farm@kasetpibul
งานฟาร์ม คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ม ราชภัฏพิบูลสงคราม

ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ (ข้าว)


แม่โพสพ

ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ (ข้าว) 

              ประเพณีปฏิบัติตามความเชื่อ แม่โพสพมีพระคุณต่อชีวิตของชาวนาสืบเนื่องจากปู่ย่าตายายอันยาวนาน ชาวนาจึงมีพิธีกรรมสืบสานมรดกประเพณีในแต่ละท้องถิ่นต่อๆกันมา การประกอบพิธีกรรมทำขวัญข้าวเป็นการกล่าวขอขมาต่อต้นข้าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับข้าว ทั้งการเกิดเองตามธรรมชาติ  และจากการที่มนุษย์จะกระทำอะไรก็ตามกับต้นข้าว เช่น พิธีกรรมก่อนการหว่านข้าว การปักดำข้าว หรือพิธีกรรมทำขวัญรับขวัญการตั้งท้อง ก่อนการเกี่ยวข้าว และพิธีอันเชิญแม่โพสพเข้ายุ้งฉางเป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีพิธีกรรมที่ปฏิบัติอันสำคัญของชาวนาสืบเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันทุกขั้นตอนนี้สมควรอนุลักษณ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

 

              โอม  แม่ไพรี  แม่นพดารา  แม่จันทราเทวี  แม่ศรีโสภา  ได้เลี้ยงลูกมาใหญ่กล้าเพียงนี้  ลูกขอบวงสรวงด้วยพะวงมาลี  ธูปเทียนอัคคี  ตามมีบูชา  ขอเทพเจ้าปกเกล้าเกศา  ทำไร่ทำนา  ให้ผลมากมาย  อีกทั้งตะกวดเหี้ย  ทั้งเพลี้ยลงนา  อีกทั้งโจรรา  และอัคคีภัย  จงวินาศฉิบหาย  โอมประสิทธิ์แก่ข้าเจ้า  สวาหะ” เป็นคำกล่าวในพิธีกรรมการขอเข้ามาทำกินในพื้นที่ 

              ก่อนการไถคราดในพิธีกรรมเริ่มแรกจะทำกระทง  9  ใบ  ใส่ขนมกระทงละอย่างเพื่อเป็นเครื่องบัตรพลี (บัดพะลี-เครื่องเซ่นสังเวย)  จุดธูปเทียนบูชาเทวดา บอกกล่าว  และ “ขอน้ำขอข้าว”  การไถคราดเชื่อว่าจะต้องเวียนตามเกล็ดพญานาค  หรือเวียนซ้ายก่อน 3 รอบ  แล้วปลดไถหรือแอกวางนอนลงเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย  ในช่วงเดือนกรกฎาคม  จะเริ่มหว่านเมล็ดข้าวให้ทั่วแปลงเป็นการตระเตรียมต้นกล้าสำหรับทำนา

วันนี้เป็นวันดี แรม  ........( 9 ) ค่ำ  พวกเราจะหว่านข้าวลงนากัน

              คาถาชุมนุมเทวดา  (จุดธูป ๑๒ ดอก)

              ตั้งนะโม ๓ จบ  ศรี  ศรี  ศรี  วันนี้เป็นวันดี   อยู่ไร่ปลายนา มิ่งมาขวัญมา อยากกินเปรี้ยวให้กินเปรี้ยว อยากกินหวานให้กินหวาน ส้มสุก มะพร้าว ถั่วงา เชิญมารับประทาน มิ่งมาขวัญมา กันนก กันหนู กันปู กันปลา   กันตะกวด กันเพลี้ยลงนา กันหนอนอัปรีย์อย่าได้มีมา  มิ่งมาขวัญมา  สัพพะทานัง  สัพพะโภคัง  ภะวันตุเม

คาถาหว่านข้าว
ตั้งนะโม ๓ จบ         
พุทธัง      เลิศล้ำ     อุตตะมังเลิศล้ำ
ธัมมัง       เลิศล้ำ     อุตตะมังเลิศล้ำ
สังฆัง        เลิศล้ำ     อุตตะมังเลิศล้ำ

              คุณพระแม่โพสพ ๓๙ คุณพระพุทธเจ้า ๕๖ แม่โพศรี แม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคา ถึงเวลาแล้วที่ลูกจะต้องเข้ามาทำมาหากินในถิ่นนี้ เชิญมาคุ้มครอง มาเถิดแม่มา ลูกปลูกข้าวในนา ขอให้ได้ผลดี ขอให้ลูกนี้เป็นเศรษฐีชาวนา ขอให้ลูกเป็นพ่อค้าบ้านนอก ขอให้มีข้าวเต็มยุ้ง ช่วยมาคุ้มแอกคุ้มไถ คุ้มไร่ คุ้มนา คุ้มเคราะห์ คุ้มโศก คุ้มโรคโรคา กันนก กันหนู กันปู กันปลา กันตะกวด กันเหี้ย กันเพลี้ยลงนา ผลผลิตให้ได้ไร่ละเกวียนกว่า อ้ายหนอนอัปรีย์อย่าให้มีเข้ามา  อ้ายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวดี ขอให้หายหนีหน้า มิ่งมาขวัญมา สัพพะโภสา วินาดสันติ

ตั้งจิตอธิษฐาน ๓ กำแรก 
กำที่ ๑     ขอเลี้ยงชีวิต
กำที่ ๒    เหลือกินแล้วทำบุญ
กำที่ ๓    เหลือกินแล้วขอทำทานที่เหลือหว่าน

              อุกาสะ  อุกาสะ  ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณของแม่โพสพ  แม่ธรณี  แม่คงคา  คุณพระพุทธจ้า  คุณพระธรรมเจ้า  คุณพระสังฆะเจ้า  คุณพระบิดามารดา  คุณครูอุปัชฌา  จงมาดลบันดาลให้ข้าพเจ้า  ทำนาปีนี้ให้เกิดผลดีเทอญ.... 

             

              ต้นกล้าเริ่มโตแข็งแรง ( 20 – 30 วัน ) จึงถอนครั้งละเต็มกำมือเอาตอกมัดแล้ววางไว้ให้รากชุ่มน้ำ  นำต้นกล้าประมาณ 10 มัดมารัดรวมกัน  หามด้วยคานไม้เพื่อนำไปปักดำ  แล้วต้องตัดปลายด้านกล้าออกก่อนนะ  เพื่อให้แตกปลายโดยเร็ว  เมื่อฝนเริ่มชุกขึ้นในเดือนสิงหาคม  หรือเรียกเดือนหัวข้าวหัวปลา  จะเป็นช่วงดำนามักเริ่มดำนาในวันจันทร์ข้างขึ้น  แล้วมีการทำกระทงใส่เครื่องบัตรพลีอีกครั้ง 

              ประเพณีทำขวัญข้าว ช่วงที่ข้าวเริ่มตั้งท้องประมาณเดือน 10 ถึง เดือน 12  (เดือน ก.ย. – พ.ย.)  พอถึงเดือน 10  แรม 15 ค่ำ  จะมีการทำขวัญข้าวอีกครั้ง จะเตรียมทำชะลอมขนาดเล็กเพื่อบรรจุบายศรี  กล้วยสุก 1 ลูก มันต้ม  เผือกต้ม  ดอกไม้  ธูป 3 ดอก  เทียน 2 เล่ม  ข้าวสุกปากหม้อ 1 ปั้น  แป้งหอม  น้ำอบ  น้ำสะอาด  ส้ม  ขนม  นำลำไผ่ขนาดยาวประมาณ 1 วา ปักในนาข้าวแล้วผูกชะลอมเครื่องเซ่นหันไปทางทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้)  จุดธูปกราบสามครั้ง  กล่าวอัญเชิญแม่โพสพว่า  “วันนี้ก็เป็นวันลาภดี วันดี  เชิญแม่โพสพมาทานขนมส้มสุกลูกไม้  อย่าได้มีโรคมีภัย  ขอให้ได้ข้าวดี ๆ ทำน้อยได้มากให้ข้าวงอกออกรวงดี”  กล่าวเสร็จแล้วจึงลาแม่โพสพ  ของสังเวยห้ามนำกลับต้องปล่อยให้นกกาจิกกิน

             
 

              การเก็บเกี่ยว ในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน  ข้าวจะเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้จะมีการบูชาเทวดาทั้ง 8 ทิศ  โดยเริ่มในวันเสาร์ถือเป็นวันแรกเกี่ยว  ส่วนวันจันทร์จะเริ่มแรกถากลาน  โดยหันไปทางทิศทักษิณ (ทิศใต้)  เพื่อให้ขี้ดินและตอข้าวออกให้หมด  ปรับหน้าดินให้เรียบนำเสาไม้ยาวประมาณ 2 วา  สลักให้มีปลายแหลมด้านบนเรียกว่า “เสาเกียด”  ปักไว้  กลางลานนำบายศรี  ดอกไม้  ด้ายแดงขาว  มัดปลายเสาเกียดที่รอบเสาจะนำมูลวัวควายผสมน้ำ  เทยาให้ทั่วลานด้วยไม้กวาดเรียกหว่า  การยาลาน  ตากแดด ทิ้งไว้วันหนึ่งจนแห้ง  เพื่อป้องกันไม่ให้ขี้ดิน  ขี้ฝุ่นฟุ้งกลบเมล็ดข้าวเวลานวด  หลังจากยาลานจึงนำฟ่อนข้าววางเรียงโดยรอบเสาเกียด  ช่วงนี้อาจทำบุญลานโดยการทำบุญตักบาตรที่ลานข้าวเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการนวดโดยวางฟ่อนข้าวซ้อนกันเป็นชิ้น ๆ ให้รวงข้าวตั้งขึ้น  ตัดออกเพื่อให้ข้าวร่วงทั่วถึงเมื่อวัวเหยียบ  เพื่อนวดข้าวให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง  นำวัวหลาย ๆ ตัวมาผูกต่อเป็นพะวงแล้วนำไปคล้องไว้กับเสาเกียดย่ำให้ข้าวหลุดจากรวง   (ซึ่งเป็นที่มาของการเล่นวัวลานในปัจจุบัน)  ใช้ขอคันฉาย  และคราดไม้โหย่ง (เขี่ย)  ฟางออก  ใช้ไม้กวาดรำพรวดที่ทำจากหนามไม้ผากวาดซ้ำ  นำคราดไม้คราดเศษฟางเล็ก ๆ ออกแล้วนำกะทากวาดเมล็ดข้าวให้มารวมกัน  ใช้พลั่วตักข้าวสาดสูงขึ้น  โดยใช้วีพัดเศษฟางจะปลิวแยกเมล็ดข้าว  อีกวิธีหนึ่งจะใช้  สีฝัด  เพื่อแยกเมล็ดข้าวออกจากฟางก็ได้  บางแห่งบางท้องถิ่นจะนำมัดข้าวฟ่อนข้าวมารวมทำเป็นลอมให้สูงเป็นชั้นๆแล้วจึงมีการลงแขกเอาแรงนวดกันโดยใช้ไม้ขนาดพอเหมาะกับมือสองท่อนมีเชือกร้อยรัดปลายทั้งสองสามารถขนาบรัดฟ่อนข้าวไม่ให้หลุดตีให้ เมล็ดข้าวออกได้ พอถึงเดือนอ้าย  เดือนยี่  หรือเดือนสาม  ก็จะทำพิธีอันเชิญแม่โพสพเข้ายุ้งฉางโดยจุดธูปบอกกล่าวว่า  “แม่โพสพเจ้าขา  เชิญมาขึ้นยุ้งฉางอย่าหลงอยู่ในทุ่งในทางในนาในไร่  ให้หมูกัดนกคาบ  เชิญไปอยู่ที่สำราญเป็นสุข  เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานให้เจริญ  มาเถิดมา  กรู๊”  เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของแม่เทพธิดาแห่งต้นข้าว

 

              การทำนาแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแต่ละประเพณีปฏิบัติพิธีกรรมแต่ละท้องถิ่นแต่ละภาคอาจแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามคนรุ่นหลังควรรักษาสืบทอดภูมิปัญญานี้ให้นานแสนนานสร้างสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุรวมถึงจันโรงไว้ให้ลูกให้หลานได้มีความทรงจำ เช่นตำนานอนุสาวรีย์แม่โพสพที่หน้าเทศบาลตำบลชะอำ จ.เพชรบุรี  นั่นก็คือภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเรา  การจัดตั้งโรงเรียนชาวนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่อื่นๆ

 

ณัฐพงษ์  พรดอนก่อ

คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร(ฟาร์มพืช)

เรียบเรียงบทความ  ๙ /๙ / ๒๐๐๙

 

หมายเลขบันทึก: 298920เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2009 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท