รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันให้เอกชนจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น


ความพยายามของรัฐบาลต้องได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม

          จะเห็นได้ว่าได้มีความพยายามของทุกๆรัฐบาลในการที่จะสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชน  ดังจะเห็นได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ละท่านได้นำเสนอแนวนโยบายอย่างกว้างๆ อาทิ

        นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเรื่อง การมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และการศึกษาทางเลือก เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ณ โรงแรมสยามซิตี้  ที่ประชุมได้เสนอแนะประเด็นที่เป็นประโยชน์มาก จะได้นำไปใช้เพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์ นโยบาย มาตรการต่างๆ ต่อไป หัวข้อที่หารือครั้งนี้อยู่ในยุทธศาสตร์ข้อที่ ๗ ที่ รมว.ศธ.ได้ประกาศไว้ คือ การมีส่วนร่วมของเอกชน ชุมชนในการจัดการศึกษา  ข้อสรุปสำคัญอยู่ที่  ศธ. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของ ศธ. ที่ควรจะต้องลดบทบาทในบางด้าน และไปส่งเสริมบทบาทของภาคีส่วนอื่นๆทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ทั้งการศึกษาภาคเอกชน การศึกษาทางเลือก ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดย ศธ.จะเน้นบทบาทในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การดูแลประสานงาน การส่งเสริมให้เกิดเครือข่าย การพัฒนามาตรฐานและคุณภาพ เรื่องสำคัญที่ต้องทำต่อไปคือ ข้อเสนอจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการต้องปรับนโยบายในรายละเอียด มาตรการ กฎ ระเบียบต่างๆ ทั้งการผ่อนคลายระเบียบเดิมที่เข้มงวด ยกเลิกกฎระเบียบเดิมที่มีมากเกินไป  เน้นการควบคุมมากเกินไป การออกกฎเกณฑ์ใหม่ที่กฎหมายกำหนดไว้แต่ ศธ. ยังไม่ได้ทำ ทำให้ภาคีส่วนต่างๆ ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎเกณฑ์รองรับ

 

รมว.ศธ. กล่าวว่า ข้อเสนอจากที่ประชุมหลายอย่าง เคยมีมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีผลทางการปฏิบัติ ดังนั้น ต้องเร่งให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด ในเรื่องการศึกษาเอกชน จะมีการรับฟังความเห็นจากเอกชนทุกระดับ ทุกประเภทอีกครั้งหนึ่ง  ศธ.จะรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ ส่วนที่ได้มาแล้วก็จะเร่งดำเนินการ เรื่องใหญ่ที่จะนำมาหารือคือ การกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเปลี่ยนสัดส่วนการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐกับเอกชน  แทนที่จะเป็น ๘๐ – ๙๐ %  ก็ให้เพิ่มสัดส่วนภาคเอกชนให้มากขึ้น  สัดส่วนภาครัฐก็ต้องลดน้อยลงต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ 

จำนวนสัดส่วน  เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป  หากมีการเห็นด้วยในสัดส่วนใหม่  ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย  มาตรการต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย  เช่น  การอุดหนุน  การผ่อนคลายระเบียบกติกา  การส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาโดยภาคเอกชนมากขึ้น  การแปลงโรงเรียนของรัฐบางแห่งให้เป็นโรงเรียนเอกชน  หรือเอกชนรับไปบริหารจัดการ  ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยเสนอไว้

 

         มาตรการที่ ศธ. จะรับมาดูแลเป็นเรื่องเร่งด่วน ได้แก่ การดูแลเรื่องให้การอุดหนุนต่อสถานศึกษาเอกชน  กับการอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของภาคเอกชน  การอุดหนุนรายหัวอย่างเดียว  อาจทำให้มีการแย่งชิงนักเรียน ทำให้มีความพยายามเพิ่มจำนวนนักเรียนเพื่อให้ได้เงินอุดหนุนมาก หากเพิ่มมาตรการโดยการอุดหนุนผ่านการอบรมพัฒนาครู ก็จะทำให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น นอกจากนั้นจะส่งเสริมบทบาทภาคเอกชน  ชุมชน ครอบครัว ผู้ปกครอง ในการช่วยคิดพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาอบรมครู  การกำหนดหลักเกณฑ์ กฎระเบียบต่างๆ

 

        รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ๓ เดือนต่อจากนี้ไป จะเน้นเรื่องการผลักดันยุทธศาสตร์ต่างๆ ทิศทางที่ชัดเจนแล้ว ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ทั้งในรูปแบบการแก้ไขกฎระเบียบ มีมาตรการที่ชัดเจน มีแผนปฏิบัติการ แผนงาน โครงการที่มีงบประมาณรองรับให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป.

        ต่อมา ศาสตราจารย์ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้ความเห็นว่าการจัดการศึกษาของเอกชนสามารถช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษาของชาติได้เป็นอย่างมาก และสอดคล้องกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้เอกชนมีอิสระในการบริหารจัดการ และกำหนดให้รัฐต้องให้การสนับสนุนด้านเงิน อุดหนุน การลดหย่อนยกเว้นภาษี และสิทธิประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยได้พยายามผลักดันให้ ครม. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแผนนี้ได้ปรับสัดส่วนการมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสัดส่วนผู้เรียนภาคเอกชนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 จากเดิมร้อยละ 18 ภายในปีการศึกษา 2551  การดำเนินการจะใช้ 5 ยุทธศาสตร์ คือ

1.กำหนด มาตรการของภาครัฐที่ชัดเจน เช่น ให้ภาครัฐชะลอการจัดตั้งสถานศึกษา หรือขยายการรับนักเรียนใน พื้นที่ที่เอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ เป็นต้น

2.สนับสนุน ด้านการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนให้เหมาะสมและเป็นธรรม โดยเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ให้ทัดเทียมกับของภาครัฐ

3.ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีและให้สิทธิประโยชน์ แก่สถานศึกษาเอกชน ยกเว้นอากรนำเข้าสื่อ อุปกรณ์การศึกษา และการนำเข้าครูต่างชาติ

4.สพฐ. และสอศ. จะเลื่อนกำหนดการบรรจุครูของภาครัฐเป็นปลายปีการศึกษา เพื่อไม่ให้ครูเอกชนหนีมาเป็นครูโรงเรียนรัฐ

5.เร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนพ.ศ....ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

          และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการจัดการศึกษา" ในการเป็นประธานเปิดงานวันการศึกษาเอกชน 2552 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ว่า เอกชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา โดยสามารถพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ด้วยดีตลอดมา ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา การศึกษาเอกชน มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างมีระบบ

          ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนการสอน ประกอบกับความคล่องตัวในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนที่สนใจใฝ่ศึกษา และรับวิทยาการใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิผล ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาที่จบจากสถานศึกษาเอกชน มีความเป็นเลิศในทางวิชาการและวิชาชีพ สามารถพัฒนาอาชีพและสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ

          สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเห็นความสำคัญของโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เพราะเอกชนเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการจัดการศึกษาไทย สามารถแบ่งเบาภารกิจและภาระงบประมาณของภาครัฐในการช่วยจัดการศึกษา

         ในขณะเดียวกันภาคเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพไม่น้อยกว่าการศึกษาภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สพฐ.ในระยะที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพโดยเกณฑ์เฉลี่ยมากกว่าภาครัฐ นอกจากนั้นผลงานของโรงเรียนเอกชนยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก มีนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนจำนวนมาก ที่ได้รับรางวัลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

        ทั้งนี้ หากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์จะพบว่า การศึกษาเอกชนมีมาก่อนการศึกษาของรัฐ โดยเริ่มก่อตั้งโรงเรียนเอกชนขึ้นตั้งแต่ปี 2395 ต้องยอมรับว่าโรงเรียนเอกชนมีบทบาทในการแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีคุณภาพไม่แพ้การจัดการศึกษาของภาครัฐ เห็นได้จากผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่โรงเรียนเอกชนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และประเสิทธิภาพไม่แพ้ภาครัฐ อาจมีประสิทธิภาพเหนือกว่าด้วยซ้ำไป แม้แต่ในระดับอาชีวศึกษาเอกชนยังสู้ภาครัฐไม่ได้


 
         นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาเอกชนมากมาย โดยมี 9 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การปฏิรูปการศึกษารอบสอง ที่จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะเน้นให้การศึกษาเอกชนเข้ามามีบทบาทคู่กับการศึกษาภาครัฐ รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับการศึกษาเอกชนนอกระบบเช่นเดียวกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการศึกษาเอกชนต่อภาครัฐจากเดิม 20 ต่อ 80 เป็น 30 ต่อ 70 โดยรัฐต้องลดบทบาทการจัดการศึกษาลง

        และเพื่อเป็นการสานต่อแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้เปิดเผยผลการประชุมกำหนดนโยบายและทิศทางการจัดการศึกษาเอกชน ว่า ที่ประชุมได้กำหนดทิศทางและมาตรการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของ ศธ.ประจำปีงบประมาณ 2552 ที่ได้ทำไว้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ซึ่งก.พ.ร.เห็นว่า การเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษาควรเพิ่มสัดส่วนการจัดการศึกษาโดยเอกชน และหน่วยงานอื่นให้สูงขึ้น และแม้ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวในระดับพื้นฐาน และปวช.ให้เอกชนจัด 30% และรัฐจัด 70% แต่ปัจจุบันเอกชนจัดแค่ 19% เท่านั้น ซึ่งแสดงว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวยังไม่สัมฤทธิ์ผล

             นายชินภัทร กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ได้นำกรณีศึกษาจาก จ.เชียงใหม่ มาศึกษาในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในชั้น ป.3, ป.6 และชั้นม.3 และ ม.6 ของ โรงเรียนเอกชน มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าของโรงเรียนภาครัฐ และหากดูในส่วนของต้นทุนการจัดการศึกษาและจะพบว่ารร.เอกชนมีงบอุดหนุนรายหัวน้อยกว่า แต่จะมากกว่าภาครัฐในระดับปฐมวัยเท่านั้น

          โดยสามารถจำแนกได้ชัดเจน ดังนี้ ระดับปฐมวัยของภาคเอกชนอยู่ที่ 19,120 บาทต่อหัวต่อปี ภาครัฐอยู่ที่ 17,120 บาทต่อหัวต่อปี ระดับการศึกษาช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) เอกชนอยู่ที่ 29,960 บาทต่อหัวต่อปี ภาครัฐอยู่ที่ 31,362 บาทต่อหัวต่อปี ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-6) เอกชนอยู่ที่ 30,160 บาทต่อหัวต่อปี ภาครัฐอยู่ที่ 31,052 บาทต่อหัวต่อปี ระดับมัธยมศึกษาช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) เอกชนอยู่ที่ 20,900 บาทต่อหัวต่อปี ภาครัฐอยู่ที่ 39,954 บาทต่อหัวต่อปี ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-6) เอกชนอยู่ที่ 20,900 บาทต่อหัวต่อปี ภาครัฐอยู่ที่ 29,984 บาทต่อหัวต่อปี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นคุณภาพของการจัดการศึกษาเอกชน

          "ปัญหาที่ทำให้สัดส่วนนักเรียนของภาคเอกชนไม่เพิ่มขึ้นและอาจลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังจะรุนแรงขึ้นในปีหน้า มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องระบบ หรือเรื่องเงินอุดหนุน เรื่องค่าใช้จ่ายของครู ดังนั้นหากรัฐมองว่าการจัดการศึกษาต้องเสมอภาค ไม่ว่าจะสังกัดใดก็ตามก็ต้องไปรับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัวอย่างเท่าเทียม" ปลัด ศธ.กล่าว

              ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า การให้ภาคเอกชนช่วยจัดการศึกษาจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ และโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐก็สามารถจัดการศึกษาได้มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และเมื่อดูต้นทุนการจัดการศึกษาก็พบว่าโรงเรียนเอกชนใช้น้อยกว่าโรงเรียนรัฐ ดังนั้นเพื่อจูงใจให้เด็กมาเรียนกับเอกชนมากขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ปรับระบบการอุดหนุนใหม่ ดังนี้

  1. ใช้ระบบคูปองการศึกษา หรือบัตรแทนเงินในการอุดหนุนรายหัวให้แก่นักเรียน โดยจัดให้แก่ผู้เรียนโดยตรง เพื่อนำไปขอรับบริการยังโรงเรียนเอกชนที่นักเรียนต้องการเข้าเรียน ซึ่งนอกจากจะทำให้นักเรียนมีที่เรียนแล้ว โรงเรียนเอกชนก็อยู่รอดด้วย เพราะได้รับเงินอุดหนุนฯตามความเป็นจริง
  2. ให้ครูโรงเรียนเอกชนมีวิทยฐานะเช่นเดียวกับครูโรงเรียนรัฐ
  3. จัดกองทุนหมุนเวียนให้โรงเรียนเอกชนกู้ยืมไปพัฒนากิจการให้ดีขึ้น
  4. เร่งปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ทั้งนี้แนวทางทั้งหมดจะเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการอีกครั้ง

 ล่าสุด ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) ได้มอบนโยบายให้ สช.,สพฐ., สอศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อหามาตรการและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนนำเสนอ ครม. คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

หมายเลขบันทึก: 296169เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2009 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท