จุลินทรีย์หน่อยกล้วย ช่วยลดต้นทุน สนับสนุนอาชีพเกษตรกร


วิธีการที่จะช่วยทำให้ลดต้นทุนอีกทางหนึ่งก็คือ กลับมาใช้ทรัพยากรที่อยู่รอบทรงพุ่ม รอบโคนต้น หรืออาณาบริเวณของแปลงที่ได้ทำการปลูกว่าอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินนั้นมีปริมาณเพียงพอหรือน้อยเกินไปหรือไม่

 

ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด จะคิดอ่านทำอะไรก็ควรจะนึกถึงต้นทุนไว้ก่อน อย่าทำอะไรโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง มิฉะนั้นพลาดพลั้งไปก็จะทำให้ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียเวลาโดยใช่เหตุ ทำให้ครอบครัวตัวเราเองเดือดร้อน อาชีพเกษตรก็เหมือนกัน ควรให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจัง เรียนรู้ สังเกต พัฒนาอยู่เสมอเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าในสาขาอาชีพของตัวเราเอง


วิธีการที่จะช่วยทำให้ลดต้นทุนอีกทางหนึ่งก็คือ กลับมาใช้ทรัพยากรที่อยู่รอบทรงพุ่ม รอบโคนต้น หรืออาณาบริเวณของแปลงที่ได้ทำการปลูกว่าอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินนั้นมีปริมาณเพียงพอหรือน้อยเกินไปหรือไม่ แล้วรีบทำการปรับปรุงเพิ่มเติมเข้าไปให้เพียงพอ เพื่อที่จะช่วยให้โครงสร้างของดินมีความแข็งแรง อุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศน์ที่เพียบพร้อมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งพืชหลักที่เราปลูกลงไปด้วย

อินทรียวัตถุถ้าชิ้นใหญ่เกินไปก็จะทำให้ แร่ธาตุสารอาหารต่างๆ ไม่สามารถละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ทันที จะต้องมีจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ในการช่วยย่อยสลาย เพื่อย่นระยะเวลาของกระบวนการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จะได้เป็นประโยชน์ต่อพืชได้อย่างทันท่วงที จุลินทรีย์ที่ว่านี้ก็จะแนะนำจุลินทรีย์ที่อยู่ในท้องถิ่นของเราเองนั่นแหละดีที่สุด แข็งแรงที่สุด ปลอดภัยที่สุด ประหยัดที่สุด...จุลินทรีย์ที่ว่าก็คือจุลินทรีย์หน่อกล้วยนั่นเองครับ

“กล้วย” ปลูกที่ไหน ดินบริเวณกอกล้วย ก็จะอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ระบายถ่ายเทน้ำดี เบื้องหลังของความอุดมสมบูรณ์ร่วนซุยอุ้มน้ำของดินดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน รอบ ๆ รากกล้วย ซึ่งหากขยายเชื้อให้มากแล้ว ย่อมนำไปใช้ปรับปรุงดินในที่อื่น ๆ ให้ดีขึ้นได้ด้วย                 นอกจากนั้น หน่อกล้วย มีน้ำยางฝาดหรือสารแทนนินมาก เมื่อหมักแล้วน้ำที่หมักได้ ยังสามารถนำมาใช้ในการควบคุมโรคพืชบางอย่างได้ ทั้งสามารถนำไปใช้ ปรับปรุงสภาพน้ำที่เน่าเสียให้ฟื้นสภาพกลับดีขึ้นได้อีกด้วย

วิธีการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หน่อกล้วยก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็นอะไรมากมายเพียงแต่ให้ไปขุดหน่อกล้วยต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไม่เป็นโรค ขนาดหน่อกล้วยใบธงหรือใบหูกว้าง สูงไม่เกิน 1 เมตร เอาเหง้าพร้อมรากให้มีดินติดรากมาด้วยประมาณ 2-3 ช้อนแกง ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเรียกกันว่าหน่อกล้วยขันหมาก คือหน่อที่เขามักนำไปเดินนำหน้าขบวนขันหมากของงานแต่งงานของบ่าวสาวนั่นเองครับ   หลังจากนั้นนำมาหั่น, สับ, บดย่อยหรือตำโขลกให้ละเอียดเละทั้งต้นเพื่อให้เข้ากัน และไม่ต้องเอาใบนะครับรวบรวมให้ได้ประมาณ ประมาณ 3 กก  ทำการชั่งตวงกากน้ำตาลอีก 1 กิโลกรัมแล้วนำมาราดรด คลุกเคล้าให้เข้ากัน (อัตราส่วนหน่อกล้วย 3 ส่วน : กากน้ำตาล  1 ส่วน) ทำการหมักในภาชนะพลาสติกมีฝาปิดเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นคน เช้า เย็น ทุกวัน จนครบ 7 วัน แล้วคั้นเอาแต่น้ำเก็บไว้ เรียกน้ำหมักนี้ว่า จุลินทรีย์หน่อกล้วย เก็บไว้ใช้หรือหมักต่อขยายก็ได้ในคราวต่อไป

หลังจากที่เราได้จุลินทรีย์หน่อกล้วยมาแล้ว ก็นำไปผสมน้ำราดรดที่พื้นดินเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นจุลินทรีย์เจ้าถิ่นคอยปกป้องคุ้มครองจุลินทรีย์โรคพืชต่างๆ ที่จะเข้ามาทำลาย และเจ้าจุลินทรีย์หน่อกล้วยยังช่วยทำให้อินทรีย์วัตถุที่มีอยู่ในดินสามารถย่อยสลายได้รวดเร็ว ทำให้อินทรียวัตถุต่าง ๆ กลับกลายเป็นปุ๋ยสร้างประโยชน์ให้แก่พืชของเรา ช่วยทำให้เราประหยัดเงินในการนำไปจับจ่ายซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เพราะไม่จำเป็นต้องซื้อมากเหมือนในอดีตเนื่องจากระบบนิเวศน์ดี ความอุดมสมบูรณ์ดี ต้นไม้ก็เจริญเติบสมบูรณ์แข็งแรงได้แบบธรรมชาติ

มนตรี  บุญจรัส

 ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreeangro.com

หมายเลขบันทึก: 292913เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2009 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 03:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท