกตีทำร้ายดังเดิม จนนางได้ชื่อว่ารัชชุมาลา นางเบื่อหน่ายชีวิตจนคิดจะฆ่าตัวตาย เมื่อนางได้พบพระผู้มีพระภาค และได้ฟังคำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้นางได้คิด และหมดความทุกข์ร้อน จิตใจผ่องแผ้ว ตั้งอยู่ในธรรม จนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล

 

 ตัวอย่าง ทั้งสองนี้ แสดงว่าความสะดวกสบาย หรือความวุ่นวายของชีวิต มิได้เป็นปัจจัยให้คนเราเข้าถึงความหลุดพ้นได้ เมื่อความรู้ที่ได้สะสมมามากพอ ถึง "ความแก่รอบแห่งญาณ" แล้วผู้นั้นก็จะสามารถบรรลุได้ เมื่อได้ฟังพระธรรมคำสอน ชีวิตที่ปราศจากทุกข์ร้อนของพระยส มิได้ทำให้ท่านมองข้ามความขัดข้องวุ่นวาย ของการเกิด นางรัชชุมาลาได้เข้าถึงธรรมะทั้งๆ ที่สถานะที่ยากแค้นลำเค็ญ ของนางทาสี ก็ยังมิได้หมดไป คนเราในปัจจุบันที่มีชีวิตสุขสบาย เช่นพระยสก็คงมี ลำบากเช่นนางรัชชุมาลาก็มาก ที่ได้อ่านได้ฟังคำสอนของพระพุทธองค์ ผ่านทางหนังสือหรือคำบรรยายธรรมะก็คงมีอยู่ มีใครที่ได้ดวงตาเห็นธรรมบ้าง

 

 การ มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ จะในลักษณะอย่างไรก็ตาม ก็เป็นวิบากของกรรมทั้งสิ้น ถ้าเป็นกุศลวิบากก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็เป็นอนิฏฐารมณ์ ถ้ารู้เช่นนี้แล้ว ก็ไม่พึงหวั่นไหวไปตามผลแห่งกรรม ไม่เกิดโทสะเมื่อได้รับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่เกิดโลภะเมื่อได้สิ่งที่ชอบที่ปรารถนา ไม่มีโมหะซึ่งเกิดขึ้นทุกขณะจิต ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยทาน ศีล ภาวนา

 

 ท่าน "รู้สึกเบื่อหน่ายกับความวุ่นวาย สับสน แก่งแย่ง เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วไม่อยากเกิดอีก" "ต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น" จาก "โลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สับสน" ถ้าหากว่าความวุ่นวายสับสนเหล่านั้นหมดไป เช่นว่า ท่านมีฐานะดีกว่าที่เป็นอยู่ ได้ทุกอย่างสมตามที่มุ่งหวังปรารถนา ผู้ที่ทำให้ท่านเดือดเนื้อร้อนใจเลิกปฏิบัติเช่นนั้น หรือไม่มาข้องแวะกับท่านอีก หรือท่านได้ไปสู่แดนสวรรค์ ที่มีแต่ความสุขสบายอย่างยิ่ง ไม่มีความแก่ความเจ็บ หรือปฏิสนธิในพรหมโลกที่ดำรงสภาวะนั้นๆ ยาวนานมากจนความตายดูเหมือนว่าจะไม่มี ท่านจะยังอยาก "ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น" อีกหรือไม่ หรือว่าท่านจะถือว่า ได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ต้องการแล้ว จะไม่เหมือนพระยส ผู้เห็นความขัดข้องวุ่นวาย แม้ในชีวิตที่ไร้ความยากลำบากใดๆ

 

 ความขุ่นข้องหมองใจ หรืออารมณ์อันไม่พึงปรารถนาทุกประการ คือโทสะ เป็นศัตรูที่ใครๆ ก็เห็นและไม่อยากให้เกิด แต่ศัตรูที่ใกล้ตัวกว่าและเอาชนะได้ยากกว่าคือโลภะ เป็นศัตรูที่คนมักมองข้าม เพราะเป็นอารมณ์ที่คนต้องการ เป็นศัตรูที่คอยเอาใจให้สุขสบายทุกเมื่อ เป็นศัตรูที่เอาชนะได้ยากกว่า

 

 เมื่อ ท่านเห็นความวุ่นวาย สับสน แก่งแย่งของชีวิต ความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บตาย เห็นว่าจะหลีกหนีทุกอย่างได้ด้วยการไม่เกิด การไม่เกิดอีกจะมีได้อย่างใด ก็ด้วยการละความอยากมีอยากเป็น คือภวตัณหาได้ ด้วยการตัดปัจจัยทุกประการที่จะทำให้เกิดอีก คือละคลายความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเรามีรักหนึ่งร้อย ก็เป็นทุกข์ร้อย มีรักหนึ่ง ก็เป็นทุกข์หนึ่ง ไม่มีรักเลยก็ไม่มีทุกข์เลย

 

 การ จะละได้ก็ต้องศึกษาพระพุทธศาสนา ที่เป็นแก่นแท้จริงๆ อ่านหรือฟังพระธรรมคำสอนให้เข้าใจ คิดใคร่ครวญตาม เจริญสติปัฏฐาน ตามรู้จิตของตนให้เห็นถ่องแท้ ถึงความเกิดดับของธรรมะทุกอย่าง ว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยอยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ หรือความเป็นตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น สะสมอบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึง "ความแก่รอบแห่งญาณ" ที่จะเกิดปัญญารู้แจ้งได้จริง

 

อมรา-วารี
๗ กรกฎาคม ๒๕๔๓

 

ที่มา : http://www.dhammastudy.com/thq&a3.html

ภาพจาก www.84000.org

หมายเลขบันทึก: 300007เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะคุณน้า

วันนี้หนูมาเขียนบันทึกใหม่ค่ะ เขียนไว้ตั้งแต่วันจันทร์แต่ไม่มีโอกาสมาเขียนลงบล็อกค่ะ

แต่เหลืออีก ไม่กี่นาทีหนูก็ต้องออกจากเน็ตแล้วค่ะ

หนู้ได้เวลาวันละ ๓๐ นาทีค่ะ ยกเว้นวันหยุดได้อยู่นานได้ค่ะ

คุณน้าสบายดีไหมคะ

สบายดีพอตัวครับ

มีเรื่องทุกข์บ้าง แต่ก็พยายามเรียนรู้ครับ

ทุกข์มีไว้เรียนรู้ครับ ยิ้มรับกับมัน

แวะไปตอบในเม้นท์แล้วนะครับ

สวัสดีค่ะน้องPhornphon

  • น้องนัทมาก่อนเพื่อนเลยนะคะ
  • ยังทุกข์บ้าง สุขบ้างและเคยทุกข์มากมาแล้วค่ะ
  • สำหรับหนังสือ
  • ส่งธรรมดาหรือส่งด่วนถึงเท่ากันค่ะ เพราะเป็นบ้านนอก
  • ถ้าอยู่ในเมืองก็จะเร็วตามกำหนด
  • ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมกันสร้างกุศลแก่เด็กค่ะ
  • จะรออ่านด้วย  เล่มเดิมกำลังเดินทางไปมาในห้องเรียนค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาอ่านและน้อมรับข้อธรรมค่ะ

เพิ่งทราบและได้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ

ที่สำเร็จอรหัตโดยมิได้ฌาน เรียกว่า สุกขวิปัสสกะ (คือผู้ที่เจริญแต่วิปัสสนา) หรือปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา)

ขอให้เจริญในธรรมนะคะ

(^___^)

  • สวัสดีค่ะ  น้องPhornphon
  • แวะมาเยี่ยมทักทาย  มารับความรู้ทางธรรมเพิ่มเติมค่ะ
  • ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ที่มีประโยชน์ค่ะ

สวัสดีครับ

พี่ครูคิม อนุโมทนากับทุกท่านที่มีจิตกุศลเช่นกันครับ

ทุกข์ สุข ไว้เรียนรู้ได้เช่นกันครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

ผมก็เพิ่งทราบครับ ว่าในสมัยพุทธกาลผู้สำเร็จอรหันต์แบบพระสุกขวิปัสสกะจำนวนมากกว่าพระอรหันต์ที่มีฌานกล้า หรือ สำเร็จอภิญญาครับ

แล้วแต่บุญวาสนาในการปฏิบัตินะครับ ว่าจะเป็นสมถะนำวิปัสสนา วิปัสสนานำสมถะ หรือ สมถะคู่วิปัสสนา

อย่างผมตอนยังไม่ค่อยมีข้อมูลปฏิบัติธรรมทำอย่างไร เริ่มไม่ถูกจริงๆครับ

สำหรับคนที่คิดมากๆอย่างสมัยนี้ แค่รู้กาย รู้ใจ อย่างเป็นกลางก็เป็นการปฏิบัติธรรมแล้วครับ

เจริญในธรรมนะครับ

สำหรับดีครับ คุณธรรมทิพย์

ผมเห็นว่ารู้สึกเป็นวิสัชชนาธรรมที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ปฏิบัติที่ยังลังเลสงสัย หรือ ผู้ที่ปฏิบัติอยู่แล้ว

ขอบพระคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยม

ธรรมรักษาครับ

แจ่มแจ้งชัดเจนมากขึ้นครับ...

 

ขอบพระคุณ คุณนายขำที่มาเยี่ยมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท