หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

คาราวานสร้างฅน ตอนที่ ๓ - จบ (ฅนรักบ้านเกิดและจิตอาสา)


“...อุตรดิตถ์ไม่มีใครทำ พวกผมเป็นกลุ่มเดียวที่มารวมตัวกันทำ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ อุตรดิตถ์กำลังจะเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ อีกหน่อยก็จะเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาเต็มไปหมด เพราะทางด้านคุณธรรมจริยธรรมมันไม่โตตามไปด้วย ยังไม่มีใครมาสนใจทำเรื่องนี้กันเลย...”

     ใหม่–ณฐพร พรมโพธิ ช่างกล้องมือดีของกลุ่มฯ เป็นรุ่นน้องเดี่ยวหนึ่งปี ทำกิจกรรมร่วมหัวจมท้ายกับชมรมในคณะนิเทศศาสตร์ ในระหว่างศึกษาอยู่มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา จ.เชียงราย ซึ่งหลังจากเรียนจบแล้วก็กลับไปเป็นอาสาสมัครอยู่ที่นี่อีกพักใหญ่ ใหม่ เล่าว่า

     “...พอเรียนจบผมก็ไปเตร็ดเตร่อยู่เชียงรายอยู่ปีหนึ่ง ไปอยู่มูลนิธิกระจกเงา ตอนแรกไปเป็นนักศึกษาฝึกงานก่อนแล้วที่นี้ผมถูกใจ ก็กลับไปอีกรอบหนึ่ง ไปอยู่บ้าน ผอ.เฉย ๆ เวลาออกค่ายผมก็ไปช่วยขับรถบ้าง ไปถ่ายรูปบ้าง ตอนนั้นกำลังบ้าถ่ายรูปก็เลยไปช่วยถ่ายรูปให้เป็นฐานข้อมูล...”

     จากนั้นก็มีโอกาสเข้าไปทำงานกับทีวีบูรพา ที่กรุงเทพฯ

     “...เพื่อนอยู่คนค้นคน โทรมาตาม ก่อนหน้านั้นผมรู้จักกับพี่เช็ค ได้ทำงานร่วมกับพี่เช็คมาหนึ่งชิ้น เขาก็เลยโทรตามให้ผมไปช่วยงานที่ทีวีบูรพา ก็ไปทำงานเป็นช่างภาพ แรก ๆ เป็นช่างภาพทุกรายการ ส่วยใหญ่จะเป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก  ตอนนั้นมันก็เริ่มๆจุดประกายนิดๆ ว่าเราบันทึกภาพ เห็นภาพชีวิตที่หลากหลาย ก็เริ่มตั้งคำถามตัวเองว่าทำไมเราไม่กลับไปทำอะไรที่บ้านเราบ้าง...”

     จังหวะที่คุณแม่ล้มป่วย ใหม่ จำต้องลาออกจากงานกลับมาอยู่ดูแลคุณแม่ที่บ้าน จนกระทั่งท่านเสียชีวิต ช่วงนั้นได้พบกับเดี่ยวและเพื่อน ๆ ที่เคยร่วมงาน หลังจากจัดงานศพคุณแม่เรียบร้อยแล้ว ใหม่ก็เข้าร่วมงานกับกลุ่มอย่างเต็มตัว และตั้งใจว่าจะทำงานเพื่อสังคมผ่านกลุ่มฯ อุทิศให้กับคุณแม่ผู้ล่วงลับ

     “...ผมทำโครงการนี้ ตรง ๆ เลยถือว่าทำบุญให้แม่ โครงการนี้ได้ช่วงที่ผมจัดงานศพแม่พอดี...”

