“SHA…ชาใส่นม”


“SHA…ชาใส่นม”

คำว่าโรงพยาบาล  HA  และโรงพยาบาล  HPH  เมื่อเอ่ยถึงคำคู่นี้  ใคร    ที่ทำงานคุณภาพโรงพยาบาล  ก็อยากก้าวไปให้ถึงและเข้าไปนั่งในตำแหน่งนั้น  โรงพยาบาลบ้านลาดก็เช่นกัน  พวกเราทุกคนใฝ่ฝัน อยากจะคว้ามงกุฎดาราคู่นั้นมาสรวม  และครอบครองตำแหน่งอันมีค่ายิ่ง  พวกเราทุกคนพยายามทำทุกวิถีทาง  ขยัน  อดทน  อ่านตำรา  ไปดูงาน  ขอแบบประเมินตนเองจากโรงพยาบาลที่ผ่านแล้วมาเป็นแม่แบบ  เราทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ  แต่ก็ยังประเมินไม่ผ่านทำไมรสชาดของโรงพยาบาลคุณภาพมันถึงขมขื่น  ทุกข์ระทมและเหน็ดเหนื่อย  เหมือนเราอยากตาสว่าง  แต่เราต้องทนกับรสขมบาดลิ้นของกาแฟดำเช่นนี้

            ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน HA National Forum  ครั้งที่  8  เป็นครั้งแรก  หัวใจของฉันพองโต  เมื่อก้าวเข้าสู่ห้อง Grand Hall อันโอ่อ่า  ตระการตา  เหตุใดการประชุมวิชาการของพรพ.  จึงมีคนสนใจล้นหลามขนาดนี้  ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนมีความกระตือรือร้น  แววตามมุ่งมั่นใส่ใจใคร่รู้  ไม่ว่าจะโผล่ไปห้องย่อยห้องไหนก็แน่นทุกห้อง  แน่นจนล้นออกมานอกประตู  ผู้คนสนใจนั่งฟังกับพื้นบ้าง  นั่งข้างเก้าอี้บ้าง  นั่งหน้าเวทีบ้าง  แออัดไปหมด  แต่ไม่มีใครบ่น  ทุกคนสนใจความรู้ใหม่    ที่วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายให้ฟังอยู่หน้าเวที  บางคนอัดเทป  บางคนถ่ายรูป  เป็นความแน่นขนัด  ฉันจึงตั้งชื่อว่า  ตลาดนัดวิชาการ  ซึ่งคนอยากหาและซื้อ  ฉันปลีกตัวออกมาดูบอร์ดนิทรรศการ  ซึ่งก็แน่นขนัดไม่แพ้กัน  ดูเห็นบ้างไม่เห็นบ้างก็ยังดี  ฉันจึงตั้งปณิธานอยู่ในใจว่า  เออ  แล้วฉันต้องเอาของโรงพยาบาลบ้านลาดมาตั้งแสดงให้พวกเธอเบียดเสียดกันเข้ามาดูผลงานของฉันให้ได้

            ฉันเองไม่ค่อยมีความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพ HA  มากนัก  เพราะฉันรับผิดชอบงานส่งเสริมสุขภาพ  วันหนึ่งประธานศูนย์คุณภาพมาชวนฉันว่าไปร่วมเป็นกรรมการพัฒนาคุณภาพเอาไหม  ฉันตอบตกลงทันที  เพราะฉันรู้ว่ามันเป็นโอกาสที่ฉันจะได้นำเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์  และได้มานำเสนอผลงานใน HA Forum ดังที่ฉันตั้งปณิธานไว้  ฉันจึงสมัครเข้าร่วมกับทีม Fac. เพื่อแนะนำเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ทำงานตามระบบที่วางไว้  และสิ่งที่ฉันภาคภูมิใจมากที่สุด  คือ  ได้รับความไว้วางใจจากทีมนำ  ให้เป็นเลขาทีมดูแลผู้ป่วย  ซึ่งฉันตั้งใจจะทำงานให้เต็มความสามารถ

            ฉันคิดในใจว่า  ตำแหน่งนี้เหมือนนางสาวไทย  คือ  มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ขององค์กรบ้านลาดและประสานการทำงานของหน่วยต่าง    ในโรงพยาบาล  ฉันต้องเดินยิ้ม  และไปชักชวนเพื่อน    ให้ทำงานคุณภาพทั้งองค์กรแพทย์  ระบบยา  ทันตกรรม  ชันสูตรสาธารณสุข  พยาบาลเยี่ยมบ้าน  พยาบาลโภชนาการ  พยาบาลกายภาพบำบัด  พยาบาลหัวหน้างานต่าง    ระบบต่าง    ในโรงพยาบาล  ช่วยกันวางระบบ  ปฏิบัติตามระบบให้เกิดความเสี่ยงความคลาดเคลื่อนและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ให้น้อยที่สุด  เพราะเราต้องการเป็นโรงพยาบาลชุมชนชั้นนำของประเทศ  ฉันอ่านตำราทุกเล่ม  มาตรฐานทุกเล่มของพรพ.  แล้วนำมาตรฐาน HA และ HPH สู่การปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกกลุ่มความเสี่ยง  เชื่อมโยงทุกหน่วยงาน  เชื่อมโยงทุกระบบ  จนเกิดผลลัพธ์คุณภาพที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย  โดยเน้นสิทธิผู้ป่วย  จริยธรรมองค์กรจนเกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาลของเรา  ฉันเริ่มเอามาตรฐานของ HA ที่ขมเหมือนกาแฟ  มาทำให้ทุกคนรู้จัก  ทุกคนกระปรี้กระเปร่าขึ้น  แม้จะเหนื่อยยากก็จะอดทน

            แล้วความฝันของฉันก็เป็นความจริง  ปี  พ.ศ.  2549  โรงพยาบาลบ้านลาดของฉันผ่านการรับรองทั้ง HA  และ HPH  เราได้รับเกียรติไปร่วมงาน Theme ของ HA National Forum เน้นการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์  ฉันเริ่มมึนอีกแล้ว  ก็เราเป็นมนุษย์ทุกคน  ทำไมเราถึงไปดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์เล่า  ฉันแอบเถียงพรพ.อยู่ในใจ  แล้วจะให้ฉันดูแลผู้ป่วยอย่างไรอีก  ผ่าน HA แล้วยังไม่พออีกหรือ  ฉันส่งผลงานการดูแลผู้ป่วย COPD ซึ่งฉันคิดว่าฉันดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์แล้ว  แต่ไม่ผ่านการรับเลือกให้จัดแสดง  ฉันกลับมาบ่นกับผู้อำนวยการว่าฉันจะไม่ทำงานคุณภาพอีกแล้ว  ทำอย่างไรก็ไม่ดี  เขียนอย่างไรก็ไม่เข้าตาพรพ.  ฉันไม่มีความสามารถ  ผู้อำนวยการปลอบฉันว่า  ให้อดทนสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ได้นำเสนอใน Form หรือไม่  หัวใจมันอยู่ที่คุณได้ดูแลคนไข้ด้วยความรัก  ความเอาใจใส่และความเห็นอกเห็นใจแล้วหรือยัง  ถ้าคุณทำแล้วความดีที่คุณได้รับ  มีคุณค่ามากกว่าการได้แสดงนิทรรศการมากมายนัก  ฉันฟังและพยักหน้าคล้อยตาม

            อีกปีหนึ่งต่อมา  Theme ของพรพ.พูดเรื่ององค์กรที่มีชีวิต  ฉันก็งงอีก  แต่คราวนี้ฉันไม่ย่อท้อ  ฉันคิดว่าองค์กรที่มีชีวิตต้องมีหัวใจ  โดยเฉพาะหัวใจของความเป็นมนุษย์  ฉันติดตามการประชุมของพรพ.ทุกประชุมจนได้มาฟังการนำเสนอ  การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ของโรงพยาบาลตาคลี  นครสวรรค์  ฉันเริ่มเข้าใจว่าการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์  คือการดูแลผู้ป่วยที่ยุ่งยาก  ซับซ้อน  ด้วยความเอาใจใส่  และช่วยเหลือเขาด้วยความเต็มใจ  จริงใจ  เหมือนเราดูแล  คนที่เรารัก

            ฉันถ่ายเอกสารเรื่องเล่าของโรงพยาบาลต่าง    ไม่ว่าจะเป็นตาคลี  ละงู  เสาไห้  ลำพูน  แจกจ่ายให้น้อง    งานต่าง    ได้ดูเป็นตัวอย่าง  แล้วลองทำกับคนไข้ของเราอย่างนั้นบ้าง  ได้ผลค่ะ  น้อง    ส่งเรื่องราวดี    ที่เขาได้ดูแลคนไข้ของเขา  เข้ามาถึง  8  เรื่อง  เราส่งให้พรพ.พิจารณาได้ผล  พรพ.ขอมาดูของจริงว่าเราทำอย่างที่เขียนไปจริงหรือเปล่า  ปี  2550  โรงพยาบาลบ้านลาดเป็นม้ามืดคว้ารางวัล Humanized Health Care Award 1 ใน  15  โรงพยาบาลทั่วประเทศ  เราภาคภูมิใจมากที่การดูแลผู้ป่วยของเราเป็นการดูแลด้วยหัวใจของมนุษย์  โดยไม่ตั้งใจ

            เมื่อเรามาถูกทาง  น้อง    ของเราทุกงานก็เริ่มเขียนผลงานที่พวกเขาดูแลคนไข้จริง    มาให้เราอีก  เราส่งให้พรพ.พิจารณา  เรามาถูกทางแล้ว  ปี  2551  โรงพยาบาลบ้านลาด  ได้รับรางวัล Humanized Health Care Award  เป็นครั้งที่  2  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแรกของประเทศไทยที่ทำได้  จากผลงานทั้งหมด  14  เรื่อง  และนำเสนอในนิทรรศการ  8  เรื่อง  ได้แสดงละครในลานนิทรรศการ  ผู้อำนวยการได้รับเกียรติบรรยาย  พวกเรา  4  คน  ได้นำเสนอเรื่องเล่าทุกวัน  ฉันดีใจที่เวลาเดินไปไหน  มีแต่คนชมว่า  บ้านลาดเก่ง  หัวใจฉันพองโตจนไม่รู้สึกหิวข้าวกลางวัน

            หลังจากนั้น  มีคนมาขอศึกษาดูงานเรื่อง Humanized Health Care จากเรามากมาย  จากโรงพยาบาลชุมชนต่าง    โรงพยาบาลจังหวัด  และที่เราภาคภูมิใจมากที่สุด  คือ  นักศึกษาแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพามาขอดูงานจากเรา  เพื่อนำไปเป็นหลักสูตรเปิดการเรียนการสอนให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการดูแลคนไข้ต่อไป

            ฉันเพิ่งเข้าใจตอนนี้เองว่า  การทำ HA ซึ่งมีมาตรฐาน  และ CPG  มากมาย  ทำให้เจ้าหน้าที่เครียด  เหมือนกับกินกาแฟที่ขม  หากเราทำ HA ให้เป็นงานประจำ  ก็เปรียบเหมือนเราเปลี่ยนมาดื่มชา  รสชาติก็นุ่มขึ้นไม่ขมมาก  แต่ก็ทำให้เราตาสว่างได้เช่นกัน  แต่ชาก็มีรสเฝื่อนหลายคนคงไม่ชอบ  ถ้าเราเติมการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์เข้าไปในการดูแลคนไข้  เหมือนเราเติมนมข้นหวานเข้าไปในชา  มันก็คงจะดีขึ้น  สีของชาขาวนวลขึ้น  รสชาติของชาหวานมันขึ้น  หากเราใส่น้ำแข็งเข้าไปอีกหน่อย  ชาใส่นมของเราก็คงจะหวานเย็น  และมีรสกลมกล่อมขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

            ฉันจึงนิยาม  ชาใส่นม  ว่าต้องประกอบด้วย  พลัง  3  ด้าน  คือ  พลังด้านวิชากร  เป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยที่เราต้องยึดถือปฏิบัติให้มั่นคง  จะผิดพลาดไม่ได้  พลังด้านนโยบาย  ผู้มีอำนาจต้องมีนโยบายสนับสนุนอย่างเต็มที่  ให้กำลังใจและแก้ไขปัญหาให้ผู้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ  และพลังสุดท้ายคือ  พลังด้านการมีส่วนร่วม  เจ้าหน้าที่ทุกคน  ญาติผู้ป่วยและชุมชน  ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลคนไข้ด้วยกัน  หากเรารวมพลังทั้ง  3  ด้าน  ชาใส่นมถ้วยนี้คงมีรสชาติหวานกลมกล่อมซึ่งเกิดขึ้นในโรงพยาบาลบ้านลาด

            SHA  ใส่นม  จะประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น  เรามีกระบวนการดังนี้ 

1.  การวิเคราะห์โดยใช้ System Theory โดยดูที่ผลลัพธ์ก่อน  ถ้าผลลัพธ์ไม่ดี  จึงย้อนกลับมาดูว่า  กระบวนการ  ใดผิดพลาด  ก็ทำการปรับปรุงแก้ไข  ถ้ายังไม่ดีพอต้องดูปัจจัยนำเข้าว่ายังขาดเหลือสิ่งใด  โรงพยาบาลต้องปรับปรุงและสนับสนุนให้ระบบสมดุล

            2.  การตั้งเป้าหมาย  เป้าหมายต้องชัดโดยกำหนดกลุ่มโรคที่จะดูแล  และแยกเป็นรายโรคสำคัญทุกกลุ่ม

            3.  นิยาม SHA ให้ชัด  โดยใช้  Model 3L คือ Love, Listening และ Learning ซึ่งเป็นModel  ที่ฉันคิดขึ้นและนำไปใช้ในโรงพยาบาลและกำลังอยู่ระหว่างการทดลอง  Model  อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์

            4.  ความตั้งใจจริง  ทีมดูแลผู้ป่วยต้องมุ่งมั่นที่จะทำให้คนไข้มีสถานะสุขภาพที่ดีขึ้น  อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี  ติดตามดูแลให้เหมือนกับเราดูแล  คนที่เรารัก  ปรารถนาให้เขามีความสุข

            5.  การเยี่ยมบ้าน  เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราทราบสภาพที่แท้จริงของคนไข้  แล้วเราจะรู้สึกสงสารเขามากขึ้นและพยาบาลทำทุกอย่างให้เขาสุขสบายขึ้น

            6.  คิดนอกกรอบ  โดยใช้กระบวนการ CQI  และนวตกรรมมาใช้ในการดูแลช่วยเหลือคนไข้ไม่ใช่ทำแบบเดิม    ซึ่งคนไข้ไม่ดีขึ้น  โดยผู้ป่วย  ญาติ  ชุมชนร่วมคิดร่วมทำ

            7.  แก้ไขปัญหา  และลดอุปสรรค  การเข้าถึง  เช่น  รถ EMS มีเครื่องมือ  อุปกรณ์  สนับสนุนอย่างพอเพียงสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

            8.  ผู้นำให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  ละเลยเรื่องส่วนตัว  ประสานงานกับองค์กรอื่น  สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน

            ถึงวันนี้  วันที่ฉันเป็นส่วนหนึ่งที่นำพาโรงพยาบาลบ้านลาดของฉัน  เข้ามายืนอยู่ในจุดที่เป็นโรงพยาบาล HA โรงพยาบาล HPH และโรงพยาบาล Humanized Health Card Award เป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน  และดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์  เหมือนชาใส่นม  แล้ว SHA ของเราก็จะยั่งยืนต่อไป  ฉันมองดูพัฒนาการของ SHA ใส่นมมาตลอดด้วยความภาคภูมิใจ  เราได้นำเสนอเรื่องราวดีๆ  ผ่านเรื่องเล่า  และบอร์ดนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง  ปี  2550  มี  8  เรื่อง  ปี  2551  มี  14  เรื่อง  และในปี  2552  พวกเราส่งเรื่องดี    เข้ามามากถึง  50  เรื่อง  เราคิดว่าชาของเราเติมนมจนได้ที่  มีรสชาติ  หวาน  หอมกลมกล่อม  จนเจ้าหน้าที่ของเราทุกคนได้ดื่มกินทุกวัน  และพร้อมจะหยิบยื่นชาใส่นมถ้วยนี้ให้กับคนไข้ของเราทุกคน  พวกเราคิดว่าเราคงพัฒนากระบวนการคุณภาพของเราไปเรื่อย    ไม่ใช่เพื่อเหรียญรางวัล  หรือประกาศนียบัตรรับรองแต่เป็นคุณภาพชีวิตของคนไข้ของเรา  ต้องดีขึ้นโดยเราจะพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลบ้านลาด  โดยในหลักการที่ว่า  ยืดหยุ่น  และยั่งยืน (Flexible and Sustainable Development) เราหวังเช่นนั้น  และจะพยายามเดินไปให้ถึง

คำสำคัญ (Tags): #“sha…ชาใส่นม”
หมายเลขบันทึก: 289616เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วคล้อยตามทุกตัวอักษร

ดูแลเหมือน คนที่เรารัก

นิยามได้ลึกซึ้ง กินใจ

เก่งมากค่ะ บ้านลาดเก่งจริงๆ

ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท