(ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546)
โดย : ดร.
อธิปัตย์ คลี่สุนทร
ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจหลักที่จะต้องดูแลเด็กและเยาวชนทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน รวมแล้วประมาณ 18 ล้านคน ให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ (9 ปี) และการศึกษาขั้นพื้นฐานในเบื้องต้น (12 ปี) รวมทั้งสนับสนุนให้เรียนถึงระดับอุดมศึกษา ตามศักยภาพของแต่ละคนเพื่อสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งเป็นกำลังงานของประเทศชาติ ช่วยพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขและสามารถไปสู่เป้าหมายข้อหนึ่งที่รัฐบาลระบุไว้ คือ เพื่อให้เป็นสังคมแห่งคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการสร้างเสริม ต่อยอดการเรียนรู้และสร้างมูลค่าเพิ่มอยู่ตลอดเวลา
นโยบายการเร่งใช้ ICT (Information and Communication Technology) เพื่อพัฒนาการศึกษาในทุกด้านโดยเฉพาะการช่วยพัฒนา ครู อาจารย์ การช่วยให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงแหล่งความรู้และได้เรียนอย่างทัดเทียมกัน การพัฒนาระบบบริหารจัดการให้ฉับไว มีประสิทธิภาพสูงสุด การจัดเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และการเชื่อมโยงเครือข่าย จึงเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ
แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ.2547-2549) ที่จัดทำโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการและภาคเอกชนภายนอกที่เกี่ยวข้องและผู้แทนระดับ CIO (Chief Information Officer) ของแต่ละกรมของกระทรวงศึกษาธิการ มีรายละเอียดขั้นตอน วิธีการทำงานชัดเจนมาก แต่ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะยุทธศาสตร์ 4 ประการที่แผนหลักนี้ระบุไว้ เพื่อไปสู่ความสำเร็จ คือ 1) การใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ 2) การใช้ ICT เพื่อการบริหารและบริการทางการศึกษา 3) การผลิตและการพัฒนาบุคลากร และ 4) การกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา
ในเรื่องการใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ มีเป้าหมายให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงและสามารถใช้ ICT ตามมาตรฐานหลักสูตร ซึ่งจะประกอบด้วยเรื่องสำคัญ อาทิ ความหมายของข้อมูล แหล่งข้อมูล การจัดเก็บและเรียกใช้ ส่วนประกอบหลักของคอมพิวเตอร์ ประโยชน์ และการใช้ระบบปฏิบัติการ การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้เทคโนโลยีกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสากลความรู้และการใช้เครือข่ายค้นคว้า วิเคราะห์ภาษาคอมพิวเตอร์ และการพัฒนาโปรแกรม ซึ่งกรอบหลักสูตรดังกล่าว จะมีความยากง่าย เป็นขั้นตอน ครู อาจารย์ จะเป็นส่วนสำคัญมากที่จะพัฒนาความรู้ กระบวนการ ถ่ายทอดความรู้ ให้เด็กเรียนอย่างเข้าใจและสนุกสนาน รวมทั้งใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพการทำงานของครู อาจารย์ เด็กและผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องทุกคน
นอกจากนั้นในแผนหลัก กระทรวงศึกษาธิการรจะจัดทำและสนับสนุนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) อย่างน้อยปีละ 1,000 เล่ม เพื่อเสริมการเรียนการสอน (ปัจจุบันกรมวิชาการได้จัดทำแล้วประมาณ 500 เล่ม) จะมีศูนย์รวมสื่อและมีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) เพื่อให้บริการนักเรียนและประชาชนทุกเขตพื้นที่การศึกษา มีการวิจัยพัฒนาการประยุกต์ใช้ ICT อย่างน้อยปีละ 100 เรื่อง มีหลักสูตร ICT ในระดับการศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน รวมทั้งมีการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งของรัฐบาลและเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ไปสู่การศึกษาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
ในส่วนของการใช้ ICT เพื่อการบริหารและบริการทางการศึกษา มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาเพิ่มจากระดับกระทรวง ระดับกรมที่ตั้งเรียบร้อยแล้วมีข้อมูลทะเบียนนักเรียนโดยใช้ระบบ EIS (Educational Information Systems) ซึ่งจะมีการใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นตัวเชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูล ซึ่งสามารถติดตามความก้าวหน้า ผลสัมฤทธ์ทางการเรียนติดตามเพื่อให้การช่วยเหลือกรณีที่อยู่ในกลุ่มยากไร้ ด้อยโอกาสหรือพิการ หรือเป็นกลุ่มมีความสามารถพิเศษ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถถ่ายโอนไปยังโรงเรียนแห่งใหม่ได้โดยสะดวก มีระบบบริหารงานบุคคล ระบบงานสารบรรณ ระบบห้องสมุด ซึ่งจะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการค้นคว้าที่กว้างขวางขึ้นได้ ระบบบริหารพัสดุครุภัณฑ์ ระบบบริหารสถานศึกษาโดยจะนำระบบ GIS (Geographic Information Systems) เข้ามาช่วยในการดูแลการจัดสรรทรัพยากรการจัดการในระดับพื้นที่
สำหรับด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากร มุ่งด้านพัฒนาครู อาจารย์ ให้สามารถใช้ ICT ช่วยให้การสอนมีความน่าสนใจ สนุกสนาน ค้นคว้าต่อยอด ความรู้ประสบการณ์จากที่มีอยู่เดิม (ครู อาจารย์ทั้งหมดประมาณ 522,000 คน อบรมไปแล้ว 353,000 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 67 แผนหลักนี้จะเร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือโดยสถาบันราชภัฏทั่วประเทศเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาคเอกชน ซึ่งดำเนินการหลายโครงการ อาทิ โครงการอบรมโปรแกรม Think.com และโครงการ Intel Teach to the Future โครงการความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น JICA (Japan International Cooperation Agency) ความร่วมือจากองค์การ Unicef เป็นต้น ซึ่งในจำนวนนี้จะมีครู อาจารย์ จำนวนมากที่จะสามารถพัฒนาโปแกรมเพื่อช่วยการสอน CAI (Computer Assisted Instruction) ได้เอง ปัจจุบันมีการประกวด Website และ CAI โดยมีผู้สนใจส่งเข้าประกวดหลายร้อยรายการ
นอกจากนั้นในแผนนี้ยังมุ่งผลิตบุคลากรที่สามารถเขียนและพัฒนาโปรแกรมได้เอง โดยปูพื้นฐานนักเรียนมัธยมศึกษาและต่อยอดที่ระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการผลิตทรัพย์สินทางปัญญา ลดการนำเข้า และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในระดับนานาชาติ ให้ประเทศชาติแข็งแรงและมีความมั่นคงในด้านนี้ต่อไปด้วย
ในเรื่องการกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา แผนหลักได้ระบุพันธกิจและเป้าหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์สารสนเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานด้านสารสนเทศของกรมเป็นเจ้าภาพ ให้จัดหาและสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ประกอบ และที่สำคัญ คือการทำงานร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อต่อเชื่อมเครือข่าย Internet จากเดิมที่ไม่ทั่วถึง ให้เป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ (EdNet) โดยจะมีการต่อเชื่อมไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษาที่สอนมัธยม ภายในปีงบประมาณ 2546 และ 2547 และโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่ง ภายในปีงบประมาณ 2548 ตามลำดับ (จำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 37,000 โรงเรียน) โดยทุกตำบลจะมีโรงเรียนอย่างน้อย 1 แห่ง มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ในช่วงเวลาที่รัฐบาลโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำลังให้จองคอมพิวเตอร์รุ่น "สินสมุทร" และ"สุดสาคร" ที่มีคุณภาพมาตรฐานและราคาย่อมเยานั้น ท่านปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน การจัดทำแผนแม่บทของกระทรวงฉบับนี้ ได้ให้กรมสำรวจความต้องการของครู อาจารย์ และ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้สั่งจองในภาพรวม ซึ่งจะช่วยให้มีเครื่องมือนี้ทำงาน เป็นการช่วยเสริมการจัดหาของราชการอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้จะจัดหาโปรแกรมมีลิขสิทธ์ตามกฎหมายหรือโปรแกรมที่เป็นชนิด open source เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและบริหารจัดการ ทั้งนี้จะรวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังโรงเรียนสมบูรณ์แบบของทุกอำเภอที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในช่วงกำลังดำเนินการนี้ด้วย
ปัจจุบันกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งนอกจากจะเป็นกำลังสำคัญด้านวางโครงสร้างให้ทั่วถึงและกระจายเครือข่ายให้สมบูรณ์ (โรงเรียนในฝัน) รวมทั้งประสานการผลิตคอมพิวเตอร์รุ่นพิเศษแล้ว ยังช่วยระดมการบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้แล้วแต่ยังมีคุณภาพใช้ได้ สมทบกับ "โครงการปลูกต้นกล้าปัญญาเด็กไทย" ที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (ดร.สิริกร มณีรินทร์) เป็นประธานการดำเนินการ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ มีเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำคัญเพิ่มขึ้น จากที่ได้รับบริจาคไว้ รอตรวจสอบสมรรถนะ จากศูนย์ซ่อมบำรุง สังกัดกรมอาชีวศึกษา พร้อมจะจัดสรรทยอยให้โรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ด้านนี้ นับหมื่นเครื่อง ซึ่งจะช่วยลดภาระรัฐในการจัดหาเครื่องโดยเงินงบประมาณแผ่นดิน ในช่วงเวลาที่งบประมาณแผ่นดินยังมีค่อนข้างจำกัดนี้ได้เป็นอย่างมาก
แผนหลักด้าน ICT ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำหนดกรอบงบประมาณรวม 22,885 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์หลักในช่วงเวลา 3 ปีดังกล่าวแล้วนั้น มิใช่แผนหลักที่เป็นความฝัน แต่เป็นแผนที่เป็นจริงได้และส่วนหนึ่งเป็นจริงแล้ว การทำงานด้านพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะดำเนินให้ได้ครบถ้วน การมุ่งใช้ ICT ช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ การบริหารการจัดการการ การจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ การเชื่อมโยงเครือข่าย การจัดทำ Website ของสถานศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดผ่านเครือข่าย จะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นและจะสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนั้น มิติการทำงานกับชุมชน องค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด
ตัวชี้วัดส่วนหนึ่ง คือ Website ของเขตพื้นที่การศึกษาและของโรงเรียนที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน จำนวน CAI ที่ครู อาจารย์ทุกระดับ รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์พัฒนามีแพร่หลายในงานนิทรรศการและวงการธุรกิจด้านนี้ เห็นได้ชัดเจนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และจะมีมากขึ้นอีก จำนวน e-mail ที่ส่งถึงกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นหนังสือราชการมากขึ้น มีความเป็นวิชาการ มีส่วนของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต่อยอดกันมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี Website ที่เด็กนักเรียนสร้างขึ้นเป็นส่วนตัวมีเพิ่มขึ้นเป็นการเอื้อต่อการระดมกำลังกัน ร่วมกันทำงาน เสริมความรู้ซึ่งกันและกันทำให้การเรียนรู้เป็นประโยชน์มากกว่าการรู้แบบแยกส่วน แบบต่างคนต่างรู้ ซึ่งการเสริมกำลังความรู้กันนั้นทำให้หนึ่งบวกหนึ่งมีค่ามากกว่าสองจะเป็นประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งทางพลังปัญญา ช่วยในการพัฒนาด้านต่าง ๆ แก่ประเทศชาติโดยรวม ได้มากขึ้นแน่นอน
ไม่มีความเห็น