     นอกจากนั้น ใหม่ยังมองว่า ปัญหาเรื่องคุณธรรม-จริยธรรม กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ การรวมตัวทำกิจกรรมเพื่อสังคมของพวกเขา น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาวให้บ้านเกิดเมืองนอน

     “...อุตรดิตถ์ไม่มีใครทำ พวกผมเป็นกลุ่มเดียวที่มารวมตัวกันทำ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ อุตรดิตถ์กำลังจะเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ อีกหน่อยก็จะเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาเต็มไปหมด เพราะทางด้านคุณธรรมจริยธรรมมันไม่โตตามไปด้วย ยังไม่มีใครมาสนใจทำเรื่องนี้กันเลย...”

 

     ต้น–วิสันติ ปรีดาภิรมย์ ลูกชายเจ้าของบ้าน ซึ่งผู้เป็นพ่อได้อนุญาตให้ใช้ห้องหนึ่งในบ้าน เป็นที่ทำการของกลุ่มฯ ต้น เป็นศิษย์เก่าที่คณะนิเทศศาสตร์ เช่นเดียวกับเดี่ยวและแกนนำคนอื่น หลังเรียนจบแล้วไปทำงานเป็นช่วงภาพให้กับมูลนิธิโลกทัศน์ไทย ที่เชียงใหม่อยู่ ๒ ปี ก่อนจะย้ายกลับมาอยู่บ้าน

     “...ผมจบได้ ๒ ปีแล้ว ไปทำงานที่เชียงใหม่ เป็นช่างภาพอยู่ที่มูลนิธิโลกทัศน์ไทย กลับมาบ้านเจอพวกเพื่อน ๆ น้อง ๆ ชวนมาทำงาน ก็เลยออกมา...

     ต้น พูดถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาอยู่บ้าน และร่วมงานกับเพื่อน ๆ ว่า

     “...คือมันตรงกับความฝันของผมครับ ผมอยากจะทำอะไรเพื่อให้สังคม ให้บ้านเกิดดีขึ้น...”

     การตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน และร่วมงานกับเพื่อน ๆ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากครอบครัว ระยะแรกที่ยังไม่มีรายได้จากทางกลุ่มฯ เขาใช้เงินสะสมจากที่ทำงานเดิมอย่างประหยัด ซึ่งเงินเพียงเล็กน้อยทำให้เขาอยู่ได้กว่าปี ภายหลังที่กลุ่มฯ เริ่มรับงานและเริ่มมีรายได้ เขาก็เริ่มลืมตาอ้าปากได้ และมีเรี่ยวแรงที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมบ้านเกิดเมืองนอนได้มากขึ้น ตามความฝันของตนเอง

 

     นิด–นิด สุกกล้า เป็นแกนนำกลุ่มคนเดียวที่มิได้จบจากคณะนิเทศศาสตร์ เขาเรียนมาทางบริหารทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ รุ่นเดียวกันกับเดี่ยว ในขณะที่ยังศึกษาอยู่เดี่ยวชวนเขาเข้ามาทำกิจกรรมอยู่เรื่อย ๆ จนสนิทสนมกัน นิด เล่าถึงเหตุผลที่มาร่วมกิจกรรมกับเดี่ยวว่า

     “..ตอนแรกที่เข้ามากับเดี่ยว เดี่ยวเป็นคนชวนผมมา เพราะว่าตัวเองจริง ๆ ไม่ได้เรียนในสาขานิเทศฯ ผมเรียนทางบริหารทรัพยากรมนุษย์ ใจมันอยากจะทำอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เข้าไปเรียนผิดทาง ไปเรียนในเอกที่ไม่มีกิจกรรมก็เลยต้องไปอาศัยของเอกนิเทศฯ เพื่อสนองตัวเองในการอยากทำกิจกรรม ตอนแรก ๆ ที่มาเจอกับเดี่ยวก็รับฝึกอบรม ผมจะรับผิดชอบด้านนันทนาการ...”

     หลังเรียนจบนิดเข้าไปทำงานเป็นพนักงานที่บริษัทเสริมสุข ในกรุงเทพฯ ราว ๑ ปี แล้วย้ายกลับมาอยู่บ้านทำงานอยู่ในร้านประดับยนต์ ซึ่งในขณะนั้นเขาเริ่มเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มฯ บ้างแล้ว หลายครั้งงานของกลุ่มฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานอาสาสมัครไม่ตรงกับวันหยุดงาน เขาใช้วิธีลางาน และหลัง ๆ เริ่มบ่อยขึ้นจนนายจ้างเริ่มไม่พอใจ กระทั่งตัดสินใจลาออก

     “...เหตุผลที่ออกมาก็คือเวลาทำกิจกรรมบางครั้งงานมันคาบเกี่ยวกันระหว่างงาน ลางานมากจนเจ้านายไมค่อยชอบ ตอนแรกเขาก็เข้าใจ แต่พอนานไปมันเยอะเข้า บ่อยข้า ก็เริ่มชั่งใจว่าอยู่ตรงไหนแล้วมันมีความสุข อยู่ตรงไหนมันมีความทุกข์ ก็เลยต้องชั่งใจ เลยตัดสินใจออกมา...”

     นิดตัดสินใจลาออกจากงาน แม้ว่าจะมีความกังวลกับรายได้บ้าง แต่ก็คิดว่าการตัดสินใจเช่นนี้น่าจะสร้างความสุขใจให้เขาได้มากกว่า

     “...ยอมรับนะครับว่ามันไม่แน่นอน บางครั้งก็มีงานมีรายได้ บางครั้งมันก็ไม่มี มันไม่ได้ประจำเหมือนที่นู่น แต่สิ่งที่ได้มามันเสริมที่อยู่ในใจ และมันไม่ต้องไปอยู่เป็นลูกน้องใคร ผมคิดอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง ออกไปทำค่ายนั่งกระบะหลังไป ได้เห็นทัศนียภาพ ได้ไปเจออะไรแปลก ๆ ได้ทำประโยชน์ให้สังคม ก็คือกำไรที่ได้กับใจตัวเองแล้วมีความสุขตรงนี้แล้ว...”

 

     มล–ดวงกมล สืบสิงคาร เป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวในทีมงาน เข้าร่วมงานเป็นอาสาสมัครกลุ่มฯ ตั้งแต่ยังเป็นเรียนอยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุตรดิตถ์

     “...หนูเพิ่งจบเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่เรียนอยู่ก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มฯ ตลอด ตอนแรก ๆ เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่าอยากไปค่ายฯ อยากลองดูว่าการออกค่ายฯ มันเป็นยังไง...

     ...หนูเหมือนตัวคนเดียว ใช้ชีวิตอยู่หอและอยู่กับเพื่อน ปกติไม่เรียนก็ไปร้องเพลงคาราโอเกะ ไม่ก็เล่นเกมไปตามประสา พอเราไปทำค่าย เหมือนว่าเราได้แบ่งปันให้คนอื่น...”

     มล ได้รับการทาบทามจากพี่ในกลุ่มฯ ให้มาช่วยงานด้านเอกสาร ซึ่งเป็นงานที่มีความถนัด มลบอกว่า เราเป็นผู้หญิงเข้ามาทำงาน จะช่วยกลุ่มฯ ได้มากเพราะบางเรื่องผู้ชายอาจมองข้ามไป การเป็นหญิงในกลุ่มจึงทำให้คิดและทำในสิ่งที่ผู้ชายคิดและทำไม่ได้

     นอกจากจะมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการร่วมงานกลุ่มฯ แล้ว เวลาว่างเธอยังมีรายได้จากการค้าขายเล็ก ๆ น้อย อาทิ เสื้อผ้า การ์ดต่าง ๆ 

 

หมายเลขบันทึก: 297302เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2009 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

คาราวานสร้างฅน ตอนที่ ๓ - จบ (ฅนรักบ้านเกิดและจิตอาสา) มาแล้วครับ

เข้ามาเยี่ยมชทงานจิตอาสาที่เป็นรูปธรรมของแท้และแน่นอน

ขอบคุณสำหรับบันทึกจิตอาสา ที่หาได้ยาก ในยุคนี้ครับ

  • ธุ  คุณหนานเกียรติค่ะ..

วันหนึ่งที่ต้อมอยากหนีไปให้ไกลจากสิ่งที่เป็นอยู่นี้   ต้อมเสิร์ชหาข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับครูดอยเท่าที่จะรู้ได้   อยากไปให้ไกลๆ เข้าป่า-เข้าดอย  ไปใช้ชีวิตในนั้น   ไปสอนหนังสือเด็กๆ   แต่ก็รู้ว่าตัวเองไม่มีวุฒิการศึกษาที่จะไปทำแบบนั้นได้   เซ็งจิตมากๆๆ   จนพี่เหี้ยมถามกลับมาว่า.. "ค่าใช้จ่ายส่วนตัวล่ะต้อม???"    เลยสงบๆ ค่ะ    ถึงมักจะบอกใครๆ ว่าเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ    แต่เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าเงินเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินชีวิตอยู่ดี   ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

 

ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ นะคะ ที่กล้าที่จะก้าวไปทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม 

  • ในวัยที่ทำตามอุดมคติได้จะมีพลังมากเลยค่ะ และจากอุดมคติก็จะกลายเป็นความจริง เพราะการหล่อหลอมรวมตัวกันเป็นหนึ่งของหนุ่มสาวเนี่ยแหละค่ะ  เห็นงานที่ทำกันคนละไม้คนละมือแล้วทึ่งมากค่ะ
  • ส่วนในวัยที่มีครอบครัวแล้ว  การทำงานจิตอาสาก็จะออกไปในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการเกื้อหนุนทุนทรัพย์ สิ่งของ  แต่ขาดเวลาและแรงงาน
  • เป็นเรื่องเล่าชีวิตที่มีพลังจริง ๆ ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับ พี่ หนานเกียรติ

มาอ่านตอนจบครับ

ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ครับ

สวัสดีค่ะพี่หนานมาทักทายยามบ่ายอยากชิมกาแฟสดครูคิมจัง..อ้อคงใช่มังค่ะที่โรงเรียนเคยเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมทำโครงการนักสืบสายน้ำ โครงการเยาวชนรักษ์น้ำปิง ฯลฯค่ะสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ปลูกป่าบ่อยมากค่ะ

ท่านรอง small man ครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

วันนี้ไปเยี่ยมโรงเรียนใน จ.นครปฐม เลยนึกขึ้นมาได้ว่ามีเรื่องติดค้างท่านรองเรื่องนึง คือเรื่องบันทึกที่กลับคืนโรงเรียนหลังจากการเก็บข้อมูล

รอสักหน่อยนะครับ คาดว่าในสองสามวันนี้น่าจะได้ลงมือ

น้องต้อมครับ เนปาลี

คนเรามีวิถีของเราครับ จะเรียกว่าพระเจ้า (กรรม) กำหนดมาให้เราแล้วก็ได้

การเป็นหรือไม่เป็นอะไร กรรมในอดีตเป็นผู้กำหนดปัจจุบัน และเราอยากเห็นอนาคตเป็นเช่นไรก็กำหนดได้ในปัจจุบัน

(แหะ แหะ เผลอแป๊บ เทศน์ซะแล้ว...)

ผมก็อยากจะทำอะไรอีกร้อยแปดแต่ก็ไม่ได้ทำ

ถามว่าเสียใจไหม คำตอบคือไม่ เรามีศักยภาพเท่าที่เราจะทำได้ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น แค่ตอบตัวเองว่าได้ทำเต็มที่แล้วได้อย่างเต็มปากเต็มคำก็เพียงพอ

มีบางอย่างเวลามันจะคลี่คลายไป และอาจขัดแย้งกับสิ่งที่เรายึดถือในอดีต

เช่น

เมื่อก่อนผมรังเกียจการทำธุรกิจมาก ให้เหตุผลได้ร้อยแปด

แต่วันนี้ผมตัดสินใจทำธุรกิจทีพัก (เล็ก ๆ)

เสียใจกับการตัดสินใจไหม

ไม่ครับ แต่อธิบายตัวเองได้ว่ามันไม่ใช่เป็นการตะบัดสัตย์

..

พูดเยอะไปแล้วเน๊อะ

ไปเชียงใหม่จะเลี้ยงไหมไทย กะ กามิกาเซ่ จริง ๆ

สวัสดีครับ Sila Phu-Chaya

ผมมีเรื่องเล่าทำนองนี้เยอะเลยครับ

เป็นความโชคดีของชีวิตที่ได้แวะเวียนไปรับรู้เรื่องราวของคนเล็ก ๆ ที่ทำอะไรยิ่งใหญ่ (ในทัศนะผม)

ช่วยหล่อเลี้ยงอะไรสักอย่างของผมให้เบ่งบานและเติบโตครับ

สวัสดีค่ะ

  นอกจากนั้น ใหม่ยังมองว่า ปัญหาเรื่องคุณธรรม-จริยธรรม กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ การรวมตัวทำกิจกรรมเพื่อสังคมของพวกเขา น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาวให้บ้านเกิดเมืองนอน

เห็นด้วยค่ะ  เป็นคนหนึ่งที่เคยไปเป็นนักศึกษาฝึกงานที่กระจกเงาเชียงราย

และก็กลับไปอีก...^_^  ทุกวันนี้มีโอกาสก็ยังกลับไปค่ะ  เล็กๆน้อยๆที่พอทำได้

ก็อยากทำแค่นี้ก็มีความสุขแล้วค่ะ ^_^ สู้ๆค่ะทุกคน

สวัสดีครับ did

ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ จบแล้ว

ผมมีงานเขียนละเอียดของเรื่องเล่านี้ แต่ต้องส่งให้ต้นเรื่องก่อนครับ ถ้าสนใจจริง ๆ จะเมล์ส่งให้ครับ ทิ้งเมล์ไว้ให้ก็ดีนะครับ

ผมมีเรื่องเล่าทำนองนี้อีกสักสองสามเรื่อง ติดตามอ่านนะครับ

ครู rinda ครับ

ใช่ ๆ ประมาณนั้นแหละ แต่ทำไมจำรายละเอียดไม่ได้ก็ไม่รู้

ขอบคุณที่แวะมาครับ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

ผมมีเรื่องเล่าทำนองนี้อีกสักสองสามกรณีครับ

ตามอ่านนะครับ

สวัสดีครับ เทียนน้อย

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

หนุ่มสาวกลุ่มนี้ช่วยเสริมกำลังใจผมเยอะเลยครับ

มีเรื่องราวดี ๆ แบบนี้มาแบ่งปันอีก ตามอ่านนะครับ

สวัสดี ทุกๆ กำลังใจครับ

มาถึงตอนจบซะแล้ว เสียดายจัง แต่ถึงอย่างไร เรื่องราวของพวกเรายังไม่จบหรอกครับ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ถึงแม้จะในนาม กลุ่ม ฅ.บ้านนอก หรือในนามไหนก็ตามแต่ กำลังใจต่างๆ ที่ชื่นชมมาทำให้พวกเรายิ้มออก และมีความหวังขึ้นอีกมากครับ และเราก็ขอส่งกำลังใจดีๆ กลับคืนทุกๆ คนนะครับ ขอให้ทุกคนโชคดี เดินตามฝันได้อย่างมั่นคงและมีความสุขกับมันครับ

กลุ่ม ฅ.บ้านนอก

ปล.ขณะนี้ กลุ่ม ฅ.บ้านนอก เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เรียกว่ามีบั้ง ถูกต้องตามกฏหมายแล้วด้วยครับ

แสดงความยินดีกับ ฅ.บ้านนอก ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท