ยุทธศาสตร์การบริหารงานของผู้บริหารที่มีจิตสาธารณะ


การบริหารงานอย่างมีสติเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การบริหารคนและงานโดยมุ่งหวังให้งานสำเร็จตามเป้าหมายและคนทำงานมีความสุขกับผลงาน เขียนเพื่อแบ่งปันความรู้

ยุทธศาสตร์การบริหารงานของผู้บริหารที่มีจิตสาธารณะ

 

 

บทนำ

เจตนารมณ์ของผู้เขียนบทความในครั้งนี้ไม่มีอะไรแอบแฝงและคับข้องใจอะไร  เพียงแต่อยากสะท้อนแนวคิดเชิงการบริหารให้สังคมได้รับรู้ว่า  เราถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องหันมาใส่ใจให้ความสำคัญในเรื่องของสภาวะจิตของมนุษย์  ซึ่งผู้เขียนมองว่าเหนือสิ่งอื่นใดก็ไม่สำคัญเท่าจิตเพราะจิตเป็นนายเรา  สามารถควบคุมพฤติกรรมการแสดงออกได้อย่างน่าอัศจรรย์  จิตไม่นิ่ง  จิตไม่สงบ  ความไม่ดี  ไม่งามทั้งหลายย่อมบังเกิด  แต่เราไม่ได้บังคับให้เกิดแต่ธรรมชาติย่อมเป็นเช่นนั้น  เพราะทุกคนที่เกิดมาเรียนรู้ได้ไม่เหมือนกัน  ได้รับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน  ความเป็นอยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน  เรียนรู้จากพ่อแม่เดียวกัน  อาจารย์เดียวกัน  ดื่มนมจากเต้าเดียวกัน  ความคิดของบุคคลเหล่านั้นใยเล่าถึงแตกต่างกันนัก  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน  ซึ่งยากนักที่จะทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด  เพียงแต่จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกคนมีแนวคิดใกล้เคียงมาตรฐานเดียวกัน  จึงอยากเตือนสตินักบริหารที่ต้องการอยากเป็นผู้บริหารมืออาชีพควรเปิดใจกว้าง  วางใจกัน  ยอมรับให้อภัยและให้เกียรติกัน  รับสิ่งรอบข้างเราให้เป็นครู  ขอให้ผู้ที่มีโอกาสศึกษาบทความบทนี้แล้วลองทำดู  ว่ามีความใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด  ฉะนั้นเรามาเข้าใจกับคำจำกัดความของคำว่าการบริหารงานดูบ้าง

                การบริหารงาน คือ  การจัดการงานให้สำเร็จได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้ทรัพยากรและบริหารคนอย่างคุ้มค่า ดังนั้นการบริหารงานเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายจึงต้องใช้เทคนิคการบริหารงานอย่างมีวัตถุประสงค์ด้วยการ
                                1. กำหนดวัตถุประสงค์งานให้ชัดเจน
                                2. ชี้แจงทำความเข้าใจงานกับทีมงาน
                                3. กำหนดขั้นตอนเวลาและการใช้ทรัพยากรผลงานที่ต้องการให้ชัดเจน
                                4.  บริหารงานให้สำเร็จตามเป้าหมายความยุ่งยาก การสื่อให้ทีมงานเข้าใจวัตถุประสงค์งานกับทีมงาน บางโครงการที่เป็นงานยาก  เจ้าหน้าที่มีความรู้ไม่เพียงพอที่จะเข้าใจเป้าหมายงานว่าทำเพื่ออะไรหรือเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใส่ใจเป้าหมายวัตถุประสงค์ของงาน จำเป็นต้องชี้แจงอย่างต่อเนื่อง พากเพียรที่จะชี้แจงบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันโดยมุ่งให้งานสำเร็จ

                การจัดวางบุคลากรก็เช่นกันจะต้องจัดวางตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงาน  บางโครงการเป็นงานยุ่งยากสลับซับซ้อนต้องการคนที่มีความรู้ ความชำนาญในงาน  บางครั้งก็มีแต่เจ้าหน้าที่ใหม่ไม่มีประสบการณ์  หรือไม่เอาใจใส่งานทั้งที่เป็นงานสำคัญมาก การมอบหมายงานให้ตรงกับคนจึงสำคัญมากต่อการที่จะให้งานประสบความสำเร็จ ต้องไปแสวงหาข้อมูลบุคลากรอื่น จากเพื่อนร่วมงาน นิสัยการทำงาน และสภาพครอบครัวที่เอื้อให้งานสำเร็จหรือไม่  ตรงนี้ต้องมีภาวะผู้นำในการมอบหมายงานให้รอบคอบ ยุติธรรม เฉลี่ยสัดส่วนงานให้เหมาะสม มิใช่เจ้าหน้าที่คนใดเก่ง ขยัน ก็มอบหมายแต่ผู้นั้นรับผิดชอบงานก็จะเป็นภาระงานกับเจ้าหน้าที่คนเก่ง  คนขยันแต่ผู้เดียว  ต้องบริหารงานอย่างมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งเจ้าหน้าที่ให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุขและงานสำเร็จตามเป้าหมาย ที่สำคัญต้องไม่เกรงใจในการมอบหมายงานกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่เอาใจใส่  โดยใช้วิธีติดตามงานบ่อย ๆ และปิดจุดอ่อนในการทำงานขณะดำเนินงาน ผู้บริหาร  ต้องเสริมปัจจัยหรือหาวิธีการช่วยเหลือสนับสนุนล่วงหน้าด้วย  คาดการณ์ผลการกระทำที่มีผลกระทบต่องาน และมีวิธีการสนับสนุนช่วยเหลือทันที ทันการณ์ สนับสนุนทรัพยากรและ บุคคล เพื่อให้งานเสร็จ  เช่น  สามารถให้คำแนะนำทันทีเมื่อเกิดปัญหา ใช้สติพิจารณาให้รอบคอบที่จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก้ปัญหาได้ตลอดทุกขั้นตอนการทำงาน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อไป คือ แก้ไขปัญหาอุปสรรคได้จริงเกิดความพึงพอใจกับทุกฝ่ายกับผลงานที่สำเร็จร่วมกัน

                การบริหารงานอย่างมีสติเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การบริหารคนและงานโดยมุ่งหวังให้งานสำเร็จตามเป้าหมายและคนทำงานมีความสุขกับผลงาน  เขียนเพื่อแบ่งปันความรู้(ดร.สมหมาย  ปรีชาศิลป์)

                ความเป็นนักบริหาร จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถเฉพาะในการสร้างความลงตัวของปัจจัยการบริหารทุกอย่าง ตอบสนองต่อนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์การ มีการนำ Innovationหรือ นวัตกรรมมาใช้ รวมทั้งใช้ผลการวิจัย (R&D) ทุกองค์กรต้องมียุทธศาสตร์ และกลยุทธ์เพื่อเอาชนะ ภาระกิจที่รับผิดชอบถ้าไม่อย่างนั้น ก็จะเป็นมวยไม่มีครู หรือเป็นนักรบไร้ทิศทาง ผู้บริหารต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองออก คิดเป็น มองสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น คิดในสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง เห็นภูเขาที่เส้นผมบังไว้สำหรับคนอื่น และที่สำคัญต้องมีความเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์แห่งเหตุแห่งผลแห่งปัจจัยทั้งนั้น  ดังนั้น นักบริหารสมัยใหม่ต้อง

                (1) มีความสามารถกำหนดภารกิจได้

                (2) สร้างกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุภารกิจ

                (3) นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้

                มาพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยกันบ้าง  หากจะไม่พูดถึงก็คงจะไม่สอดคล้องกันเท่าที่ควรเพราะนักประชาธิปไตยกับนักการบริหารแทบจะแยกกันไม่ออกเพราะจะยืนอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผล(เชิงบวก)ด้วย  หากมองกันลึกๆแล้วความเป็นนักประชาธิปไตย ปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตย คือระบอบการปกครองของโลก ประชาธิปไตย (Democracy) นั้นนอกจากต้องเข้าใจถึงหลักการสำคัญๆ เช่น ปัจเจกชนนิยม (Individualism) เสรีภาพ (Liberty) ความเสมอภาค (Equality)ภราดรภาค (Fraternity) แล้วยังต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของสังคมด้วย ดังที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยตโต) ได้กล่าวไว้ดังนี้ประชาธิปไตยจริง ต้องเอาเหตุผล ต้องเอาความจริง ต้องเอาความถูกต้อง ต้องยอมรับหลักการ ไม่เอาแต่ความต้องการ ต้องหาความรู้ ไม่ใช่อยู่กันแค่ความเห็น ต้องวิจัย ไม่ใช่เอาแต่วิจารณ์ ไม่ใช่แต่กล้าแสดงออก ต้องมีสาระที่จะเอามาแสดงด้วย

                จากที่กล่าวข้างต้น  ผู้เขียนอยากสะท้อนให้นักบริหารที่เป็นมืออาชีพ  ให้มีจิตที่เป็นสาธารณะเพื่อ  สามารถรับฟังแนวคิด  ข้อเสนอแนะใหม่ที่ยังมีอะไรที่หลากหลายปะปนกันอยู่ในสังคมโลก  ซึ่งทุกคนที่เป็นนักการบริหารต่างมุ่งหวังที่จะให้งานบรรลุเป้าหมายกันทั้งสิ้น  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยต่างๆที่จะต้องเอื้อต่อการบริหารมีหลากหลายวิธี  ซึ่งหลักการ ทฤษฎี  เดียวกันอาจจะไม่สามารถนำมาใช้ในบริบทที่แตกต่างกันได้  อยากนำพระราชดำรัสพระราชทานเพื่อนำไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนา เรื่อง  การพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ ว่า  จิตใจและความประพฤติที่สะอาดและมีระเบียบ  เป็นรากฐานสำคัญของชีวิต  ทั้งจิตใจ  ทั้งความประพฤติดังนั้นใช่จะเกิดมีขึ้นเองได้  หากแต่จำต้องฝึกหัดอบรมและสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างจริงจังสม่ำเสมอ  นับตั้งแต่บุคคลเกิด  ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใด  ภาษาใดได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย  ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรักษาตัวและมีความสุขสำเร็จในการครองชีวิต   ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยความผาสุกสงบ  ดังนั้นถึงแม้เราจะอยู่ท่ามกลางความเจริญรุดหน้าแห่งยุคปัจจุบันอย่างไร  เราก็ทอดทิ้งการศึกษาทางจิตใจและศีลธรรมจรรยาไปไม่ได้  ตรงข้าม  เราควรเอาใจใส่สั่งสอนกันให้หนักแน่นทั่วถึงยิ่งขึ้น  เพื่อให้มีความคิดความเข้าใจถูกต้องตามสภาพการแวดล้อมทั้งหลายที่วิวัฒนาไปไม่หยุดยั้ง(คำพ่อสอน)  จะเห็นได้ว่าจากพระราชดำรัสดังกล่าว  ต้องการให้เราท่านทั้งหลายจงพึงระวังไว้ว่าถึงแม้เราจะอยู่ในท่ามกลางความเจริญรุดหน้าแห่งยุคปัจจุบันอย่างไร  เราก็ทิ้งการศึกษาทางด้านจิตใจและศีลธรรมจรรยาไปไม่ได้  ซึ่งผู้บริหารจะต้องฝึกให้เกิดขึ้นในตัวเอง

 

ยุทธศาสตร์ในการบริหารที่มีจิตเป็นสาธารณะจะประสบผลสำเร็จจะต้องเป็นอย่างไร?

               

                เมื่อ ค.ศ. 1911 Taylor ได้แต่งหนังสือ Scientific Management ซึ่งสรุปได้ว่า

                1. สิ่งที่สูญเสียมากที่สุดของประเทศชาติ เนื่องมาจากการทำ งานโดยไม่มีประสิทธิภาพ

ของมนุษย์มากกว่าสิ่งอื่นๆ

                2. การทำงานโดยไม่มีประสิทธิภาพของมนุษย์เนื่องมาจากการจัดการงาน (Management)

ไม่เป็น มากกว่าความโง่เขลาเบาปัญญา

                3. การจัดการงาน (Management) ที่ดีที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา อย่างมีระเบียบวิธี และ

สามารถนำ หลักการไปใช้กับการบริหารได้ทุกเรื่อง หลักที่สำคัญที่สุดก็คือ การใช้คนให้ถูกทาง

ถ้ามองภาพให้ชัด โดยมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งนักปราชญ์สมัยก่อน เช่นโซเครติส เพลโต อริสโตเติล มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเอกภาพซึ่งก็คือ ความดี ความงาม และคุณธรรม เป็นนิรันดร์ ดังนั้นการบริหารทุกเรื่อง ต้องมองโดยภาพรวม มุ่งเน้น (Focus) ที่คน การกำหนดยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการ จึงจะมั่นคงและยั่งยืนยุทธศาสตร์การบริหาร หมายถึง การบริหารโดยมียุทธศาสตร์เป็นเครื่องชี้นำ กล่าวคือต้องระดมสรรพปัจจัยการบริหารทั้งหมดและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการกำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ชัดเจน และกลยุทธ์ในการปฏิบัติเพื่อให้องค์กรและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด (ผู้เขียน)เพื่อให้เกิดภาพชัดเจนขึ้น ยุทธศาสตร์การบริหารที่จะประสบความสำเร็จ ต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ ดังนี้

                1. คุณสมบัติส่วนตัวของผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร ซึ่งประกอบด้วย

                                - เป็นคนที่สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรค งามสง่า อายุยืนยาว

                                - มีการงาน มีทรัพย์ที่มาจากอาชีพสุจริต พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจและสามารถ

ให้ผู้อื่นพึ่งพาได้บ้างตามโอกาส

                                - มีสถานภาพดี มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของสังคม

                                - มีครอบครัวที่ผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ

ซึ่งสิ่งดังกล่าวที่จะเกิดได้ ต้องปฏิบัติดังนี้

                                - ประพฤติดี มีวินัย (ศีล)

                                - ได้ศึกษามามาก รับฟังมามาก (พาหุสัจจะ)

                                - รู้จักคบคนดี (กัลยาณมิตร)

                                - รู้จักฟังเหตุผล พร้อมแก้ไขปรับปรุงตน (โสวจัสสตา)

                                - ให้ความช่วยเหลือกิจการของหมู่คณะ (กิจกรณีเยสุทักขตา)

                                - สนใจในธรรม (ธรรมกามตา)

                                - มีความขยันหมั่นเพียร (วิริยา รัมภะ)

                                - มีความสันโดษ รู้จักพอดี (สันตุฎฐี)

สรุป คุณสมบัติส่วนตัว ต้องมีครบทั้ง วัยวุฒิ คุณวุฒิ วิทยะวุฒิ และธรรมวุฒิ

                2. ความเป็นผู้นำ ในการบริหารองค์การปัจจุบันนี้ภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) นั้นสำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะเป็นผู้นำได้ สมัยโบราณชนชั้นผู้นำ เขาเรียกว่า อภิชน คุณสมบัติ ของผู้นำ 7 – eleven ได้สรุปไว้อย่างน่าคิดดังนี้

                                1. มีความจริงใจและจิตใจดี

                                2. ไม่มีศักดินา

                                3. ใช้ปิยะวาจา คือ พูดด้วยคำ สุภาพ ไพเราะน่าฟัง ชี้แจงแนะนำ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเหตุผล ให้กำลังใจ สร้างไมตรีต่อชนทุกเหล่า

                                4. ไม่หลงอำนาจ

                                5. เป็นแบบอย่างที่ดี

                                6. มีความยุติธรรม

                                7. มีความเมตตา

                                8. กล้าตัดสินใจ

                                9. ห่วงใยสังคม

                                10. บ่มเพาะคนดี

                                11. มีใจที่เปิดกว้าง  (ผศ.เชาวลิต คงแก้ว)

                3. ความเป็นนักธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งบางครั้งเรียกว่า การบริหารกิจการ

บ้านเมืองที่ดี สาเหตุที่ทุกวันนี้ สังคมโลกเรียกหา Good Governance เพราะ

                                3.1. เกิด Bad Governance ซึ่งก่อให้เกิด

                                                - ขาดประสิทธิผล (Ineffective)

                                                - ขาดประสิทธิภาพ (Inefficient)

                                                - ขาดความซื่อสัตย์

                                                - เกิดความเสี่ยงสูงเกินไป (Excessive Risk)  ซึ่งสาเหตุมาจาก  คอร์รัปชั่น (Corruption)

                                                - เอาพรรคพวกเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ (Nepotism)

                                                - สร้างกลุ่มอิทธิพลใช้อำนาจบาทใหญ่ (Cronyism)

                                                - การเลือกปฏิบัติ (Favourtism)

                                3.2. การบริหารจัดการที่ผิดพลาด (Mismanagement)

                                                - ลงทุนในสิ่งที่ไม่คุ้มค่าและสินเชื่อที่หลักประกันไม่คุ้มค่า (Non - Productive

Investment & Non – Performing Loan - NPL)

                                                - การประพฤติปฏิบัติที่สิ้นเปลือง (Wasteful Practices)

                                                - ประสิทธิภาพของงานตํ่า (Poor efficiency)

                                                - การผลัดวันประกันพรุ่ง (Procrastination)

                                3.3. ปัจจัยพื้นฐานไม่ดีพอและไม่เพียงพอ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรสารสนเทศ ฯลฯ

 

                สรุป  ผู้บริหารที่มียุทธศาสตร์เป็นจิตสาธารณะจะต้องมีจิตที่คิดสร้างสรรค์ เป็นกุศล และมุ่งทำกรรมดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คิดสร้างสรรค์ คือ คิดในทางที่ดี ไม่ทำลายบุคคล สังคม วัฒนธรรม ประเทศชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมดี คือ การกระทำ และคำพูดที่มาจากความคิดที่ดี มีจิตที่กว้างใหญ่ เปิดกว้าง ไม่คับแคบ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รับฟังข้อมูล ข่าวสารใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคนที่เคยรู้เคยมีมา แสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ เข้าใจและไม่ตามกระแสโดยปราศจากเหตุผล ช่วยเตือนสติให้กับสังคม (ถ้าสังคมคิด-ทำ อะไรที่ไม่ถูกต้องต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์เตือนสติและชี้แนะเสนอทางออก)  (คิด-ทำด้านบวก) แม้มิได้เป็นซามูไร  ก็จงภูมิใจที่ได้เป็นสมุนเขาแม้มิได้เป็นดอกซากุระ  ก็อย่ารังเกียจที่จะเป็นดอกไม้อื่นแม้มิได้เป็นถนน  ก็จงพอใจที่จะเป็นบาทวิถีแม้มิได้เป็นดวงตะวัน  ก็จงพอใจที่จะเป็นดวงดาวอันว่าภูเขาไฟฟูจินั้นสวย แต่ภูเขาไฟลูกอื่นๆ ก็มิได้ด้อยค่าไม่ว่าจะเป็นอะไรจงพอใจและเป็นให้ดีที่สุด 

                จงเปลี่ยนแปลงตนเองอย่าให้มีความรู้สึกเศร้าหมอง หรือมีความรู้สึกทางลบต่างๆ มาทำให้รู้สึกทุกข์ อย่าทำตนเองให้เป็นคน ทุกข์นิยม ให้เปลี่ยนความคิดตนเองให้เป็นคนที่มีความคิดแบบ สุขนิยม

คณะแพทย์โรงพยาบาลเมโย สหรัฐอเมริกา สรุปว่าผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายมีอายุสั้นกว่าคนที่มองโลกในแง่ดี (ร้อยละ 19 ของผู้ที่เป็นกลุ่มทุกข์นิยมมีอัตราการตายมากกว่ากลุ่มที่สุขนิยม)


เอกสารอ้างอิง

 

คำพ่อสอน :          ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต                                              สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  และมูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์.                                          กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์กรุงเทพ,2549

http://72.14.235.132/search?q=cache:Arvt2cXaSssJ:www.acad.nu.ac.th/nucoursebase2551/share/New%               

 

 

หมายเลขบันทึก: 285235เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2009 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจ  อยากให้บ้านเมืองปลอดคอรัปชั่นเราต้องช่วยกัน

อยากให้ผู้บริหารที่มีจิตใจที่คิดสร้างสรรค์ มุ่งทำแต่กรรมดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ทำลายกัน แต่ก็ต้องรู้จักการบริหารบุคคล ที่ทำตัวแย่ๆ ในที่ทำงาน รู้จักการคววบคุม หรือหากทำให้ลูกน้องทำตัวดีขึ้นได้จะยิ่งดี อย่าคิดว่าได้ผู้บริหารที่ดี แล้วจะสามารถปกครองคนไม่ดีได้ ผู้บริหารต้องรู้เท่าทัน

ขอให้ผู้บริหารทุกท่านมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำในสิ่งที่ถูกต้องก็จะดีนะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท