KM (แนวปฏิบัติ) :๖๙๕ . เรียน KM จากอาจารย์โก๋ – Peer Assist



          วันที่ ๒๙ ก.ค. ๕๒ ผมไปร่วม “เสวนาวิชาการเรื่อง ยุทธศาสตร์การสื่อสารสาธารณะ : การจัดการความรู้ผ่านสื่อสู่สังคม”    ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว   ตามคำชวนของอาจารย์โก๋   โดยผมถูกกำหนดให้กล่าวนำ ตอนแรกก็บอกว่า ๑๕ นาที   พอใกล้ถึงวันงานก็ขอขยายเป็น ๓๐ นาที   ในหัวข้อ “การสื่อสารความรู้เพื่อสังคม”   ซึ่งผมก็พูดแบบคนไม่รู้ออกไปนอกฟ้าป่าหิมพานต์   ชม narrated ppt การบรรยายของผมได้ที่นี่    ผมกลับมาทบทวนที่บ้านว่า ดีเหมือนกันที่พูดไม่เข้าเรื่องเสียบ้าง    คนจะได้รู้ว่าบางเรื่องอย่าไปเชิญอาจารย์วิจารณ์มาพูดให้เสียบรรยากาศเลย   


          หัวใจของงานอยู่ที่การอภิปราย “การขับเคลื่อนความรู้สู่สังคมผ่านการสื่อสารสาธารณะ” โดย (๑) ศ. นพ. ประกิต วาธีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่     (๒) คุณมัทนา หอมลออ กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  (๓) คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร แผนงานไอซีทีเพื่อสุขภาวะออนไลน์ สสส. (๔) อาจารย์ศิวพร ปกป้อง   รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว      ดำเนินรายการโดย อาจารย์ อิทธิพล ปรีติประสงค์   ซึ่งเป็นการอภิปรายโดยผู้มีประสบการณ์ตรงที่ได้สาระอย่างยิ่ง   แถม อ. หมอประกิตยังเอาหนังสือ “ถอดบทเรียนชี้นำสังคม และผลักดันนโยบายสาธารณะ”  และ “คู่มือการทำงานกับสื่อมวลชน จากประสบการณ์การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” มาแจก   ถือเป็นการแลกเปลี่ยน explicit knowledge ตรงเป้าทีเดียว  


          หลังการอภิปราย อ. โก๋ถามที่ประชุมด้วย PowerPoint ตามที่เอามาให้ดู    ว่าคำถามอยู่ตรงพื้นสีน้ำเงิน    


          ผมจึงถึงบางอ้อ ว่า อ. โก๋ต้องการความรู้พร้อมใช้ ในสถานการณ์ที่เธอขึ้นต้นว่าเมื่อวานนี้เอง  ครม. ไม่ผ่านข้อเสนอให้จำกัดเวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์แก่เด็กอายุน้อยไม่เกินวันละ ๓ ชั่วโมง    แสดงความล้มเหลวของทีม อ. โก๋ ในการผลักดันนโยบายสาธารณะสำคัญชิ้นนี้  


          ผมตีความว่า ที่จริง อ. โก๋ต้องการวงจัดการความรู้เพื่อหาลู่ทางไปสู้ใหม่    ให้ข้อเสนอจำกัดเวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ผ่านมติ ครม. ให้ได้    ซึ่งถ้าผมตีความถูก อ. โก๋ ไม่ควรจัดวงประชุมอย่างที่จัดเมื่อวันที่ ๒๙ ก.ค.   แต่ควรจัดการประชุมแบบตั้งวง ลปรร. และใช้เทคนิค “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Peer Assist)   ก็จะได้ความรู้ชนิด tacit knowledge พร้อมเอาไปใช้ตั้งตัวต่อสู้ยกใหม่

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ค. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 289619เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

ประเด็นที่ยกขึ้นมา ตั้งใจให้เป็นกรณีศึกษาว่า บางครั้ง "ความรู้" ที่คิดเสร็จแล้ว แต่ถ้าขาดการสร้างความเข้าใจให้กับสังคม (ไม่ว่าจะโดยวิธีใด เช่น การสื่อสารสาธารณะ) ทำให้การขับเคลื่อนเชิงนโยบายอาจจะไปไม่ถึง "การปฎิรูปกฎหมาย นโยบาย" ได้

กำลังนึกถึง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ วิธีการสื่อสารความรู้ โดยจะทำเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้แต่ละกลุ่ม "เลือกประเด็นความรู้" ที่ต้องการ "สื่อสาร" แล้วมาทำการทดอลงสื่อสารกันครับ

จะดีไหมครับ

เรียน อาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

กลับมาตอบอีกรอบ ในการเสวนาครั้งนี้ ผมรู้สึกว่าอาจารย์พูดในเชิงหลักการที่ทำให้เห็นภาพของการจัดการความรู้ผ่านการสื่อสารความรู้อย่างมากเลยครับ

ได้เห็นว่า ต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง เห็นภาพชัดเจนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท