Who are you – คุณคือใคร ? คำถาม / คำตอบเพื่อค้นหาตัวตน


พลังแห่งคำถามง่าย ๆ เหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าที่ เคยรู้อยู่เดิม มันเป็นการสืบค้นแบบล้วงลึกเข้าไปเพื่อการรู้จักตัวเองที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสแห่งการปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของตัวผู้ป่วย เองออกมา

          ภาพที่ท่านเห็นนี้ ถ้าเพียงแต่มองดูแบบผิวเผินหลายคนคงตีความไปว่า ชายสูงอายุที่กำลังพูดคุยกับผู้ป่วยคงจะเป็นอนุศาสนจารย์จากโบสถ์ที่ไหนสักแห่ง ทำหน้าที่มาเยี่ยมผู้ป่วยและพูดคุยชักชวนให้หันมานับถือศาสนาที่ตนเองเชื่อมั่นและศรัทธา

          ไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียงครับ...

          นี่คือภาพของคุณลุงบุญมี แซวรัมย์ แกนนำอาสาสมัครของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี (ศูนย์ OSCC) โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จากอำเภอปะทิว กำลังทำหน้าที่เยี่ยมผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะเจ็บป่วยจากสาเหตุของการติดเหล้าตามโครงการลด-ละ-เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

          ในวัย 73 ปี ลุงบุญมียังแข็งแรงพอที่จะขับรถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านที่ตำบลบางสน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40-50 นาทีด้วยระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรก็มาถึงโรงพยาบาลฯ ลุงบุญมีจะตรงไปที่ศูนย์ OSCC ก่อนทุกครั้งเพื่อพบปะ ทักทาย และพูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพื่อน ๆ อาสาสมัคร ฯลฯ และถือเป็นคติประจำตัวของลุงบุญมีที่  “ไม่ได้มามือเปล่า...แต่เอาหัวใจมาฝาก” มาพร้อมผัก ผลไม้ ฯลฯ อันเป็นผลิตผลจากสวนหลังบ้าน

          อดีตที่เคยเป็นครูมาก่อนทำให้ลุงบุญมีมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเอกสาร-ข้อมูล หน้าที่ในการสรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ทั้งในรอบสัปดาห์ รอบเดือน และรอบปี ลุงบุญมีจึงรับมาดูแลให้ด้วยความเต็มใจทั้งของผู้ให้และผู้รับ หลายครั้งที่ผู้เขียนต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ไปร่วมประชุมในนามของศูนย์ OSCC โรงพยาบาลชุมพรฯ เอกสารผลงานที่จะต้องใช้ในการนำเสนอก็จะได้รับแจกในรถตู้โดยสาร ทั้งหมดนั้นเป็นฝีมือของทีมงานอาสาสมัครซึ่งมีลุงบุญมีเป็นกำลังสำคัญในการเขียน การสรุปออกมา

          เป็นเรื่องปกติที่ศูนย์ OSCC จะได้รับโทรศัพท์จากตึกศัลยกรรมกระดูก ชั้น 2 ซึ่งดูแลคนไข้ชายว่า มีผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดจากการประสพอันตรายด้วยอุบัติเหตุทางถนน ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อถูกนำส่งมาถึงโรงพยาบาลฯ มักจะได้รับการตรวจพบว่ามีกลิ่นเหล้า มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง มีอาการมึนเมา และเป็นสาเหตุหลักอันนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เมื่ออาการดีขึ้นพอที่จะเยี่ยมไข้ได้แล้วทางตึกศัยกรรมกระดูกก็จะแจ้งมาให้ลุงบุญมีทำหน้าที่ไปเยี่ยมคนไข้พร้อมของฝากที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ OSCC

          ความเป็นผู้มีคุณลักษณะ สูง-ยาว-ขาว-ตึง คือ สูงวัย สายตายาว ผมขาว และหูเริ่มออกอาการ “ตึง” เล็กน้อย ทำให้ลุงบุญมีเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วย และมีประสบการณ์มากพอที่จะสร้างความคุ้นเคย อบอุ่นใจ และวางใจ พร้อมที่จะพูดคุยแบบเปิดใจ คำถามง่าย ๆ ที่ลุงบุญมีหยิบยกขึ้นมาใช้ ได้แก่ เป็นอย่างไรบ้าง เจ็บป่วยตรงไหน มีใครมาเยี่ยมบ้างไหม อยู่ที่ไหน มีลูกกี่คน ที่บ้านทำอาชีพอะไร ฯลฯ แท้ที่จริงแล้ว ลุงบุญมีกำลังใช้ กระบวนการ  Who are you – คุณคือใคร ? ค้นหาตัวตนของผู้ป่วย

          พลังแห่งคำถามง่าย ๆ เหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าที่เคยรู้อยู่เดิม มันเป็นการสืบค้นแบบล้วงลึกเข้าไปเพื่อการรู้จักตัวเองที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสแห่งการปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของตัวผู้ป่วยเองออกมา

          คำตอบของผู้ป่วยในช่วงแรกจะเป็นการตอบเฉพาะเรื่องที่รู้อยู่แล้วในระดับ ‘จิตสำนึก’ แต่เมื่อพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตและอารมณ์สะเทือนใจ การพูดคุยกันจะเริ่มลึกลงไปถึงระดับ ‘จิตใต้สำนึก

          ลุงบุญมีตั้งคำถามด้วยความอยากรู้ ผู้ป่วยก็ตอบออกมาอย่างเปิดใจให้เสียงภายในของตัวเองเป็นผู้ตอบคำถาม ด้วยความวางใจในตัวเองและลุงบุญมี ผู้ป่วยจะเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น และอาจจะค้นพบหนทางแห่งการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการตกเป็นทาสของ ‘เหล้า’ ได้อย่างแท้จริง.

คำสำคัญ (Tags): #oscc#who are you#คุณคือใคร
หมายเลขบันทึก: 285366เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2009 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาคารวะ
  • คนทำความดีครับ
  • มาถามว่า
  • เครือข่ายคุณอำนวยชุมพร
  • หายไปไหนหมดครับ?????????????????
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท