มุมมองของผู้บริหารการศึกษาต่อการจัดการศึกษาของไทย


มุมมองของผู้บริหารต่อการจัดการศึกษาของไทย

มุมมองของผู้บริหารการศึกษาต่อทิศทางการศึกษาของประเทศไทย

 

ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ที่ย้ำนักย้ำหนาว่าให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา ถึงขนาด นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยประกาศว่าจะดูแลงานด้านการศึกษาเอง ซึ่งมีเสียงตอบรับอย่างดี แต่สุดท้ายเมื่อปัญหาเศรษฐกิจมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่รอการแก้ไข ต้องการนายกรัฐมนตรีไปนั่งบัญชาการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วยตนเอง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ผู้เขียนนโยบายของพรรคจึงได้รับ การวางตัวให้นั่งเก้าอี้เสนาบดีการศึกษา เป็นอันว่า คนเขียนนโยบายลงมาปฏิบัติเอง ปีหน้าฟ้าใหม่การศึกษาไทยน่าจะพอเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์

วันนี้ลองมาฟังผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการดูว่ามองอนาคตการศึกษาไทยใต้ปีกประชาธิปัตย์กันอย่างไรบ้าง

ดร.ชินภัทร ภูมรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยน พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล และดูแลงานด้านการศึกษาเอง เชื่อว่าในปี 2552 น่าจะได้เห็นความชัดเจนเรื่องการเรียนฟรี ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญมาก ก็จะรู้ว่าเรียนฟรีหมายถึงรายการอะไรบ้าง เพราะถ้าเรื่องนี้มีความชัดเจน เชื่อว่า ประชาชนจะรับได้ เนื่องจากเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่พึงจะได้รับเมื่อไปโรงเรียน คงไม่มีใครคาดหวังว่าการศึกษาจะฟรีทุกอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าการศึกษาเอกชนจะได้รับการสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองและนักเรียนอีกด้วย

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จำเป็นต้องส่งเสริมให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะการเรียนของมนุษย์ไม่ได้จบลงเมื่อสำเร็จการศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐานก็เป็นแค่เพียงความรู้ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการเป็นสมาชิกของสังคมได้ แต่ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมี การเรียนรู้ที่ต่อเนื่องตลอดไป ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็ประกาศตัวแล้วว่าจะส่งเสริมกลไกในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มีความเข้มแข็งด้วย

ส่วนเรื่องการพัฒนาครู ก็ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ลงทุนด้านบุคลากรสูงสุด แต่การพัฒนาครูก็ยังไม่เชื่อมโยงกันทั้งระบบตั้งแต่การผลิตครู การควบคุมการประกอบวิชาชีพครูให้มีจรรยาบรรณ การส่งเสริมให้ครูมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการให้ขวัญกำลังใจและเส้นทางความก้าวหน้าให้แก่ครูที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างแท้จริง จึงเป็นอีกเรื่องที่รอการผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2552

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มองว่า เมื่อดูสภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะวิกฤติหนักในปี 2552 ซึ่งจะมีปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับจุดเน้นในนโยบายของรัฐบาลที่จะจัดให้ทุกคนมีโอกาสรับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงมัธยมปลาย แล้ว ก็สอดคล้องกับแนวนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ในปีหน้าเราจะเน้นสนับสนุนเรียนฟรี เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งคงได้รับการผลักดันเป็นพิเศษ เพื่อลดอัตราเสี่ยงของเด็กยากไร้ที่จะออกกลางคัน นอกจากนี้จะเน้นเรื่องการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ซึ่งขณะนี้มีกระแสตอบรับจากสังคมมามากว่าจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือโรงเรียนกลุ่มนี้

สำหรับเรื่องการดูแลครู ให้มีทั้งปริมาณที่เหมาะสม มีความสามารถจัดการเรียนการสอนในสภาพสังคมยุคใหม่ได้ และรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ ให้ได้ รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้ครูมีความสุขกายสบายใจในการรับภาระหนักหน่วงนี้ ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ และจะเน้นการใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวน เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และเข้าถึง พื้นที่ที่ยากไร้ ห่างไกลได้มากขึ้น

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ในปี 2552 การอาชีวศึกษาน่าจะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษาที่รัฐบาลจะยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงาน หรือการให้ค่าตอบแทนตามสมรรถนะ ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนการเรียนด้านอาชีพให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากและสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่ตั้งเป้าหมายว่า ปี 2552 จะเร่งรัดเรื่องคุณภาพ ทั้งในส่วนของผู้เรียน และการบริหารจัดการ
ผมได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดไปแล้วว่า การรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2552 ผู้เรียนต้องผ่านระบบการวัดแววด้านวิชาชีพ ต้องหารือกับโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน เพื่อรับนักศึกษาร่วมกัน ขณะเดียวกันการกำหนดแผนจัดการเรียนการสอนของแต่ละจังหวัด ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด ต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน อาทิ เกษตรจังหวัด แรงงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสถานประกอบการ โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน เพื่อร่วมกันพยากรณ์ ทิศทางความต้องการบุคลากรของแต่ละจังหวัด และ จัดการเรียนการสอนให้สนองตอบต่อความต้องการของสภาพแรงงานในอนาคต เพื่อให้เด็กที่จบออกมาทุกคนมีทักษะฝีมือในสาขาที่เรียน และมีงานทำใน พื้นที่

ส่วนเรื่องการเติมเต็มการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่ผ่านมาสถานศึกษา ในสังกัด สอศ.เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น จัดให้มีการเทียบโอนประสบการณ์ ตลอดจนจัดสอนให้แก่ แรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการ ปีละประมาณ 1,312,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่านักศึกษาในระบบที่มีเพียง 700,000 คน แต่เราก็จะขยายความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ต่อไป

รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา มองว่า การศึกษาจะดีได้อยู่ที่การมีครูดีเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นการพัฒนาครูทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มผลิต เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาครูประจำการให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เป็นครูที่ดีมีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และที่เป็นที่น่ายินดีอย่างมาก คือ การที่ รมว.ศึกษาธิการ หยิบเรื่องปฏิรูปการศึกษาขึ้นมาพูดอย่างชัดเจนในวันแรกที่เข้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการพูดในที่ประชุมกระทรวงว่า มีนโยบาย หรือจุดเน้นที่การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยยึดคุณค่าทางจริยธรรม การมีคุณธรรม และความเป็นไทย ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของทุกฝ่าย

แต่หากถามถึงความคาดหวังที่จะเกิต่อการศึกษาเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองแล้ว ผมมองโลกในแง่ดีเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็หวังว่าจะเกิดสิ่งดี ๆ ทั้งนั้น อย่างน้อย รมว.ศึกษาธิการก็พูดชัด เจนแล้วว่า มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ต่อไปการศึกษาบ้านเราจะต้องเป็นการศึกษาตลอดชีวิตมากกว่าการศึกษาที่อยู่ในสถานศึกษาเท่านั้น เพราะฉะนั้นนอกจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีว ศึกษา และอุดมศึกษา แล้วเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมาก ยิ่งขึ้นแน่นอน

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา บอกว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะยินดีอย่างมาก ถ้า รมว.ศึกษาธิ การ คณะกรรมการ การอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมมือกันทำงาน ซึ่งจะสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้แน่นอน เพียงแต่ สกอ.ต้องปรับแผนในการทำงานและทิศทาง โดยยึดนโยบายของรัฐบาล กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2565) และดูสภาวะเศรษฐกิจทั้งของประเทศและทั่วโลกที่กำลังเผชิญอยู่มาประกอบเท่านั้น

สำหรับงานแรกที่ สกอ.จะต้องทำ คือ เร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหาอุดมศึกษา อันเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว เพื่อให้นักศึกษายังคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมความพร้อมด้านคุณภาพและศักยภาพของบัณฑิต เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยร่วมมือกับสถานประกอบการ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ

นอกจากนี้ยังต้องร่วมมือกับสถานประกอบการ สมาคม องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มามีบทบาทในการกำกับคุณภาพการศึกษา มีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตและการวิจัย รวมถึงส่งเสริมการมีงานทำผ่านการบูรณาการ การประเมินศักย ภาพการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริม การวิจัย และการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยให้ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสุดท้าย คือ ความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้สามารถตอบสนองความต้องการของนักศึกษาและผู้ปกครองได้สูงสุด.

ทีมข่าวการศึกษา


ที่มา - เดลินิวส์ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 00:02 น.

หมายเลขบันทึก: 298476เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การศึกษามีได้มีแต่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่มีอยู่ทุกที่ในสังคนรอบๆตัวเราและมีอยู่อย่างหลากหลายทั้งดีและไม่ดี ดังนั้นถ้าต้องการให้การศึกษาเป็นการศึกษา ตลอดชีวิต ครูต้องสอนให้นักเรียนรู้ถึงวิธีการเลือกที่จะเรียนรู้แต่ในสิ่งดีๆ...แต่ก็นั่นแหละถ้าสังคมมีแต่สิ่งเลวๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้ที่มีหน้าที่ต่อบ้านเมือง ผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวบ้านชาวเมือง ผู้ที่เป็นนักการเมืองทั้งหลายทำแต่เรื่องเลวๆ แล้วจะให้เด็กมันหาตัวอย่างดีๆที่ใหนดู

เห็นด้วยว่ามนุษย์ทุกคนควรได้รับการศึกษาตลอดชีวิต สิ่งสำคัญในการรับรู้ คือ รับรู้ในสิ่งที่ดี และถูกต้อง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท