พุทธฉือจี้ ที่ ม.อ. (4): อยู่รอดปลอดภัย อยู่เย็นเป็นสุข


อยู่รอดปลอดภัย อยู่เย็นเป็นสุข

คุณสุชลหนึ่งในวิทยากรหลักของมูลนิธิพุทธฉือจี้ในประเทศไทย ได้เล่าเรื่องราวน่าสนใจมากมาย มีข้อคิด และ "ข้อสะดุดใจ" เยอะ โดยเฉพาะอย่่างหลังนี่ เพราะการ "สะดุด" นั้น ถ้่าเป็นสะดุดใจเราสามารถจะนำไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เยอะ

สิ่งหนึ่งที่คุณสุชลมีความศรัทธาแรงกล้าในคนไทยก็คือ "ต้นทุนทางจิตใจ" ซึ่งถึงแม้ว่าจะโดนกระแสอะไรพัดพาไปบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นมากมายไปบ้าง แต่ "เนื้อแท้" ของวัฒนธรรมประเพณีของเรานั้น คุณสุชลเชื่อเหลือเกินว่าเรายังมีอะไรที่เป็นต้นทุนอยู่อีกเยอะ ขอเพียงนำมาใช้ให้เต็มที่เท่านั้น อย่าได้ละเลย ละทิ้งไป

คุณสุชลเล่าถึงความพากเพียรพยายามของคนจีน ของการก่อกำเนิดพุทธศาสนาในประเทศจีนที่ลัทธิความเชื่อขงจื๊อเล่าจื๊อ ฟังรกรากมานาน ในบทเรื่องกตัญญูนั้น การมีลูกหลานสืบตระกูล หรือบุตรชายนั้น เป็นสัญญลักษณ์สำคัญของความกตัญญูที่สุดข้อหนึ่งทีเดียว ฉะนั้น การเผยแพร่ศาสนาพุทธที่ต้องให้คนออกถือบวช ศึกษาธรรมนั้น มีข้อขัดแย้งอยู่กับคำสอนดั้งเดิม จนกระทั่งผลดีของการบำเพ็ญธรรม อบรมศึกษาธรรม เริ่มมีความชัดเจนในภายหลัง มิฉะนั้นแล้วอคติในตอนแรกๆนั้นเรียกว่าการเผยแพร่ธรรมคำสั่งสอนจะเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่งทีเดียว การสั่งสอนพุทธศาสนาให้อยู่ยั่งยืนในสังคมได้ จึงต้องสอนให้แนบเนียนและบูรณาการไปกับจังหวะชีวิตของคนในยุคสมัยและนำไปใช้กับชีวิต "ประจำวัน" ให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว การสอนที่เป็นไปแบบ "ธรรมะมีไว้เพื่อบูชา" ก็ดูท่าทางจะอยู่ไม่รอด มันต้อง "ธรรมะเพื่อการปฏิบัติ"

อาสาสมัครพุทธฉือจี้จึง "ดำเนินชีวิต" ตามหลักธรรมะ ตามวาทะธรรมของท่านเจิ้งเหยียน จนแยกไม่ออกว่าตอนไหนเป็นตอนไหน ชีวิตกับธรรมะผสมผสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน สามารถมีความสุขกับครอบครัว หน้าที่การงาน ได้ ในขณะเดียวกันก็บำเพ็ญเมตตาบารมีและเจริญรอยตามวิถีแห่งโพธิสัตว์ได้ไปพร้อมๆกัน

อยู่รอดปลอดภัย

เป็นพื้นฐานของมนุษย์ คือ "เพื่ออยู่รอด" (อย่างที่เคยเขียนไว้เรื่อง อยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย) อยู่รอดปลอดภัยเป็นความต้องการพื้นฐานของมาสโลว์ ได้แก่ การมีกิน มีที่อยู่ มีเครื่องนุ่มห่ม สุขภาพทางกายดี ปลอดภัย แม้บางท่านอาจจะบอกว่าเรื่องพวกนี้เด็กๆ เพราะเลยระดับนั้นมานานแล้ว แต่ความสำคัญไม่น้อยลง ถ้าตัวเราเอง "พอเพียงแล้ว" ก็อาจจะแปลว่าถึงเวลาที่เราจะต้องอุ้มชู เกื้อกูลผู้อื่นที่ "ยังไม่ OK" แล้วกระมัง ที่สุดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะขออยู่รอดคนเดียว ปลอดภัยคนเดียว แล้วกั้นรั้ว ก่อกำแพง ไม่ให้ใครมายุ่งมาเกี่ยวด้วย เพราะยังไงๆเราก็ยังหายใจอากาศเดียวกัน อาศัยน้ำ แผ่นดิน อาหาร จากแหล่งเดียวกันอยู่ เรื่องความปลอดภัยก็เหมือนกัน ไปๆมาๆ การปกป้องตนเอง อาจจะต้องทำควบคู่ไปกับการอยู่อย่่างเป็นมิตรกับคนรอบข้าง มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันด่้วย

อยู่เย็นเป็นสุข

ไม่ได้หมายถึงติดแอร์คอนดิชันให้เย็นสบายแต่อย่างใด แต่หมายถึง "เย็นข้างใน"

เคยสนทนากับใครแล้วรู้สึกร้อนรุ่มไหมครับ เราจะพบว่ามันไม่ได้เป็นเพราะอุณหภูมิมันสูงขึ้น แต่เป็นเพราะ level of emotion หรือระดับความพลุ่งพล่านของอารมณ์มันคุกรุ่นปุดปุด นั่นก็ถึงตอนที่เราต้องมีสติ รู้ตัวเอง ว่าเราชักจะไม่ค่อยจะ "เย็น" เท่าไหร่นัก เรื่องนี้ต้องฝึกฝนอย่างจริงจังครับ หาอะไรที่ "ท้าทาย" มาทดสอบอารมณ์ อย่าไปหลงคิดว่าเราตั้ง barricade เครื่องกีดขวางสิ่งเร้าอารมณ์แล้วอารมณ์เรานิ่งเป็นข่าวดีนะครับ จริงๆถ้าเราดูแลเรื่องการกระทบอารมณ์มากเกินไป เรากลับจะขาดภูมิคุ้มกัน เพราะร่างกายไม่ได้รับการกระตุ้นเลยมานานก็ได้ ต้องเอาหัวใจเราไปเผชิญกับสิ่ง "ท้าทาย" ตอนนั้นเราถึงจะทราบว่าระดับการควบคุมของเราเป็นเช่นไร

เช่น เมื่อได้ยินการประเมิน การวัด "จิตวิญญาณการเป็นครู การเป็นนักเรียน" ด้วยเครื่องตรวจลายนิ้วมือว่าใครเข้าห้อง conference บ้าง นี่ก็เป็นการ "ท้าทาย" อารมณ์ได้พอสมควร

หรือการมี KPI เรื่องการศึกษา โดยใช้ตัววัด 3 ตัวแบบจับต้องได้ ก็ทดสอบอารมณ์เราเหมือนกัน (นะนี่)

ไม่ใช่เราว่าไม่ชอบประเมินหรอก แต่ว่าการวัดที่ rigid บางตัวนั้น วัดแล้วไม่รู้จะพัฒนาอะไร แทนทืี่จะเป็นการวัดแบบ formative หรือเพื่อพัฒนาปรับปรุง แต่เป็นการวัด for the sake of measure คือได้วัด ได้ตัดสิน ได้ ranking แต่ไม่ค่อยช่วยเรื่องการวางยุทธศาสตร์การแก้ไขปรับปรุงเพราะเราไม่ได้เก็บข้อมูลเรื่องของ "ที่มา เหตุผล และความรู้สึก" มาโยงใยความสัมพันธ์

ยกตัวอย่างเรื่อง "จิตอาสา" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่่่า "อาสา" คือสมัครใจ แต่พอมี criteria บอกว่าอะไรเป็นจิตอาสาเกรดเอ เกรดบี เกรดซี อะไรเป็นจิตอาสาแท้ หรือเทียม หรือมีจิตอาสาแต่ยังไม่ทุ่มเทเต็มที่ นำมาตำหนิอาสาสมัคร หาว่านี่น่ะหรือคืออาสา อันนี้ก็เป็นปัญหาได้เหมือนกัน

เพราะที่ใดมีอาสาสมัครนั้น ผมคิดว่าเราน่าจะนับเป็น asset ขององค์กรอันทรงค่ายิ่ง ก็เมื่อเวลาท่านว่าง ท่านสมัครใจจะมาช่วยเหลือองค์กร ช่วยเหลือคนอื่นๆ นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ แต่ถ้าเรายังไปเรียกร้อง ตั้งแง่ว่าจะมาช่วยต้องช่วยเต็มเวลา ต้องให้อย่างนู้นอย่างนี้ มันจะหลุดจากจิตอาสากลายไปเป็นลูกจ้่างองค์กรแทนโดยไม่รู้ตัว

คุณสุชลเล่าให้ฟังอีกว่า "สิบปีได้ร่มไม้ ร้อยปีได้บุคลากร" อันนี้เป็น vision ชนิด "มองไกล" จริงๆ เนื่องจากคนเรานั้น ต้อง "เรียนรู้ เติบโต" สิ่งเหล่านี้ใช้เวลา ที่จะค่อยๆประคยประหงม หล่อเลี้่ยง ให้เติบโต งอกงาม อย่างมั่นคง หยั่งรากแก้วให้ดี ไม่ใช่มีแต่รากฝอย รากเทียม ที่เป็น artificial แต่เป็นรากแท้ที่งอกงามไปตามธรรมชาติ เหมือนกับบทความชีวิตที่พอเพียง บทที่ 820 ของอาจารย์วิจารณ์ พานิช เรื่อง "ฝึกมองไกล ใจกว้าง ใฝ่สูง" ที่หัดปรับเปลี่ยนมุมมอง และระยะที่จะมอง และปลายทางที่จะมองให้มากขึ้น

อยู่เย็นเป็นสุข จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่คำที่คล้องจองมีสัมผัสในเท่านั้น แต่เป็น "สมการ" ที่ลึกซึ้ง น่าใคร่ครวญ และมองชนิด "มองไกล ใฝ่สูง" โดยมีใจกว้างด้วย

ว่าเราจะทำอย่างไร โรงพยาบาลจึงจะเป็นที่ที่คนเข้ามาแล้ว เกิดการเยียวยาตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในโรงพยาบาล แทนที่จะรู้สึกถูก intimidate ข่มด้วยลักษณาการอันน่าเกรงขาม ได้รับฟังคำพูด บทสนทนาที่ไพเราะอ่อนหวาน ให้กำลังใจ แทนที่จะเต็มไปด้วยคำที่ตัดสิน ฟันธง ตีค่าตลอดเวลา

หมายเลขบันทึก: 290540เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท