อะไรคือแผนที่ผลลัพธ์.........แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping)ตอน1


แผนที่ผลลัพธ์เป็น “เครื่องมือช่วยนำทางการเดินทางให้นำไปสู่จุดหมายปลายทาง”(พร้อมๆกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระหว่างการเดินทางด้วย)..........ให้เป็นการเดินทางที่มีความหมายมีคุณค่า(ความดี) มีความสามารถที่สอดคล้องในการเดินทาง (ความสามารถ)รวมทั้งมีความสุขสนุกสนานในการเดินทาง(ความสุข)

วันเสาร์-อาทิตย์ 12-13 กันยายน 2552 วันหยุด ผมมาเป็นนักเรียนน้อยเข้ารับการอบรมหลักสูตร  “แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping)ขั้นพื้นฐาน” จัดโดยบางกอกฟอรั่ม ที่ KU Home มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มี อ.หมู- วีรบูรณ์ วิสารทสกุล  จาก มธ. และคุณสุรชัย  รักษาชาติจนท.ของบางกอกฟอรั่ม เป็นวิทยากร  ผมสมัครเข้าอบรมหลักสูตรนี้ด้วยต้องการขยายเพดานการเรียนรู้ ต่อยอดจากการทำงานของผมในเรื่อง “การจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนา” ที่ผมสนใจเป็นทุนเดิมและมีประสบการณ์อยู่บ้างแล้ว  โดยผมมีสมมุติฐานในเบื้องต้นว่า“แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping) และ“การจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนา” น่าจะไปด้วยกันได้และเสริมกันได้

 อะไรคือแผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping)

ผมได้ฟังอ.หมู-วีรบูรณ์บรรยาย(เป็นคนแปลหนังสือOutcome Mapping ครับ)และได้อ่านบันทึกของคุณ Phoenix  ใน G2K Blog “คันฉ่องนกไฟ” ที่ได้บันทึกเรื่องนี้มาก่อนแล้วหลายตอน   ผมเตรียมตัวอ่านมาก่อนการอบรมตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว หลังจบการบรรยายผมได้สรุปความหมายของ แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping) ตามความเข้าใจของผมเป็น 3 มิติดังนี้

แผนที่ผลลัพธ์ คือ กระบวนการจัดทำแผนที่ที่แสดง“ผลลัพธ์สำคัญระหว่างทาง”

แผนที่ผลลัพธ์ในมิตินี้เป็นกระบวนการจัดทำแผนที่ที่แสดง“ผลลัพธ์สำคัญระหว่างทาง”โดย"กระบวนการถอดประสบการณ์จากการเดินทาง(การทำงาน)ร่วมกันซึ่งเป็นการใช้ทั้งประสบการณ์ ความรู้ ความรู้สึก สติปัญญาของผู้ที่เกี่ยวข้องมากำหนดเป็น “แผนที่” ในลักษณะของการแสดงเป็นสัญลักษณ์ (markers) ไว้สำหรับตัวเราเองที่จะได้ใช้เป็นตัวนำทางในการทำงานในโอกาสต่อไปหรือเพื่อคนอื่นที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันได้ใช้เป็นตัวนำทาง"  ทั้งนี้กระบวนการถอดประสบการณ์ของการเดินทาง(การทำงาน)นั้นเป็นทั้งการถอดจากประสบการณ์ตรงและประสบการณ์ทางอ้อมมาเทียบเคียงแล้วจัดทำเป็น “แผนที่”  ซึ่ง การจัดทำ“แผนที่”ในลักษณะนี้จะเป็นการจัดทำตัวแสดง “ผลลัพธ์สำคัญระหว่างทาง”ที่แสดงเป็นสัญลักษณ์ในลักษณะที่mark ไว้เป็นตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าที่สำคัญ  ช่วยบอกแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ(เช่น ความท้าทายเชิงผลลัพธ์- Outcome  challenges , เกณฑ์บ่งชี้ความก้าวหน้า-Progress markers เป็นต้น) ทั้งนี้IDRC เจ้าตำหรับแผนที่ผลลัพธ์ เสนอว่าน่าจะมีการ mark จุดสำคัญไว้ 12 ขั้นตอนย่อย(สำหรับผมเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์การจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาแล้ว มีความเห็นว่าน่าจะเพิ่มอีก 1 ขั้นตอนย่อยหลังขั้นตอนย่อยที่ 5คือขั้นตอนการกำหนดวิธีได้มาซึ่งข้อมูลตามเกณฑ์บ่งชี้ความก้าวหน้า) ดังนั้นแผนที่ผลลัพธ์ ในมิตินี้จึงเป็นการเน้นการออกแบบกรอบการพัฒนาในอนาคตร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

2.  แผนที่ผลลัพธ์เป็น “เครื่องมือนำทาง ช่วยการเดินทางให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง”(พร้อมๆกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระหว่างการเดินทางด้วย)

 แผนที่ผลลัพธ์ในมิตินี้เป็นเสมือนเครื่องมือนำทางสำหรับการเดินทาง(ทำงาน)  ช่วยให้การเดินทางประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหวัง หรือเป็นไปตามผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้กำหนดไว้ตามตัวชี้วัด(มีประสิทธิผล)และให้การเดินทางนั้น เป็นไปอย่างเรียบร้อย  ที่มีใช้ทรัพยากรน้อย และเวลาน้อย รวมทั้งสูญเสียน้อยที่สุด(มีประสิทธิภาพมากที่สุด) รวมทั้งมุ่งหวังให้เป็นการเดินทางที่มีความหมายมีคุณค่า(ความดี) มีความสามารถที่สอดคล้องในการเดินทาง (ความสามารถ)รวมทั้งมีความสุขสนุกสนานในการเดินทาง(ความสุข) ดังนั้น แผนที่ผลลัพธ์ในมิตินี้จึงเป็นการใช้เครื่องมือจาก "กระบวนการจัดทำแผนที่" ที่ผ่านมาแล้วในมิติที่ 1 แผนที่ที่แสดงนั้นจะเป็นในลักษณะ “แผนที่สำหรับเป็นตัวนำทางสู่ผลลัพธ์”  ซึ่ง“แผนที่” ในลักษณะนี้เป็นแผนที่ที่แสดงเส้นทางการเดินทางตลอดเส้นทาง(ผลลัพธ์เชิงกระบวนการระหว่างทาง)มากกว่าการเป็น“แผนที่” ที่แสดงเฉพาะ“ผลลัพธ์ที่มุ่งหวังสุดท้าย” เท่านั้น ซึ่งจะทำให้คนเดินทางหาเส้นทางสู่ผลลัพธ์ไม่เจอในลักษณะหลงทางเสียเวลา หลงติดยาเสียทั้งอดีตและอนาคต   สำหรับแผนที่ผลลัพธ์ในมิตินี้หากกระบวนการจัดทำทำแผนที่ทำมาดี  มีความถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ใครๆก็ใช้ได้ครับยิ่งคนที่มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนที่มากับมือด้วยแล้วเมื่อได้เดินทางจริง(ทำงาน/ปฏิบัติงานจริง)ยิ่งเมื่อได้ใช้แผนที่นำทางนี้แล้ว ยิ่งทำให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นครับ  ดีไม่ดีเมื่อคุ้นเคยดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้แผนที่นำทางอีกแล้ว แต่หากต้องเดินทางร่วมกับคนอื่นๆอีกหลายคนที่ยังไม่คุ้นเคยเส้นทางแผนที่ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ครับ

3. นอกจากนี้แผนที่ผลลัพธ์ยังเป็น “เครื่องมือที่ใช้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน” แผนที่ผลลัพธ์เป็นเครื่องมือที่มาเสริมการประเมินผลรูปแบบเดิม โดย “แผนที่ผลลัพธ์”ให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนงานพัฒนา   นั่นคือ  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  ความสัมพันธ์  กิจกรรม หรือการกระทำของคน  กลุ่มคน  หรือองค์กร รวมทั้งแผนงานทำงานด้วย   การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากกิจกรรมของแผนงานหรือไม่ก็ตาม     การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้  มีเป้าหมายที่การมีส่วนทำให้ความเป็นอยู่ของคนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น (ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน) โดยอาศัยเครื่องมือ  เทคนิค  และทรัพยากรใหม่ๆที่ได้จากกระบวนการในการพัฒนา   แผนที่ผลลัพธ์ในมิตินี้จึงเน้นการติดตามประเมินผล จะได้ทำให้ทราบได้ว่าผลการดำเนินงานเป็นไปตามที่มุ่งหวังหรือไม่   ทั้งที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายและผลลัพธ์ระหว่าง รวมทั้งทำให้รับทราบปัญหาอุปสรรคในการทำงานว่าเกิดจากอะไร  เกิดจากแผนที่ทำไว้ไม่ถูกต้องสอดคล้อง  หรือเกิดจากการใช้แผนที่ในการเดินทางไม่ถูกต้องหรือใช้ไม่เป็น เมื่อได้ทราบว่าปัญหาเกิดจากอะไรก็จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

 ทั้งนี้ผมได้แต่หวังว่าท่านทั้งหลายที่มีส่วนใช้ "แผนที่ผลลัพธ์"ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีส่วนจัดทำ“แผนที่สำหรับเป็นตัวนำทางสู่ผลลัพธ์” หรือ “แผนที่สำหรับการเดินทางสู่ผลลัพธ์" ไว้สำหรับตัวเราเองสำหรับเดินทางครั้งต่อไปหรือมีไว้เพื่อให้คนอื่นที่จะร่วมเดินทางด้วยจะได้ใช้ในการเดินทางให้นำเราไปสู่จุดหมายปลายทางของความสำเร็จที่เป็นผลลัพธ์ตามที่ได้กำหนดไว้ก็ดี   หรือไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้ “แผนที่ผลลัพธ์"สำหรับเป็นเครื่องมือช่วยการเดินทางสู่ผลลัพธ์อันเป็นจุดหมายปลายทางทั้งของตนเองและใช้ร่วมกับคนอื่นๆก็ดี รวมทั้งไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้ "แผนที่ผลลัพธ์"เพื่อการติดตามประเมินผลก็ดี  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักเดินทางด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น  และล้วนมีเป้าหมายในการเดินทางที่เหมือนกันคือการมุ่งหวังให้การเดินทางในแต่ละครั้ง  เป็นการเดินทางที่มีความหมาย มีคุณค่า(ความดี) มีความสามารถที่สอดคล้องเหมาะสมกับเส้นทางที่เลือกเดินทาง (ความสามารถ)รวมทั้งมุ่งหวัง ที่มีความเพลิดเพลิน  มีความสุข  ความสนุกสนานในการเดินทาง(ความสุข) ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสุดท้ายอันเดียวกันคือ "ความอยู่เย็น เป็นสุขร่วมกัน" นั่นเอง

ไม่ว่าท่านจะใช้แผนที่นำทางหรือไม่ก็ตาม  ขอให้ทุกท่านโชคดีสามารถเดินทางมู่จุดหมาย  มีคุณค่าความหมายและมีความสุขในระหว่างการเดินทางครับ

หมายเหตุ  บันทึกจากเข้ารับการอบรมหลักสูตร  “แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping)ขั้นพื้นฐาน” จัดโดยบางกอกฟอรั่ม ที่ KU Home มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ ที่12-13 กันยายน 2552 มี อ.หมู- วีรบูรณ์ วิสารทสกุล  เป็นวิทยากร เป็นการบันทึกรายงานการเข้าอบรมเสนอกับองค์กรของผู้บันทึกผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนรู้ด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 296858เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • สนใจเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ เนื่องจากมีการนำมาใช้กับงาน แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจถึงการนำมาใช้มากนัก
  • วันนี้ได้อ่านบันทึก ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณpa dang

  • ผมเป็นนักเรียนน้อยกำลังศึกษาเรืองนี้อยู่
  • วิทยากรอ.หมู-วีรบูรณ์จัดกระบวนการเรียนรู้ได้เยี่ยมเลย
  • และกรณีตัวอย่างของโครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ   ของบางกอกฟอรั่มช่วยให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจแผนที่ผลลัพธ์ได้มากขึ้น
  •  ผมว่าเครื่องมือนี้เป็นมากกว่าเครื่องมือติดตามประเมินผลครับ
  •  และผมเห็นว่าถ้าจะใช้เครื่องมือแผนที่ผลลัพธ์นี้ผู้เข้าร่วมน่าจะผ่านการจัดกระบวนการ AAR และกระบวนการสุนทรียสนทนา(Dialogue)มาก่อนจะเยี่ยมมากครับ
  • ขอบคุณครับที่มาแวะเยี่ยม

สวัสดีครับ

“แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping) เป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ

ผมพยายามอ่าน พยายามทำความเข้าใจอยู่ยากพอควร จะลองศึกษาดูอีกครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่มาถ่ายทอดครับ

ขอทราบความหมายของคำว่าแผนที่ผลลัพธ์ จากท่านผู้รู้เพราะอาจารย์ที่สอนให้งานให้ทำเป็น Power print ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท