ชีวิตที่พอเพียง : ๘๓๘. สมองซีกขวาของผม



          บทความ “การแก้แค้นของสมองซีกขวา”  ในนิตยสาร WIRED เมื่อเกือบ ๕ ปีมาแล้ว (ซึ่งอ่านได้ที่นี่) ทำให้ผมเขียนบันทึกนี้  

          ผมเจียมตัวตลอดมาจนถึงปัจจุบัน   ว่าผมเป็นคนที่สมองซีกขวาลีบ   เพราะการเรียนการฝึกตั้งแต่สมัยหนุ่มจนอายุ ๖๐ เป็นการให้น้ำหนักและออกกำลังสมองซีกซ้าย   ละเลยสมองซีกขวา    ผมเล่นดนตรีไม่เป็น ถูกฝึกหรือเลี้ยงดูมาให้ไม่แสดงอารมณ์  ละเลยหรือไม่สนใจศิลปะ

          เพิ่งมาเข้าใจและเอาใจใส่สมองซีกขวาอย่างจริงจังก็ตอนมาทำเรื่อง KM

          แต่กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด   เพราะผมฝึก synthesis skill มาตั้งแต่อายุน้อยๆ    เป็นการฝึกตนเอง โดยดูตัวอย่างผู้ใหญ่    synthesis skill จำเป็นสำหรับการเป็น man of action   ไม่ใช่เป็นแค่ man of ideas   ผมพยายามสอนตนเองว่าอย่าทำตัวเป็นสมาชิกองค์การ NATO คือ No Actoin, Talk Only   ผมได้ใช้ synthesis skill ในการทำงานบริหารเรื่อยมา    และใช้มากเป็นพิเศษตอนทำ สกว.   ถึงตอนทำ สคส. ผมก็คล่องแล้ว    ตอนนี้กำลังใช้ทักษะนี้ในการทำงานกำกับดูแล (Governance) หลายเรื่อง

          ผมชอบฝึกตัวเองให้มอง big picture   ฝึกมาตั้งแต่หนุ่ม โดยดูตัวอย่างผู้ใหญ่   การมอง big picture นี้ผมพบว่ามีอุปสรรคที่เรามองไม่เห็น   เหมือนมีม่านบังตา   หรือที่จริงมีเส้นผมมาบังภูเขา    และเส้นผมนี้มันขยายตัวใหญ่มาก จนบดบังภาพใหญ่มืดมิด   เส้นผมหรือม่านบังตานี้ ชื่อว่า “กู”   คือตัวกู ของกู นั่นเองเป็นตัวบดบังไม่ให้ผมเห็นภาพใหญ่

          เมื่อฝึกมองภาพใหญ่ไปเรื่อยๆ ผมมีทักษะมากขึ้น   ก็พบความยากลำบากมากขึ้น   จากการที่คนที่เราไปทำงานด้วย หรือวงการที่เราอยู่ เขามองภาพเล็ก   เพราะตัวตนของเขาใหญ่   ผมจึงได้โอกาสฝึก empathy คือเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น   แต่ผมคงจะเรียนไม่เก่ง เพราะผมมีนิสัยพูดตรงๆ เขียนตรงๆ

          เมื่อแก่ ผมฝึก transcendence ซึ่งพจนานุกรมแปลว่า เหนือกว่า ดีกว่า   แต่ผมแปลว่า ปล่อยวาง   คือไปให้เลยจากเรื่องนั้นๆ ก็แปลว่าปล่อยวาง    คือฝึกไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องที่กำลังทำอยู่   ทั้งๆ ที่เรื่องที่กำลังทำอยู่นั้นคือดวงใจของผม    เช่นเรื่อง KM เป็นเรื่องในดวงใจของผม (ใครๆ ก็รู้)   แต่ผมก็ฝึกไม่ยึดมั่นถือมั่น KM   ปล่อยวางว่า KM มีหลายความหมาย  มีหลายแนว  

          นี่คือการฝึกเขียนบันทึกแนวใหม่ เพื่อ ลปรร. ความเข้าใจเรื่อง right brain  ตามในบทความ

          แต่ผมคิดว่า ทักษะ KM อีกหลายอย่าง เป็น right brain skill   หรือสมองซีกขวาทำหน้าที่เด่น    ได้แก่ สุนทรียสนทนา   ฟังอย่างลึก  ถามอย่างชื่นชม (Appreciative Inquiry)   เรื่องเล่าเร้าพลัง   SSS (Success Story Sharing)  เป็นต้น   และผู้มีประสบการณ์จะพบว่า การใช้ทักษะสมองซีกขวาเหล่านี้ เราใช้เป็นชุด ในเวลาเดียวกัน   ไม่ได้ใช้แบบแยกกันเดี่ยวๆ

          บทความที่เอ่ยถึงข้างต้น เตือนว่าเวลานี้เราพ้น Information Age มาแล้ว   ขณะนี้เราอยู่ใน Conceptual Age   ที่เราต้องฝึกทักษะ hi concept, hi touch   ซึ่งเป็นทักษะที่สมองซีกขวานำ

          ผมได้โจทย์สำหรับฝึกฝนตนเอง (สิกขาบท) อีกแล้ว

 

วิจารณ์ พานิช
๔ ก.ย. ๕๒

 
        

หมายเลขบันทึก: 298100เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หนูคิดว่า อาจารย์ใช้งานในส่วนของ Spiritual Brain มากกว่าค่ะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ที่เคารพ

ประทับใจในข้อเขียนของท่านอาจารย์มากเลยครับ

จะลองนำมาเรียนรู้ตนเองเป็นการตรวจสอบบ่อยๆ ครับ

ขอบคุณครับ

เรียน คุณหมอวิจารณ์ที่เคารพ

อ่านแล้วอึ้งนะคะ อึ้งเพราะเท่าที่สัมผัสได้

คุณหมอเป็นคนที่เต็มไปด้วยความรู้สึก แม้เป็นคนคิดเชิงระบบมาก

แต่ก็เป็นคนที่เต็มไปด้วยความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

คนในลักษณะนี้ สมองซีกขวาไม่มีทางลีบได้เลย

...

ไม่รู้น้อยกำลังเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่านะคะ

เมื่ออ่านบล็อคนี้แล้ว น้อยได้ก็กลับไปที่บล็อคของตนเอง ซึ่งอยู่ที่ Bloggang.com

ไปดึงเอากลอนบทหนึ่งที่เคยเขียนไว้มาแปะไว้ที่นี่

...........เป็นกลอนชื่อ

................................... ค่าของชีวิต........................................

.*..*..*.

......ชีวิตนี้มีค่าเท่าใดหรือ...........................คำตอบคือค่าเสมอชีวิตนั่น

สิ่งมีค่าใดใดในโลกันต์..............................ทรัพย์อนันต์แลกชีวิตใครคิดเอา?

...

......แล้วสิ่งใดคือในเนื้อเยื่อชีวิต.................กาย กับ จิต เท่านั้นดอกไม่หลอกเจ้า

ทุกชีวิตทรงคุณค่าอย่าดูเบา.......................จะสุขเศร้าสรรพสัตว์รักชีวี

...

......กายนั้นเป็นเช่นกลไกอ่อนละเอียด........สิ้น “รู้สึก” ไม่ละเมียดเพียงศพผี

ย่อมเย็นชืดขึ้นอืดเน่าเปื่อยทันที.................เพราะไม่มี “รู้สึก”ครองก็ต้องตาย

...

......ชีวิตเปี่ยม “รู้สึก”อันลึกลับ..................ผัสสะจับ “รู้”ทันทีตีความหมาย

“ขณะ”ก่อนความคิดวิจิตรพราย.................“ขณะนั้น”นั่นแหละนายของชีวิต

...

......ระลึกรู้ รู้สึกตัว มีสติ..........................สัญญานชีพอันบานผลิจริงในจิต

คน “หมดความรู้สึก”สิ้นนึกคิด....................ร่างหมดฤทธิ์เพราะสติสิหมดไป..(คือ “หมดสติ)

...

......คนเสียศูนย์อาละวาดคือ “ขาดสติ”........ตรองดูสิ สติ นั้นสำคัญไฉน

“เสียสติ”คือหลุดโลกเหลือโศกใจ...............แบก “รู้สึก”ไม่ไหวจึงหนีจริง

...

......ชีวิตพึ่ง “ความรู้สึก”อย่างลึกซึ้ง...........แต่กลับซ่อนไว้ก้นบึ้งซึ่งยวดยิ่ง

สร้างกำแพงแข็งกระด้างไว้อ้างอิง..............เพื่อโต้ติงอธิบายให้เบี่ยงเบน

...

......เรานับถือ “เหตุผล” คนฉลาด..............เราปรามาส “ความรู้สึก”นึกเขม่น

มอง “รู้สึก”เป็นเพียงกากเป็นซากเดน.........เพราะไม่เป็นวิชาการด้านใดใด

...

......แต่เจ้าความ “รู้สึก”อันลึกนี้................วิจิตรมีพิสดารสะท้านไหว

ละเอียดยิ่งวิ่งระยับจับกายใจ....................ทอสายใยชีวันอันงามงด

...

......เจริญสติ ต้องอยู่กับ “รู้สึก”................นิ่งแต่ลึก รู้สิ่งใด วางได้หมด

ตลอดตัวทั่วพร้อมน้อมประณต..................แล้วชีวิตก็ปรากฏอย่างงดงาม

...

......“มีชีวิตชีวา”อีกคราหนึ่ง.....................ในโลกซึ่งสดใหม่ออกไหลหลาม

การหยั่งรู้ใน “รู้สึก”ใช่นึกตาม...................ย่อมพาเราก้าวข้ามกำแพงใจ

...

......เพราะ “รู้สึก”ระลึกเห็นเป็นไปสิ้น.........สรรพสัตว์ทั่วธรณินทร์อสงไขย

รักชีวิตเพราะ “รู้สึก”ลึกด้านใน..................จึงหวาดภัยรักตัวและกลัวตาย

...

......ค่าชีวิตจึงทรงค่ากว่าใดอื่น.................ธรรมชาติสะอาดชื่นอันเริงร่าย

คือระบำเหล่าชีวิตวิจิตรพราย....................เคลื่อนเป็นสายเหตุปัจจัยไหวสะเทือน

...

......หาสิ่งใดมีค่าเท่าเหล่าชีวิต..................สิ่งประดิษฐ์ใดใดก็ไม่เหมือน

มนุษย์น้อยเพียงหนึ่งในสายใยเตือน...........เพราะ “รู้สึก”จึงเห็นเพื่อนชีวาลัย

...

......ใน “รู้สึก”มีสำนึก “รู้สึกร่วม”...............สามารถสวมแทนเข้าเอาใจใส่

ทุกขณะมายาภาพหลุดคราบไคล...............ทุกขณะเพิ่มผ่องใสในใจจินต์

...

......ใจจะเปี่ยม “ความรู้สึก”อันลึกซึ้ง.........เป็นใจซึ่งเป็นธรรมชาติสะอาดสิ้น

เป็นหนึ่งเดียวทั้งนอกในไร้ราคิน................“รู้สึก” สื่อสรรพชีวินให้เรารู้

...

จึงได้รู้ค่าชีวิตวิจิตรล้ำ.............................รู้โดยธรรมจาก สติ อันผลิอยู่

รู้กายจิตภายในตนจนพรั่งพรู....................ตระหนักรู้จึงเห็นค่าของชีวิต.

ขอมอบไว้บูชาครูก็แล้วกันค่ะ

_/\_

ด้วยความเคารพอย่างสูง

กัญญา ลีลาลัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท