การประเมินข้าราชการ


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

             ข่าวที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการในวันนี้ คือ ก.พ.ได้คลอดเกณฑ์ประเมินผลงาน ขรก.ใหม่เริ่ม 1ต.ค.52  ซึ่งมีสิทธิขึ้นปีละ12% แต้มไม่ถึง60%อดอัพเงินเดือน

             โดย มติชน ได้นำเสนอรายละเอียดและระบุว่า นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ลงนามในหลักเกณฑ์และวิธีประเมินผลการปฏิบัติราชการแล้ว เมื่อวันที่ 3 กันยายน2552 หลังจากนี้สำนักงาน ก.พ.จะส่งหนังสือเวียนแจ้งทุกส่วนราชการต่อไป เพื่อให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนให้แก่ข้าราชการในสังกัดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป

              นายปรีชาให้สัมภาษณ์ถึงหลักเกณฑ์ในรายละเอียดว่า ในการปรับเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการแต่ละปี ข้าราชการมีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนสูงสุดถึงร้อยละ 12 จากเดิมร้อยละ 8 โดยแบ่งการประเมินผลการปฏิบัติราชการออกเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 มีนาคม มีสิทธิได้รับการเลื่อนเงินเดือนสูงสุดที่ร้อยละ 6 รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน มีสิทธิได้รับการเลื่อนเงินเดือนสูงสุดอีกร้อยละ 6 นั่นหมายความว่าข้าราชการทุกคนจะต้องเข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และได้รับการเลื่อนเงินเดือนในอัตราใหม่วันที่ 1 เมษายน 2553

             นายปรีชากล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าข้าราชการทุกคนจะได้รับการเลื่อนเงินเดือนเท่ากัน เพราะหลักเกณฑ์การประเมินผลของ ก.พ. จะแบ่งการวัดประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับดีเด่น 2.ระดับดีมาก 3.ระดับดี 4.ระดับพอใช้ และ 5.ระดับต้องปรับปรุง หากผลประเมินข้าราชการคนใดอยู่ในระดับ "ต้องปรับปรุง"  ก็จะหมดสิทธิได้รับการขึ้นเงินเดือนในครึ่งปีนั้นๆ แต่ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีประเมินผลการปฏิบัติราชการที่สำนักงาน ก.พ.ออกมาเป็นเพียงการประเมินตัวข้าราชการเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานเพื่อขอรับการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี (โบนัส) แต่อย่างใด

              สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ก.พ. จะพิจารณาจาก 2 องค์ประกอบหลักคือ องค์ประกอบด้านผลสัมฤทธิ์ของงาน และองค์ประกอบด้านพฤติกรรมการปฏิบัติราชการ หรือสมรรถนะ ทั้งนี้ ก.พ.ได้กำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติราชการไว้ 3 ส่วน คือ

             1.งานที่ปรากฏในคำรับรองการปฏิบัติราชการ หรือเรียกว่า "งานยุทธศาสตร์"

             2.งานตามหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวง กรม จังหวัด สำนัก หรือที่เรียกว่า "งานตามภารกิจ" และ

             3.งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำเป็นพิเศษ เช่น โครงการต่างๆ

           สำหรับรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการจะไม่ตายตัว ซึ่ง ก.พ.ได้เสนอรูปแบบให้ส่วนราชการนำไปปรับใช้ 2 รูปแบบ คือ

            1.การประเมินสมรรถนะด้วยวิธี 360 องศา คือให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน 3 คน ผู้ใต้บังคับบัญชา และตัวข้าราชการเองเป็นผู้ประเมินตนเอง

           2.การประเมินโดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ประเมิน โดยสังเกตจากพฤติกรรมการแสดงออกที่เห็นได้ชัดแล้วนำไปเทียบกับมาตรวัดสมรรถนะกลาง ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนราชการต่างๆ ว่าจะเลือกใช้รูปแบบใด

           ส่วนการประเมินผลจะจัดข้าราชการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

          1.กลุ่มข้าราชการทั่วไป คะแนนผลการปฏิบัติราชการจะถูกจัดออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับดีเด่น ระดับดีมาก ระดับดี ระดับพอใช้ และระดับต้องปรับปรุง ซึ่งการกำหนดแต่ละช่วงคะแนนให้เป็นดุลพินิจของส่วนราชการ แต่ถ้าข้าราชการคนใดมีคะแนนประเมินต่ำกว่าร้อยละ 60 (ระดับพอใช้) จะหมดสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนในรอบปีงบประมาณนั้นๆ และ

         2.กลุ่มข้าราชการทดลองงาน จะวัดประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการเพื่อประเมินว่าผ่านการทดลองงานหรือไม่เท่านั้น โดยผู้ที่จะผ่านการทดลองงานได้ต้องมีคะแนนประเมินมากกว่าร้อยละ 50

ที่มา  มติชน ฉบับวันที 4 กันยายน 2552

คำสำคัญ (Tags): #ข้าราชการ
หมายเลขบันทึก: 294114เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ข้าราชการยุคใหม่ ทำให้ประชาชนชื่นใจ

ดีจังเลยนะคะ..เช้าชามเย็นชามไม่มีเหลือให้เห็นแน่นอนค่ะ...เย้...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท