การคลังเพื่อสุขภาพ
การจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน ถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ภายใต้มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ตาม การจัดบริการสุขภาพ ย่อมเกี่ยวข้องกับงบประมาณ เนื่องจากมาตรการทางการคลัง ทั้งด้านรายรับและรายจ่าย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ซึ่งงบประมาณเหล่านี้ มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น คำถามสำคัญที่รัฐจะต้องตอบ คือ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากบริการสุขภาพที่รัฐจัดให้หรือยัง
จากแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการลงทุนด้านสุขภาพ มีผลทำให้สถานะสุขภาพของคนไทยดีขึ้น จะเห็นได้จากการที่อัตราตายของมารดาและทารกลดลง และอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบรายจ่ายด้านสุขภาพต่อรายได้ประชาชาติ พบว่า มีสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศใกล้เคียงมาก ขณะที่สถานะสุขภาพของประชาชนไม่แตกต่างกัน หรือดีกว่าประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากการลงทุนในบริการรักษาพยาบาล ซึ่งยังมีสัดส่วนที่สูงมาก แต่เป็นการแก้ไขปลายเหตุ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง ได้ผลตอบแทนน้อย ทั้งนี้ ธนาคารโลก ให้ข้อเสนอว่า ในประเทศด้อยพัฒนา ควรลงทุนในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพราะเป็นการลงทุนที่ต่ำ ได้ผลตอบแทนและประสิทธิภาพที่สูงกว่าลงทุนด้านการพยาบาล ดังนั้น ปัจจุบัน จึงได้มีความพยายาม ส่งเสริมให้ประชาชน หันมาใส่ใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม รสจัด อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ปราศจากแหล่งรังโรค การดูแลสุขภาพจิต ลดบายมุข เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเพิ่มการจัดสรรงบประมาณในบริการที่ต้นทุนต่ำแต่ประสิทธิผลสูงแล้ว เพื่อตอบคำถามการจัดบริการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ยังต้องพิจารณาถึง ความเป็นธรรมและการเข้าถึงที่ง่าย และที่สำคัญคือ ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อให้กิจกรรมเหล่านั้นซึมซับกลายเป็นวิถีของชุมชน ซึ่งจะทำให้มีความคงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความเห็น