พระพุทธเจ้ากับเรื่องการศึกษา


ใจ...ทำหน้าที่เป็นนาย กาย...ทำหน้าที่เป็นบ่าว

          พระพุทธเจ้า  ทรงตรัสว่า  การศึกษา คือ การมองตน การพิจารณาตน การควบคุมตน และการพัฒนาตน  เพราะคนเราประกอบด้วย 2 ส่วน  ได้แก่  กายกับใจ ทั้ง 2 ส่วน   แบ่งงานกันทำ   ใจ...ทำหน้าที่เป็นนาย   กาย...ทำหน้าที่เป็นบ่าว แต่ทั้ง 2 ส่วนต้องไปด้วยกัน  ถ้ามีใจไม่มีกาย  มันก็เป็นแค่ภูตผีปีศาจ   ถ้ามีกายแต่ไม่มีใจมันก็เป็นแค่ศพ

          การศึกษา  จึงเป็นเรื่องของการควบคุม พิจารณา ทั้งกายและทั้งใจควบคู่กันไป  นี้มองแบบพระ  เพราะศัพท์ที่นำมาใช้ก็มาจากศัพท์ของพระ โดยคำแปล การศึกษา  แปลว่า การมองตน การพิจารณาตน การควบคุมตน จนกระทั่งการพัฒนาตน โดยความหมาย การศึกษา คือ การพัฒนาและปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ดีให้กับผู้เรียน

 

ความรู้สำคัญแน่นอนแต่เป็นรองนิสัย

          ความรู้ทางด้านวิชาการ  หากเกิดแก่คนพาล  มีแต่จะนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด  แต่ตรงกันข้ามความรู้ทางด้านวิชาการ   หากเกิดแก่บัณฑิต   มีแต่จะนำสุขความเจริญ ความรุ่งเรืองมาให้

          ด้วยเหตุนี้โบราณจึงมีคำกล่าวถึงพฤติกรรม   3 แบบ คือ

                   1. ศีลธรรมนำหน้า วิชาการตามหลัง

                        2. ศีลธรรมกับวิชาการไปพร้อมๆ  กัน

                        3. วิชาการนำหน้า ศีลธรรมไปหาเอาเอง

          เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ ไม่ใช่ปลูกฝังแค่ความรู้ คนละความหมายกัน บางท่านมีความรู้แล้วไม่ใฝ่รู้เพิ่มเติม มีความรู้อยู่ไม่เยอะแล้ว   ไม่ค้นต่อ เมื่อรู้ ก็ต้องรู้ รู้ ใฝ่รู้กันตลอดชีวิต เพราะโลกมันไม่ได้หยุดหมุน มันก็ต้อง ตามโลกให้ทัน  ไม่ใช่แค่รู้  แต่ต้องใฝ่รู้  ในเวลาเดียวกันไม่ใช่แค่รู้ว่าอะไรดี ไม่ดี มันต้องใฝ่ดี การที่เราตั้งใจใฝ่เมื่อไหร่ เราจะก้าวเข้าไปสู่นิสัย ถ้าไม่เป็นนิสัยมันก็ไม่ใฝ่

 

ทำอย่างไรจึงจะได้นิสัย

          นิสัยเกิดจาก  การคิด พูด ทำซ้ำๆ จนกระทั่งติด พอติดก็จะเกิดเป็นนิสัย ซึ่งมีทั้งนิสัยดีและไม่ดี

          นิสัย คือ พฤติกรรมที่ทำจนติด ถ้าไม่ได้ทำอีก มันจะหงุดหงิด ทั้งนิสัยดีและไม่ดี

          นิสัยดี ถ้าใครนอนหัวค่ำ ตื่นเช้ามืด ทำจนติดแล้ว ถ้าไปบอกให้เขานอนดึก แล้วตื่นสาย มันหงุดหงิด ทำไม่ได้ หรือคนหนึ่งมีนิสัยมุทิตา เห็นใครได้ดิบได้ดี ก็ดีใจกับเขาด้วย และพร้อมช่วยเหลือเจือจุน ยินดีให้ความร่วมมือ พวกนี้ตาไม่ร้อน เพราะเขาถูกฝึกจนติดเป็นนิสัยแล้ว ถ้ามีใครทำความดีขึ้นมาโปรแกรมในตัวจะบอกให้เขามุทิตา ดีใจด้วย นั่นคือนิสัยของเขา

          นิสัยไม่ดี ขี้อิจฉา ริษยาเห็นใครดีกว่า ตาร้อน มักทนไม่ได้ โปรแกรมในตัวจะสั่งออกมาทันทีเลยว่าต้องอิจฉา

          นิสัย  คือโปรแกรมเฉพาะตัว จะเป็นตัวบ่ง ว่าใครจะดี ใครจะเสื่อม ใครจะเจริญรุ่งเรือง ใครจะตกต่ำ

          โปรแกรมเมอร์ คือใคร ถ้าเป็นตอนเด็กๆ  อาจเป็น พ่อ แม่ ครู-อาจารย์ของเรา     แต่เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ ตัวเราเองคือโปรแกรมเมอร์ ไม่ต้องไปโทษใคร เพราะฉะนั้นขอย้ำว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของการปลูกฝังนิสัยทั้งใฝ่รู้และใฝ่ดี

          อุดมการณ์ของการศึกษา  คือ ยิ่งศึกษายิ่งต้องรู้จักตัวเอง รู้จักตน ควบคุมตน แล้วพัฒนาตนให้ได้ แต่ปัจจุบันตรงกันข้าม  ยิ่งเรียนมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งรู้เรื่องนอกตัวไปสารพัดยกเว้นเรื่องของตัวเอง อยากจะแก้ไขโลกทั้งโลกแต่จะแก้ไขตัวเองเป็นคนสุดท้าย   นี้คือความผิดพลาดอย่างมหันต์ของโลกการศึกษาในปัจจุบันนี้ ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่เป็นกันทั้งโลก ยิ่งศึกษายิ่งต้องรู้จักตนเพื่อจะได้ควบคุมตนให้อยู่ เพราะมนุษย์ตัวเล็กๆ เนื้อนิ่มๆ ไม่มีเขี้ยวเล็บคมเหมือนเสือ ไม่มีเขาเหมือนควาย ไม่มีงาเหมือนช้าง เท้าก็ไม่มีกีบ แต่สามารถทำร้าย ทำลายคนอื่นได้ฉกาจฉกรรจ์ทีเดียวด้วยมือนิ่มๆ ปากหวานๆ ตาเยิ้มๆ สามารถฆ่าคนทีเป็นพันเป็นหมื่น   แต่พวกสัตว์เหล่านั้นมีอาวุธอยู่ในตัวครบแต่ฆ่าฝ่ายตรงข้ามได้ทีละตัว

          ฉะนั้น  อุดมการณ์ของการศึกษา คือ ยิ่งศึกษายิ่งต้องรู้จักตนเอง ว่าคุณมีทั้งกายและใจ แล้วคุณต้องควบคุมกายและใจของคุณไม่ให้ไปทำความเดือดร้อนแก่ตัวเองและคนอื่น เมื่อควบคุมตนได้ ก็พัฒนาศักยภาพตนให้ช่วยตัวเองและช่วยเหลือคนอื่นให้ยิ่งๆขึ้นไป ให้เกิดประโยชน์สุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า ทั้งของตนเองและของส่วนรวม จะเอาแต่ตัวเองไม่พอ เพราะกว่าเราจะโตขึ้นมาได้ เราต้องผ่านมือคนที่มีความปรารถนาดีมาไม่รู้กี่คน เช่น ผ่านมือพ่อ แม่ ผ่านแม้กระทั่งมือคนใช้ ผ่านมือครู-อาจารย์ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบมหาวิทยาลัย ได้รับความอุปการะจากเพื่อนบ้านช่วยกันดูแล ได้ภาษีอากรจากรัฐบาลซึ่งรัฐบาลก็ได้มาจากประชาชน เพราะฉะนั้นคุณคือผลผลิตของบ้านเมือง แล้วเราจะเอาตัวเองรอดเพียงลำพังไม่ได้

          การศึกษาในพระพุทธศาสนา  มีอยู่ 3 เรื่อง ศีลศึกษา จิตศึกษาและปัญญาศึกษา

          ศีลศึกษา  ศึกษาเพื่อควบคุม พฤติกรรมทางกายกับวาจาให้ได้ คุมให้อยู่ให้ได้ ถ้าคุมไม่อยู่มันจะไปทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นได้ ฉะนั้นระเบียบวินัยจึงต้องมา

          จิตศึกษา  คือควบคุมจิต ให้อยู่ในกรอบจะได้ไม่ไปทำชั่ว ทำไม่ดี และก็พัฒนาให้มีศักยภาพในการทำความดี ซึ่งตรงนี้จะเน้นหนักไปในเรื่องสมาธิ

          ปัญญาศึกษา จะเป็นเรื่องของการนำทั้งกาย วาจา ใจ  ไปใช้ทำความดี

 

ความรู้ ที่เราจะเพาะให้เกิดความใฝ่รู้ มีอยู่ 2 เรื่อง

                   1. ความรู้เรื่องตน กับ ชีวิตของตน

                   2. ความรู้นอกตน

หัวใจของการศึกษา คือ

              1. มีครู

                  2. มีลูกศิษย์   มีนักเรียน

                  3. ต้องมีกิจกรรม การสอน

          วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศศาสนาครั้งแรก สอนใคร สอนปัญญจวคีย์ มีนักบวช 5 รูปมาเรียน

          พระองค์เป็นครู พระองค์เทศน์ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง เทศน์จบ ท่านหนึ่งเป็นพระโสดาบันบรรลุธรรมขั้นต้น อีกไม่กี่วัน ต่อมาอีก 4 รูป ก็บรรลุธรรมตามกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครู มีลูกศิษย์อยู่ 5 รูป

          พระองค์มีความรู้ มีความดีอยู่ในตัวพระองค์ มีศิลปะการสอน การถ่ายทอดให้ และพระองค์ก็มีจิตเมตตา   จิตกรุณา

          ส่วนลูกศิษย์ ก็ต้องมีความเคารพก่อน เหมือนมีแก้วอยู่ 2 ใบ ใบหนึ่งมีน้ำเต็มแก้ว   อีกใบว่างๆ ไม่มีอะไร  ถ้าจะรินน้ำใส่แก้วใบที่มีน้ำเต็ม ก็ไม่สามารถรินได้ แต่ถ้าลดระดับน้ำลงมาก็จะรินเติมได้ฉันใด  ความเคารพต้องมี  ถ้าไม่มีจะถ่ายทอดนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ดีไม่ได้ฉันนั้น ลูกศิษย์ต้องมีวินัย ถ้าไม่มีวินัย ถ่ายทอดให้เขาไป เขาก็จะนั่งเล่นกัน   ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไปไม่รอด และเมื่อครูยิ่งมีจิตเมตตามาก พร้อมถ่ายทอดให้เต็มที่ แต่ผู้เรียนไม่มีความอดทน ก็รับความรู้นั้นไม่ได้

          1.  ครูก็ต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างอยู่ในใจ คือ

                   1.  มีความรู้และความดี

                   2.  มีศิลปะการสอน การถ่ายทอดให้

                   3.  มีจิตเมตตา กรุณา

          2.  นักเรียนหรือลูกศิษย์ก็ต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างอยู่ในใจ คือ

                   1.  มีความเคารพ

                   2.  มีวินัย

                   3. มีความอดทน

          ซึ่ง 3 อย่างนี้ต้องมีในตัวนักเรียน ถ้านักเรียนฝึกมาไม่พอ การศึกษาก็ล้มเหลว หรือ นักเรียนมีคุณสมบัติครบทั้ง 3  อย่างแต่ครูมีคุณสมบัติไม่ครบ 3 การศึกษาก็ไม่เกิด

          3.  ต้องมีกิจกรรมการสอน เช่น มีการเทศน์ ปฐมเทศนา จึงกลายเป็นการศึกษาขึ้นมา   

          เพราะฉะนั้น  หัวใจของการศึกษา  คือ  มีครู มีนักเรียน มีกิจกรรมการสอน แต่ครูต้องมีคุณสมบัติ     นักเรียนต้องมีคุณสมบัติ และมีเป้าหมายชัดเจนว่า เรียนเพื่อให้เกิดนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ดี

          ถ้าเด็กนักเรียน เรียนไปโดยไม่มีเป้าหมายแล้ว พอเขาสอบผ่านได้ เขาก็จะไม่รู้ว่า  เขาต้องทำอะไร หลายอย่างที่เราเรียนแล้วก็ไม่มีเป้าหมาย ตั้งแต่สมัยเรียนพอเราสอบเสร็จ    ก็โยนหนังสือทิ้งไว้หน้าห้องเลย  ไม่ได้เอาไปใช้  มันไม่มีเป้าหมาย  มันไม่ได้ถูกสอนเพื่อเอาไปใช้จริงๆ เพราะมันไม่เกี่ยวกับตัวเรา เราก็โยนทิ้งให้อาจารย์ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา เราก็ต้องศึกษาและนำไปใช้  จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ดีของเรา และปลูกฝังให้กับลูกเรา ให้กับศิษย์ของเรา

          ปู่ ย่า ตา ทวด มองอย่างชัดเจน จึงทำให้เกิดพิธีไหว้ครูขึ้นมา ของสำหรับใช้ไหว้ครูมี  หญ้าแพรก     ดอกมะเขือ  ข้าวตอก  ดอกเข็ม  ธูปเทียน

          หญ้าแพรก  เป็น สัญลักษณ์ของ ความอดทน เหยียบก็แล้ว ย่ำก็แล้ว หน้าแล้ง     แห้งหมดเลย ดูแล้วตายแน่นอน  แต่พอฝนตกลงมาซู่เดียว พอมาดูอีกทีก็เริ่มเขียวแตกยอดออกมาอีกแล้ว  รักจะมีความรู้  อยากได้จะความรู้  ต้องมีความอดทนเหมือนหญ้าแพรก

          ดอกมะเขือ  เป็น สัญลักษณ์ ของความเคารพ เพราะดอกไม้ในโลกนี้ เวลาจะบาน  จะเงยหน้ารับแสงแดด  แต่เจ้าดอกมะเขือ  มันจะคว่ำหน้า

          ข้าวตอก เป็น สัญลักษณ์ ของความมีวินัย ข้าวตอก คือ ข้าวเปลือกที่เอามาคั่วและมันก็แตก แตกเพราะความร้อน และที่ไม่แตกก็เพราะมันตกมาจากกะทะ พอร้อนมันก็โดดออกมาจากกะทะ มันเลยไม่แตกเป็นข้าวตอก ก็เลยต้องเอากะละมัง มาครอบกะทะไว้ พอโดนความร้อน ข้าวเปลือกมันก็โดด แต่โดดไม่พ้นเพราะติดกรอบ ติดระเบียบ ติดวินัย

          ดอกเข็ม เป็น สัญลักษณ์ ของ สติปัญญา  เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต    ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม  

          เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยัง ไม่ปลูกฝังลูกศิษย์ ให้มีคุณธรรม 3 ข้อนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะถ่ายทอดความรู้ให้

          หัวใจของการศึกษา คือ ขอให้มีใจ ใจที่มีความรู้ ความดีเต็มที่ ใจที่มีศิลปะในการถ่ายทอด  ใจที่มีความเมตตา กรุณา ขอให้มีใจแบบนี้ ส่วนเด็กขอให้มีใจเคารพ มีวินัย มีความอดทน และมีกิจกรรมการเรียนเกิดขึ้น และเป้าหมายการศึกษาชัดเจน เด็กใฝ่รู้และใฝ่ดีตามครูให้ได้ การศึกษาถึงเกิด แสดงว่า การศึกษา  เป็นเรื่องของใจถึงใจ ถ้าครูสักแต่ว่าทำ ศิษย์สักแต่ว่าทำ นิสัยใฝ่รู้  ใฝ่ดี ก็จะไม่เกิด..

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องทั่วไป
หมายเลขบันทึก: 291626เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท