(ร่าง) โครงการม่วงสัมพันธ์


เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการบริหารแผนงาน และผู้สนใจให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับหลักการ Empowerment โดยใส่ข้อคิดเห็นของท่านลงในช่องแสดงความคิดเห็นและขอให้ใช้ชื่อจริงในการให้ข้อเสนอแนะด้วย ซึ่งแผนงานจะแจ้งให้หัวหน้าโครงการทราบและชี้แจงตามข้อเสนอแนะผ่าน blog ต่อไป

โครงการสร้างเสริมจิตสำนึกสาธารณะและพัฒนาศักยภาพนิสิต/นักศึกษาทันตแพทย์เชื่อมโยงสู่การทำงานอย่างเป็นเครือข่าย ในกิจกรรมม่วงสัมพันธ์ ’52 (โครงการฯ)

 

โครงการม่วงสัมพันธ์เป็นมติร่วมของสมาพันธ์นิสิต นักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย     (สนทท.) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 9 สถาบัน  และเครือข่ายนิสิต/ นักศึกษาทันตแพทย์ แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข 9 สถาบัน(เครือข่ายฯ) เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ และการร่วมมือกันในการทำกิจกรรมระหว่างสถาบัน  โดยโครงการม่วงสัมพันธ์มุ่งเน้นให้เกิดสร้างสำนึกด้านการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมให้กับนิสิต/ นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกสถาบัน  ให้สามารถเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้กับตนเองและผู้อื่นต่อไปได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสานสัมพันธ์อันดีร่วมกัน จึงได้จัดโครงการนี้เป็นประจำทุกปี

           สำหรับโครงการม่วงสัมพันธ์ 52 ได้ปรับแนวคิดตามกระบวนทัศน์ของการสร้างพระเจดีย์จากฐาน1ซึ่งเป็นข้อเสนอของนายแพทย์ประเวศ วะสี โดยการสร้างรากฐานในความหมายของนายแพทย์ประเวศ คือการสร้างชุมชนซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดหรือฐานให้มีความเข้มแข็ง แล้วจะส่งผลต่อยอด คือภาพรวมของประเทศให้มีความมั่นคง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้นำมาปรับใช้ในโครงการม่วงสัมพันธ์ โดยตีความหมายเป็น 2 นัย ได้แก่ นัยของการสร้างเข้มแข็งขององค์กรหรือหน่วยงานที่ย่อยที่สุด คือ กลุ่มนิสิต/ นักศึกษาทันตแพทย์ในแต่ละสถาบัน เพื่อนำมาสู่การสร้างเครือข่ายนิสิต/ นักศึกษาทันตแพทย์ที่มั่นคง และนัยของการปลูกฝังคุณธรรมตั้งแต่เริ่มหรือฐานอันหมายถึง การปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับเยาวชน

          จากการปรับกระบวนทัศน์ดังกล่าว ทำให้แนวทางในการจัดกิจกรรมมีกรอบแนวคิด ดังนี้  

1. การคิดและสร้างสรรค์การทำงานหรือทำกิจกรรม (THINK) – โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตัวแทนนิสิตทันตแพทย์ทั้ง 9 สถาบัน ผ่านกระบวนการคิดและสร้างสรรค์กิจกรรม โดยมีแนวคิดของการมีสุขภาพแบบองค์รวม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นเครือข่าย และกลุ่มประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ถึงการดูแลสุขภาพช่องปากและสุขภาพแบบองค์รวม ผ่านกิจกรรมร่วมกับนิสิต/ นักศึกษาทันตแพทย์

2. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GREEN) – ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผ่านการดำเนินกิจกรรมฐานโดยมุ่งเน้นการมองสิ่งแวดล้อมแบบเชื่อมโยง

3. การเอื้ออาทร การแบ่งปันและการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ (SHARE) – สร้างเสริมสำนึกสาธารณะผ่านกิจกรรมตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง (เมื่อคุณพอเพียงแล้วควรแบ่งปัน)

           โดยรูปแบบกิจกรรมต่างๆ จะมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในเรื่องส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งในด้านสุขภาพกาย จิต สังคม ปัญญา วิชาการ และเกิดการสังเคราะห์ความรู้อย่างเป็นระบบ อันนำไปสู่การถอดบทเรียนที่ยั่งยืน รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิต/ นักศึกษาทันตแพทย์ทุกสถาบัน  เพื่อก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีและการร่วมมือกันระหว่างสถาบันเกิดเป็นพลังองค์กร และเครือข่ายที่เข้มแข็ง 

 

ขั้นตอน / กิจกรรมของโครงการ (โดยละเอียดประกอบด้วยกิจกรรมทั้งหมด 3 วัน (5-7 ธ.ค.) แต่กิจกรรมที่ขอสนับสนุนจากแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขมี 2 กิจกรรม คือ กิจกรรม สรรค์สร้างความรู้สู่ชุมชน และกิจกรรม “Walk Rally”

 

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2552

 

กิจกรรม

1. กิจกรรม ชุดนี้เพื่อน้อง ณ ลานกิจกรรมริมชายหาด

2. กิจกรรม สานสัมพันธ์ชาวทันตแพทย์

3. Welcome Break

4. รับประทานอาหารกลางวัน

5. กิจกรรม สรรค์สร้างความรู้สู่ชุมชน

          อาศัยความต่อเนื่องจากโครงการเครือข่ายโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขระยะที่ 1 ที่ได้ให้ความรู้ และสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่นิสิต นักศึกษาทันตแพทย์ไปแล้ว จึงสานต่อแนวคิดนี้ในระยะที่ 2 โดยให้ความรู้ และเสริมสร้างนิสัยในการแปรงฟันอย่างถูกวิธี โดยเน้นส่งเสริมสุขภาพในระดับครอบครัว จัดกิจกรรม พ่อ-ลูกยิ้มสวยไร้ฟันผุ เพื่อผลักดันการดูแลสุขภาพช่องปากจากหน่วยของสังคมระดับครอบครัว โดยอาศัยความใกล้ชิดของพ่อ-แม่-ลูก ซึ่งอยู่ภายใต้การให้คำแนะนำของนิสิต/ นักศึกษาทันตแพทย์ ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายจะได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแปรงฟัน อันนำไปสู่สุขภาวะองค์รวมที่สมบูรณ์แข็งแรง และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ

            แบ่งสมาชิกแต่ละบ้าน 8 บ้าน  ออกเป็นกลุ่มย่อยๆ บ้านละ 3 กลุ่ม โดยจะให้กลุ่มย่อยของแต่ละบ้าน ออกไปนอกสถานที่ โดยมีสถานที่ 3 แห่ง ดังนี้ แต่ละสถานที่ประมาณการที่ละ 150 คน (แต่ละกลุ่มทำการคละมหาวิทยาลัยแล้ว)

1)       ตลาดบ้านเพ

2)       พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

3)       อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า

โดยสถานที่ทั้ง 3 แห่งนี้ จะมีการเปิดบูธ เพื่อให้ความรู้ให้บุคคลอื่นภายนอก เช่น มีการจัดซุ้มเล่นเกม แจกของรางวัล ซุ้มเกี่ยวการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน หรือการใช้น้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น โดยให้สมาชิกจากแต่ละบ้านเป็นผู้เชิญชวนบุคคลภายนอกให้เข้ามามีส่วนร่วม และมีการแจกแบบสอบถามให้ทำ เพื่อเป็นการรับรู้ถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟันของบุคคลในท้องที่นั้นๆ 

นอกจากนี้ยังมีภารกิจให้สมาชิกในแต่ละบ้านได้ทำ โดยกำหนดให้แต่ละบ้านต้องถ่ายภาพที่กำหนดโจทย์ไปให้ เช่น กำหนดให้ถ่ายภาพสมาชิกทุกคนในบ้าน กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ในสถานที่นั้น กับป้ายที่ระบุว่าสถานที่นั้นคือที่ไหน เป็นต้น 

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อสรรค์สร้างความรู้สู่ชุมชนแล้ว ก็จะให้ตัวแทนสมาชิกแต่ละบ้านที่ไปแต่ละสถานที่ออกมาบอกเล่าประสบการณ์เพื่อถอดบทเรียน ในสถานที่ๆ ตนไป เนื่องจากแต่ละสถานที่ย่อมมีสภาพชุมชนที่แตกต่างกันออกไป และจุดต่างนี้เองที่จะคอยช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้เข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง และบอกเล่าเกี่ยวกับภาพที่บ้านของตนได้ถ่ายมา เป็นการแบ่งปันประสบการณ์กัน พร้อมกับทำการประกวดภาพถ่ายดีเด่นที่สื่อถึงการเข้าถึงชุมชน และนอกจากนี้ ยังได้พูดคุยกันถึงปัญหาที่ได้สำรวจมาจากการให้บุคคลภายนอกทำแบบสอบถาม หรือการพูดคุย ในขณะให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพของช่องปากและฟันแก่บุคคลภายนอกด้วย

 

 

6. Break Time

7. พักผ่อนตามอัธยาศัย หรือ เตรียมการแสดงประจำกลุ่ม

8. รับประทานอาหารเย็น

9. พิธีเปิด

10. กิจกรรม ทันตแพทย์กับเศรษฐกิจพอเพียง  และจุดเทียนชัยถวายพระพร

11. การแสดงพิธีเปิดจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

12. กิจกรรม ซุ้มหรรษา 4 ภาค

13. การแสดงมินิคอนเสิร์ต

14. พักผ่อนตามอัธยาศัย

 

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2552

 

กิจกรรม

1. รับประทานอาหารเช้า

2. ชี้แจงกิจกรรม “ Walk Rally ” ภายใต้ Concept i – Smile on the beach

3. Break Time

4. กิจกรรม “ Walk Rally ” ภายใต้ Concept i – Smile on the beach

เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนิสิต/ นักศึกษาทันตแพทย์ทุกสถาบันได้ร่วมกันทำกิจกรรม แบ่งปันประสบการณ์ แนวความคิด วิธีการแก้ไขปัญหา การวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากคำใบ้ต่างๆอันนำไปสู่คำตอบสุดท้ายของปริศนาของงานม่วงสัมพันธ์ครั้งนี้ และอีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้เข้มแข็ง พร้อมกับสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการร่วมกันทำกิจกรรม

ฐานที่ 1  วาดภาพปริศนา : เป็นฐานที่ให้สมาชิกในบ้านส่งตัวแทนบ้านละ 5 คน โดยให้คนที่หนึ่งดูโจทย์ที่จะให้วาดภาพ เช่น ให้วาดหมีใส่กางเกงขาสั้นหนึ่งข้าง ยาวหนึ่งข้าง  มีฟันผุที่ซี่ #11 ด้าน mesial .... เป็นต้น แล้วให้บอกต่อๆ กันไปจนถึงคนที่เป็นคนวาด และให้วาดภาพที่ได้จากการบอกต่อๆ กันนั้นออกมา

ฐานที่ 2  ระเบิดขวด : เป็นฐานที่ให้สมาชิกในบ้านส่งตัวแทนมาเล่น 5-6 คน โดยจะมีขวดแก้วใสใส่น้ำ ที่ปากขวดมียางที่ผูกเชือกไว้ แล้วให้ตัวแทนนั้น ช่วยกันดึงเชือกที่ปากขวด พาขวดไปยังจุดหมายที่กำหนดไว้ให้ได้ โดยที่ระดับในขวดต้องเท่าเดิม โดยแข่งกับเวลาและแข่งกันระหว่างทีมด้วย

ฐานที่ 3 ของอยู่ไหน? : ให้ตัวแทนในแต่ละบ้านประมาณ 6-7 คน เอาของอะไรก็ได้ที่มีติดตัวในตอนนั้นไปซ่อนบริเวณนั้น แล้วบอกให้คนในเอาของไปซ่อน ผูกเชือกที่มือติดกันไว้ แล้วให้ไปเก็บของตามที่ๆ ตนซ่อนของไว้ โดยแข่งกันเวลาและแข่งกันระหว่างทีมด้วย

ฐานที่ 4 วอลเล่ย์บอลชายหาด :  ให้ส่งตัวแทนแต่ละบ้าน 6 คน มาเล่นวอลเล่ย์ โดยให้เล่น 3 เกม ฝ่ายชนะต้องชนะ 2 ใน 3 เกมนั้น

ฐานที่ 5 กินวิบาก : ให้ส่งตัวแทน 2-3 คน มาแข่งกันระหว่างทีม

ฐานที่ 6 อ่างใบ้ : มีตัวแทนหนึ่งคนจากแต่ละบ้านเป็นคนดูคำที่ให้ แล้วให้ใบ้โดยใช้แต่ตัวอักษร อ.อ่างเท่านั้นหรือใช้ท่าทางประกอบใบ้ให้สมาชิกในบ้านที่เหลือเป็นคนทาย โดยจะแข่งกันระหว่างทีม

ฐานที่ 7 มนุษย์ตีนกบ : ให้ตัวแทนในบ้าน 6-7 คนต่อแถวกัน แล้วผลัดกันใส่ตีนกบเพื่อเดินไปเก็บของ ที่มีเตรียมไว้ให้ โดยของแต่ละอย่างจะมีคะแนนซ่อนอยู่หรืออาจจะไม่มีคะแนนเลย โดยต้องเล่นภายในเวลาที่กำหนดให้ และแข่งกันระหว่างทีมว่าทีมใดจะได้คะแนนจากของที่เก็บมาได้มากกว่ากัน

ฐานที่ 8 เติมให้เต็ม : ให้ตัวแทนแต่ละบ้าน 5-6 คน ต่อแถวกันแล้วผลัดกันวักน้ำใส่มือ ไปเติมในขวดที่เตรียมไว้ให้ 3 ขวด โดยต้องเติมขวดแรกให้เต็มก่อนแล้วจึงจะเติมขวดต่อไปได้ โดยจะให้แข่งกันระหว่างทีมและในเวลาที่กำหนดให้

            เกมในแต่ละฐานที่เป็นเกมที่ช่วยส่งเสริมความสามัคคีแก่สมาชิกในแต่ละบ้าน เพราะจะได้ร่วมกันเล่นเกม มีส่วนร่วมให้การเก็บคะแนนให้แก่บ้านของตน และยังเป็นการเสริมสร้างสุขภาพจิตและสุขภาพกายจากการทำกิจกรรม เช่น การเล่นกีฬาวอลเล่ย์บอล เป็นต้น

            หลังจากการทำกิจกรรม walk rally นี้แล้ว ก็จะให้แต่ละบ้านส่งตัวแทนมาถอดบทเรียนประสบการณ์ที่ได้ทำกิจกรรม โดยส่งตัวแทนมาบอกเล่าความรู้สึกที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน หรือบอกเล่าฐานที่ประทับใจ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประทับใจในการทำกิจกรรมนี้

 

5. รับประทานอาหารกลางวัน

6. กิจกรรม Walk Rally” ภายใต้ Concept i – Smile on the beach (ต่อ)

7. Break Time

8. พักผ่อนตามอัธยาศัย หรือ เตรียมการแสดงประจำกลุ่ม

9. รับประทานอาหารเย็น

10. การแสดงของแต่ละบ้าน และการประกวดดาว เดือน ของแต่ละมหาวิทยาลัย

11. พิธีปิดงาน พร้อม VTR ประมวลภาพ และร้องเพลงร่วมกัน

12. พักผ่อนตามอัธยาศัย

 

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2552

 

กิจกรรม

1. รับประทานอาหารเช้า

2. กิจกรรม ตามล่าหาขุมสมบัติ

3. กิจกรรม จะได้ไม่ลืมกัน  ” : ทำของที่ระลึก และถ่ายภาพรวม

4. เก็บสัมภาระออกจากที่พัก และCheck Out

5. รับประทานอาหารกลางวัน

6. เดินทางกลับกรุงเทพฯ

 

 

หมายเลขบันทึก: 289035เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมอยากได้โอกาสให้เจ้าของโครงการมานำเสนอโครงการให้กรรมการฟัง จะได้ช่วยกันปรับและพบกันครึ่งทางระหว่างกรรมการครึ่ง เจ้าของครงการครึ่ง

โครงการนี้ กิจกรรมการแน่นมากภายใต้2วัน แต่เนื้อหาหรือหลักการหลุดหายไป

ควรต้องยึดหลักว่าใน2วันนี้อยากได้อะไร "องค์รวม" หรือ "จิตสาธารณธ" หรือ"อะไร"

ถ้าองค์รวม คิดต่อว่าองค์รวมอะไร องค์รวมสุขภาพใช่ไหม เราจะทำกิจกรรมให้สอดรับกับองค์รวมนี้มีอะไรบ้าง การแบ่งกลุ่มให้นศ.คุยกับครอบครัวและถ่ายรูปมาบอกได้ไหมว่าเข้าconcept "องค์รวม"อย่างไร

การเล่นเกมส์ในวันที่2 ถ้าไม่เล่นแบบนี้ช่วยกันคิดว่าควรมีกิจกรรมอะไรที่สะท้อนถึงหลักการที่ตั้งไว้

ขอให้มีหลักการเดียว หรือ key word เดียวใน2-3วันนี้

ม่วงสัมพันธ์อาจจจะมีกิจกรรมสร้างแบบค่ายก็ได้ คำว่าสัมพันธ์ไม่ได้มีเฉพาะการเล่นสนุก การทำงานให้เหนื่อยก็สัมพันธ์กันได้

นทพ.พีรพัฒน์ กวีวงศ์ประเสริฐ ประธานโครงการม่วงสัมพันธ์ 52

ขอบคุณสำหรับข้อแนะนำครับ

สำหรับข้อแนะเรื่องความแน่ของตัวตารางกิจกรรมนั้น เนื่องด้วยตารางเวลานั้นได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ทั้ง เช้า และ บ่ายของวันที่ 2 ของโครงการ ครับ ผมจึงคิดว่าน่าจะมีเวลาอย่างเพียงพอทั้งต่อตัวกิจกรรม และ ต่อการถอดบทเรียน ครับ

ผมคิดว่าการออกไปเข้าถึงชุมชนในกิจกรรมวันแรกช่วงบ่ายนั้น น่าจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 แง่มุมคือส่งเสริมจิตอาสา และจิตสาธารณะแก่พวกเรา นิสิต นักศึกษาทันตแพทย์ ซึ่งกิจกรรมเช่นนี้พวกเราเองได้กระทำอย่างต่อกันเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนเรื่องสุขภาพองค์รวมนั้นอยากจะให้มาเป็นประเด็นหลักในการให้ความสนใจในครั้งนี้ครับ เนื่องด้วยเราอาจจะมีเวลาที่จำกัด หรือเหตุผลใดใดก็ตาม แต่เมื่อมีโอกาสก็อยากจะ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เปิดกว้างความคิดออกไปจากแต่ก่อนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ

ส่วนกิจกรรมในวันที่ 2 นั้น ผมจะเน้นไปที่ความเป็นกลุ่มสัมพันธ์ เป็นหลักครับ สอดคล้องตามชื่องานม่วงสัมพันธ์ แต่แน่นอนครับ การสัมพันธ์ในกลุ่มยอมมีสื่งอื่นๆ สอดแทรกอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การมอบหมายงานกลุ่มๆ ที่ไม่ตึงเครียดจนเกินไป แต่สามารถสร้างเสริมภาพกายให้แข็งแรง สุขภาพใจที่เข้มแข็ง และกระบวนการคิด ระดมความเห็นภายในกลุ่ม โดยทีมงานจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถ e-mail ได้ครับ ยินดีครับ

แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข

สรุปผล ทพสส. 11 โครงการ ม่วงสัมพันธ์ 52

จากการประชุมกลุ่มย่อยระหว่างหัวหน้าคณะทำงานโครงการและผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาโครงการแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขระยะที่สอง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 เวลา 10.00 – 12. 00 น. ณ ห้องประชุมท่านผู้หญิงเพ็ชรา อาคาร สมเด็จย่า 93 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ทรงคุณวุฒิเห็นชอบในหลักการและมีข้อคิดเห็น/ประเด็นควรแก้ไขเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้

1.กิจกรรมให้ความรู้เรื่องสุขภาพภาพช่องปากในวัน ที่ 5 ธันวาคม (บ่ายวันแรก) ซึ่งการทำกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งต้องการมาเที่ยวพักผ่อนเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้อยู่ในภาวะ/อารมณ์ที่ต้องการความรู้เรื่องสุขภาพช่องปาก นอกจากนี้ จำนวนนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์มีมากถึง 450 คน ซึ่งถึงแม้ว่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มกระจายไปตามสถานที่ท่องเที่ยว 3 แห่ง เหลือกลุ่มละ 150 คนก็ยังดูมาก นิสิตนักศึกษาควรคิดค้นหากิจกรรมในลักษณะอื่นที่มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนในพื้นที่มากขึ้น เช่น ประสานไปยังชุมชน/สถานีอนามัยเพื่อสอบถามถึงความต้องการ จากนั้น นศ. แบ่งกลุ่มออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาอื่นๆ ที่นอกกรอบจากเรื่องการให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปากก็ได้ โดยเลือกกิจกรรมจิตอาสาที่ไม่ใช้เวลามากนัก เช่น กิจกรรมพัฒนาห้องสมุดโรงเรียน (แล้วนำหนังสือสุขภาพช่องปากไปให้) กิจกรรมในศูนย์เด็กเล็กของชุมชน ฯลฯ

2.กิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง คณะทำงานควรพิจารณาว่ากิจกรรมที่ผู้จัดกำหนดขึ้นมาหลายอย่างนั้นสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาตนเองได้หรือไม่ ในขณะนี้ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่ากิจกรรมในช่วงวันที่ 6 ธ.ค. จะให้อะไรแก่นักศึกษา ถ้าหากหลักคิดของโครงการคือ think green share แล้วก็น่าจะลองให้นักศึกษาที่รับผิดชอบแต่ละ station นำหลักคิดนี้ไปออกแบบกิจกรรมของ station

3.กิจกรรมสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภาพถ่าย หรือ Photo Voice นั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก และเสนอให้นักศึกษาแต่ละบ้านได้มีโอกาสร่วมกันคัดเลือกภาพที่ดีที่สุด ที่สามารถสะท้อนบทบาทของนักศึกษาทันตแพทย์กับสุขภาพองค์รวม หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ แผนงานสามารถสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือภาพสะท้อนนี้ได้เพื่อแจกเป็นหนังสือที่ระลึกจากงานม่วงสัมพันธ์ครั้งนี้

4.ในปีต่อๆ ไป ก่อนกิจกรรมม่วงสัมพันธ์น่าจะมีการกระจาย Node ในการทำงานของ สนทท. แล้วแยกกันเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อทำงานและนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแลกเปลี่ยนกันโดยใช้เวทีของกิจกรรมม่วงสัมพันธ์ จะเกิดประโยชน์และมีเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น กลุ่ม จุฬา-มหิดล กลุ่ม มศว.-ธรรมศาสตร์ กลุ่มขอนแก่น-นเรศวร-เชียงใหม่ เป็นต้น

5.ควรจะเชิญผู้แทนจากงานกิจการนิสิตนักศึกษามาร่วมสังเกตการณ์และจัดเวทีให้เขาได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนในงานม่วงสัมพันธ์

6.กิจกรรมม่วงสัมพันธ์ต้องเข้มงวดในเรื่อง ปลอดเหล้า บุหรี่ อบายมุข เพื่อเป็นตัวอย่างและภาพลักษณ์ที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท