สิ่งดี ดี มีให้เธอ...ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย


    จากแรงบันดาลใจในรั้วโรงเรียนแพทย์สู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด  ด้วยความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยม  ที่จะดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  ดิฉันไม่รีรอเลยเมื่อได้ยินน้องพยาบาลส่งเวรกันว่ามีคุณยายเตียง 10  เป็น CA  Gallbladder 

      ดิฉันได้เข้าไปพูดคุย ดูแล  จึงทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตบนถนนสายสุขภาพของคุณยาย  พบว่าต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน  ทั้งกายและใจ  ไม่แตกต่างกับลูกชายที่ต้องวนเวียนเฝ้าไข้และต้องเผชิญกับความเครียดสะสมเช่นกัน  ลูกชายเล่าให้ฟังว่าตนจะออกไปทำสวนได้ครั้งละไม่เกิน  20  นาที  มิเช่นนั้นคุณยายจะมีอาการกำเริบ  คือ  อาการปวดท้องและอาการทางจิตเวช คือจะมีอาการเกร็ง  มือสั่น  เอะอะโวยวาย เคี้ยวปากตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เองจึงขอย้ายการรักษาจากโรงพยาบาลชุมชนมาโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งการรักษาที่ได้คือยาระงับอาการต่างๆ  แต่ก็ไม่ได้ทำให้อาการคุณยายสงบลง 

      ในเช้าวันเดียวกันนั้นเอง แพทย์ต้องการให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลชุมชนด้วยยาชุดเดิม  ความรู้สึกของดิฉันตอนนั้นบอกเลยว่า...ไม่นะ...คุณยายยังกลับไม่ได้  เพราะจิตใจใต้สำนึกของดิฉันบอกว่ามันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น  ที่ทำให้คุณยายมีอาการเช่นนี้  จึงได้ปรึกษากับแพทย์เจ้าของไข้ถึงประวัติเดิมของคุณยาย  ว่าเคยรับการผ่าตัดโดยทีมศัลยกรรมที่โรงพยาบาลเรา  แล้วส่งตัวคุณยายไปรับยาเคมีบำบัดที่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิในต่างจังหวัด  แต่คุณยายก็ไปไม่ถึงดวงดาว  คือได้รับยาไม่ครบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ  อาการแทรกซ้อนจากยาเคมีบำบัด  จึงเป็นเหตุให้ขาดการรักษาต่อเนื่องไป  

       จากนั้นแพทย์ไม่รีรอเลยที่จะเขียนใบขอคำปรึกษาไปยังแผนกศัลยกรรมและนั่นก็ทำให้  ดิฉันได้พบกับความประหลาดใจอีกครั้งเมื่อคุณยายลุกขึ้นมานั่งเอะอะโวยวาย  ตะโกนเสียงดัง  ซึ่งขณะนั้นลูกชายคุณยายไม่ได้อยู่ด้วย  แต่ด้วยสัญชาตญาณ  ดิฉันจึงเข้าไปพูดคุยกับคุณยายและเห็นว่าน่าจะช่วยให้ใจคลายจากความทรมานทางกายได้บ้างคือการภาวนาเจริญสติ  จึงได้แนะนำคุณยายให้ลองปฏิบัติตาม ไม่น่าเชื่อเลย ปรากฏว่าอาการคุณยายสงบลงได้โดยไม่ต้องใช้ยาใด ๆ   เหตุการณ์นี้ทำให้ดิฉันได้สติว่า  สิ่งที่ทำได้มากกว่าการช่วยบรรเทาอาการ  และสามารถทำได้เสมอ  นั่นคือ  การให้ความรัก  การดูแลเอาใจใส่และความห่วงใย 

       สำหรับการวางแผนการจำหน่ายนั้นดิฉันได้พูดคุยและวางแผนร่วมกับลูก ๆของคุณยาย ถึงวิธีการจัดการอาการรบกวนต่าง ๆที่เกิดขึ้น  โดยติดต่อเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยมาให้ความรู้เรื่อง การนวดกดจุดบรรเทาอาการปวด  เพื่อที่จะได้มีอาวุธในการจัดการกับความปวด  สำหรับเรื่องของการให้ยาที่ยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคุณยายนั้น  ดิฉันได้จัดทำสมุดบันทึกความปวด  ให้กับลูกชายคุณยายเพื่อลงบันทึกเพื่อจะได้มองเห็นในภาพรวมว่าวิธีไหนที่ทำแล้วช่วยบรรเทาได้มาก  และใช้เพื่อให้แพทย์ทราบถึงระดับความเจ็บปวด  ใช้เป็นแนวทางในการให้ยาแก้ปวด  รวมถึงได้เห็นศักยภาพของลูกชายในการดูแลคุณยาย 

       หลังจากที่คุณยายกลับบ้าน  ดิฉันได้มีระบบการติดตามโดย  Home  Call  และรับปรึกษา  24  ชม.  มีการส่งข้อมูลกลับโดยเขียนตอบใบ  refer  ส่งใบ  HHC  ไปยังสถานีอนามัย  และที่สำคัญ  ดิฉันได้ติดตามไปเยี่ยมที่บ้าน อำเภอสามเงา  ทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต  วิถีชุมชน  สถานภาพและแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วย  ทำให้ดิฉันได้เข้าใจชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น  ที่สำคัญได้เรียนรู้ความกตัญญูกตเวที  ของลูกชายคนหนึ่งที่ดูแลบุพการีโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง  ภาพที่ปรากฏเป็นความน่าประทับใจอย่างที่สุด  ถือได้ว่าแต่ละฝ่ายต่างก็มีส่วนช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน  จะเห็นได้ว่า  ณ  เวลาหนึ่ง  สถานที่แห่งหนึ่งจะมีบุคคลหนึ่งที่เหมาะสมต่อการดูแล  ซึ่งอาจจะไม่ใช่แพทย์  หรือ  พยาบาลก็ได้  ถือได้ว่าเป็นความงดงามที่เราอาจนึกไม่ถึงที่เราเคยคิดว่าเป็นแค่ความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้นี่คงเป็นคำตอบสุดท้ายที่สามารถตอบโจทย์เชิงนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้

            จะเห็นได้ว่าการบำบัดอาการเจ็บป่วย  ทางกายของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  อาจไม่สำคัญเท่าการใช้ใจรักษาใจ  เพื่อสร้างสุขให้คนไข้ก่อนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  แต่จุดสำคัญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  จึงอยู่ที่การทำความเข้าใจและเอาชนะความรู้สึกอึดอัดใจของตนเอง  โดยมองให้เห็นถึงสิ่งที่เราจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  และครอบครัวได้  โดยการให้ความรัก  การดูแลเอาใจใส่  และความห่วงใย

..........................................................................................................

ผู้บันทึก : ฐิติพร  จตุพรพิพัฒน์ หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 

หมายเลขบันทึก: 297467เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2009 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดูแลตัวเองมั้งนะ อินกะเค้าแบบพอเพียง ถึงจะดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท