ทิศทางการวิจัยท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย


การวิจัย

ทิศทางการวิจัยท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย 

บาว นาคร*

            การวิจัยของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนงานด้านการวิจัย และมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้ทำโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติปีจำปี 2552 ได้ทำพิธีลงนามระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้ง 9 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งทั้ง 9 แห่งจะได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยรวมกันในวงเงิน 9,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2553-2555 และมหาวิทยาลัยแห่งชาติจะต้องถูกประเมินทุกๆ 6 เดือนถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่วางไว้ก็จะถูก “ถอด” ออกจากการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ

ส่วนมหาวิทยาลัยที่ยังไม่เข้าเกณฑ์มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณภายใต้โครงการเดียวกันไว้อีก 3,000 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนงานวิจัยมหาวิทยาลัยของรัฐอีก 69 แห่งเป็นเวลา 3 ปี โดยงานวิจัยที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจะต้องเป็นงานวิจัยที่นำมาใช้ได้จริง ตอบโจทย์ชุมชนท้องถิ่น หรือเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและ SMEs แต่หากมหาวิทยาลัยใดใน 69 แห่งนี้ สามารถสร้างงานวิจัยที่ได้ตามเกณฑ์ที่วางไว้หรือติดอยู่ใน 500 อันดับมหาวิทยาลัยโลก ก็มีสิทธิที่จะได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติต่อๆไป[1]

 เมื่อพูดถึงคำว่า “การวิจัย” มีนักวิชาการด้านการวิจัยได้ให้ความหมายไว้ เช่น Kerlinger ,F.N. ได้สรุปว่า Scientific Research คือการค้นหาหรือสืบสวนอย่างเป็นระบบ ควบคุมและเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับคำกล่าว (proposition)ที่สมมติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ และมีสอดคล้องกับ   สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธิ์ ที่ได้กล่าวว่า การวิจัยหมายถึง กระบวนการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้อง ในสิ่งที่ต้องการศึกษา มีการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูล การวิเคราะห์และการตีความหมายของผลที่ได้จากการวิเคราะห์ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบคำถามที่ถูกต้อง[2]

การวิจัยต้องตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่น และปัญหาที่เป็นสาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาหรือนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นอาจจะมีความแตกต่างหลากหลายไม่เหมือนกันในแต่ละท้องถิ่น เพราะว่ารูปแบบการจัดทำนโยบายจำเป็นต้องอาศัยส่วนกลางก็จริงอยู่ แต่ว่าจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ และที่สำคัญท้องถิ่นไม่จำเป็นจะต้องเลียนแบบหรือทำตามนโยบายของรัฐบาลส่วนกลางเสมอไป จะต้องมีนโยบายสาธารณะที่เหมาะกับทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน ที่สำคัญการวิจัยที่เริ่มจากการคิดจากปัญหาของชุมชนท้องถิ่นซึ่งไม่ได้เป็นการคิดหรือออกแบบจากคนภายนอกชุมชนที่มาทำการศึกษาวิจัย แต่เป็นการคิดหรือรับรู้ปัญหาร่วมกันของชุมชนหรือประชาชนในชุมชนเอง เป็นโจทย์วิจัยในการแก้ไขปัญหาของชุมชนที่อยู่อาศัย รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนส่งเสริมพลังการวิจัยจากสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา

กระบวนการวิจัยที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่ทำโดยคนนอกหรือหน่วยงานภายนอกชุมชนที่เข้ามาศึกษาวิจัยในชุมชน โจทย์การวิจัย หรือหัวข้อวิจัย ประเด็นปัญหาในการวิจัยจึงเป็นสิ่งที่คิดหรือสร้างขึ้นจากภายนอกชุมชนเสียเป็นส่วนใหญ่ และมองคนในชุมชนเป็นเพียงแค่ผู้ถูกศึกษา หรือหน่วยในการศึกษาเท่านั้น ผลการวิจัยที่ออกมาก็จะตอบโจทย์ตามที่ผู้ศึกษาวิจัยตั้งไว้เท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์หรือปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง แต่ก็มีหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้มีการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยร่วมกับชุมชนในการศึกษาวิจัย แต่ว่าก็เป็นเพียงวิธีการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่บางหน่วยงานก็สามารถขับเคลื่อนงานวิจัยชุมชนท้องถิ่นได้โดยการเสริมสร้างและพัฒนานักวิจัยท้องถิ่น มีการหนุนเสริมด้านองค์ความรู้ด้านการวิจัยแก่ชุมชน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น

ดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยด้านการวิจัย หลังจากได้มีโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติซึ่งมีเกณฑ์บางข้อที่ว่า “เป็นงานวิจัยที่นำมาใช้ได้จริง ตอบโจทย์ชุมชน ท้องถิ่น หรือเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและSMEs” ทำให้มหาวิทยาลัยต้องแสวงหาแนวทางในการทำวิจัยและจะมีกระบวนการและวิธีการอย่างไรจึงจะตอบโจทย์ ชุมชนท้องถิ่นและเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ทำอย่างไรจึงจะมีการเสริมสร้างนักวิจัยท้องถิ่น หรือกระบวนการทำงานด้านการวิจัยร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและคนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับชุมชนท้องถิ่น  และพัฒนาการวิจัยระดับประเทศต่อไป

 

 


* บุญยิ่ง ประทุม  [email protected]

[1] มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4-10 กันยายน 2552 หน้า 18

[2] พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ.การสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง:ทฤษฎีและปฏิบัติ(THE SAMPLE SURVEY : THEORY AND PRACTICE).กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม,2550 หน้า 18-19.

คำสำคัญ (Tags): #การวิจัย
หมายเลขบันทึก: 296811เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท