sha-รพ.หนองจิก
โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี

เรื่องเล่าดี ดี ...จาก ใจ ดี ดี


ดูแลดุจญาติมิตร ด้วยหัวใจแห่งความรัก คำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

เรื่องเล่าดี ดี ...จาก   ใจ   ดี ดี

    Care f      r  Cure… f      r  Case

 

                                                                               อังคณา  วังทอง

                                                                                  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี

 

โรงพยาบาลหนองจิก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ประชากรรับผิดชอบ 70,284 คน มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 285 คน ในจำนวนนี้ พบโรค schizophrenia มากที่สุด คือประมาณครึ่งหนึ่งของโรคจิตเวช นอกจากพบได้บ่อยแล้ว ยังมีการดำเนินโรคแบบเรื้อรัง เป็นโรคที่มีความผิดปกติของความคิด อารมณ์ การรับรู้ และพฤติกรรม ทำให้เกิดความเสื่อมของหน้าที่หลายๆ ด้าน เช่นการดูแลตนเอง การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม การดำเนินโรคมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการหลงเหลือทำให้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ง่าย

สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำได้ง่าย เมื่อกลับสู่ชุมชนคือ การรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง

 

                ดิฉันและทีม (นักจิตวิทยา, อาสาสมัครสาธารณสุข,เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย,แกนนำชุมชน) ลงเยี่ยมบ้าน มีโอกาสพูดคุย สร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยและญาติ จำนวน 3 case แต่ละรายอยู่ในพื้นที่สีแดง (พื้นที่ที่อันตรายมาก เป็นการแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ความไม่สงบฯ) และแต่ละรายมีการดำเนินโรคที่แตกต่าง  เป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อค้นหาปัญหาของผู้ป่วยอย่างแท้จริง...

 

ปัญหาแรกคือ ผู้ป่วยและญาติขาดความรู้ในการจัดการกับอาการจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา และทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมาน ไม่สุขสบายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ในที่สุดผู้ป่วยก็จะหยุดรับประทานยา

ผู้ป่วยรายที่ 3 หันมามองดิฉัน ด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจแล้วพูดว่าคุณหมอ ผมกินยาเข้าไป พอมีอาการมือสั่น ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงไม่อยากกินยาอีกพูดจบผู้ป่วยนั่งก้มหน้า

ผู้ป่วยรายที่ 1 พูดด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ กินยาเข้าไปรู้สึกมึนหัว ไม่สบายตัว ง่วงนอนตลอด จะช่วยแม่ทำงานหรือทำอะไรๆ ก็ไม่ได้

 

ปัญหาที่สอง ผู้ป่วยรู้สึกว่าหายดีแล้ว และไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีกต่อไป

ผู้ป่วยรายที่ 1 พูดกับดิฉันด้วยสายตาที่มั่นใจ ว่าตัวเองหายแล้ว ทำไมต้องกินยาอีกละ

 

ปัญหาที่สาม ระยะเวลาในการรับประทานยา เนื่องจากอาการทางจิตจะเน้นการรักษาด้วยยาเป็นหลัก และใช้เวลาในการรักษานาน โดยไม่สามารถบอกระยะเวลาที่แน่นอนว่าจะหยุดรับประทานยาได้เมื่อไร เกิดการเบื่อหน่ายในการรับประทานยา

                ผู้ป่วยรายที่ 3 พูดด้วยสีหน้าและสายตาที่เบื่อหน่ายว่า ทำไมกินยานานจัง เบื่อแล้ว ตัวเองก็หายแล้ว ไม่อยากกินยาแล้วนะ

 

ปัญหาที่สี่  ความซับซ้อนของการดูแลรักษา เกิดความลำบาก ยุ่งยาก เนื่องจากต้องรับประทานยาหลายชนิด จำนวนมาก เกิดความสับสนในการใช้ยา ลืมวิธีการใช้ยา หมดความอดทนที่จะรับประทานยาต่อไป

                ผู้ป่วยรายที่ 2 พูดด้วยน้ำเสียงและสีหน้างงๆ กินยาเยอะๆ หลายเม็ด ทำให้กินยาผิดๆ ถูกๆ

 

จากสาเหตุปัญหาดังกล่าว จึงนำแนวทางการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ และหัวใจแห่งความรัก ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังแบบมี พี่เลี้ยงบูรณาการแบบครบวงจร

 

เครือข่ายสหสาขาวิชาชีพดูแลช่วยเหลือบูรณาการแบบครบวงจร

Family

Client

Community

สาธารณสุข

หน่วยงานอื่น ๆ

ภาครัฐ+เอกชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ผลการลงพื้นที่ในการเป็นพี่เลี้ยงดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างต่อเนื่อง ด้วยหัวใจแห่งความรัก คำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ พบว่า ในช่วงแรก ผู้ดูแลหลัก (ญาติ) ยังดูแลผู้ป่วยไม่ถูกต้อง จึงให้คำแนะนำเพิ่มเติม พร้อม empowerment แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจ มองเห็นศักยภาพของตนเอง ที่จะต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาที่อยู่ข้างหน้า ประกอบกับนำยาของผู้ป่วยมานับจำนวนยาที่เหลือ พบว่า ผู้ป่วยรับประทานยาได้ครบทุกมื้อ แต่พบปัญหาว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย จะนำยามื้อเช้ารับประทานยาพร้อมยามื้อเที่ยง หรือตื่นมาเมื่อไรก็จะรับประทานยาเมื่อนั้น ซึ่งผู้ป่วย 3 ราย จะรับประทานยามื้อเช้าอยู่ 2 ตัว คือ Hadol และ Aca  ดิฉันและทีมจึงได้ศึกษาค่าครึ่งชีวิต (half life) ของยาทั้ง 2 ตัว พร้อมขออนุญาตผู้ป่วยและญาติ เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยในการนำข้อมูลของผู้ป่วยไปปรึกษาจิตแพทย์โรงพยาบาลปัตตานี พบว่า สามารถรับประทานยาทั้ง 2 มื้อ พร้อมกันได้ หรือตื่นนอนเมื่อไรก็ให้รับประทานยาทันที ส่วนยามื้อเที่ยงก็รับประทานตามปกติ เมื่อได้พูดคุย ซักถาม สังเกตผู้ป่วยและผู้ดูแลหลัก (ญาติ) พบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการทางจิต สามารถประกอบอาชีพหรือช่วยทำงานบ้านได้มากขึ้น มีความสุขในสัมพันธภาพระหว่างตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม อีกทั้งครอบครัว ชุมชนเข้าใจอาการ การดำเนินโรคของผู้ป่วย ลดตราบาป (stigma) ที่อาจเกิดกับผู้ป่วยและญาติเมื่อกลับคืนสู่ชุมชน และเกิดความร่วมมือกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ในการดูแล ติดตาม กระตุ้น และให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ส่งผลให้ผู้ป่วย อาศัยในสังคมได้อย่างมีความสุข และสิ่งสำคัญของการลงพื้นที่ในการเป็นพี่เลี้ยงดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างต่อเนื่อง ด้วยหัวใจแห่งความรัก คำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ที่ไม่สามารถซื้อด้วยเงินหรือสิ่งของได้ แต่สามารถสัมผัสด้วยใจ คือความรู้สึกดีๆ เชิงบวก กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข     อีกทั้งยังเป็นเกราะป้องกันความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการลงพื้นที่ ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบฯ ได้เป็นอย่างดี  จากเสียงสะท้อนของผู้ป่วย ญาติและชุมชน มีความ         พึงพอใจในการได้รับการดูแล ใกล้ชิด ใกล้ตัว ใกล้ใจ

จากคำพูดของผู้ป่วยรายที่ 1 “รู้สึกดีที่มีคนคอยดูแลเรื่องการกินยา คอยให้คำแนะนำ ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่คนเดียว มีคนคอยเป็นที่ปรึกษา มีคนคอยเป็นห่วง ถามอาการ พูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ดวงตาฉายแววมีความสุขและความหวัง  เมื่อฟังดิฉันรู้สึกว่าหัวใจดิฉันพองโต มีความสุขและมีกำลังใจที่จะ อึด ฮึด สู้ ดูแลผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบที่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อใด

ผู้ดูแล(พี่ชาย)ผู้ป่วยรายที่ 2 พูดว่า ดีครับ ที่มีคุณหมอในโรงพยาบาลและคุณหมออนามัยมาคอยเป็นที่ปรึกษา ทำให้ตนเองและน้องสาวมีความรู้ในการสังเกตอาการที่เกิดจากยา ซึ่งดิฉันและทีม สามารถสัมผัสความรู้สึกนั้น โดยไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดได้

ผู้ดูแล(มารดา) ผู้ป่วยรายที่ 1 เข้ามาจับมือดิฉัน พร้อมพูดด้วยภาษามลายูถิ่นว่า บอมอวะแบะนิงมอและ นาตีแตเงาะ ฆอยะ กะแวดืองาอาเนาะ วาซอซูกอฮาตี แปลได้ว่า คุณหมอ(ทีมสหสาขาวิชาชีพ)ทำแบบนี้ดีจัง คอยดูแลแนะนำตนเองกับลูก ทำให้รู้สึกดี มีกำลังใจ ขณะพูดมารดาผู้ป่วย มีสีหน้าแววตา และน้ำเสียงที่แสดงถึงความหวังที่จะดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข

 

ผลจากการกระทำในการลงพื้นที่ คอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างต่อเนื่อง ดุจญาติมิตร ด้วยหัวใจแห่งความรัก คำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ส่งความสุข ความอิ่มเอมใจ ความภาคภูมิใจ มาให้ทั้งผู้ให้การดูแล(ทีมในโรงพยาบาลและทีมชุมชน)  ผู้รับบริการ (ผู้ป่วยและญาติ) โดยไม่ต้องลงทุนอะไร แค่ให้ใจ และความรู้สึกดี ดี  ในการคืนชีวิต เติมชีวา ให้ผู้ป่วยและญาติ ด้วยน้ำใจจากโรงพยาบาล...สู่...ชุมชน 

คำสำคัญ (Tags): #ดุจญาติมิตร
หมายเลขบันทึก: 298719เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2009 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นการดูแลที่ครอบคลุมองค์รวม และไม่เลือกปฏิบัติ ถึงแม้พื้นที่จะเสี่ยงแค่ไหน

มลวิภา เหมือยพรหม

อ่านแล้วรู้สึกดี เป็นกำลังใจในการดูแลผู้ป่วย ด้วยหัวใจ ความเป็นมนุษย์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท