ชีวิตที่พอเพียง : ๘๓๑. ชีวิตที่หมั่นฝึกฝนตนเอง


การเรียนรู้ที่สำคัญคือการลงมือปฏิบัติ


          อ่านพบในหนังสือปรัชญาการอุดมศึกษาไทย ว่าท่านพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ บอกว่าในสมัยพุทธกาล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าข้อห้าม (ศีล) มีแต่สิ่งที่เรียกว่าสิกขาบท   สิกขาคือศึกษา สิกขาบทก็คือบทสำหรับเรียนรู้    และการเรียนรู้ที่สำคัญคือการลงมือปฏิบัติ

          ทำให้หวนมาพิจารณา (AAR) ตนเอง    ว่าผมโชคดี ที่หมั่นบอกตัวเองให้หมั่นฝึกฝนตนเองในทักษะหรือการประพฤติตนในด้านดี   หรือหมั่นฝึกตนให้เป็นคนดีนั่นเอง    โดยที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองยังอยู่ในขั้น “อนุบาล” หรือ “ประถม” เท่านั้น    ด้วยเหตุนี้ เวลาได้พบปะหรืออยู่ในวงคนดี ผมก็จะเฝ้าสังเกต และหาทางดูดซับวิธีการของท่านเหล่านั้น   เอามาทดลองปฏิบัติ   ซึ่งก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง    บางครั้งก้รำคาญตนเอง ว่าทำไมจึงโง่นัก    และในบางเรื่องบางด้าน ผมก็บอกตนเองว่า ผมไม่มีความสามารถในด้านนั้น    อย่าทะเยอทะยานฝึกให้เก่งอย่างท่านผู้นั้นเลย    เอาให้ได้สักหนึ่งในสิบก็เหลือแหล่แล้ว  

          จึงเท่ากับว่า ผมมีนิสัยชอบเรียนรู้ติดตัวมาแต่กำเนิด   ที่จริงก็ไม่รู้ว่าติดตัวมาแต่กำเนิด หรือมาเรียนรู้เอาตอนเด็กๆ แบบไม่รู้ตัว 

          เรื่องชอบสังเกตนี่ ผมพบว่า หลายครั้งการสังเกตทันทีทันควันมันดูไม่ออก สังเกตไม่เห็น   ถ้าได้จดบันทึกเสียหน่อย เอาไปทบทวนภายหลัง จะสังเกตเห็นสิ่งดีๆ ประเด็นดีๆ ได้    ผมบอกตัวเองว่า ผมไม่หัวไวพอ

          เมื่อเทคโนโลยีดีขึ้น มีเครื่องบันทึกเสียง   ผมลงทุนซื้อมาใช้ช่วยการเรียนตั้งแต่สมัยเรียนที่ แอนน์ อาร์เบอร์ ในปี ๒๕๑๐   แล้วหลังจากนั้น เมื่อทำงานแล้ว ผมก็ใช้บันทึกการประชุมสำคัญๆ เอาไว้ทบทวน   รวมทั้งบันทึกเสียงการสอนหรือบรรยายของตนเอง เอาไว้ฟังทบทวนเพื่อแก้ไขปรับปรุงการบรรยายของตนเอง    ผมพบข้อบกพร่องของตนเองมากมาย และจดจำเอาไว้ปรับปรุง   ซึ่งบางด้านก็แก้ไขยากเหมือนกัน  

          สมัยนี้เครื่องช่วย “จด” มีทั้งเครื่องบันทึกเสียงและถ่ายภาพ    ผมจึงสนุกมาก ที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยการฝึกฝนตนเอง   ทำให้ชีวิตสนุกสนานไม่น่าเบื่อ

          รูปที่ถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ ไว้นั้น   เมื่อเอามาทบทวนภายหลัง   จะพบรายละเอียดมากมาย ที่ตอนเห็นหรือถ่ายภาพ ไม่เห็นรายละเอียดที่สำคัญมาก   

          วิธีฝึกฝนตนเองให้รู้จักสรุปประเด็นสำคัญ เป็นเรื่องที่ผมเอาใจใส่มากว่า ๔๐ ปี    ทำโดยเมื่อไปประชุมหรือทำงานอะไรก็ตาม   ผมจะหาโอกาสถามเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่รู้จัก ว่างานนั้นท่านประทับใจเรื่องอะไร   มีประเด็นอะไรที่สำคัญควรเอาไปทำต่อ   ทำให้ผมพบว่าผมจับประเด็นของงานนั้นได้ไม่ครบ หลุดไปหลายประเด็น   ผมก็หมั่นจับประเด็นด้วยความเอาใจใส่ มีสมาธิอยู่กับการประชุม    นานๆ เข้าผมก็ได้รับยกย่องเป็นนักสรุปการประชุมที่เก่ง

          เมื่อหมั่นฝึกฝนตนเองจากการทำงาน   แสดงความขยันขันแข็งหมั่นเพียรในการทำงาน    จะมี “เทวดา” มาช่วยเยอะ   เพราะผู้ใหญ่จะเอ็นดู และช่วยแนะนำสั่งสอน ทั้งทางตรงและทางอ้อม  

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ส.ค. ๕๒

                

หมายเลขบันทึก: 295768เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วันนี้ได้แบบอย่างการทำงานที่ดี การฝึกตน การเป็นคนช่างสังเกตไปฝึกใช้ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท