หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ค่ายเครือข่ายเยาวชนรักษ์น้ำบาดาล


“...น้ำบาดาลซึ่งอยู่ใต้ดิน เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ซึ่งประชาชนในฐานะผู้ใช้น้ำมีความจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจ จึงได้มาจัดค่ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องน้ำบาดาลแพร่หลายออกไป ที่สำคัญอยากให้เยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ได้เรียนรู้ มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของน้ำบาดาล เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์และใช้น้ำบาดาลอย่างยั่งยืนต่อไป...”

     “...กลับไปหนูจะไปรณรงค์ให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่โรงเรียนให้มีความรู้ เห็นคุณค่า และก็มาร่วมกันอนุรักษ์น้ำบาดาลค่ะ...”

     เสียงสะท้อนจาก น้องพลอย – ยุพา โทสนับ นักเรียนชั้น ม.๖ และประธานนักเรียนจากโรงเรียนไทรโยควิทยา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตัวแทนนักเรียนที่มาเข้าค่ายเครือข่ายเยาวชนรักษ์                 น้ำบาดาล

     ค่ายฯ นี้จัดโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมสวนศรีกนกพรรีสอร์ท อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) จัดตั้งเครือข่ายเยาวชน และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านน้ำบาดาลให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำบาดาล สร้างและปลูกจิตสำนึกเพื่อให้ชุมชนใช้น้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และ (๒) เพื่อให้สมาชิกเยาวชนของเครือข่าย มีความคิดสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ทรัพยการน้ำบาดาล ถ่ายทอดและประชาสัมพันธ์ความรู้สู่ครอบครัว โรงเรียนและชุมชน

     เยาวชนที่มาเข้าค่ายฯ เป็นนักเรียนอายุระหว่าง ๑๔ – ๑๘ ปี คัดเลือกมาจาก ๑๓ โรงเรียนในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ใน ๘ จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี โรงเรียนละ ๒๕ คน มาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับน้ำบาดาลในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ มีความตระหนักเห็นคุณค่าต่อน้ำบาดาล จนกระทั่งจะเป็นกลไกสำคัญในการแพร่กระจายความรู้ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์น้ำบาดาลสืบไป นางสาวสมคิด บัวเพ็ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า

     “...น้ำบาดาลซึ่งอยู่ใต้ดิน เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ซึ่งประชาชนในฐานะผู้ใช้น้ำมีความจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจ จึงได้มาจัดค่ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องน้ำบาดาลแพร่หลายออกไป ที่สำคัญอยากให้เยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ได้เรียนรู้ มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของน้ำบาดาล เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์และใช้น้ำบาดาลอย่างยั่งยืนต่อไป...”

     และได้กล่าวถึงการเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า

     “...ในทางภูมิศาสตร์ลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลองเป็นพื้นที่เชิ่อมต่อกัน จนแยกออกอย่างชัดเจนลำบาก ทั้งสองลุ่มน้ำนี้มีศักยภาพน้ำบาดาลสูง และมีการใช้น้ำบาดาลในปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งประเด็นนี้เราให้ความสำคัญ สำหรับการเลือกพื้นที่ทำงาน นอกจากนั้นในพื้นที่ทั้งสองนี้ มีสัญญาณว่าอาจเกิดปัญหาน้ำบาดาลในอนาคตได้หากไม่มีการดำเนินการป้องกันและใช้น้ำอย่างระมัดระวัง เช่น การใช้น้ำบาดาลมากเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะทดแทนได้ มีการแทรกซึมของน้ำเค็มเข้าไปในชั้นน้ำบาดาล รวมทั้งมีการปนเปื้อนสารเคมีในน้ำบาดาลชั้นบน...”

     พี่อาร์ต – ณพวิทย์  ชัยมาลา เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หนึ่งในทีมงานค่ายฯ เล่าที่ไปที่มาของการจัดค่ายฯ ว่า

     “...เราทำโครงการนี้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ปีแล้วเราทำแค่ แม่น้ำท่าจีน  ซึ่งค่อนข้างได้ผล น้อง ๆ ที่ผ่านการเข้าค่ายฯ พอกลับไปโรงเรียนก็มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องน้ำบาดาลให้แก่เพื่อน ๆ ในโรงเรียน มีการทำบอร์ดนิทรรศการ มีการพูดเสียงตามสาย บางพื้นที่ก็ส่งตัวอย่างน้ำบาดาลให้เราตรวจสอบ...

     ...ปีนี้หลังจากเราเลือก ๑๔ โรงเรียน โดยเพิ่มโรงเรียนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง แล้วก็ลงไปแนะนำโครงการทุกโรงเรียน ทำกิจกรรม เล่นเกมสลับกับการให้ความรู้เรื่องน้ำบาดาล สาธิตการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล จากนั้นเราก็ให้น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมเขียนเรียงความและแต่งคำขวัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำบาดาล ส่งให้กับคุณครูในโรงเรียนเพื่อคัดเลือกนักเรียนเหลือ ๒๕ คนมาเข้าค่ายฯ...

     ในค่ายฯ มีกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ด้านน้ำบาดาลในแง่มุมต่าง ๆ อาทิ การบรรยายพิเศษเรื่อง “มหัศจรรย์ใต้พิภพ” เป็นการอธิบายการกำเนิดของน้ำบาดาล โดย นายชัยพร  ศิริพรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล และการเสวนา ผลกระทบ การแก้ปัญหาและการอนุรักษ์น้ำบาดาล จากผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

     จากการให้ความรู้ข้อมูลแปลกใหม่ และน่าสนใจ ทำให้น้องน้ำ - จุฑามาศ แม้นจิตต์ นักเรียนชั้น ม.๖ และประธานนักเรียนโรงเรียนเทพมงคลรังษี อ.เมือง จ.กาญจนบุรี สะท้อนความรู้สึกของตนเองว่า

     “...ที่บ้านหนูใช้น้ำบาดาล แต่ก็หนูไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าน้ำบาดาลจะมีคุณค่า และมีประโยชน์มายมายกับมนุษย์ขนาดนี้ ไม่เห็นว่าเราจะอนุรักษไปทำไม เพราะใช้ยัง ๆ ก็ไม่เห็นจะหมดสักที ทำไมต้องอนุรักษ์ด้วยเหรอ พอได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้มาเข้าค่าย ก็เริ่มเข้าใจว่าถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาอีกหน่อยน้ำก็จะหมด มนุษย์ก็จะเดือดร้อน เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์น้ำบาดาล...”

     น้องขุนตาว – ธนรัฐ วิทยารักษ์ นักเรียนชั้น ม.๓ จากโรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี กล่าวถึงความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่ายฯ ว่า

     “...โรงเรียนของผมใช้น้ำบาดาล เมื่อก่อนไม่มีความรู้เกี่ยวกับน้ำบาดาลเลย ตอนที่พี่ ๆ ไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนก็ทำให้มีความรู้บ้าง มาเข้าค่ายฯ ครั้งนี้ก็ยิ่งทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น

     ขณะที่ น้องพลอย – ยุพา  โทสนับ  กล่าวถึงเนื้อหาที่ได้รับจากการเข้าค่ายว่า

     “...น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำที่สะอาด ปลอดภัย เพราะธรรมชาติได้กลั่นกรองมาให้เราใช้ เราใช้น้ำบาดาลควรจะต้องอนุรักษ์น้ำบาดาลให้มีใช้ตลอดไป เรามีสิทธิที่จะใช้น้ำบาดาลได้ คนรุ่นต่อไปก็ควรจะมีสิทธิใช้เช่นเดียวกัน เราไม่มีสิทธิใช้จนหมดจนคนรุ่นต่อไปไม่มีใช้...”

     เยาวชนที่เข้าค่ายฯ ได้รับความรู้ค่อนข้างมาก หลายคนมีความตระหนัก เห็นความสำคัญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับน้ำบาดาล กระทั่งให้สัญญาว่าตนเองจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ความรู้แก่เพื่อน ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียน รวมทั้งชาวบ้านในชุมชน

     “...การป้องกันการรั่วซึมของสารเคมี สารปนเปื้อนลงไปในชั้นน้ำบาดาลทำได้ง่ายกว่าการทำให้น้ำที่เสียกลับมาสะอาด เพราะทำได้ยาก ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ ใช้เวลา ใช้งบประมาณมาก เราต้องช่วยกันป้องกัน หนูอยู่ในหมู่บ้านก็จะไปรณรงค์ในชาวบ้านเห็นความสำคัญ...”

     “...อย่างพลอยเนี่ยเป็นประธานนักเรียนอยู่ในโรงเรียน น้อง ๆ เพื่อน ๆ ไม่ได้มาอบรม ไม่มีความรู้ ไม่ลึกซึ้งตรงนี้ หนูมาอบรม มีความรู้ เข้าใจลึกซึ้ง ก็จะไปถ่ายทอดความรู้ในโรงเรียน

     สำหรับบรรยากาศในค่ายฯ ทั้งสามสะท้อนตรงกันว่า

     “...นอกจากที่พวกเราจะได้ความรู้แล้ว ยังสนุกมาก พี่ไปถามใครก็ได้เลย ทุกคนในค่ายนี้ ทุกคนจะบอกว่าสนุกมาก พวกพี่ ๆ เป็นกันเอง ใส่ใจคอยดูแลพวกเราอย่างดี มีเพื่อนใหม่จากต่างโรงเรียนหลายคน ดีค่ะ อยากกให้มีการจัดค่ายฯ แบบนี้อีก...”

     กิจกรรมไม่สิ้นสุดเพียงการเข้าค่ายฯ เท่านั้น เยาวชนกว่า ๓๐๐ คนที่มาเข้าค่ายฯ จะถูกเก็บคะแนนตั้งแต่การเข้าร่วมกิจกรรมในวันแรกจนถึงวันสุดท้าย ทีมงานจะรวบรวมผู้ที่มีคะแนนสูงและมีความโดดเด่น ที่แสดงถึงความตั้งอกตั้งใจจำนวน ๔๐ คน พาไปทัศนศึกษาดูงานเกี่ยวกับน้ำบาดาลที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาความรู้และประสบการณ์ตรงจากพื้นที่มาปรับใช้ในการทำงานของตนเองต่อไป

     น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน ด้วยแหล่งน้ำผิวดินที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ น้ำบาดาลจึงเป็นทางเลือกที่แพร่หลายมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดความตระหนักที่จะใช้น้ำบาดาลอย่างถูกวิธี การเริ่มต้นทำงานให้ความรู้กับเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านน้ำบาดาลให้แพร่หลายออกไป เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างกลไกการเฝ้าระวังและอนุรักษ์น้ำบาดาลต่อไป

หมายเลขบันทึก: 295971เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2009 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาทักทายกำลังตื่นบ้านใหม่..หายตื่นเต้นก่อนแล้วค่อยอ่านเหมือนกันนะ..

สวัสดีค่ะ

  • เด็ก ๆ ที่มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์  เป็นเด็กโชคดีค่ะ
  • โรงเรียนพี่คิมอยู่บนเขา ขาดโอกาสทั้งเด็กและครูค่ะ
  • ครูที่มีโอกาสเข้าหาแหล่งเรียนรู้ก็กลับไปเล่าให้เด็ก ๆฟัง
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

ใช่แล้วท่านหนานฯน้ำนี้เราขาดไม่ได้จริงๆ

ท้ายที่สุดแม้กระทั่งน้ำใจของกันและกัน

สาธุขอรับ..(งงับบ้านใหม่อยู่ดั่งคุณครูอ้อยเลย)

พี่ครูคิม

ผมว่าเด็กโรงเรียนพี่คิมโชคดีต่างหาก มีครูดี ๆ อย่างครูคิ ดูผลิตผลอย่างเจ้าน้องนัทสิ

โรงเรียนพี่อยู่ไกลจัง.. ไม่งั้นจะส่งเฌวาไปเรียนด้วย

 

นมัสการครับ พระอาจารย์ธรรมฐิต

ทุกวันนี้ "น้ำ" ว่าขาดแคลนแล้ว

"น้ำใจ" ยิ่งขาดแคลนกว่า ครับ

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

 

 

 

ดีจังค่ะ น้องๆได้เรียนรู้ และเห็นคุณค่าของน้ำ

คนในเมืองต้องซื้อน้ำกิน น้ำใช้ ..

บ้านใหม่ยังไม่คุ้น แต่อบอุ่นด้วยน้ำใจเสมอค่ะ

สวัสดีครับ คุณpoo

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ทักทาย แลกเปลี่ยนครับ

ค่ายฯ นี้ดีมากครับ ตัวเนื้อหาน่าสนใจมาก ว่าจะหาจังหวะเขียนถึงสักครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท