KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๗๐๐. จากสัมภาษณ์สู่เพื่อนช่วยเพื่อน


          วันที่ ๖ ส.ค. ๕๒ ผมได้รับ อี-เมล์ ดังนี้

เรียน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เคารพ


ผม อ.ชวัลณัฐ เหล่าพูนพัฒน์ ปัจจุบันเป็นรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอรบกวนเวลาอาจารย์ เพื่อเล่าที่มาที่ไปของการนัดสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ในครั้งนี้นะครับ

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ แต่เดิมเป็นภาควิชาจิตวิทยา ในคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แล้วแยกออกมาเป็นคณะเมื่อสัก 14 ปีที่แล้ว เป็นคณะขนาดเล็ก มีอาจารย์เพียง 20 ท่านเท่านั้น มีการเรียนการสอนในทุกระดับ ปัจจุบันมีนิสิตรวมประมาณ 800 คน คณะจิตวิทยากำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญเกี่ยวกับการผลิตงานวิจัยที่มี impact factor/social impact อาจารย์ในคณะส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ และทิศทางในการสร้างงานวิจัย หรือโครงการวิจัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะการผลิตงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในต่างประเทศ หรือ งานวิจัยทางจิตวิทยาที่มีผลกระทบต่อสังคม สามารถประยุกต์ใช้แก้ปัญหาสังคมได้จริง

ดังนั้นผมจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์ในการเข้าพบที่ สคส. เพื่อสัมภาษณ์เพื่อรับข้อเสนอแนะ หรือ มุมมองของท่านอาจารย์ เกี่ยวกับการผลิตงานวิจัยทางจิตวิทยาในอนาคต เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแผนแม่บทในการทำวิจัยของคณะจิตวิทยาใน 5 ปีข้างหน้า และขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับการจะสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ในคณะจิตวิทยาด้วยครับ อาจจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหากท่านอาจารย์ไม่สะดวก ผมใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์แนะนำวิทยากรที่เหมาะสมให้กับผมด้วย เพื่อผมจะได้ติดต่อเชิญวิทยากรท่านนั้นในภายหลัง

ด้วยความเคารพอย่างสูง
อ.ชวัลณัฐ เหล่าพูนพัฒน์

 

          ผมตอบดังนี้

จะให้ได้ผลดีจริงๆ ขอให้อาจารย์เขียนมาสัก ๑ - ๒ หน้าว่าอาจารย์คิดอย่างไร   ทั้งเชิงหลักการ และวิธีการ   จะยิ่งดี ถ้ามีการหารือกันในคณะแล้วเขียน    แล้วผมจะนัด interact ให้

วิจารณ์

 

คำตอบของผมใช้หลัก KM ดังนี้

 
• การสัมภาษณ์ อยู่บนสมมติฐานความรู้เป็นศูนย์ที่ฝ่ายผู้ไปสัมภาษณ์    ความเป็นผู้รู้ของผู้ให้สัมภาษณ์  ซึ่งไม่จริง


• จริงๆ แล้ว ในกรณีนี้ผู้ไปสัมภาษณ์ต้องการ “ความรู้ปฏิบัติ” เอามาใช้    จึงต้องเตรียม “ภาชนะ” ไปใส่ “ความรู้ปฏิบัติ” ของผู้ให้สัมภาษณ์   “ภาชนะ” นั้นคือ ผล BAR ของตนเอง หรือของหน่วยงานของตน


• การสัมภาษณ์จึงกลายเป็น “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Peer Assist)   คือกลายเป็นการ ลปรร.   ซึ่งจะทำให้ฝ่ายต้องการไปสัมภาษณ์ได้ความรู้พร้อมใช้ และเข้าใจลึก และเชื่อมโยงกว่าการสัมภาษณ์มาก


• วิธีคิดแบบแบ่งแยก “ผู้รู้” กับ “ผู้ไม่รู้” ทำให้เราเลือกใช้วิธีสัมภาษณ์   วิธีคิดแบบไม่แบ่งแยก “ผู้รู้” กับ “ผู้ไม่รู้” ทำให้เราเลือกใช้วิธี KM และใช้เครื่องมือ Peer Assist 

 

 
วิจารณ์ พานิช
๘ ก.ย. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 295763เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท