ผมมอง CoP อย่างไร? กรณีร่วมเป็นกรรมการโครงการ KM ดีเด่น ของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


เมื่อวานนี้ผมได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการโครงการ KM ดีเด่น ของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  ซึ่งมีกรรมการทั้งหมด 5 ท่าน  มาจากหน่วยงานภายนอก 4 ท่าน และภายใน กนอ. เองอีก 1 ท่าน

ด้วยเวลาสั้นๆ แต่มีทีม "ชุมชนแนวปฏิบัติ" หรือ Community of Practices : CoPs จำนวน 9 ทีมขึ้นมานำเสนอผลงาน   ผมจึงไม่สามารถแสดงความเห็นได้หมดในเวลานั้น  จึงขออนุญาตมาเพิ่มเติมในบันทึกก็แล้วกันครับ

ถามว่า..หากผมเป็นคนปฏิบัติ  ผมจะมอง CoPs อย่างไร?

ผมมองว่า...

* หัวใจของมันไม่ใช่รูปแบบ  แต่เป็นการสร้าง "วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ระหว่างคนทำงานในองค์กร  เน้นการสร้างนิสัยการแบ่งปัน ความรู้ปฏิบัติ และความรู้วิชาการหรือทฤษฎี  แต่ให้น้ำหนักกับ ความรู้ปฏิบัติมากหน่อย  ด้วยเชื่อว่า สิ่งนี้เป็นกลไกบ่มเพาะ "ตัวอ่อนความรู้ปฏิบัติ"  ขององค์กร  เป็นพื้นที่หล่อหลอม "บุคคลเรียนรู้" ที่มีความสามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวในโลกของการงาน  อีกทั้งยังมีแง่มุมมิตรภาพ ฝึกปฏิบัติธรรมด้วยการฟังคนอื่นมากขึ้น ยอมรับส่วนดี ความสามารถคนอื่นมากขึ้น   ผมจึงไม่ค่อยสนใจรูปแบบมากนัก  แต่มักจะดูว่ามีพฤติกรรมอะไรที่สะท้อนถึงสิ่งที่ผมว่ามาแล้วบ้าง

* เรื่องใดๆ ก็ตาม  หากมีเพียงวิธีการเดียวไปสู่เป้าหมาย  ก็ไม่จำเป็นต้องใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เสียเวลา  แต่หากงานนั้นๆ สามารถทำได้หลากหลายวิธี เรื่องนั้น ก็ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงานด้วยกันเองด้วย

* ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม  ผมชอบกฎ "เนียน(ในงานปกติ) ง่าย มันส์ ดี มีสุข" ต้องไม่เป็นภาระเพิ่มให้กับคนทำงาน  ต้องทำให้เห็นว่าไอ้สิ่งที่กำลังทำอยู่มันสามารถเอากลับมาช่วยงานเขาได้ อันนี้แหละที่ต้องมี "การออกแบบ"

* ความรู้ปฏิบัติ ที่จะเอามา ลปรร. กันนั้น เน้น เรื่องราวที่ไม่ค่อยมีเขียนในตำรา เอกสาร แต่เป็นเรื่องราวการค้นพบวิธีการทำงานแบบใหม่ ของคนทำงาน  ที่สามารถทำให้งานนั้น  ใช้เวลาในการทำงานน้อยลง  ประหยัดต้นทุนหรืองบประมาณ  ลดความเสี่ยงและอุบัติภัยต่างๆ  สร้างเสริมมิตรภาพระหว่างคนทำงาน  ลดความขัดแย้ง  เพิ่มผลผลิตมากขึ้น สุขภาพจิตและกายดีขึ้น  หรือเกิดนวัตกรรมใหม่  ซึ่งอาจจะเกิดผลตอบเพียงข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมาก็ได้  และเรื่องราวที่ว่านั้น ต้องยอมรับว่า ใช้ได้ในบริบทเฉพาะ ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบในเชิงวิชาการ  แต่ต่อไปบางเรื่องอาจจะหยิบจับไปเป็นโจทย์วิจัย  หรือพัฒนาต่อยอดในทางวิชาการได้ 

* เรื่องราวที่นำเสนอของทุกทีม  จะเห็นว่ามีทั้งลองผิด ลองถูก เรียนรู้ระหว่างทำ แต่เมื่อลองทำด้วยตนเองแล้วเขาก็จะเข้าใจอะไรบางอย่างมากขึ้น   องค์กรต้องไม่ทิ้งช่วงหลังจากนี้นานเกินไป ต้องรีบตั้งโจทย์ดีๆ และท้าทาย และโยนโจทย์ท้าทายให้เขาลองทำต่อไป แต่ต้องให้อิสระในวิถีทางการค้นหารูปแบบที่เหมาะกับงานของเขา   อย่างน้อยโดยส่วนตัว  ผมว่าส่วนใหญ่ได้เรียนรู้เรื่อง "หัวปลา" (commpetency สำคัญๆ) ของงานตนเอง แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นการออกตัว จากจุด start เท่านั้นเอง   หากองค์พลาดโอกาสที่จะบ่มเพาะต่อ  ก็น่าเสียดายมากครับ

หมายเลขบันทึก: 298615เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2009 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความรู้เรื่อง CoPs มีน้อยแต่พอเข้ามาอ่านบ่อย ๆ ก็เพิ่มความรู้ ความเข้าใจได้ดีค่ะ

สำหรับใช้เป็นแนวทางการนำไปใช้กับลูกค้าได้ดีเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท