ธรรมวิจัย....คืออะไร???ที่ควรเลือกเฟ้น


การเฟ้นธรรม

การดำรงชีวิตในปัจจุบัน เราพบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย สิ่งที่พบ บางอย่างเป็นประสบการณ์ที่ดี นำไปสู่การพัฒนา บางอย่าง อาจเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

เราเลือกเก็บประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตได้ด้วยธรรมวิจัยค่ะ

ธรรมวิจัย หรือ ธรรมวิจยะ อันเป็นหนึ่งในกลุ่มธรรมในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดโพธิ หรือปัญญาตรัสรู้ ที่มีชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตฺโต ) ได้ให้ความหมายของธรรมวิจัย การเลือกเฟ้นธรรม ว่า หมายถึงการการใช้ปัญญาสอบสวน พิจารณาสิ่งที่สติกำหนดไว้ หรือนำเสนอ ให้เข้าใจ และเห็นสาระความจริง

แต่ อย่างไร หรือ คืออะไร ที่เราควรเลือกเฟ้น

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ได้เขียนถึงการสิ่งต่างๆที่ควรเลือกเฟ้นเพื่อปฏิบัติไว้ดังนี้

ทิฏฐิวิจยะ การเลือกเฟ้นความเห็น คือเลือกเฟ้นความเห็นต่างๆว่าถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ควรที่จะนำไปใช้หรือไม่ โดยใช้หลักไตรลักษณ์เป็นตัวตัดสิน ความเห็นใดที่ไม่สอดคล้องกับไตรลักษณ์ ความเห็นนั้นย่อมผิด ควรละทิ้งไป

สังกัปปวิจยะ การเลือกเฟ้นความคิด ตามปกติจิตเรามักคิดเรื่องต่างๆอยู่ตลอดเวลา ถ้าฝึกจิตให้คิดไปทางใด จิตจะโน้มเอียงไปทางนั้น เช่นถ้าฝึกระลึกถึงลาภสักการะบ่อยๆ ก็จะโน้มเอียงเข้าสู่ความโลภ แต่ถ้าฝึกจิตคิดถึงไตรลักษณ์บ่อยๆ จิตก็จะค่อยๆเกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง ค่อยๆปล่อยวาง

ในการฝึกคิด ทำได้ ๒ วิธี คือ

๑ ในขณะดำรงชีวิตตามปกติ ไม่ว่าในอิริยาบถใด ให้พิจารณาสิ่งต่างๆรอบตัว อารมณ์ต่างๆ โดยน้อมลงสู่ไตรลักษณ์

๒ ในขณะทำสมาธิ โดยอย่าใฝ่ใจให้สงบเกินไปนัก เพราะความสงบในสมาธิจะปิดกั้นไม่ให้เกิดปัญญา ควรบริกรรมเพียงพอประมาณ เช่น ๑๕ นาที เมื่อจิตมีสมาธิแล้ว ก็นำสิ่งต่างๆขึ้นมาพิจารณาด้วยหลักไตรลักษณ์

วจีวิจยะ การเลือกเฟ้นคำพูด เลือกว่าพูดอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ตนและผู้อื่น อย่างไรเกิดสามัคคี อย่างไรเกิดความรัก ความหวังดี หรืออย่างไรควรงดเว้น ไม่พูดเสีย

กัมมันตวิจยะ การเลือกเฟ้นทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดย

๑ ไม่ผิดศีลธรรม เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราของเมา

๒ ไม่ทำให้ทั้งตนผู้อื่นเดือดร้อน

อาชีววิจยะ การเลือกเฟ้นในการเลี้ยงชีพ คือประกอบอาชีพโดยสุจริต

วายามวิจยะ การเลือกเฟ้นความเพียร ความเพียร ความเพียรใดมีสติปัญญาเป็นองค์ประกอบ ถือเป็นความเพียรชอบในศาสนาพุทธ เพียรละความเห็นผิด หรือความชั่ว เพียรสร้างความเห็นถูก หรือเพียรทำความดีให้เกิดขึ้น

สติวิจยะ สติ หมายถึงความระลึกได้ วิจยะ หมายถึงการเลือกเฟ้น รวมแปลว่าเลือกเฟ้นในสิ่งที่มาระลึกรู้ นั่นคือ

๑ ระลึกรู้ในความเห็นตนว่าผิดหรือถูก

๒ ระลึกรู้ในคำพูดตน ทั้งก่อนพูด ขณะพูด ที่พูดไปแล้วเพื่อรับผิดชอบคำพูดของตนเอง

๓ ระลึกในงานที่ทำว่าเกิดประโยชน์ต่อตนและผู้อื่นอย่างไร

๔ ระลึกรู้ว่าเลี้ยงชีพถูกต้องหรือไม่

๕ ระลึกรู้ในความเพียรของตน ว่ามีความเพียรใดที่ต้องปฏิบัติ

๖ ระลึกรู้ใจตนอยู่เสมอ ว่ามีอารมณ์อะไรที่ยังต้องละ ใจยังมีโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ อย่างไร ต้องแก้ไขด้วยธรรมหมวดอะไร

สมาธิวิจยะ เลือกการปฏิบัติในการทำสมาธิ พิจารณาว่าทำสมาธิอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ เป็นสัมมาสมาธิหรือไม่ หรือเป็นการทำสมาธิที่หลง เป็นวิปัสสนูปกิเลส

เหล่านี้ คือสิ่งที่เราควรเลือกเฟ้น ถ้าทำอยู่ตลอดเวลาที่นึกได้ ปัญญาที่ทำให้รู้ ให้ตื่นให้เบิกบาน ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติแน่นอน

.............................................

อ้างอิง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ) ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง ( ตอน ๒ ) สำนักพิมพ์ระฆังทอง นครปฐม พ.ศ.๒๕๔๗

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญโญ ทวนกระแสโลก พบกระแสธรรม สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 296067เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2009 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 

วจีวิจยะ การเลือกเฟ้นคำพูด เลือกว่าพูดอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ตนและผู้อื่น อย่างไรเกิดสามัคคี อย่างไรเกิดความรัก ความหวังดี หรืออย่างไรควรงดเว้น ไม่พูดเสีย

 

ขอหยิบยกคำท่านมาว่าขยาย               เพื่อจุดหมายสถานการณ์ในวันนี้

ชาติแตกแยกคนไทยไร้สามัคคี            ด้วยวจีเป็นพิษติดสงคราม

ในวันนี้วจีวิจยะหาไม่เห็น                    ต่างหลงเล่นเข่นฆ่าบ้าขย้ำ

จิตมืดบอดมอดไหม้คนใจดำ               ลืมหลักธรรมมีน้ำใจผู้ให้ดี

 

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • ที่ได้นำสิ่งดี ๆ มาเผยแพร่

สวัสดียามเช้าทั้งสองท่านค่ะ

กำลังหาทางไปตอบความเห็น และอ่านบันทึกของท่านที่มาเยี่ยมอยู่ค่ะ

ยังหาไม่เจอเลยค่ะ

  • ขอบคุณบันทึกดีมากนี้นะครับ
  • จะนำไปพัฒนาตนเองนะครับ

สวัสดีค่ะคุณชยพร

ขอบคุณสำหรับความเห็นอันเป็นกำลังใจค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท