5 วิธีจัดการกับความโกรธ


 

...

อาจารย์เจนนี แมคคาตี ตีพิมพ์เรื่อง 'How to deal with anger gracefully' หรือ "จัดการ (deal with) ความโกรธ (anger) อย่างสง่างาม (gracefully) อย่างไร (how)" ในนิตยสาร 'Health Magazine (Health = สุขภาพ; Magazine = นิตยสาร) ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

(1). ยิ้ม (smile)

  • คนทั่วไปไม่สามารถโกรธแบบ "โกรธหน้าตาเฉย" หรือโกรธโดยไม่ตีหน้าโกรธไม่ได้ วิธีจัดการกับความโกรธอย่างหนึ่ง คือ ให้ยิ้มน้อยๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อขากรรไกร หน้าผาก ริมฝีปาก

(2). มองการณ์ให้ไกล (look ahead)

  • ให้ลองคิดว่า เรื่องที่ทำให้เราโกรธจะมีความสำคัญ (matter) มากเท่าไรถ้าเรามีชีวิตเหลืออยู่เพียง 5 นาที, 5 ชั่วโมง, 5 วัน, 5 เดือน, หรือ 5 ปีนี้
  • การคิดถึงค่าของชีวิตที่มีอยู่น้อยจะทำให้เราเลือกได้ว่า จะโกรธแบบคนไม่มีความสุข หรือจะมองการณ์ไกลไปยังเรื่องดีๆ สนุกๆ อีกหลายเรื่องแทน

(3). มอบความเป็นใหญ่ให้ตัวเรา (Put Yourself in charge)

  • เวลาเราโกรธ... ความโกรธจะเป็นใหญ่ (in charge = เป็นใหญ่), อ.แมคคาตีแนะนำให้พูดในใจ เพื่อเรียกความเป็นใหญ่ของเรากลับคืนมา โดยการกล่าววา "เราตัดสินใจว่า จะไม่โกรธเรื่องนี้" ซ้ำๆ กันไปเรื่อยๆ จนกว่าความโกรธจะทุเลาเบาบางลงไป หรือจะใช้ข้อความเตือนใจอื่นๆ แทนก็ได้

(4). เลือกปรัชญาชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น (Adopt a more flexible philosophy of life)

  • ความจริงของชีวิตคือ อะไรๆ มักจะไม่ได้ดังใจ, อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้, และโลกเบี้ยวๆ ใบนี้เป็นโลกที่ "ไม่สมบูรณ์ (imperfect; im- = ไม่; perfect = สมบูรณ์)"
  • คนที่พยายามทำโลกนี้ให้สมบูรณ์ หรือ "คุณสมบูรณ์แบบ (perfectionists)" มีอยู่จริง... คนพวกนี้ถ้ายังไม่เป็นใหญ่มักจะทำให้ตัวเองเดือดร้อน และถ้าเป็นใหญ่มักจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน
  • ทางที่ดีคือ ทำตัวให้เป็นคนดีแบบ "คุณดีบ้าง" แต่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ หรือไม่ต้องเป็น "คุณดีพร้อม"

(5). คิดถึงอันตรายของความโกรธ (Think of the harm you may cause)

  • อ.แมคคาตียกตัวอย่างว่า ถ้าลูกกลับบ้านดึก... คุณอาจจะโกรธและตะโกนตะคอกก็ได้ หรือจะทำใจให้เย็น พูดกับลูกดีๆ ก็ได้ว่า แบบนี้ไม่ชอบ
  • สถานการณ์แรกอาจทำให้บ้านค่อยๆ แตกร้าวขึ้น, สถานการณ์ที่สองมีแนวโน้มจะทำให้เกิดความเข้าใจ และความเกรงใจกันมากขึ้น ซึ่งเราเลือกได้ ถ้าคิดถึงอันตรายของความโกรธ

...

และถ้าเราเกิดพลาดพลั้งหงุดหงิด ฉุนเฉียว เปรี้ยวปาก หรือโกรธใครขึ้นมา... ก็ขอให้ใจเย็นๆ กับตัวเองให้ได้ ให้อภัยตัวเองบ้าง และอย่าลืมขอโทษคนอื่นพร้อมกับปรับตัวใหม่

เพราะการจัดการกับความโกรธเป็นเรื่องที่ใช้เวลาปรับเปลี่ยนกันนานทีเดียว

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ 

 

ที่มา                                                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 8 สิงหาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 285455เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2009 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีจังเลยค่ะ อ่านแล้วช่วยตอกย้ำว่าตัวเราก็ทำได้เหมือนกัน "จัดการกับความโกรธ" ได้จริง ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกนี้ทำร้ายเราให้ด้อยลงไป ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณเนื้อหาดีๆค่ะอาจารย์ ชั่วโมงที่ผ่านมาพึ่งโกรธกับลูกสาวมา ปกติรักกันนักหนา สอนการบ้านกันไปกันมา เขาก็ไม่เข้าใจ หงุดหงิด เราก็ตามเลยทันที หงุดหงิดตาม

จะนำวิธีที่อาจารย์แบ่งปันไปใช้ค่ะ

จิตที่ฝึกมาดี (ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าแนะนำ)จะรู้ต้ว(รู้สติ)ทันทีเมื่อความโกรธกำลังเกิดขึ้น และทันทีที่รู้ตัวว่าความโกรธเกิดขึ้น มหัศจรรย์มาก ๆ ความโกรธจะหายไปอย่างฉับพลัน ยิ่งโกรธจิ๊ดมาก ๆ ยิ่งรู้ตัวง่ายและดับง่ายกว่าความรู้สึกเคืองขุ่น (แสดงว่า ความขุ่นเคืองละเอียดกว่าความโกรธที่รุนแรง รู้ตัวยากกว่าโกรธรุนแรง )

ความเห็นที่ ๒ แสดงว่ารักลูกมาก ความรักความเมตตาเป็นกุศลธรรม และถ้าไม่รู้ทันปล่อยให้มันเพิ่มดีกรีเกินขีดจำกัดมันจะพลิกกลับเป็นอกุศลธรรมทันที เช่น เรารักลูก เห็นลูกวิ่งเล่นอยู่นอกบ้าน เราเรียกลูกให้กลับเข้ามาในบ้านเพราะฝนกำลังจะตก เดี๋ยวเขาโดนฝนเขาจะเป็นไข้ (เลยเมตตาเรียกให้เข้ามาในบ้านกลัวเป็นไข้) ลูกยังคงวิ่งเล่นนอกบ้านอยู่ต่อไป เราเลยฉุน(ในใจแม่เกิด โทสะ - อกุศลฝ่ายตรงข้าม ของเมตตา) หยิบไม่เรียวมาฟาดก้นลูกไปทีหนึ่ง ลูกร้องจ้าเลย (ลูกเป็นทุกข์เพราะไม่เรียวเสียก่อนแล้ว ยังไม่ทันเป็นไข้เพราะโดนฝนเลย)

แก่นของศาสนาพุทธ แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง และแก้ได้อย่างสันติ เพราะรู้มูลเหตุแล้วแก้ได้ตรงจุด(ของมูลเหตุปัญหา)ลองศึกษา(แก่นของศาสนาพุทธ)และฝึกปฏิบัติดูแล้วจะทราบว่าชีวิตนี้มหัศจรรย์จริง ๆ และที่ผ่านมาและปัจจุบันเรากำลังทำอะไรกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท