พรรณไม้ในพุทธประวัติ - 12 มะม่วง


พรรณไม้ที่มีเหตุการณ์สัมพันธ์กับพุทธประวัติ

มะม่วง ฮินดูเรียก อะมะ อะมะริ มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์อยู่ หลายครั้ง

ครั้งแรก เมื่อพระพุทธองค์ทรงปราบชฎิลดาบส หรือฤาษี พระดาบสการาบทูลนิมนต์ภัตตกิจ พระองค์รับสั่งให้ไปก่อน แล้วทรงเหาะไปเก็บผลมะม่วง ผลหว้า ที่เขาหิมาลัยแต่กลับเสด็จไปถึงโรงไฟก่อนพระฤาษี

อีกครั้ง เมื่อพระเทวทัตคิดปองร้าย ได้กลิ้งหินก้อนใหญ่ลงมาหมายทับพระพุทธเจ้า ก้อนหินเกิดกระทบกันแล้วแตกเป็นชิ้นๆ สะเก็ดหินก้อนหนึ่งกระเด็นไปกระทบพระบาททำให้พระโลหิตห้อขึ้น (ส่วนพระเทวทัต กาลต่อมาถูกธรณีสูบ)

พระสาวก นำพระพุทธองค์ไปพบหมอชีวก โกมารภัจจ์ ที่สวนมะม่วง ซึ่งสวนนี้ พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้หมอชีวก กาลต่อมา หมอชีวกได้ถวายเป็นวัดสำหรับพระพุทธองค์และพระสงฆ์

มี นครโสเภณี (หญิงผู้ยังพระนครให้งาม) หรือหญิงงามเมืองนางหนึ่ง ชื่ออัมพปาลี เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี มีความเลื่อมใสในพระศาสนา ได้ถวายสวนมะม่วงของเธอให้เป็นวัดที่ประทับและที่อยู่ของสงฆ์ (นางเป็นนครโสเภณีคนแรกที่สร้างวัดถวายพระพุทธองค์ บางที่ว่านางถวายสวนในช่วงไม่กี่วันก่อนพุทธปรินิพพาน บางที่ว่าถวายก่อนหน้านั้น นานมาแล้ว)

สวนมะม่วง อันเป็นวัดในพระศาสนามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า สวนอัมพวนาราม หรือ อัมพวัน เนื่องจากมีหลายผู้ถวายจึงมักใส่ชื่อเจ้าของสวนไว้นำหน้า เช่น สวนมะม่วงของหมอชีวก เรียก ชีวกัมพวัน สวนที่นางอัมพปาลีถวายนั้นเรียกว่า สวนอัมพปาลีวัน

อีกครั้งหนึ่งคือ ครั้งเมื่อพระองค์อยู่ในเมืองสาวีตถี แคว้นโกศล ในวันเพ็ญกลางเดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน

พวกเดียรถีย์ท้าพระพุทธเจ้าแข่งปฏิหาริย์ที่โคนต้นมะม่วง เดียรถีย์ให้สาวกไปโค่นต้นมะม่วงเสีย แต่พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์จนได้

โดยมีผู้นำผลมะม่วงสุกมาถวาย เมื่อฉันเสร็จแล้ว ทรงมีรับสั่งให้ปลูกเมล็ดลงดิน ทรงใช้น้ำที่ล้างพระหัตถ์รด ต้นมะม่วงเติบโตอย่างรวดเร็ว แตกกิ่งก้านไปสูงถึง 50 ศอก จนพระองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่โคนต้นมะม่วงได้

ยมกปาฏิหาริย์ คือ การแสดงสิ่งให้คนเห็นเป็นที่อัศจรรย์คู่ เช่น น้ำคู่ไฟ เป็นต้น

บางท่านว่าการแสดงยมกปาฏิหาริย์นี้ เป็นเรื่องที่นักเขียนในพระศาสนาเขียนขึ้นมาเพื่อให้มองพระพุทธองค์อย่างเทพเจ้า

มีพระสูตรที่ทรงเปรียบบุคคลเหมือนผลมะม่วง 4 ชนิด คือ อัมพสูตร

-บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก (มีการก้าวไป ถอยกลับ เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก การครองสังฆาฎิ จีวร น่าเลื่อมใส แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค)

-บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ คือกิริยาไม่น่าเลื่อมใส แต่รู้ชัดตามที่เป็นจริง

-บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบ ผิวดิบ คือกิริยาไม่น่าเลื่อมใส และไม่รู้ชัดตามที่เป็นจริง

-บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกผิวสุก คือกิริยาน่าเลื่อมใส และรู้ชัดตามที่เป็นจริง

....................................................................................................................

อ้างอิงเรื่อง และรูป

พระไตรปิฎก (แปล) 21/105/160

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ พระนคร

เหม เวชกร สมุดภาพพระพุทธประวัติ ธรรมสภา 35/270 จรัลสนิทวงศ์ 62 บางพลัด บางกอกน้อย กรุงเทพ

เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา เกษมอนันต์พริ้นติ้ง 02-809-7452-4

ศาสตรจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ ไม้พุทธประวัติ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด้จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชวังดุสิต กรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 297685เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 05:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณณัฐรดา

อย่าง อำเภออัมพวา อย่างนี้มีประวัติเกี่ยวข้องกับมะม่วง อะไร ประมาณนี้ด้วยหรือเปล่าครับ

แหะ แหะ ไม่ทราบค่ะ แต่ชื่อคล้ายๆนะคะ น่าจะมีความเกี่ยวพันกันบ้างค่ะ

  • ค่อยๆเติมความรู้ไปทีละชนิดครับ

มาชม

อัมพวัน...แปลว่าป่ามะม่วง...มะม่วงเป็นราชาของผลไม้ในเมืองอินเดีย

ที่ยมกปาฏิหาริย์...ตอนผมขึ้นไปเดินดูถึงยอดเป็นเนินดินสูงริมทางไม่ห่างจากวัดไทยสวัตถีมากนักนะครับ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท