การพัฒนาชุมชน


 การพัฒนา (Development) มีความหมายเป็นสองนัย ก็คือ

          1.  ในความหมายอย่างแคบ การพัฒนา หมายถึง การประดิษฐ์คิดค้นหรือริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาและนำมาใช้เป็นครั้งแรก เช่นการคิดค้นกระแสไฟฟ้า การกระดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์

          2.  ในความหมายอย่างกว้าง การพัฒนา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของระบบต่างๆ ในสังคมที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมนั้น โดยมีหลักที่ใช้ในการพิจารณาโดยมีจุดเน้นอยู่ที่ลักษณะของการพัฒนา คือ

              ๏  การเปลี่ยนแปลงในด้านปริมาณ คุณภาพ และสิ่งแวดล้อม ทุกด้านให้ดีขึ้นหรือเหมาะสมกว่าสภาพที่เป็นอยู่เดิม

              ๏  มีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างมีลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกันไป

              ๏  มีลักษณะเป็นพลวัตร ซึ่งหมายความว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

              ๏  มีลักษณะเป็นแผนและโครงการ คือ เกิดขึ้นจากการเตรียมการไว้ล่วงหน้าว่าจะเปลี่ยนแปลงใคร ด้านใด ด้วยวิธีการใด เมื่อใด ใช้งบประมาณและสิ่งสนับสนุนเท่าใด     ใครรับผิดชอบ

              ๏  มีลักษณะเป็นวิชาการ ซึ่งหมายถึง การกำหนดขอบเขตและกลวิธีที่นำมาใช้ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาชนบท การพัฒนาอุตสาหกรรม  การพัฒนาชุมชน  การพัฒนาการศึกษา

              ๏  มีลักษณะที่ให้น้ำหนักต่อการปฏิบัติการจริงที่ทำให้เกิดผลจริง

          การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ หรืออาจจะเกิดขึ้นเองมีเกณฑ์หรือเครื่องชี้วัด ซึ่งสามารถจะบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพ ปริมาณ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นมากหรือน้อยเดียงใด ในระดับใด

          สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2526) ได้ให้ความหมายของการพัฒนา ว่าหมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่การกำหนดทิศทาง (Directed Change) หรือ การเปลี่ยนแปลงที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า (Planned Change)

          ยุวัฒน์ วุฒิเมธี (2526) ให้ความหมายว่า การพัฒนา หมายถึง การกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งที่ดีกว่า 

          วิทยากร  เชียงกูล (2527) เขียนไว้ว่า การพัฒนาที่แท้จริงนั้น หมายถึง การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีความสุข ความสะดวกสบาย ความกินดีอยู่ดี ความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมและจิตใจอย่างสงบสันติ ซึ่งขึ้นอยู่กับการได้รับปัจจัยทางวัตถุเพื่อสนอง    ความต้องการของร่างกาย ทั้งยังรวมความไปถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของคุณภาพชีวิต อันได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม การพักผ่อนหย่อนใจ

          วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (2532) สรุปว่า การพัฒนา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่มี      การกระทำให้เกิดขึ้น  หรือมีการวางแผนกำหนดทิศทางไว้ล่วงหน้าและการเปลี่ยนแปลงนี้   จะมีสองส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งจะต้องมีทิศทางที่ดีขึ้นเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม ได้มีการศึกษาเชิงประเมินผลการพัฒนา พบว่า การเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงปรารถนาหลายประการ นับตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปีพุทธศักราช 2504 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศวิทยา (Social Ecology) ของสังคมไทย ผลที่คาดหวังสำคัญหลายประการไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นักคิดจากหลายสำนักความคิดพากันหยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงความล้มเหลวเหล่านั้น พร้อมทั้งมีการเสนอแนวทางใหม่ในการพัฒนาประเทศ บางแนวคิดได้รับการยอมรับจากสาธารณชนและกลุ่มผู้บริหารจนนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความเชื่อ   ในเอกลักษณ์ รวมทั้งความเข้มแข็งของวัฒนธรรม บางแนวคิดชูประเด็นการเรียนรู้ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพของคนพร้อมทั้งการให้เหตุผลอย่างเป็นระบบน่าเชื่อถือและปฏิบัติตาม ในขณะที่นักคิดบางสำนักความคิดพยายามใช้ยุทธศาสตร์ทางศาสนา (Religious Strategy) มาชี้นำทางออกให้แก่สังคมไทยบนพื้นฐานแห่งนัยยะสำคัญตลอดจนความโดดเด่นทางวิชาการที่ว่า ความดีต้องอยู่เหนือความชั่วเสมอ โดยละทิ้งเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านมิติของเวลา (Time) พลังทางลบ (Negative Social Force) ที่ทำให้เกิดการต่อต้านเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงปรารถนาในสังคม

          ประกายความคิดเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความพยายามที่จะถักทอและบูรณาการ     ความโดดเด่นจากแนวความคิดหลากกระแสเข้าด้วยกัน นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีการเสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเชิงนิเวศ (Green Development) เศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ (Green Economics) เศรษฐศาสตร์กระแสกลาง (Mid-Stream Economy) หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีความเชื่อพื้นฐานของการให้ความสำคัญต่อ      การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติแก่ผู้คนรุ่นหลัง แล้วกำหนดเป็นยุทธศาสตร์        การพัฒนาประเทศแนวใหม่ ด้วยการวิพากษ์อย่างแหลมคมต่อแนวคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) อัตนิยม (Individualism) ที่ยึดเอาความพึงพอใจของมนุษย์ตามหลักการของอรรถประโยชน์นิยมหน่วยสุดท้าย (Marginal Utility) ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะและการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของ  แต่ละแนวคิด  ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โดยแท้ที่จริงแล้ว นักคิดแต่ละยุคสมัย แต่ละสำนักคิด ต่างมีเจตนารมณ์บางอย่างร่วมกัน คือ สันติสุข ตลอดจน      การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์ของสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิก สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ วิธีคิด สำนักคิด (School of Thought) ของเขตของการคิด (Boundary) ลักษณะการมองปัญหา การให้ความหมายและวิธีการในการทำความเข้าใจ รวมทั้งการวิเคราะห์หาแนวทาง  ในการแก้ไขปัญหา (Approach) ของกลุ่มแนวคิดเหล่านั้น

          ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาวิชาการทางด้านการพัฒนาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานทางด้านวิชาการรอบด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ความรู้ทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รวมทั้งสถานะของการดำรงอยู่ ความเป็นมาและ     การเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้เหล่านี้  การพัฒนาชุมชนเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่พยายามใช้หลักบูรณาการบนพื้นฐานความเชื่อและความเข้าใจเบื้องต้นหลายประการร่วมกันดังต่อไปนี้

          ประการแรก การพัฒนาและการพัฒนาชุมชนมีความแตกต่างกันหลายประการ ทั้งในด้านแนวความคิดที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อ หลักการ รวมทั้งวิธีการต่างๆ การพัฒนาชุมชนอย่างเป็นทางการนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ซึ่งมีพัฒนาการทางวิชาการอย่างเป็นระบบไม่เกินหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การขาดทฤษฎีตลอดจนองค์ความรู้เชิงลึกที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ทำให้การพัฒนาชุมชนมีลักษณะทางวิชาการ         ที่เรียกว่า   การพึ่งพาทางทฤษฎี (Theoretical Dependency) ซึ่งหมายถึง การเอาแนวคิด ทฤษฎี กระบวนการ วิธีการจากศาสตร์สาขาอื่นๆ เช่น สังคมวิทยา (Sociology) มานุษยวิทยา (Anthropology) การศึกษา (Education) รัฐศาสตร์ (Political Science) เศรษฐศาสตร์ (Economics) จิตวิทยา (Psychology) และอื่นๆ มาบูรณาการแนวคิดขึ้นมาใหม่ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ที่สนใจทางด้านการพัฒนาชุมชนจำเป็นที่จะต้องมีฐานความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ รอบด้าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ศาสตร์แห่งการพัฒนา ก็คือ บูรณาการหรือนวัตกรรมทางการศึกษาซึ่งมุ่งหวังจะสร้างองค์รวมแห่งความรู้ให้แก่ผู้ที่มุ่งมั่นที่จะศึกษา อย่างไรก็ตาม ลักษณะการพึ่งพาทางทฤษฎีของวิชาการทางด้านการพัฒนานี่เองที่ทำให้    การกำหนดแนวทางในการปฏิบัติมีจุดเน้นหนักแตกต่างกันออกไปตามพื้นฐานความรู้     ความเชื่อ แนวคิด ของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารงานและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านการพัฒนา แต่อย่างน้อยที่สุด ในปัจจุบันนี้ ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า รากฐานของการพัฒนาประเทศที่แท้จริงนั้น ควรจะยึดคนรวมทั้งสิ่งแวดล้อม     เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา

          ประการที่สอง สังคมไทยนั้นมีประวัติศาสตร์ตลอดจนความเป็นมาอันยาวนาน    ความเชื่อ บรรทัดฐาน วัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิตตลอดจนรูปแบบของพฤติกรรม   ทางสังคมถูกถ่ายทอดโดยขบวนการเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) จากบรรพบุรุษสู่คน    รุ่นหลัง และยังปรากฏร่องรอยให้เห็นได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแห่งการยอมตาม (Passive Culture) ความสัมพันธ์แบบข้า-บ่าว ผู้อุปถัมภ์-ผู้รับอุปถัมภ์ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฤกษ์ยาม ผีสาง เทวดา ซึ่งเห็นได้อย่างดาษดื่น

          จริงอยู่ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษสู่คนยุคปัจจุบันบางอย่างจะวิจิตรงดงามเต็มไปด้วยคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ บางรูปแบบจะแฝงการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) เอาไว้อย่างลึกซึ้งน่าภาคภูมิใจ แต่กลับไม่ปรากฏแนวคิดอันแหลมคมเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นมิติด้านลบของวัฒนธรรมไทยที่มีอิทธิพลต่อการคาดคะเนสัมฤทธิ์ผลหรือความล้มเหลวของการพัฒนา การวิพากษ์เชิงกล่าวหาแนวคิดเสรีนิยม วัตถุนิยมหรือสังคมนิยม ตลอดจนการปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดที่มาจากตะวันตกโดยพยายามชี้นำให้เชื่อว่าความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีสาเหตุใหญ่มาจากการนำเอาแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ มาใช้โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบถึงข้อตกลงเบื้องต้น เงื่อนไขรวมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเอาทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ จึงมีลักษณะการมองปัญหาแบบอัตนิยม (Subjectivity) ชาตินิยม (Nationalism) วัฒนธรรมนิยม (Ethnocentrism) ซึ่งมักจะละเลยหรือมองข้ามความไม่รู้ ข้อบกพร่องตลอดจนความอ่อนแอทางปัญญาของตนเอง วิธีมองปัญหาดังกล่าวจะแตกต่างกับการวิเคราะห์ปัญหาในเอกสารชุดนี้ ซึ่งเน้นหลักการมองปัญหาแบบวัตถุประสงค์นิยม (Objectivism) องค์รวมนิยม (Totalism) หลังสมัยใหม่นิยม (Post-Modernism) ซึ่งให้ความสำคัญกับ       การพิจารณาเชิงพิพากษ์ถึงสาเหตุแห่งความอ่อนแอและการด้อยพัฒนาทุกด้านของหน่วย  การวิเคราะห์ อันหมายถึงชุมชนในว่าเกิดจากการครอบงำ (Hegemony) การรุกราน (Penetration) ขบวนการติดต่อและผสมผสานทางวัฒนธรรม (Acculturation & Assimilation) การพึ่งพา  การไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยว การแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่อ่อนแอกว่า รวมทั้งการขูดรีด (Exploitation) อันเป็นพื้นฐานทางจิตวิทยาของสังคมมนุษย์ เนื่องจาก การพัฒนาหรือการด้อยพัฒนา ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของสังคมใดๆก็ตามนั้น มิได้มีความหมายในตัวเอง หากแต่เป็นความคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Concept) ซึ่งขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมหรือสังคมอื่น โดยใช้กฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดโดยกรอบแนวคิดของผู้คิดผ่านกระบวนการถ่ายทอดทางภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนขึ้นเป็นดัชนีชี้วัด อาทิเช่น วัดความเข้มแข็งของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง  โดยการพิจารณาจากการเรียนรู้และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของคนในชุมชนหรือวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเฉลี่ย เราไม่สามารถจะเข้าใจความหมายของพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ความยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนจากสิ่งใดได้ ถ้าหากไม่สามารถพิจารณาสัมพันธ์กับสิ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ ซึ่งการเปรียบเทียบก็มักจะถูกอิทธิพลของมิติทางด้านวัฒนธรรม การครอบงำทางด้านภาษาซึ่งเป็นสื่อในกระบวนการถ่ายทอดความรู้เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความรู้สึกทางด้านชาติพันธุ์นิยม (Ethnocentrism) ซึ่งเกิดจากการยึดติดว่า วัฒนธรรมของตนเองนั้นดีกว่า สูงกว่าวัฒนธรรมอื่น ที่น่าสังเกต ก็คือ แนวคิดเหล่านี้ ไม่สามารถก้าวพ้นไปจากความคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thought) กับศาสตร์สาขาอื่นได้อยู่นั่นเอง กล่าวโดยสรุป ก็คือ วิธีคิดพื้นฐานของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนนั้น  มีลักษณะเป็นวิธีคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking) ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้อย่างน้อย 6 กลุ่มดังต่อไปนี้ คือ

              1.  แนวความคิดแบบวิวัฒนาการ (Evolution)

                  2.  แนวความคิดแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (Social & Cultural Change)

              3.  แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมือง (Economics & Political Economy)

              4.  แนวคิดแบบการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Action & Social Movement)

              5.  แนวคิดแบบความขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict)

              6.  แนวคิดแบบการพัฒนาชุมชน (Community Development)

          1.  แนวความคิดแบบวิวัฒนาการ (Evolutionary Perspective) เป็นการนำเอาคำว่าการพัฒนามาใช้เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่เคลื่อนย้ายจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งที่ดีกว่าหรือสูงกว่าเดิม

          2.  แนวความคิดแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Perspective) แนวคิดนี้จะสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น การแบ่งชนชั้นทางสังคม การปฏิรูป หรือการปฏิวัติ

          3. แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ (Economic & Political Economy Perspective) แนวคิดนี้จะมุ่งไปสู่การอธิบายโดยพิจารณาที่วิถีการผลิต (Mode of Production) วิถีการบริโภค (Mode of Consumption) หรือวิถีการแจกจ่าย (Mode of Distribution) ของมนุษย์

          4.  แนวคิดแบบการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement & Social Action Perspective) เป็นแนวคิดที่รัฐพยายามที่จะปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในรูปของการจัดทำแผนโครงการหรือการกำหนดอำนาจหน้าที่หรือการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อต่อสู้เรียกร้อง ต่อรอง

          5.  แนวคิดแบบความขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict Perspective) เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากความเชื่อในหลักการของวัตถุนิยมวิภาษวิธี และมองว่าความขัดแย้งอันเกิดจากการควบคุมวิถีการผลิตจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม

          6. แนวคิดแบบการพัฒนาชุมชน (Community Perspective) เป็นแนวคิดที่องค์การสหประชาชาตินำมาใช้โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา

          ทั้ง 6 แนวคิดหลักในการพัฒนา จะเห็นได้ว่า การพัฒนาชุมชนเป็นแนวคิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ รวมทั้งศักยภาพของมนุษย์เป็นหลัก และการพัฒนาที่จะสื่อความหมายให้แก่ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนนั้นจะต้องมีคำนามที่มีขอบเขตของคำนิยามที่ชัดเจนต่อท้ายคำว่า การพัฒนา เสมอ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาชุมชน การพัฒนาองค์กร การพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาการศึกษา หรืออื่นๆ

          ประการที่สาม ความเชื่อพื้นฐานของการพัฒนาชุมชนที่สำคัญและแตกต่างจากแนวคิดที่ยึดถือปฏิบัติกันในการพัฒนาทั่วไปอย่างน้อยที่สุดตามประเด็นดังต่อไปนี้

              ประเด็นแรก การพัฒนาและการพัฒนาชุมชนนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นเกี่ยวกับศักยภาพตลอดจนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่ค้านกับตรรกศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นจริงสากลของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยอมรับในความไม่เท่าเทียมกันด้านศักยภาพของมนุษย์ ทั้งทางด้านกายภาพ สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด การเรียนรู้ การปรับตัว วิสัยทัศน์ การแก้ปัญหา วุฒิภาวะทางปัญญาและอารมณ์ และอื่นๆ ความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ ของมนุษย์นี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลประการหนึ่ง ซึ่งอธิบายได้ถึงการประจักษ์ต่อความผิดพลาดและล้มเหลวในภายหลังของการพัฒนาประเทศ หลังจากที่เดินตามร่องรอยความคิดที่ผู้นำทางความคิดแต่ละยุคสมัยกำหนดให้ด้วยวัฒนธรรมแห่งการยอมตาม อันเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของสังคมไทยโดยขาดการพิจารณาและการโต้แย้งวิพากษ์อย่างมีเหตุผล ดังกล่าวมาแล้ว

              ประเด็นที่สอง ด้วยเหตุผลรวมทั้งความเชื่อในความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์นี่เอง ที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างทางด้านสติปัญญา รวมทั้งศักยภาพด้านต่างๆ ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม จึงทำให้ไม่สามารถปฏิเสธความจริงของพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งเคยเป็นมานับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นเผ่าพันธุ์มนุษย์จนกระทั่งปัจจุบัน คือ ทุกองค์ประกอบของสังคมมนุษย์จะต้องมีผู้นำ (Leader) และผู้ตาม (Follower) เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางความคิด ผู้นำทางการบริหารประเทศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม การศึกษา และอื่นๆ ก็ตาม

              ความเข้าใจในการไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยว การร่วมมือ การช่วยเหลือ การพึ่งพา ความขัดแย้ง การผสมผสานและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เป็นขบวนการพื้นฐานทางสังคมนี่เองที่ทำให้เกิดการต่อสู้ ช่วงชิงสิทธิอำนาจ ชัยชนะ ความพ่ายแพ้ สงคราม การขูดรูด     การแสวงหาผลประโยชน์ การรุกราน (Penetration) ระหว่างคนตั้งแต่ 2 กลุ่ม สองชาติ     สองวัฒนธรรมขึ้นไป จนส่งผลไปถึงความเข้าในรวมทั้งการก่อกำเนิดของความคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาและกระบวนการพัฒนาชุมชน ซึ่งในความหมายหนึ่งก็คือ กระบวนการที่มีเป้าหมายในอันที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวและไม่อาจปฏิเสธเหตุผลพื้นฐานของการที่จะต้องมีผู้นำในทุกๆ ด้านของกระบวนการพัฒนาหรือกระบวนการพัฒนาชุมชนได้

              ประเด็นที่สาม การยอมรับความคิดตามประเด็นทั้งสองข้างต้น ทำให้การพัฒนาชุมชนมีลักษณะที่ให้น้ำหนักต่อการทำความเข้าใจในภาวะการก่อกำเนิด การคงอยู่ พลวัต  การเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ อารยธรรม ความเป็นผู้นำ (Leadership) กระบวนการตัดสินใจ (Decision Making Process) การบริหารการจัดการ (Administration and Management) การวิเคราะห์ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (Situational Analysis & Adaptation) และการวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง (Sensitivity Analysis) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่แตกแขนงมาจากความเข้าใจเบื้องต้นดังที่กล่าวมาแล้ว

              กล่าวโดยสรุป ก็คือ การพัฒนาชุมชนและการพัฒนาประเทศรวมทั้งสันติสุขอันยั่งยืนอย่างแท้จริงของสังคมนั้น นอกเหนือไปจากการขึ้นอยู่กับทุกบริบทที่ประกอบขึ้นมาเป็นระบบสังคมแล้วยังควรต้องเน้นการขึ้นอยู่กับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งรอบด้านในองค์ความรู้ที่มีต่อ ทุกระบบของสังคม รวมทั้งระบบปฏิบัติการ ผู้นำ และศักยภาพของผู้นำ ตลอดจนภาวะ   ความเป็นผู้นำของผู้นำทุกด้านของสังคมนั้นอีกด้วย ความพิการของศาสตร์แห่งการพัฒนา รวมทั้งข้อผิดพลาดมักจะปรากฏให้เห็น เมื่อมักจะปรากฏว่า ผู้ที่สถาปนาตนเองว่าเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการแห่งการพัฒนานั้น แท้ที่จริงแล้ว มีความอปกติหรือพิการทางด้านวุฒิภาวะแห่งองค์ความรู้พื้นฐานหลายด้าน

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 299559เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท