แด่..............กาลพฤกษ์


กาลพฤกษ์

วันนี้ เมื่อวานนี้ และหลายๆวันที่ผ่านมา

คิดถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อคราที่ได้ร่ำเรียน

คิดถึงบรรยากาศ

วันนี้มีโอกาส ว่าง เพราะทำตัวให้ว่างเลยได้เปิดเว็ป google โดยใช้คำค้นว่า กาลพฤกษ์

ไปเจอบทความดีๆครับ

เชิญอ่านครับ

หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน
สำนวนที่ยกมานี้เป็นสำนวนที่คุ้นเคยมากที่สุดสำนวนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าเรื่องของคนเรา ต้องอาศัยกาลเวลาเท่านั้น จึงจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นอย่างไร

กาลเวลานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตทุกชีวิต ยิ่งมีชีวิตอยู่มานานมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งรู้ซึ้งถึงความสำคัญของเวลามากขึ้นเท่านั้น คงเป็นเพราะรู้สึกว่ามีเวลาเหลือน้อยลงทุกทีนั่นเอง

ย้อนกลับไปเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ผู้เขียนเป็นน้องใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. ๒๕๐๘) ทั้งมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาไม่ถึง ๓๐๐ คน และยังต้องฝากนักศึกษาเรียนกับมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ปัจจุบัน “มหาวิทยาลัยมหิดล”) อยู่ในกรุงเทพฯ เพราะสถานที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังไม่เสร็จเรียบร้อย ต้องรอจนปีต่อมา (พ.ศ. ๒๕๐๙) จึงได้ย้ายไปอยู่ขอนแก่นอย่างถาวรมาจนถึงปัจจุบัน

ความทรงจำที่ยังแจ่มชัดอย่างหนึ่งคือ สภาพความแห้งแล้งของสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและดินทรายสีแดงจัด สมชื่อ "มอดินแดง" ดังนั้น งานสำคัญอย่างหนึ่งที่นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วม ก็คือการปลูกต้นไม้ตามอาคารต่างๆ และข้างถนนภายในมหาวิทยาลัย ต้นไม้ที่ปลูกเป็นต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและดินที่นั่น ซึ่งรวมถึงต้นไม้ที่เห็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย นั่นคือต้น “กาลพฤกษ์”

กาลพฤกษ์ : ไม้พื้นบ้านที่งดงามระดับสากล
กาลพฤกษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia bakeriana craib อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIOIDEAE เช่นเดียวกับขี้เหล็ก จึงมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่นลักษณะใบ
กาลพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง ๕-๑๒ เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง แต่ไม่หนาแน่นทึบ ใบเป็นใบผสมมีใบย่อย ๕-๑๕ คู่ ใบย่อยมีรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก มีขนอ่อนปกคลุมใบทั้งหน้า-หลัง เป็นไม้ผลัดใบ ใบร่วงหล่นช่วงฤดูหนาว ราวพฤศจิกายน-มีนาคม

ออกดอกหลังผลัดใบพร้อมแตกใบใหม่ ราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งเป็นช่อใหญ่ เต็มต้นดูงดงามมาก ดอกไม่มีกลิ่นหอม ดอกย่อยมีกลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพู เมื่อเริ่มบาน แล้วเริ่มจางจนเป็นสีเกือบขาวเมื่อใกล้ร่วงโรย เกสรตัวผู้สีเหลือง อยู่กลางดอก ดอกบานกว้าง ๒-๕ เซนติเมตร
ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม มีขนอ่อนปกคลุม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕-๒ เซนติเมตร ความยาว ๒๕-๔๐ เซนติเมตร เนื้อในฝักสีขาวปนเขียว
ลำต้น เปลือกเรียบ สีเทาแก่ เนื้อไม้สีเหลือง-น้ำตาล

กาลพฤกษ์มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบบริเวณ ป่าแดง ป่าโคก และป่าเบญจพรรณในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนไทยเกี่ยวกับชื่อต้นไม้คือ ชื่อต้นไม้เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ สำหรับกาลพฤกษ์ มีชื่อที่คนไทยภาคเหนือเรียกคือ กัลปพฤกษ์ ซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาต่อเนื่องมายาวนาน โดยเฉพาะศาสนาพุทธ

ในคัมภีร์ไตรภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง) กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่า เป็นต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้อยู่บนสวรรค์ สำหรับโลกมนุษย์ ต้นกัลปพฤกษ์จะมาบังเกิดเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยต้นกัลปพฤกษ์จะขึ้นอยู่ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ใครต้องการสิ่งของอะไรก็ไปอธิษฐานขอเอาจากต้นกัลปพฤกษ์ดังกล่าวนั้นได้ทุกคน นอกจากนี้ ยังมีคำบรรยายถึงต้นกัลปพฤกษ์ตอนหนึ่งว่า
"แลในแผ่นดินอุตตกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง โดยสูงได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบบริเวณมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์แล ต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปรารถนาหาทุนทรัพย์ สรรพเหตุใดๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการแล…”

ในคัมภีร์โลกสัณฐานกล่าวว่า ท้าวจาตุมหาราช หรือจตุโลกบาล ทั้ง ๔ พระองค์ คือท้าวธตรฐ จอมภูต รักษาทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก จอมเทวดารักษาทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค รักษาทิศตะวันตกและท้าวกุเวร จอมยักษ์ รักษาทิศเหนือ ทั้ง ๔ พระองค์นี้ล้วนทรงด้วยพระภูษา อันเกิดแต่ต้นกัลปพฤกษ์ทุกพระองค์

สำหรับคนไทยในอดีต ต้นกัลปพฤกษ์ เปรียบได้กับแก้วสารพัดนึกจึงทำให้เกิดความใฝ่ฝันจะได้ไปเกิดในสมัยพระศรีอาริย์กันอย่างกว้างขวาง จนมีผู้นำเอาอุดมการณ์ทางการเมืองมาผูกโยงกับความเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริย์ ดังเช่นกรณี "กบฏผีบุญ" ในภาคอีสาน ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว เป็นต้น

การที่คนไทยภาคเหนือเรียกชื่อต้นไม้ต้นนี้ว่ากัลปพฤกษ์ น่าจะมีสาเหตุหรือความหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าของต้นไม้ชนิดนี้อย่างแน่นอน น่าเสียดายที่เหตุผลดังกล่าวไม่สามารถสืบค้นได้แน่ชัดในปัจจุบัน

ชื่อของกาลพฤกษ์ที่เรียกกันในประเทศไทยคือ กาลพฤกษ์ (ภาคกลาง) กัลปพฤกษ์ (ภาคเหนือ) เปลือกชม (ปราจีนบุรี) แก่นร้าง (จันทบุรี) กานล์ (สุรินทร์) ในภาษาอังกฤษเรียก Pink Cassia หรือ Pink and White Shower Tree

ประโยชน์ของกาลพฤกษ์
ในทางสมุนไพร แพทย์แผนไทยกำหนดสรรพคุณของกาลพฤกษ์ไว้ดังนี้คือ
เนื้อในฝัก : ระบายอ่อนๆ แก้คูถ เสมหะ เป็นต้น
เปลือกเมล็ด : ทำให้อาเจียน ถ่ายพิษไข้ได้ดี เป็นต้น
สำหรับเนื้อในฝักกาลพฤกษ์นั้นมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเพราะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนยาที่ระบายแรงกว่า
สมัยก่อนคนไทยถือว่า กิ่งก้านจากต้นกาลพฤกษ์เป็นไม้มงคล เหมาะสำหรับนำไปทำด้ามธง ถือว่าทำให้เกิดสิริมงคลดีนัก
ต้นกาลพฤกษ์ทนดินเลวอากาศแห้งแล้งได้ดี มีดอกดกเต็มต้น สีชมพูอ่อนสดใสงดงามมาก เปรียบได้กับดอกเชอรี่ ดังที่บรรยายไว้ในเพลงโปรดเพลงหนึ่งของผู้เขียนและคนไทยหลายคนคือเพลง "Herry Pink and Apple Blossom White"
ดอกกาลพฤกษ์มีทั้งสีชมพูและขาวจึงรวบรวมความงดงามของทั้งดอกเชอรี่และดอกแอปเปิ้ลในเพลงนี้เอาไว้ในต้นเดียวกัน
กาลเวลาที่ผ่านไป ๓๙ ปี ทำให้ต้นกาลพฤกษ์ที่ผู้เขียนปลูกไว้ ในบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น สูญหายไปหมดแล้ว ด้วยสาเหตุต่างๆ (การขยายถนน การก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม ฯลฯ) แต่ความทรงจำนั้นคงไม่มีวันลืมเลือน

ผู้เขียนจะพยายามหาต้นพันธุ์กาลพฤกษ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาปลูกในบริเวณที่ทำงานปัจจุบันของมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อชื่นชมกับความงามของดอกและหวนคำนึงถึงความหลัง รวมทั้งตั้งความหวังถึงสังคม พระศรีอาริย์ในอนาคต ร่วมกับคนไทยในปัจจุบันอีกหลายท่าน ที่คงจะเริ่มปลูกต้นกาลพฤกษ์เช่นเดียวกัน

บทความดีๆจาก พี่เดชา ศิริภัทร ค้นจาก

http://www.doctor.or.th/node/1848

หมายเลขบันทึก: 290695เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2014 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท