เรียนรู้การเพาะเห็ดฟางแบบมือสมัครเล่น (ตอนที่ 4)


เห็ดฟางปลอดสารพิษ ต้นทุนต่ำ

วัตถุดิบ
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ก็คือ ฟางข้าว, เปลือกถั่วเหลือง, เปลือกถั่วเขียว, เปลือกของหัวมันสำปะหลัง ในประเทศจีนก็เคยมีรายงานว่ามีการใช้หญ้าในการเพาะเห็ดฟาง สมัยก่อนประเทศฟิลิปปินส์ ก็เคยใช้ก้านกล้วย ใบตองมาทำการเพาะเห็ดเหมือนกัน ฯลฯ มีวัตถุดิบที่หลากหลายและที่จำหน่ายกันทั่วไปก็อยู่ในสภาพที่แตกต่างกันออกไป เกษตรกรแต่ละคนก็มีความเข้าใจในเรื่องของวัตถุดิบนี้แตกต่างกันไป
ถ้าถามว่าวัตถุดิบแบบใดที่ดีที่สุดต้องตอบว่าเป็นเปลือกของหัวมันสำปะหลังที่เพิ่งออกมาจากโรงงานใหม่ ๆ แล้วก็นำมาตากให้แห้ง แล้วก็เก็บเอาไว้ ไม่ให้โดนฝนชะล้าง ไม่เปียก ไม่บูดไม่เน่า ทำการตากให้แห้งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราก็จะได้วัตถุดิบที่ดีที่สุด คือยังมีแป้งแทรกอยู่เป็นส่วนที่จะมาใช้ในการหมักสลายและก็เกิดเส้นใยเห็ดได้ดีที่สุด แต่ถ้าได้เป็นเปลือกมันสำปะหลังชนิดที่กองเอาไว้แล้วถูกฝนตกล้างแล้วล้างอีกจนจืด อย่างนี้คุณค่าทางอาหารของเห็ดก็จะมีน้อยลง ในส่วนของแป้งก็จะไม่มีเหลือแต่เป็นเศษของเปลือกที่ย่อยสลายออกมาช้า ๆ ผลผลิตก็จะไม่ค่อยมากนักอาจจะต้องใช้อาหารเสริมช่วย ถ้าเป็นวัตถุดิบในฤดูฝน บางแห่งได้คุณภาพไม่ดีเลยเพราะว่าเปลือกหัวมันโดนฝน เป็นกองขนาดใหญ่ ๆ เกิดการหมักการบูดเน่าเหม็น เหม็นเปรี้ยว บางครั้งพวกเปลือกหัวมันที่เก่ากองเอาไว้นานโดนฝน ถูกเชื้อเห็ดชนิดอื่นขึ้นมาก่อนแล้ว อย่างเช่น เห็ดขี้ม้าหรือเห็ดถั่วขึ้นแล้วก็ย่อยกินอาหารที่มีอยู่ในเปลือกหัวมันไปเป็นบางส่วน คือคุณภาพนั้นก็ลดลงตัวอาหารที่เห็ดฟางจะเอามาใช้นั้นก็น้อยลง เกษตรกรควรจะหาวิธีที่เหมาะสมในการที่จะเก็บรักษาวัตถุดิบนั้น วัตถุดิบถ้าเผื่อได้มาได้ของใหม่มาจะดีที่สุด ไม่บูด ไม่เน่า ไม่เก่า ไม่แก่ ไม่เก่าเก็บ ซื้อมาจากโรงงานเอามากองแล้วก็เอามาเกลี่ยในลานตาก ให้โดนแดดให้จัด แดดเปรี้ยง ๆ เกลี่ยให้บาง ๆ ให้แห้งเร็วต้องไม่ให้ถูกฝน ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ต้องไม่ขนวัตถุดิบนั้นไกลจนเกินไป ถ้าขนมาจากที่ไกลค่าขนส่งก็จะมาก ต้นทุนก็จะแพง ในเรื่องการเรียกร้องที่จะได้เปลือกหัวมันที่ใหม่ที่สุด เราก็เพียงที่คิดว่าอยากจะได้ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องใช้จริง ๆ ก็ดูอย่าให้เก่าเกินไป อย่าให้ถูกย่อยสลายจนเกินไป เมื่อขนเปลือกหัวมันมาถึงพื้นที่ที่ฟาร์มแล้ว ควรจะต้องมีสถานที่เก็บ อาจจะเป็นยุ้งหรือไม่ก็มีผ้าคลุมกันฝน เพราะถ้ามากองเอาไว้ถ้าฝนตกแล้วก็เน่าแฉะ ผลผลิตที่พึงจะได้ดีก็มาสูญเสีย ถ้าขนมาวัตถุดิบมาถึงแล้วก็ยังชื้นอยู่ อย่างนั้นควรจะเกลี่ยออกตากแดด ตากให้แห้งสนิทเสียก่อนแล้วจะค่อยนำมาเก็บรักษาเอาไว้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับเปลือกฝักถั่วเขียว เปลือกฝักถั่วเหลือง เราควรจะได้ของใหม่มา ตากแห้งเก็บเอาไว้ให้ดีอย่าให้โดนฝน ในอนาคตอาจจะมีการศึกษาเพิ่มขึ้นกันอีกหลายอย่าง เช่นในประเทศญี่ปุ่นเพาะเห็ด จะซื้อซังข้าวโพด วันหนึ่งซื้อไปจากประเทศไทย ซื้อต้นข้าวโพดที่ตากแห้ง ป่นให้ละเอียด ก็เอาไปเพาะเห็ดแต่ซังข้าวโพดป่น ต้นข้าวโพดป่น ประเทศไทยยังไม่ค่อยได้เอามาใช้ในการเพาะเห็ด ยังมีต้นข้าวฟ่างมีต้นทานตะวัน ต้นถั่วต่าง ๆ ถ้าตากแห้งแล้วเข้าเครื่องตีป่น ตีป่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย น่าที่จะเอามาเพาะเห็ดในรูปแบบเดียวกันนี้ได้ ท่านคงได้ยินได้ทราบมาบ้างว่าเขาใช้ถุงเห็ดที่เขาใช้เพาะในระบบถุงที่หมดอายุแล้ว เอามาปลูกเห็ดในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน ใช้พวกผักตบชวาสับ จะใช้ผักตบชวาแห้ง ผักตบชวาสดสับเป็นชิ้นเล็ก ก็เอามาใช้เป็นตัวอาหารเสริมช่วยทำให้ผลผลิตของเห็ดนั้นดีขึ้น ในลักษณะเช่นนี้จะไม่ค่อยใช้ผักตบชวาเพื่อเป็นวัตถุดิบโดยตรง แต่จะใช้ในฐานะอาหารเสริมในการที่จะเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลดีนั้น อาหารเสริมก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญ ในปัจจุบันนี้ในแง่มุมของอาหารเสริมจะมีทั้งที่เป็นเศษอินทรีย์วัตถุ และก็มีส่วนที่บอกว่าเป็นอาหารเสริมจากหินแร่ภูเขาไฟเช่น ภูไมท์, ภูไมท์ซัลเฟต, ม้อนท์ และไคลน็อพติโลไลท์


มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ (www.thaigreenagro.com)

หมายเลขบันทึก: 286767เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม นับว่ามีประโยชน์มากทีเดียวสำหรับผู้เพาะเห็ดฟางครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท